เรียนรู้ ดูเป็น...ในช่วงมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ ตอนที่ ๔


แต่อย่าหลงเชื่อการนำเสนอของสื่อ หรือข่าวลือต่างๆ จาก Social Media มากเกินไป ต้องใช้สติและวิจารณญาณของตนเองอย่างมาก

ตอนที่ ๓

          น้ำ สำหรับน้ำดื่มไม่ขาดแคลน เพราะผู้เขียนเตรียมการไว้ล่วงหน้า ด้วยการสำรองน้ำดื่มสะอาดที่ผ่านเครื่องกรองน้ำที่ติดตั้งไว้ที่บ้าน ใส่ในถังน้ำอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะพอเพียงสำหรับคน ๒ คน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๑ เดือน ส่วนน้ำใช้ก็สำรองใส่โอ่งและถังน้ำไว้แล้วเช่นกัน รวมทั้งเตรียมสารส้มไว้จำนวนหนึ่ง สำหรับในกรณีที่น้ำประปาไม่ไหลหรือมีสีเหลือง หรือแม้กระทั่งต้องตักน้ำจากคลองหน้าบ้านสำหรับใช้ ก็ต้องนำสารส้มมาแกว่งเสียหน่อย ก็จะสามารถมีน้ำใช้ได้ไม่ขาดแคลน

          ไฟฟ้า ผู้เขียนก็วางแผนที่จะใช้ไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์ที่สุด อะไรที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ จะเตรียมชาร์จให้เต็มอยู่เสมอ สำหรับพร้อมใช้เทียนไข สำหรับส่องสว่าง ในกรณีไม่มีไฟฟ้าใช้ ไฟฉาย วิทยุ หรือเครื่องใช้อะไรที่ต้องใช้แบตเตอรี่แห้ง ก็ซื้อหาเตรียมไว้ให้พร้อม

          อีกทั้งยังปรับวิถีการใช้พลังงานจากไฟฟ้าให้น้อยที่สุด โดยพึ่งพาพลังงานอื่นๆ แทน เช่น ลดการเปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดหน้าต่างและเปิดพัดลมแทน ลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นต้น เพราะกระแสไฟฟ้าของประเทศอาจจะผลิตได้ไม่เพียงพอ และอาจจะทำให้ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ผู้บริโภคอย่างเราได้   

          โชคดีที่บ้านผู้เขียนไม่โดนตัดกระแสไฟ เนื่องจากผู้เขียนได้โทรศัพท์ไปแจ้งให้การไฟฟ้านครหลวงมาย้ายหม้อไฟขึ้นให้สูงกว่าเดิม แม้จะรออยู่ ๓ – ๔ วัน กว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาดำเนินการให้ ผู้เขียนเข้าใจว่า ช่วงนี้เจ้าหน้าที่ก็คงมีภาระหนักเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ทำให้บ้านผู้เขียนไม่โดนตัดไฟ ทำให้ยังมีไฟฟ้าใช้ตลอด

          ส่วนไฟฟ้าชั้นล่าง ผู้เขียนก็ปิดสวิตซ์ไฟชั้นล่างทั้งหมด พร้อมทั้งนำสติกเกอร์แบบเหนียวและทนน้ำมาปิดที่ปลั๊กไฟที่น้ำอาจจะท่วมถึงได้ทั้งหมด คอมเพรสเซอร์แอร์ชั้นล่างที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายหรือถอดออกมาได้ ผู้เขียนก็ได้นำพลาสติกม้วนกันน้ำมา Wrap เอาไว้ หลายชั้น และติดด้วยเทปผ้ากันน้ำอีกชั้นหนึ่ง อย่างน้อยๆ ก็ป้องกันได้บ้าง คือ ความเสียหายน้อยลงไป ดีกว่าปล่อยให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน

          ก๊าซหุงต้ม วางแผนการใช้ก๊าซหุงต้มให้ประหยัดที่สุด บางอย่างหากใช้ไฟฟ้าแทนก๊าซหุงต้มได้ก็จะใช้ก่อน เช่น ใช้กาต้มน้ำไฟฟ้าแทนการต้มด้วยก๊าซหุงต้ม หุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เป็นต้น เพราะไฟฟ้ายังไม่โดนตัด หากโดนตัดกระแสไฟฟ้าแล้ว ก๊าซหุงต้มจะจำเป็นมาก ต้องต้มน้ำ หุงข้าวด้วยก๊าซหุงต้มแทน ดังนั้น การเลือกใช้ไฟฟ้าก่อน และการประหยัดการใช้ก๊าซหุงต้มจึงเป็นสิ่งที่ต้องวางแผนการใช้งานให้ดี

          ผู้เขียนได้เตรียมก๊าซหุงต้มไว้พร้อม ผู้เขียนมีถังก๊าซหุงต้มขนาด ๑๕ กิโลกรัม ๑ ถัง  ขนาด ๔ กิโลกรัม หรือเตาปิคนิค ๑ ถัง และยังมีเตาก๊าซแบบพกพาที่ใช้ก๊าซกระป๋องอีก ๑ ชุด ซึ่งพอเพียงสำหรับการใช้ชีวิตไม่ต่ำกว่า ๑ เดือน พร้อมทั้งวางแผนว่าจะใช้ก๊าซหุงต้มอย่างไรให้ประหยัดที่สุด เช่น หากทำอาหารประเภททอด เมื่ออาหารสุกแล้ว จะปิดเตาไฟก่อนล่วงหน้าสัก ๑ – ๒ นาที เพราะน้ำมันยังคงร้อนอยู่ อาหารก็จะสุกพอดี เป็นต้น

         เรือ แม้บ้านจะอยู่ริมคลอง แต่ผู้เขียนไม่เคยคิดถึงเรื่องของเรือเลย แต่เมื่อน้ำท่วมมากขนาดนี้ เรือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีวิต ที่บ้านผู้เขียนมีเรือสแตนเลสอยู่ ๑ ลำ และเรือไม้ที่เก่าจนไม้ กรอบจนบางแล้วอีก ๑ ลำ แต่ก็ต้องแบ่งกันใช้กับบ้านพ่อแม่ที่อยู่ไกลออกไปอีก และลำบากกว่าเรามาก ผู้เขียนจึงไม่ได้นำเรือทั้ง ๒ ลำนั้นมาใช้

         ญาติผู้เขียนซึ่งมีโรงงานทำเรือไฟเบอร์กลาสอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทรศัพท์มาบอกว่าให้ผู้เขียนไปเอาเรือไฟเบอร์กลาสมาใช้ แต่เป็นช่วงที่ผู้เขียนเดินทางออกไปไหนไม่ได้แล้ว ญาติจะส่งมาให้ก็ไม่ได้ เพราะถนนปิดไม่สามารถเดินทางได้ ผู้เขียนจึงไม่มีเรือใช้ในช่วงที่น้ำขึ้นสูงที่สุด มีเพียงห่วงยางรถหกล้อ ที่จะใช้ในกรณีน้ำท่วมสูงจนอยู่ไม่ได้และต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นเท่านั้น

         แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ ถนนบางแห่งน้ำเริ่มลดลงบ้างแล้ว ผู้เขียนจึงสามารถไปรับเรือไฟเบอร์กลาสจากญาติที่ส่งมาให้เพื่อใช้งานได้แล้ว ผู้เขียนจึงมีชีวิตที่อยู่กับน้ำท่วมได้อย่างสบายและสุขใจมากยิ่งขึ้น

         ยา ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องจัดเตรียมให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นยาสามัญประจำบ้านต่างๆ และยาเฉพาะโรค สำหรับผู้เขียนเนื่องจากตัดสินใจที่จะไม่อพยพไปอยู่ที่ไหน (หากไม่รุนแรงมาก) จะใช้ชีวิตอยู่บนชั้น ๒ ของบ้าน ซึ่งผู้เขียนมีการเตรียมยูกยาต่างๆ ไว้ประจำบ้านอยู่แล้ว จึงไม่ได้ต้องเตรียมอะไรเพิ่มเติม แต่สำหรับผู้ที่ต้องอพยพหรืออาศัยอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านตัวเอง ก็คงต้องเตรียมให้พร้อม โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยหรือต้องรับประทานยาเป็นประจำ

         อุปกรณ์สื่อสารกับโลกภายนอก เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ ซึ่งชีวิตของผู้เขียน ช่วงนี้ จึงอยู่กับโทรทัศน์ Notebook และโทรศัพท์มือถือ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หากว่าอุปกรณ์เหล่านี้ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ

          แต่อย่าหลงเชื่อการนำเสนอของสื่อ หรือข่าวลือต่างๆ จาก Social Media มากเกินไป ต้องใช้สติและวิจารณญาณของตนเองอย่างมาก เพราะสื่อต้องการขายข่าว ขายภาพความรุนแรงหรือร้ายแรง สื่อชอบนำเสนอความรุนแรงในภาพกว้างๆ และเหมารวมทั้งหมด ซึ่งในสภาพความเป็นจริงอาจจะไม่รุนแรงมากมายขนาดนั้น ส่วน Social Media ใครเป็นใครมากมายในโลก Cyber แห่งนี้ แต่ละคนมีจุดประสงค์มุ่งหวังอะไร เราก็ไม่อาจรู้ได้ ฉะนั้น การเสพสื่ออย่างรู้เท่าทัน เป็นสิ่งสำคัญยิ่งทั้งในภาวะวิกฤติและภาวะปกติ

         (ติดตามตอนจบตอนต่อไป)

หญิง สคส.

๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 467671เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2011 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ช่วงนี้ติดตามสื่อ แล้วเครียด ครับ
  • พอ โทร.ไป สอบถามเพื่อนๆ ชีวิต ยังพอไหวครับ
  • เป็นกำลังใจให้กับทุกทุกท่าน นะ ครับ

สื่อก็พยายาม รายงานข่าวให้น่าสนใจ ให้น่าตื่นเต้น การติดตามสื่อทำให้รู้ความเคลื่อนไหวแต่ ต้องไตร่ตรองเพิ่มอีกมาก มาดูที่อำเภอสองพี่น้อง อำเภอบางปลาม้า ภาวะน่ากลัวมากถ้าจะรายงานให้น่ากลัว แต่เขาอยู่กันเป็นปกติ ไม่มีถนนเขาก็ใช้เรือ ไม่มีเรือเขาก็ใช้รถอีแต๋น ต่อรับส่งแทนรถโดยสาร สนามฟุตบอลเขาก็ทำเป็นสระว่ายน้ำ ไม่มีส้วม อบจ.เขาก็เอาส้วมมาให้ ที่อื่นแห้ง ที่ ๒ อำเภอนี้ยังท่วมต่ออีกหลายเดือน ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท