พันธุ์ข้าวพื้นบ้านสู้น้ำท่วม…ท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ยังรอด


พันธุ์ข้าวพื้นบ้านสู้น้ำท่วม

 เหตุการณ์อุทกภัยในภาคใต้เมื่อเดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายน ปี 2554 ที่ผ่านมา ทำให้น้ำท่วมบริเวณพื้นที่ภาคใต้ สร้างความเสียหายต่อพืชผลเกษตรอย่างใหญ่หลวง แต่พื้นที่นา 3 ไร่ ของ ธวัชชัย มาเพ็ง ชาวนาที่บ้านเนินธัมมัง ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ไม่ได้รับความเสียหาย สามารถเก็บเกี่ยวได้ผลผลิต 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ แม้ว่าจะโดนน้ำท่วมถึง 2 ครั้งก็ตาม

            พันธุ์ข้าวที่ธวัชชัยใช้ปลูกในแปลงนาของตัวเอง เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง เรียกว่า “ข้าวเหลือง”  โดยได้รับการอนุเคราะห์จากศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช มาจำนวน 60 กิโลกรัม ในครั้งแรกเขาลังเลอยู่ไม่น้อย ว่าจะได้ผลผลิตดีแค่ไหน แต่เพราะเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแปลงต้นแบบเกษตรนาข้าวอินทรีย์พื้นที่ดินพรุเพื่อสุขภาพที่ดี-มีวิถีพอเพียง บ้านเนินธัมมัง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เขาจึงคิดว่าอย่างน้อยตัวเขาก็ไม่ได้แบกรับความเสี่ยงเพียงลำพัง

            กลุ่มเกษตรกรบ้านเนินธัมมังที่มีสมาชิกเริ่มต้นประมาณ 20 ราย มีความเห็นตรงกันที่จะร่วมกันทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ครัวเรือน ถือเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวและวัฒนธรรมข้าวพื้นบ้าน โดยมีการทำแปลงนาต้นแบบจากพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ขณะเดียวกันก็ปลูกข้าวหอมปทุมในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ด้วย ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เริ่มทำตั้งฤดูการทำนาปี 2553

            ส่วนกิจกรรมด้านการค้นหา และรวบรวมข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองนั้น ทางกลุ่มเกษตรกรบ้านเนินธัมมังได้ทดลองปลูกหลายพันธุ์ อาทิ เหลือง, จงกลช่อ, ขอหอม, เล็บนกปัตตานี, เข็มทอง, กาบดำ, สังหยด และเฉี้ยงพัทลุง ซึ่งทั้งหมดมาจากหลายๆ พื้นที่ในภาคใต้

            ผลของการทำนาในปีนั้น ปรากฏว่าเจอกับอุทกภัยในภาคใต้ถึง 2 ครั้ง แต่กลับพบว่าข้าวพันธุ์เหลือง และสังหยด สามารถต่อสู้กับภาวะน้ำท่วมและเติบโต ออกรวง จนเก็บเกี่ยวได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามข้าวพันธุ์สังหยด เป็นข้าวที่เหมาะกับพื้นที่ดินเหนียว แต่ที่ดินบ้านเนินธัมมังเป็นดินพรุจึงให้ผลผลิตไม่ดีนัก

            “ข้าวเหลือง เป็นข้าวพันธุ์ไวแสง ต้องใช้เวลาเจริญเติบโตนานจึงทำให้ข้าวสามารถเติบโตในช่วงน้ำท่วมและไปออกรวงในช่วงน้ำลด” ธวัชชัย บอก ก่อนจะสรุปว่า ข้าวพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่บ้านเนินธัมมังที่สุด ก็คือข้าวเหลือง ด้วยเหตุนี้ผลผลิตข้าวเหลืองจากแปลงนาของเขา กลุ่มเกษตรกรบ้านเนินธัมมังจึงนำมาทำพันธุ์เพื่อปลูกข้าวนาปีในช่วงปลายปีนี้ต่อไป

            เมื่อได้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่แล้ว กลุ่มเกษตรกรบ้านเนินธัมมังจึงร่วมกันหาหนทางในการลดต้นทุนการผลิต เพราะแต่ละปีพวกเขาต้องเสียค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ค่าแรงงาน เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ที่ได้จากการขายข้าว จนในที่สุดก็มาตกลงร่วมกันว่าจะทำนาอินทรีย์

            สมศักดิ์ มาเพ็ง อีกหนึ่งแกนนำชาวนาบ้านเนินธัมมัง นอกจากจะร่วมทำนาอินทรีย์แล้ว เขายังได้ทดลองทำแปลงนาเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต และมีแนวคิดที่จะต่อสู้กับสภาพพื้นดินที่เป็นดินพรุ ไม่อุ้มน้ำ มีการย่อยสลายน้อย โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยทำการบริหารจัดการคันนาให้เป็นพื้นที่ปลูกผัก เช่น ตะไคร้ พริก โหระพา กล้วย และข่า แล้วยังได้ขุดร่องจากคันนากับแปลงนา เพื่อเลี้ยงปลาหมอและเป็ดเทศ หากข้าวโตแล้วปล่อยปลาหมอเข้าไปในนา ซึ่งปลาหมอยังสามารถช่วยโดดจับแมลงได้อีกด้วย

            “ผมมีข้าวที่ปลูกปลอดสารให้ลูกกิน ส่วนที่เหลือก็แบ่งขายให้เพื่อนในกลุ่มไปทำพันธุ์ไว้สู้กับน้ำท่วมภาคใต้ เมื่อเลิกใช้เคมี ประหยัดค่าปุ๋ยที่มีราคาแพงมาก หันมาทำนาอินทรีย์ นาข้าวก็กลายมาเป็นธนาคารอาหาร ขายปลาจากท้องนาได้เงินถึง 30,000 บาท ไม่รวมกับพืชผักที่ขึ้นในนาที่เก็บมาทำอาหารกินได้อีก เมื่อต้นทุนดำรงชีวิตลดลง รายได้ก็มากขึ้น” สมศักดิ์ เล่า

            สิ่งหนึ่งที่กลุ่มเกษตรกรบ้านเนินธัมมังที่ร่วมโครงการแปลงต้นแบบเกษตรนาข้าวอินทรีย์พื้นที่ดินพรุฯ ที่ สสส. สนับสนุน เห็นตรงกันคือ การทำนาอินทรีย์นั้นต้องใช้ความอุตสาหะสูงกว่าการใช้เคมีหลายเท่า เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน ชาวนาต้องใช้วิธีไถกลบตอซัง แล้วยังต้องหาวิธีกำจัดวัชพืชไม่ให้เติบโตขึ้น ซึ่งพวกเขาจะนัดกันหว่านข้าวพร้อมกัน เพื่อคุมหญ้าและน้ำ

            เมื่อไถเสร็จ ก็จะราดน้ำอีเอ็มทั่วผืนนา เมื่อผ่านไปประมาณ 15-20 วัน ข้าวเริ่มโต ก็จะปล่อยน้ำเข้านา ให้ต้นหญ้าตายไปกับน้ำ ส่วนการหว่านที่ใช้มี 2 แบบ คือ หว่านไถกลบ (ใช้กับดินดี) และหว่านทำเทือกแล้วแช่ (ใช้กับน้ำตม) เมื่อข้าวเริ่มออกรวงก็จะใช้อีเอ็มอีกครั้ง สำหรับน้ำอีเอ็มนั้น สมาชิกแต่ละบ้านจะผลิตกันเองจากหอยเชอรี่ หรือเศษปลาจากการประมง ซึ่งยังอยู่ในระหว่างทดลองว่าสูตรของบ้านไหนจะได้ผลผลิตดีที่สุด

            ทางด้าน ธนพล นาพนัง แกนนำโครงการแปลงต้นแบบเกษตรนาข้าวอินทรีย์พื้นที่ดินพรุเพื่อสุขภาพที่ดี-มีวิถีพอเพียง กล่าวถึงการดำเนินโครงการว่า ได้เริ่มดำเนินงานเมื่อปลายปี 2553 จากการรวมตัวของชาวนาในบ้านเนินธัมมังที่ต้องการจะอนุรักษ์นาข้าว ไว้เป็นธนาคารอาหารของชุมชน ไม่ให้ถูกรุกรานจากสวนปาล์มของกลุ่มนายทุน อีกทั้งการทำนาปีเป็นไปได้ยากด้วยสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะต้องรองรับน้ำจากแม่น้ำปากพนังทำให้น้ำท่วมทุกเดือนมกราคมของทุกปี

            “ด้วยอุปสรรคของชาวนาบ้านเนินธัมมังมีมากจากพื้นที่นา 1,900 ไร่ จึงเหลือเพียง 630 ไร่ในปัจจุบัน แม้ว่าจะทำนา แต่ก็ต้องซื้อข้าวกิน ด้วยเหตุที่พื้นที่นี้ เป็นดินเปรี้ยว มีค่าเป็นกรดสูงถึง ph 4 จึงทำนาได้ผลผลิตไม่ค่อยดี ข้าวจะแข็งต้องขายให้โรงสี เพื่อสีเป็นปลายข้าว แล้วนำไปทำแป้ง อีกทั้งการทำนาเคมียังมีต้นทุนสูง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ บางคนก็แปลงที่นาไปเป็นสวนปาล์มก็เยอะ” ธนพล บอก

            ในวันนี้กลุ่มเกษตรกรบ้านเนินธัมมังที่ร่วมกันทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ครัวเรือน อนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน และแปลงนาสาธิตเกษตรอินทรีย์ มีสมาชิกรวม 30 คนแล้ว มีพื้นที่นารวมกันประมาณ 20% ของแปลงนาในหมู่บ้านและยังคงทำกิจกรรมส่งเสริมชุมชนในมาสนใจวิถีเกษตรอีกหลายกิจกรรม อาทิ การให้เยาวชนเรียนรู้การทำนาข้าว สาธิตและแนะนำสารอินทรีย์ให้กลุ่มเกษตรกร กิจกรรมแปลงนาอินทรีย์ต้นแบบ พิธีทำบุญสู่ขวัญข้าว และทำบุญข้าวใหม่ พวกเขามุ่งมั่นที่จะทดลองทำตัวอย่างให้เกษตรกรรายอื่นได้เห็น เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นนาอินทรีย์อย่างสมบูรณ์นั้น ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าปรับสภาพดินและน้ำให้เข้าที่ ที่สำคัญต้องควบคุมการเพาะปลูกให้ตรงตามหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (มกท.) ด้วย

          เหนือสิ่งอื่นใด การที่กลุ่มเกษตรกรบ้านเนินธัมมังค้นพบ ว่าข้าวพันธุ์พื้นเมืองอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ คือ ข้าวเหลือง กับสังหยด สามารถต้านน้ำท่วมได้ น่าจะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ หันมาพิจารณาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองกันมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 466863เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2011 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณที่นำความรู้นี้มาเผยแพร่

ไม่ทราบจะเป็นพันธ์ข้าวเดียวกันกับพันธ์ที่ชาวบ้านเรียกว่าข้าวขึ้นน้ำไหม(เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว) เคยทำมาเมื่อสามสิบกว่าที่แล้ว น้ำมากขนาดเกือบสองเมตรก็สามารถเติบโตได้

  • ข้าวนาปีหรือเปล่าคะ

เป็นข้าวนาปี(เพราะที่อำเภอหนองบัว นครสวรรค์)ไม่มีนาปรัง

ขอคารวะความมุ่งมั่นตั้งใจของกลุ่มชาวนาบ้านเนินธัมมังทุกท่านครับ ห้าหกสิบปีก่อน ข้าวในนาไทย มีแต่ข้าวพื้นเมือง ต้นยาวๆ ในระยะนั้น นักวิทยาศาสตร์สหัฐทดลองผสมข้าวสาลีต้นเตี้ยกับข้าวสาลีดั้งเดิมของเม็กซิโกได้ลูกผสม พันธุ์ใหม่ต้นเตี้ย มีเมล็ดมาก เหมาะกับการเร่งเพิ่มผลผลิตด้วยปุ๋ย NPK ชาวโลกตื่นเต้นว่าจะพ้นอดอยาก จากข้าวสาลี นักวิทยาศาสตร์ขยับมาทดลองกับข้าวเจ้า ได้ลูกผสมต้นเตี้ย ตั้งชื่อ IR8 หรือ ข้าวพันธุ์มหัศจรรย์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของข้าวลูกผสม กข อีกหลายพันธุ์ ต้นเตี้ย ต้องเร่งปุ๋ย แล้วจะให้ผลผลิต แต่ไม่ทนน้ำท่วมมิดยอดข้าวครับ ช้าวพื้นเมืองทนและปรับตัวได้เหมาะกับที่ลุ่มบ้านเรามากกว่า ผมอ่านจากงานของคุณวิฑูร เลี่ยนจำรูญ และคุณสุริยนต์ ธํญญกิจจานุกิจ "จากปฏิวัติเขียวสู่พันธุวิศวกรรม ประโยชน์และผลกระทบต่อประเทศไทย" ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ครับ ท่านเจ้าของผลงานวิจัย อนุญาตให้ดาวน์โหลดที่ http://www.biothai.net/node/2961

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท