ถอดบทเรียนน้ำท่วมประเทศไทย - บริหารน้ำในเขื่อนผิดพลาด?


ประเด็นที่ดูเหมือนเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ ข้อหาที่ว่าการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนผิดพลาด ทำให้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เก็บน้ำเอาไว้มากเกินไป ไม่ยอมปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนอย่างทันท่วงที ทำให้เมื่อเจอฝนตกหนักติดต่อกันก็รับไว้ไม่ไหว เมื่อเขื่อนใกล้จะแตกจึงจำต้องปล่อยน้ำออกมาจำนวนมากโดยไม่สามารถยับยั้งได้ (เป็น fact ในสายตาของหลายคน แต่สำหรับผมยังถือว่าเป็นสมมติฐาน)

ถึงฟ้าและจันทร์

ในวันที่กำลังเขียนบันทึกนี้ น้ำยังมาไม่ถึงบ้านเรา (ใกล้แล้วล่ะ) แต่มวลน้ำปริมาณกว่าหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรกำลังไหลบ่าท่วมประเทศไทยอยู่ และกรุงเทพฯ เมืองหลวงของเราก็ถูกท่วมไปแล้วค่อนเมือง ผู้คนประสบความยากลำบากกันมาก เชื่อว่านี่เป็นวิกฤตครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของหลายล้านคน

ปรากฏการณ์น้ำท่วมและผลของมันยังจะไม่จบในเร็วว้นนี้ แต่คงจะไม่เร็วเกินไปที่จะสรุปบทเรียนบางส่วนเอาไว้ เพราะมาถึงขณะนี้มันได้สร้างความเสียหายราคาแพงไปมากแล้ว ต้องอย่าปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่ได้เรียนรู้

วันนี้จะลองตั้งหลักวิเคราะห์ถึงมูลเหตุที่มาที่ไป ณ จุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งนี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์เท่าที่จะทำได้โดยไม่ด่วนสรุป

ในการพิจารณาต่อจากนี้ ไป คำว่า "มูลเหตุ" จะขอจำกัดประเด็นที่ไว้ที่เรื่องที่มาของน้ำ นั่นก็คือสาเหตุที่เกิดน้ำหลากลงมาอย่างผิดปกติจากต้นทาง (เพราะเรื่องมันจบไปแล้ว) จะยังไม่พูดถึงการจัดการปัญหาที่เกิดจากกลางทางคือจากนครสวรรค์ลงมา และปัญหาต่าง ๆ นานาที่ปลายทางคือกรุงเทพและปริมณฑล (ที่ก็ต้องนับว่าเป็นประเด็นหลักของภัยพิบัติครั้งนี้เช่นกัน แต่ว่าเรื่องยังไม่จบ)

ตอนที่วิกฤตยังมาไม่ถึงเมืองหลวง

ย้อนไปช่วงที่น้ำยังมาไม่ถึงกรุงเทพฯ (ราวเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม 2554) เราเริ่มรู้ตัวแล้วว่าปีนี้น้ำท่วมครั้งใหญ่ เห็นภาพข่าวจากจังหวัดต่าง ๆ ทางเหนือและภาคกลางที่ประสบภัยน้ำท่วมไปแล้ว แต่เวลานั้นยังไม่มีการถกเถียงกันมากนักว่าสาเหตุเพราะอะไร คำอธิบายหลักยังเป็นเรื่องของปริมาณน้ำฝนที่ตกมากและตกหนักผิดปกติในช่วง ปลายฤดูฝนปีนี้ ซึ่งก็ตรงกับประสบการณ์ของชาวกรุงเทพฯ ที่เจอฝนตกหนักทุกวัน แม้ว่าจะทราบข้อมูลว่าน้ำคงมีโอกาสท่วมกรุงเทพฯ ปีนี้ แต่ก็ไม่ได้มีใครคิดว่าจะท่วมถึงขั้นที่คนกรุงเทพฯ จำนวนมากจะต้องทิ้งบ้านไปอยู่ต่างจังหวัด และแน่นอนไม่ได้คิดว่าจะท่วมถึงขั้นนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งของไทยจะจมน้ำ เข้าขั้นวิกฤต ยังคงมีความรู้สึกว่า น้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ปกติธรรมดาของประเทศไทย และน่าจะจัดการได้ เพราะสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์เราก็เห็นภาพและข่าวน้ำท่วมจนชินตา ช่วงแรก ๆ นายกอภิสิทธิ์ยังถูกแซวว่า แก้ปัญหาโดยตัวไม่เปียกน้ำ ฯลฯ

แม้เมื่อน้ำเริ่มมาถึงกรุงเทพฯ และมีการเตรียมตัวรับมือบ้างแล้ว การถกเถียงเกี่ยวกับข้อสมมติฐานที่ว่า น้ำท่วมประเทศไทยครั้งนี้เป็น man-made disaster (สาเหตุมาจากน้ำมือคน) หรือไม่ ก็ยังไม่ค่อยปรากฏในสื่อไทยนัก ยังคงถูกนับเป็น "ปรากฏการณ์ธรรมชาติ" อย่างหนึ่งของประเทศที่เราคุ้นเคย ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบมีหน้าที่ดูแลแก้ไข และช่วยเหลือเยียวยากันไป แต่ว่าในช่วงนั้นเอง เริ่มมีข่าวออกทางสื่อต่างประเทศไปในทางที่ว่า ความผิดพลาดของรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐต่างหาก ที่เป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์ในปีนี้ ตัวอย่างเช่นหนังสือพิมพ์ New York Times วันที่ 14 ต.ค. 54 ได้ตีพิมพ์บทความข่าวให้อ่านกันไปทั่วโลก อ้างคำพูดของนักผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำ (ที่จริงบางคนเชี่ยวชาญด้านอื่นแต่บังเอิญเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ) ว่าปัจจัยสำคัญมาจากการตัดไม้ทำลายป่า การสร้างสิ่งปลูกสร้าง (ที่อยู่อาศัยและนิคมอุตสาหกรรม) ในพื้นที่รองรับน้ำ การกักน้ำในเขื่อน การเปลี่ยนเส้นทางน้ำธรรมชาติ การขยายตัวของเมือง การถมคลอง และการวางแผนที่ไม่ดี

The main factors, they say, are deforestation, overbuilding in catchment areas, the damming and diversion of natural waterways, urban sprawl, and the filling-in of canals, combined with bad planning.Warnings to the authorities, they say, have been in vain.

As Thailand Floods Spread, Experts Blame Officials, Not Rains
http://www.nytimes.com/2011/10/14/world/asia/a-natural-disaster-in-thailand-guided-by-human-hand.html?_r=4&scp=2&sq=flood+thailand&st=cse

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ยังไม่ค่อยเชื่อ หรือเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง (จนกว่าจะมีหลักฐานชัดเจน) ว่าความผิดพลาดในการตัดสินใจของรัฐจะเป็นสาเหตุหลัก เพราะประสบอยู่กับตัวเองว่าฝนหนักทุกวัน จึงได้ตั้งสมมติฐานส่วนตัวว่า ในส่วนต้นทางนั้น รัฐน่าจะทำดีที่สุดแล้ว สาเหตุของน้ำท่วมน่าจะมาจากฝนที่มาเยอะกว่าปีก่อน ๆ ทำให้จัดการได้ยาก เวลานั้นผมยังไม่ค่อยมีความรู้และไม่มีข้อมูล แต่ในช่วงเวลาต่อมาก็เริ่มได้ยินได้ฟังมาจากหลายๆ แหล่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องทบทวนความคิดเกี่ยวกับมูลเหตุใหม่ว่า ลำพังอาจจะไม่ได้เกิดจากพระพิรุณคนเดียว

มูลเหตุหลักอยู่ที่การกักน้ำของเขื่อน?

ผมเริ่มจากการหาข้อมูลมาแย้งสมมติฐานของตัวเอง ประเด็นที่ดูเหมือนเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ ข้อหาที่ว่าการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนผิดพลาด ทำให้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เก็บน้ำเอาไว้มากเกินไป ไม่ยอมปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนอย่างทันท่วงที ทำให้เมื่อเจอฝนตกหนักติดต่อกันก็รับไว้ไม่ไหว เมื่อเขื่อนใกล้จะแตกจึงจำต้องปล่อยน้ำออกมาจำนวนมากโดยไม่สามารถยับยั้งได้ (เป็น fact ในสายตาของหลายคน แต่สำหรับผมยังถือว่าเป็นสมมติฐาน) นี่เป็นต้นทาง เป็นเหตุแห่งปัญหาอื่น ๆ เช่นเรื่องการตั้งถิ่นฐานในเขตที่ออกแบบไว้ให้รับน้ำ ฯลฯ เหล่านั้นเป็นปลายทางที่สร้างผลเสียหายตามมาอีกที เกี่ยวกับเรื่องเขื่อนนี้ เริ่มมีผู้ออกมาโจมตี กฟผ. และกรมชลประทานมากขึ้น ทางสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ (คนที่เผ็ดร้อนมากคือคุณประชัย เลี่ยวไพโรจน์ แต่ความเผ็ดร้อนนั้นเองก็ทำให้ผู้ฟังต้องฟังหูไว้หู) ด้วยข้อหาที่ว่า ไม่ยอมระบายน้ำในเขื่อนตั้งแต่ในช่วงตอนต้นๆ และข้อหาสำคัญคือ ทุกวันนี้น้ำท่วมจะพินาศกันหมดแล้วก็ยังไม่ยอมหยุดระบายน้ำออกจากเขื่อน

ในเรื่องนี้ผมได้ลองหาแหล่งข้อมูลอ้างอิงมาศึกษาดูเท่าที่ผมจะพอหาได้จากแหล่งทั่วไป ที่พูดเกี่ยวกับปริมาณน้ำในเขื่อนโดยย้อนหลังไปเทียบกับปีก่อน ๆ ซึ่งยังเป็นยุครัฐบาลชุดที่แล้ว ตัวอย่างที่พอจะมีก็เช่นข้างล่างนี้ ซึ่งผู้เขียน (เข้าใจว่าเป็น informed citizen หรืออาจจะมากกว่านั้น) อธิบายเปรียบเทียบการปล่อยน้ำจากเขื่อนในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และพรรค เพื่อไทยเปรียบเทียบกัน โดยใช้ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา

เรื่อง flow in - flow out ของเขื่อนภูมิพลตามมุมมองนักอุตุนิยมวิทยา
http://www.prachatai.com/journal/2011/10/37662

อ่านดูก็จะพบว่า คำอธิบายของเจ้าของบทความมีลักษณะค่อนข้างเป็นกลาง คือ การสะสมของน้ำในเขื่อนภูมิพลในปีนี้มากกว่าปีก่อน ๆ จริง (มากกว่าเยอะเลย มากมาตั้งแต่ต้นปี ในสมัยประชาธิปัตย์) แต่ลำพังข้อมูลแค่นี้ไม่ สามารถพิสูจน์หรือแสดงให้เห็นว่าการกักหรือว่าเปิดน้ำลักษณะนี้เป็นเรื่อง ธรรมดา หรือผิดปรกติแค่ไหน การเปิดน้ำของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ในปี 2554 แตกต่างจากมาตรฐานเฉลี่ยอย่างไร เพียงแต่เรา "รู้สึก" ว่าปีนี้มันมาก แต่ต้องไม่ลืมว่าปัจจัยธรรมชาติ (หรือจะเรียกว่า climate change ก็ได้) ก็ยังเป็นส่วนสำคัญ เพราะในปี 2554 ปริมาณฝนมาก และมาเร็วผิดปรกติ ดังนั้นในช่วงต้นฤดูฝน ปริมาณน้ำจึงมากเป็นพิเศษ ตัวเลขน้ำในเขื่อนปีนี้ที่มหาศาลเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ลำพังแค่นี้มันยังบอกอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นตัวเลขน้ำเข้า-น้ำออก บอกแต่ปริมาณน้ำที่อยู่ในเขื่อน ดังนั้นที่คนถามกันว่าการตัดสินใจกักเก็บน้ำในช่วงเวลานั้นจนเกือบล้นเขื่อน ถูกต้องหรือไม่? การจะตอบได้ต้องเห็นตัวเลขน้ำเข้า-น้ำออกด้วย

เพื่อที่จะตอบเรื่องนี้ ผมได้หาข้อมูลจากแหล่งอื่น พร้อมกับพบว่ามีการกล่าวถึงว่า ในปีนี้มีนักการเมืองระดับรัฐมนตรีสั่งให้เก็บน้ำไว้ในเขื่อน (ให้มากที่สุด?) เพราะกลัวจะแล้งและไม่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรเพียงพอในช่วงกลางและปลายลุ่ม น้ำ ซึ่งเดี๋ยวจะพูดถึงต่อไป แต่ตัวเลขในบทความที่ลงในเว็บของประชาไทยเมื่อกี้นี้บอกเราว่า น้ำในเขื่อนในช่วงกลางปีของระยะสองปีที่ผ่านมานั้น น้อยกว่าปีนี้มากจริง ๆ นักการเมืองที่ว่าก็อาจจะพยายามเก็บน้ำช่วงต้นฝนเอาไว้เพราะกลัวจะแล้งอย่าง ปีก่อนก็ได้ (?) เอาล่ะ ลองมาดูบทความของนักวิชาการ (?) ท่านหนึ่งที่ชื่อเรื่องว่า "จดหมายถึงเพื่อน" (เอาไฟล์ขึ้นไว้ให้ดาว์นโหลดแล้ว)

จดหมายถึงเพื่อน เรื่อง “มหาอุทกภัยร้ายแรงของไทย ปีพุทธศักราช ๒๕๕๔”
http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/768/265/original_A_letter_to_my_friend.pdf

เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นความเห็น แต่บังเอิญมีข้อมูลที่ดีประกอบและข้อมูลนั้นละเอียดกว่าบทความในเว็ปประชาไท คือมีตัวเลขปริมาณน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเกือบครบ รวมทั้งมีตัวเลขน้ำเข้า-น้ำออกในสองปีนี้ให้ด้วย (ดูหน้า 5) ตัวเลขนี้น่าสนใจมากครับ บอกชัดเลยว่า มีน้ำเข้าเขื่อนภูมิพลในปริมาณมหาศาล และต่อมาก็ปล่อยออกมาจากเขื่อนมากเช่นกัน ปัญหาคือปล่อยช้าไปหรือเปล่า? ผู้เขียนบทความท่านบอกว่าไม่กล่าวโทษใคร แต่สุดท้ายก็สรุปว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะการตัดสินใจกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนเมื่อต้นฝน ที่นักการเมืองเป็นผู้ออกคำสั่ง!

คำถามหนึ่งที่ผมควรตอบแต่ตอบไม่ได้เนื่องจากเพราะไม่มีความรู้พอก็คือ การ ตัดสินใจปล่อยน้ำในปริมาณเพียงเท่านั้นในช่วงเดือน ส.ค. และ ก.ย. (ซึ่งเป็นสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์) เหมาะสมแล้ว? หรือว่าน้อยเกินไป? ในสายตามือสมัครเล่นมันดูเหมือนน้อยเกินไปครับ และอีกข้อหนึ่งที่ผมควรสงสัยคือ ลำพังข้อมูลจากเขื่อนภูมิพลแห่งเดียวก็สรุปได้แล้วหรือ?

ทั้งสองคำถามนี้ นำมาสู่คำถามสำคัญคือ ถ้าอย่างนั้น การตัดสินใจบริหารจัดการน้ำในเขื่อนดังกล่าวอยู่บนฐานของวิชาการและข้อมูลหรือไม่? ประเด็นนี้สืบได้ไม่ง่ายเลย อย่างน้อยผมคาดเดาว่า ส่วนหนึ่งผู้ตัดสินใจคงได้ใช้ข้อมูลย้อนหลังที่ว่าสองปีก่อนปริมาณน้ำใน เขื่อนมีไม่มาก จึงพยายามสั่งให้เก็บน้ำเอาไว้หรือเปล่า? และที่ผมไม่ทราบเลยคือ เขาได้ใช้ข้อมูลการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าประกอบด้วยหรือไม่? และข้อมูลดังกล่าวมีให้ใช้หรือไม่?

เรื่องนี้อยากรู้จริง ๆ ระหว่างที่หาข้อมูลอยู่ ก็พอดีทาง กฟผ. ได้ลงบทความขนาดครึ่งหน้าในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน (3 พ.ย. 54) หัวข้อว่า "ข้อเท็จจริงเรื่องการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์"


http://www.gotoknow.org/media/files/768268
(ข้อเขียนฉบับเต็ม ตามที่ลงหนังสือพิมพ์)

ขอให้ลองดูภาพในคอลัมน์กลางที่เป็นกราฟแสดงปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ในบทความไม่ได้พูดแต่ถ้าเราอ่านจากกราฟก็จะเห็นว่า น้ำเริ่มเต็มเขื่อนสิริกิติ์ก่อน ทำให้ต้องเปิดประตูระบายน้ำล้นของ เขื่อนสิริกิติ์ (ส.ค.) ก่อนเปิดประตูระบายน้ำล้นของเขื่อนภูมิพล (ต.ค.) ห่างกันเป็นเวลาถึงสองเดือน และจะเห็นจากกราฟเส้นสีแดง (ปริมาณน้ำในเขื่อน) ด้วยว่า ระดับน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ขึ้นเร็วน่ากลัวมาก จำเป็นต้องรีบปล่อยน้ำออก ซึ่งทางเขื่อนเขาก็ทำแล้ว แต่ทำไมบทความอื่นและสื่อมวลชนจึงพูดถึงแต่เขื่อนภูมิพล (โอเค เขื่อนภูมิพลใหญ่กว่าแต่ไม่ได้ใหญ่กว่าเป็นเท่าตัว)

เราเคยเรียนกันตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ว่าเขื่อนภูมิพลกั้นแม่น้ำปิง เขื่อนสิริกิติ์กั้นแม่น้ำน่าน แม่น้ำปิงวังยมน่านไหลมารวมกันที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำในสองเขื่อนนี้ไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อนมาก จะดูเพียงเขื่อนเดียวคงไม่ถูกต้อง เพราะทั้งสองแหล่งต้องประสานกัน ไม่อาจปล่อยออกมามากพร้อมๆ กันเพราะในที่สุดน้ำจะไปรวมกัน ถ้าเขื่อนหนึ่งปล่อยมาก อีกเขื่อนหนึ่งก็ต้องระวังค่อย ๆ ปล่อย นี่เป็นสาเหตุที่ถูกคนเอาไปโจมตีกันว่าเขื่อนภูมิพลไม่ยอมปล่อยน้ำ โดยไม่นำข้อมูลมากางดูให้ครบ (หรืออาจจงใจ) แม้แต่บทความของ กฟผ. วันนี้ก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้ สิ่งที่บรรยายมาก็ไม่ได้น่าสนใจเท่าไหร่อ่านแล้วเหมือนกับลงโฆษณาแก้ตัว แต่กราฟของเขามีประโยชน์มาก ตอบข้อสงสัยผมได้เยอะ

ดูข้อมูลมาถึงตรงนี้ผมคิดว่าการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คนพูดกัน แต่ผมก็ยังอยากรู้ต่อไปว่า มีการใช้ข้อมูลพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในช่วงปลายฤดูฝนหรือครึ่งหลังของปีประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนหรือไม่ ข่าวสารจากสื่อมวลชนไม่มีใครเสนอเรื่องนี้ ผมจึงต้องติดต่อสอบถามไปยังสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือที่เรียกกันว่า "สถาบันน้ำ" (http://www.haii.or.th/) ก็ได้ทราบข้อมูลว่า ทางสถาบันฯ ได้ให้ข้อมูลการพยากรณ์น้ำฝนไป และข้อมูลนั้นก็ได้ถูกนำไปใช้ด้วย และยังทราบด้วยว่า เวลานี้การปล่อยน้ำออกจากเขื่อนได้หยุดลงแล้ว เมื่อได้ทราบก็ทำให้ผมสบายใจขึ้นบ้าง

มาถึงตรงนี้ คำถามที่ตั้งไว้ทั้งหมดก็ได้รับการตอบแล้ว แต่ก็ได้รับข้อมูลที่ไม่ค่อยน่่ายินดีนักว่า การพยากรณ์ของหน่วยงานหลักที่เป็นสถาบันทางด้านการพยากรณ์อากาศและน้ำฝนของประเทศไทย แต่ละแห่งไม่ตรงกันและอาจถึงขั้นขัดแย้งกัน ท่ามกลางการให้ข้อมูลของนักวิชาการหลากหลายที่ก็ขัดแย้งกันอยู่อย่างที่เราเห็น ผู้ตัดสินใจทางนโยบายจะตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมได้อย่างไร รวมทั้งผมอยากเห็นกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทยซึ่งในทางพันธกิจคือหน่วยงานหลัก มีบทบาทได้มากกว่านี้ เราต้องหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งของข้อมูล ความไม่เป็นเอกฉันท์ของนักวิชาการไทย หรือความไม่สอดคล้องในการทำงานให้ได้โดยเร็ว

สรุปและบทเรียนจากการวิเคราะห์มูลเหตุ

จากข้อมูลที่ได้รับข้างต้น ตรงนี้ผมจะขอสรุปไว้ก่อนเป็นเบื้องต้นว่า ข้อสมมติฐานของผมในตอนแรกน่าจะถูกต้อง ที่ว่าปริมาณน้ำฝนที่กระหน่ำติดต่อกันในช่วงปลายฤดูฝนปีนี้เป็นมูลเหตุหลัก ของปริมาณน้ำมหาศาลที่ไหลออกมาท่วมประเทศอยู่ในขณะนี้ โดยที่การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนนั้นได้มีการตัดสินใจเหมาะสมโดยใช้ข้อมูลทางวิชาการเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว ส่วนเหตุที่ปริมาณน้ำฝนมากผิดปกติอาจจะมาจากผลของ climate change ซึ่งก็ต้องศึกษากันต่อไป

แต่ที่สำคัญคืออุทกภัยครั้งนี้เกิดขึ้นทั้งภูมิภาค ยังปรากฏหลักฐานว่า ปริมาณฝนขนาดนี้สร้างความเสียหายไม่เฉพาะกับประเทศไทย คือไม่ได้มีแต่ประเทศไทยที่น้ำท่วม กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม โดนกันหมด หลายแห่งร้ายแรงกว่าไทยด้วยซ้ำ ลองดูผลการประเมินความเสียหายจาก 6 ประเทศในอาเซียนก็ได้ มีคนตายเป็นพันแล้วครับ

ประเมินความเสียหายจากวิกฤตน้ำท่วมของ 6 ประเทศในอาเซียน
http://www.siamintelligence.com/flood-crisis-on-6-member-states-in-asean/

ปัญหาหรือความบกพร่องในการบริหารจัดการน้ำในส่วนพื้นที่ท้ายเขื่อน คือตั้งแต่นครสวรรค์ลงมานั้นมีอยู่แน่นอน แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับข้อมูลมากแล้ว แต่ผมยังไม่สามารถวิเคราะห์ถูกผิดออกมาได้ชัดเจนในขณะนี้ และสงสัยว่าจะไม่มีวันวิเคราะห์ได้เลยเพราะตัวแปรมากเหลือเกิน ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งคงมีคนช่วยถอดบทเรียนให้ฟังเป็นวิทยาทาน

บทเรียนสำหรับผมที่อยากเก็บไว้เตือนฟ้าและจันทร์คือ เราต้องอย่าเชื่อสื่อมาก ส่วนใหญ่มีวาระซ่อนเร้นทั้งนั้น การอ่านหนังสือพิมพ์หรือฟังข่าวมาก ถ้าไม่ตั้งหลักบางทีก็ทำให้สับสน เพราะเขาใช้โอกาสนี้ในการโจมตี discredit กัน ทำให้คนเกลียดชังกันไปต่าง ๆ นานาครับ

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม#เขื่อน
หมายเลขบันทึก: 467337เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2011 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ผมได้รับข้อมูลมากเลยกับเรื่องน้ำ 

จะช่วยกระจายข้อมูลให้มากที่สุด  

 

เราน่าจะมีกระทรวงการจัดการน้ำ ทั้งในช่วงน้ำมากและน้ำน้อย

ให้โอกาสคนที่มีความสามารถได้ทำงาน

เลิกวัฒนธรรม นายกเป็นทุกอย่าง ตอบได้ เป็นอับดุลในเวทีตลก ณ ได้

ให้คนที่รับผิดชอบเป็นผู้ให้ข้อมูล ส่วนอื่นให้การสนับสนุน

 

ขออภัยที่เกินเลยไปจากข้อมูล

ขอบคุณครํบ

 

ขอบคุณครับคุณลุงยีราฟ ข้อมูลในสื่อมีเยอะเหลือกันครับคุณลุง ผมรู้สึกว่าการรู้มากเกินไปคือไม่รู้อะไรเลย ผมจึงพยายามเลือกเสพข้อมูล และต้องหาทางสอนลูกให้เลือกเช่นกัน ไม่อย่างนั้นเราแย่แน่ ถูกปั่นเป็นเครื่องมือของใครต่อใครได้ง่ายมาก

ผมคิดว่าเรื่องการตั้งกระทรวงน้ำคงต้องคิดให้ดี ๆ เลยครับ การบูรณาการข้อมูล บูรณาการการตัดสินใจและการทำงาน เป็นเรื่องที่จำเป็นแน่นอน แต่รูปแบบกระทรวงเหมาะสมหรือไม่ ในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกระทรวง ผมเสียดายที่จะต้องบอกว่า ถึงจะตั้งขึ้นได้ โอกาสทำงานได้อย่างสำเร็จมีประสิทธิผลอาจจะยากครับ การตั้งกระรวงไอซีทีน่าจะเป็นอุทธาหรณ์หนึ่ง

ทุก ๆ หน่วยงานราชการที่ตั้งขึ้นใหม่มักจะถูกใช้เพื่อสร้างตำแหน่งให้ข้าราชการระดับสูงมีที่ไป "กิน" ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากที่ระบบของเราอัตคัตตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันในสายตาของข้าราชการระดับสูงเหล่านั้นที่อยากหาที่ไปลง รวมทั้งเป็นที่ให้คนที่มีเส้นสายส่งญาติพี่น้องเข้าไปบรรจุเป็นข้าราชการระดับล่างเพื่อให้มีงานที่มั่นคงทำ มีสวัสดิการ ในขณะที่สิ่งที่เรามองกันว่าควรเป็นกระทรวงน้ำที่บูรณาการเรื่องน้ำเข้าไว้ด้วยกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถจริง ๆ เข้ามาทำ ในทุกตำแหน่ง สุดท้ายหน้าที่ของกระทรวงกลายเป็นทางผ่านของงบประมาณ เป็นที่เอาไว้จัดซื้อจัดจ้าง ทั้งในการทำของและการสร้างองค์ความรู้ จ้างเขาหมด

ผมคิดว่าหน่วยงานที่จะบูรณาการเรื่องน้ำ (และเรื่องใหญ่อื่นๆ) ต้องสามารถ

  1. คัดเลือกคนมาทำงานได้ ทั้งระดับบริหารและระดับล่าง และเอาคนออกได้ มีบรรยากาศที่คนเก่ง คนดีอยากมาทำงานร่วมกัน (ไม่ถูกคนที่ไม่เหมาะกับงานแทรกตัวเข้ามาทำงานแย่งที่คนที่เหมาะสม)
  2. สามารถประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เป็นราชการได้ โดยมีศักดิ์ศรี และความยำเกรงพอสมควร ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจมากมาย แต่ต้องให้ผู้ที่ตัดสินใจเชิงนโยบายเชื่อถือ

สองอย่างนี้ผมฝันอยากเห็น แต่ในระบบของบ้านเราทำยากจังเลยครับ

นเรศ

มันยังไม่เคยเกิดในระยะสิบปีที่ผ่านมา ความตระหนักของเจ้าหน้าที่ก็พร่องไป แม้แต่เกิดขึ้นใหม่ในปีหน้า การจัดการก็ไม่น่าจะต่างจากแบบในปีนี้ เพราะทุกอย่างที่ตัดสินใจจะอยู่บนผลกระทบของประชาชน ปล่อยมากตามหลักการลงมาผลก็คือน้ำท่วม ปัญหาระยะยาวไม่เกิดขึ้นคือน้ำปริมาณมากอย่างปีนี้ไม่เกิดขึ้น(ขจัดออกไปโดยการจัดการ) แต่สังคมต้องการคนผิดคนตัดสินใจปล่อยน้ำเป็นคนสร้างปัญหาน้ำท่วม ต้องรับความผิดทั้งๆ ที่ทำถูกต้องแล้ว ผมคิดว่าปัญหาอยู่ตรงนี้ ผู้รับผิดชอบก็จะอิหลักอิเหรื่อนะครับ

หากเรามีแนวทางการทำโดยสังคมโดยประชาชนก็น่าจะดี ในวันนี้ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้ก็เหมือนกันนะ การจะดำเนินการกั้นกรุงเทพชั้นในแบบมีประสิทธิภาพใช้กฏหมายบังคับเต็มที่จับกุมคนทำผิด ตรงนี้สามารถทำได้ แต่ใครก็ไม่อยากทำ เพราะจะกลายเป็นผู้ร้ายในละคร ...แบบนี้ต้องเปิดใจพูดกัน กล้ารับผิดชอบ ไม่เอาดีใส่ตัวอย่างเดียว ทุกคนก็เล็งเห็นนะว่าดีและก็รณรง ขอร้องให้ทำ แต่ที่น่าเจ็บใจก็คือสังคมหรือประชาชนนั้นมากมาย บางคนชอบบางคนไม่ชอบ ใครตัดสินใจก็ต้องรับกรรมแน่ๆ

ฉะนั้นคนที่ต้องแก้ก็คือ สังคมและประชาชนนั่นเอง และวันนี้ก็เห็นชัดๆ ว่าคนตัดสินก็คือประชาชนประชาชนกั้นกระสอบ ประชาชนรื้อกระสอบ คือทุกคนต้องการเสมอภาค น้ำท่วมแบบยุติธรรม เราปกครองกันแบบประชาธิปไตยฉะนั้นวันนี้ทุกคนก็ต้องเชื่อประชาชนและประชาชนก็เลือกแล้ว เลือกที่จะหาคนรับผิดชอบและเลือกที่จะหาคนผิด โดยตนเองเอาสะดวกเข้าว่าอย่างเดียวเลย สภาพมันก็เป็นไปในแบบที่เห็น ต่อไป

เยี่ยมมากเลยครับ บันทึกนี้

ได้เห็นตัวอย่างการคิดแบบเป็นระบบ ขอบคุณมากคะ

เรียนรู้วิธีคิดอย่างมีวิจารณญาณ

"ผมเริ่มจากการหาข้อมูลมาแย้งสมมติฐานของตัวเอง"

หากเราเชื่อ แล้วหาแต่ข้อมูลมาสนับสนุนในสิ่งที่เราเชื่อเพียงอย่างเดียว

ก็จะไม่ได้ พิจารณาความจริงสองด้าน

"..สงสัยว่าจะไม่มีวันวิเคราะห์ได้เลยเพราะตัวแปรมากเหลือเกิน"

ไม่ค่อยได้ยินใครพูดตอนวิเคราะห์ข่าวมากนัก

สิ่งที่สือทำนอง ฟันธง..ในธรรมชาติที่มีตัวแปรหลากหลาย ทั้งที่วัดได้และวัดไม่ได้

เรา "ฟันธง"สาเหตุ ได้จริงๆ หรือ

ขอบคุณทุกความเห็นครับ

ประเด็นที่ว่ามีการใช้ข้อมูลพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนประกอบการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนหรือไม่นั้น ถึงแม้ผมจะวิเคราะห์สรุปว่ามีการใช้ข้อมูลจริง ๆ แต่ผมคิดว่าในเรื่องข้อมูลนี้ มันก็มีความละเอียดซับซ้อน จะบอกว่าดำหรือขาวเสียทีเดียวคงไม่ได้ และข้อมูลการพยากรณ์ที่ดีที่สุดที่เรามีตอนนี้ ก็น่าจะยังไม่ดีพอ ผลจึงออกมาเป็นอย่างนี้

เมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนขนาดนี้ ผมอยากให้เมืองไทยเราเก่งเรื่อง modelling หรืออย่างน้อยมีข้อมูลดี ๆ ให้ใช้ในการตัดสินใจ และสามารถใช้ข้อมูลเป็น

ที่น่าสรุปก็คือ จะมีผู้รับผิดชอบหรือไม่

หรือว่า จะมีแต่ผู้บริหารงบประมาณ

แต่ไม่มีใครรับผิดชอบต่อสิ่งใดเลย


ขอบคุณครับอาจารย์นเรศ สำหรับบทความวิเคราะห์ที่ดีมากๆ

สำหรับผม จากการอ่านบทความนี้ สามารถสรุปปัญหาที่น่าจะได้รับการพิจารณาวางแผนสำหรับอนาคตได้หลายเรื่อง

1. ความแตกต่างของข้อมูลวิชาการจากแต่ละสถาบัน ซึ่งเป็นปัจจัยนำเข้าสำคัญที่สุดเพื่อป้อนให้ผู้ตัดสินใจนโยบายพิจารณา

2. ลักษณะการปล่อยน้ำของเขื่อนและการควบคุม ดูเหมือนจะมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมไม่มากนัก ดังจะเห็นได้จากอิทธิพลของการมีน้ำท่วมในภาคกลางตอนบนต่อการตัดสินใจไม่ปล่อยน้ำ ด้วยความเกรงว่าจะท่วมมากขึ้น

3. Alignment ของกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่วินาทีการตัดสินใจระดับนโยบายไปจนถึงการดำเนินกระบวนการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังจะเห็นได้จากวิกฤตของปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนในกราฟ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนทำได้เพียงรอ...รอ...รอ...จนถึงขั้นที่อั้นไม่ไหวแล้วต้องปล่อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แต่ละปัญหาที่กล่าวมา ดูเหมือนมีความซับซ้อน และยากลำบากพอสมควรในการหาวิธีแก้ไข แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่าหากไม่เริ่มกันตั้งแต่ตอนนี้ อนาคตเราคงเจอสถานการณ์หนักกว่านี้เป็นแน่แท้ ^^

ท่านที่ถามมา เกี่ยวกับเรื่องราวที่ว่าการบริหารจัดการน้ำใต้เขื่อนผิดพลาดยังไง แนะให้อ่านบทความนี้ดูครับ เรื่องที่อาจารย์ท่านนี้เขียน ผมพอจะทราบมาบ้างเหมือนกัน แต่ไม่กล้าเขียนเพราะไม่มีข้อมูล แต่บทความนี้มีข้อมูลให้ด้วยครับ

บริหารผิด-ตัดสินใจพลาด...น้ำท่วมใหญ่จากการเมืองล้วนๆ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/analysis/20111108/418193/news.html

อ่านแล้วเลือกเชื่อนะครับ ว่าเป็นการตัดสินใจพลาดของใคร หรือว่าเป็นความจงใจของใคร ที่พูดถึงในนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่อง แต่เป็นส่วนสำคัญ ที่เหลือขอให้ท่านปะติดปะต่อเอาเอง

   ได้มีโอกาสมาอ่านบทความของอาจารย์เห็นด้วยกับข้อคิดวิเคราะห์ของอาจารย์และเพื่อนที่นำเสนอข้างต้นทุกอย่างถูกต้องค่ะ เพียงแต่การบริหารจัดการเชิงระบบของเรายังไม่เกิด จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐข้อมูลเรามีมากช่างเก็บกันมากมายแต่การดึงข้อมูลมาใช้ประโยชน์ร่วมกันยังไม่มี การทำงานเชิงประสานหรือการส่งต่อไม้ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละปัญหายังไม่เกิดเพราะต่างคนต่างทำ และไม่ทำอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายประเทศชาติคือผู้รับกรรม อยากเห็นผู้บริหารทุกหน่วยงานรับผิดชอบภาระงานอย่างเต็มที่ไม่ใช่บางคนทำบางคนก็ไม่ทำ เช่น เหตุการณ์ปัจจุบันการรื้อถอนบ้านพักต่างอากาศที่บุกรุกที่อุทยาน ศาลมีคำสั่งตั้งแต่ปี47 ไม่ติดตามดำเนินการตามคำสั่งศาล แต่พอมาปี 55 ก็ทำเชิงรุกมากมาย ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยแต่สงสัยว่าเวลาที่ผ่านมาผู้ที่รับผิดชอบท่านทำอะไร  สุดท้ายเราจะช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อทำพลังงานทดแทนกันทันกับผู้บุกรุกหรือไม่ หากผู้มีหน้าที่ละเลยต่อหน้าที่

คุณกัญฑนล ภู่ระหงษ์

ขอบคุณมากเลยครับที่แชร์ความคิดเห็น ผมเองก็กำลังจับตาดูอยู่ว่าที่รัฐบาลกำลังพยายามจัดระบบการบังคับบัญชาร่วมกับกองทัพ และระบบข้อมูล คลังข้อมูลน้ำและสภาพอากาศ จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้างหรือไม่ คงต้องให้โอกาสรัฐบาลเพราะเป็นเรื่องวัฒนธรรมในระบบราชการของไทยที่หมักหมมมานาน ใครเข้ามาแก้ก็คงทำไม่ได้โดยง่าย

เรื่องบุกรุกอุทยานผมว่าทำตอนนี้ดีกว่าไม่ทำเลย แต่ก็อย่างที่ท่านว่าน่ะครับ ทำไมเพิ่งมาทำตอนนี้ ผมว่าสื่อมวลชนต้องเข้าไปเจาะลึกเรื่องเหล่านี้ให้มาก บ้านเราสื่อยังเข้มแข็งไม่พอครับ

นเรศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท