7,000 ล้านคน ... คน 7,000 ล้าน


ประชากรมนุษย์,

วันที่ 31  ตุลาคม 2554  วันสุดท้ายของเดือนตุลาคม  เดือนที่ว่าอาถรรพ์ของประเทศไทย  "ตุลาอาถรรพ์"  เป็นคำที่ไม่เกินจริง...  ประเทศนี้เจ็บมากับตุลาหลายครั้งแล้ว  ..  ปฏิวัติ  รัฐประหาร  อุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง  ปีนี้สุดช้ำกับน้ำท่วมใหญ่ในเขตเศรษฐกิจใหญ่  ตั้งแต่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี อโยธยา  ทุ่งรังสิต ทุ่งบางบัวทอง แม้แต่เมืองสามโคก  ก็ไม่ละเว้น และวันนี้กำลังบ่ายหน้าเข้าเมืองเทวดา (กรุงเทพฯ) และคงยึดครองพื้นที่ไปอีกไม่น้อยกว่า  1 เดือน นั่นต้องล่วงเลยเข้าไปสู่เดือนพฤศจิกายน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   สุดแสนสาหัสยิ่งกับคนไทยบนลุ่มเจ้าพระยา ...   เรื่องนี้ไว้ว่ากันภายหลัง

.....  วันนี้เช่นกันเป็นวันที่เวบไซต์ที่คำนวนเรื่องประชากรของโลก (http://www.worldometers.info/world-population/) กำลังเคาน์ดาวน์ถอยหลังประชากรโลกไปสู่คนที่ 7,000 ล้านคน ซึ่งการนับเวลาก็ค่อนข้างเที่ยงตรงตามนาฬิกาของคอมพิวเตอร์

... อันจำนวนประชากรของโลกนั้นมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง  เพื่อให้เห็นการเป็นไปที่ชัดเจนขึ้นขอนำข้อมูลของคุณ สุพจน์  อุ้ยนอก ที่เขียนลง เดลินิวส์ วันที่ 30 ตุลาคม 2554 มานำเสนอบางส่วนประกอบโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของประชากรมนุษย์นะครับ

   
...... ช่วงเริ่มแรกของ “ยุคเกษตรกรรม” ประมาณ 8,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช โลกมีประชากรประมาณ 5 ล้านคน และในช่วง 8,000 ปี จนถึงปี ค.ศ. 1 จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านคน โดยอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่ถึง 0.05% ต่อปี
   
     ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นใน “ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม” ประชากรโลกเพิ่มเป็น 1,000 ล้านคนช่วงปี พ.ศ. 2343 ถึงหลัก 2,000 ล้านใช้เวลาแค่ 130 ปี (พ.ศ. 2473) และ 3,000 ล้านคนในอีก 30 ปี (พ.ศ. 2503) จำนวนเพิ่มเป็น 4,000 ล้านคนใน 15 ปีต่อมา (พ.ศ. 2517) และ 5,000 ล้านคนในปี 2530 หรือถัดมาอีก 13 ปี
   
    และถึง 6,000 ล้านในปี 2542 ข้อมูลของยูเอ็นบอกว่าถึงหลักนี้ในวันที่ 12 ต.ค. แต่ของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐ วันที่ 22 ก.ค. เมื่อเวลา 03.49 น. ตามเวลามาตรฐานสากล
   
    นั่นหมายถึง ประชากรโลกพุ่งพรวดจาก 1,650 ล้านคน เป็น 6,000 ล้านคน ในช่วงเวลาแค่ 100 ปีของคริสต์ศตวรรษที่ 20
   
     หลายคนอาจสงสัย โลกใบนี้มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน” หรือ “มนุษย์” อาศัยอยู่มากน้อยเท่าใด จนถึงปัจจุบัน
   
     กรณีนี้คณะผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นเริ่มนับแค่จากประมาณ 50,000 ปีก่อน คริสต์ศักราช ซึ่งเป็นช่วงที่มีหลักฐานบ่งชี้การปรากฏของบรรพบุรุษมนุษย์ยุคปัจจุบัน (ไม่ถึง 2-3 ล้านปี ซึ่งเป็นยุคต้นเผ่าพันธุ์มนุษย์) ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 106,000 ล้านคน เท่ากับพลเมืองโลกทั้งหมดในปัจจุบัน มีประมาณ 6% ของมนุษย์ทั้งหมดที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลก
   
     อัตราเติบโตของจำนวนประชากรโลกในปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 1.10% ต่อปี หรือเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 75 ล้านคน และแนวโน้มกำลังลดลง โดยคาดว่าจะต่ำกว่า 1% ในปี พ.ศ. 2563 และไม่ถึง 0.5% ในปี 2593
   
     หมายถึงจำนวนประชากรโลกจะยังคงเติบโตในคริสต์ศตวรรษที่ 21 แต่ในอัตราที่ช้าลงหากเทียบกับอดีตในช่วงหลังๆ ประชากรเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือ 100% แค่ช่วงเวลา 40 ปี จากปี พ.ศ. 2502 (3,000 ล้านคน) ถึงปี 2542 (6,000 ล้านคน) แต่ตอนนี้ประเมินว่า ต้องใช้เวลาอีก 42 ปี สำหรับการเพิ่มขึ้นของประชากรอีก 50% โดยคาดว่าจะถึงหลัก 9,000 ล้านคนในปี 2585
   
     ประชากรโลก 7,000 ล้านคน ทวีปเอเชียมากสุดกว่า 4,000 ล้านคน หรือกว่า 40% ของคนทั้งโลก แค่จีนกับอินเดียก็ประมาณ 37% ของคนทั้งโลกแล้ว อันดับ 2 แอฟริกา ประมาณ 1,000 ล้านคน หรือ 15% อันดับ 3 ยุโรป 733 ล้านคน หรือ 11% อันดับ 4 ลาติน อเมริกาและแคริบเบียน 589 ล้านคน 9% และอันดับ 5 อเมริกาเหนือ 352 ล้านคน เท่ากับ 5% ของคนทั้งโลก
   
      ส่วน 10 อันดับประเทศประชากรมากที่สุดในโลกในปัจจุบัน ข้อมูลถึงวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่ 1. จีน (1,347,080,000) 2. อินเดีย (1,203,710,000) 3. สหรัฐอเมริกา (312,507,000) 4. อินโดนีเซีย (238,400,000) 5. บราซิล (195,442,000) 6. ปากีสถาน (177,643,000) 7. บังกลาเทศ (158,570,535) 8. ไนจีเรีย (155,215,000) 9. รัสเซีย (141,927,297) และ 10. ญี่ปุ่น (127,380,000)
   
     ไทยเราตามการประเมินปี 2554 มี 66,720,153 คน อยู่อันดับที่ 19 ของโลก
   
      จีนกับอินเดียจะเป็นแค่ 2 ประเทศของโลก ที่มีประชากรเกิน 1 พันล้านคนไปอีกนาน และหากแนวโน้มเพิ่มลดของประชากร 2 ชาตินี้ไม่เปลี่ยน คาดว่าอินเดียจะแซงจีนขึ้นอันดับ 1 ในปี พ.ศ. 2588 โดยอินเดียมี 1,501 ล้านคน ส่วนจีน 1,496 ล้านคน   
   
      ประชากรโลก 7,000 ล้านคน ณ วันนี้ ถือว่ามากหรือน้อย? คำถามนี้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่บอกว่า ยังไม่มากหากเทียบกับพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยบนโลก ซึ่งยังเหลืออีกเยอะ แต่มากหากเทียบกับปัญหาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนคน
   
      ข้อวิตกลำดับต้น ๆ ของนักประชากรศาสตร์ สำหรับการเพิ่มขึ้นของชาวโลก คือปัญหาการขาดแคลนอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ และมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
   
      ปัญหาขาดแคลนอาหาร เคยมีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายคนทำนาย จะเกิดภาวะอดอยากถึงขั้นล้มตายเป็นเบือ ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากอาหารที่ผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรที่เพิ่มขึ้น ปรากฏว่าคำทำนายนี้ผิดพลาด เนื่องจาก “การปฏิวัติสีเขียว” ระหว่างปี พ.ศ. 2493 – 2527 ได้แปรเปลี่ยนโฉมหน้าการเกษตรทั่วโลก ผลผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารเพิ่มขึ้นถึง 250% ทำให้มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค สำหรับประชากรที่เพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านคนนับตั้งแต่นั้นมา
   
      แต่หลายฝ่ายเห็นแย้ง การปฏิวัติสีเขียวผลิตอาหารได้มากก็จริง แต่ผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะพืชดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์ในระยะยาว
   
      ปัญหาในส่วนนี้กลับกลายเป็นราคาอาหารแพง ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ราคาอาหารโดยเฉลี่ยทั่วโลก พุ่งสูงขึ้น ทำให้ภาวะขาดสารอาหารแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา ซึ่งเป็น 2 กลุ่มที่มีอัตราการเพิ่มของประชากรสูง ยูเอ็นประเมินว่า ปัจจุบันชาวโลกที่อยู่ในภาวะอดอยากขาดสารอาหารมีประมาณ 1,000 ล้านคน หรือ 1 ใน 7
   
      ความวิตกต่อปัญหาทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ตัวหลักอยู่ที่เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมนุษย์ยังต้องพึ่งพาอย่างมหาศาลอีกหลายสิบปี ขณะที่การคิดค้นสิ่งทดแทน ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม และคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
   
      วันก่อน สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศของยูเอ็น เผยแพร่รายงาน สะท้อนอีกแง่มุมของสังคมโลก ขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นถึง 7,000 ล้านคน โดยระบุว่า ประชาชนราว 5,100 ล้านคน หรือ 2 ใน 3 ของโลก มีชีวิตอยู่โดยขาดความมั่นคงและการคุ้มครองทางสังคม และเพียงแค่ 15% ของคนว่างงานทั่วโลก ที่ได้รับความช่วยเหลือบางรูปแบบ
   
      รายงานเรียกร้องรัฐบาลทั่วโลก สร้างพื้นฐานการคุ้มครองสังคม ซึ่งแม้จะใช้เวลา แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ยังจะเป็นมาตรการยับยั้งความตึงเครียดในสังคม ได้อย่างดียิ่งอีกด้วย.

สุพจน์  อุ้ยนอก

 

         ขอขอบคุณผู้เขียนที่เก็บข้อมูลมาให้ครบถ้วนไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง 

          ยูเอ็นประเมินว่าโลกมีประชากรเกิดใหม่ราว 2 คนต่อวินาที อัตรานี้จะทำให้โลกมีประชากรมากกว่า 1 หมื่นล้านคนภายในปี 2643  พวกผู้เชี่ยวชาญกล่าวกันว่าคนทั้งโลกจะต้องพบปัญหาท้าทายมโหฬารในการแก้ ปัญหาความยากจน  ปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคม  ปัญหาความแตกต่างในมาตรฐานการครองชีพ  ปัญหาการแย่งชิงพลังงาน  ปัญหาการแย่งชิงปัจจัยการผลิต ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน  ความมั่นคงทางสังคม อาชญากรรมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก 

          เราคงจำกันได้เมื่อ่คราวโลกมีประชากรครบ 6,000 ล้านคนเมื่อหลังเที่ยงคืนวันที่ 12 ตุลาคม 2542 ครั้งนั้นเลขาธิการยูเอ็น คือ โคฟี อันนัน เป็นผู้ไปอุ้มรับขวัญทารกคนที่ 6,000 ล้าน ที่โรงพยาบาลในเมืองซาราเยโว ปัจจุบันเด็กชายอัดนัน เมวิช ชาวบอสเนียคนนั้นและครอบครัวของเขายังคงมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นที่ ซาราเยโว นั่นเอง

          ถ้าเพิ่มเป็น  10,000 คน ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ????? 

          ประเทศไทยมี  100 ล้านคนจะเป็นเช่นไร ?????

          วุ๊ย... วันนี้เขียนเรื่องไม่หนุกหนานเลย   อ่านแล้วอย่าเครียดมานักนะครับ

          ใจเย็นๆๆ  อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด...  นั่นปล่อยไปตามกรรม...  ก็ดูไม่สวยงามนัก 

          ในความเป็นธรรมชาติ (กรรม) ของโลก  ก็เป็นไปได้  3  ทาง  คือ 

          1. มนุษย์จำนวนมากมหาศาลนี้มีวิถีชีวิตแฉกเช่นวันนี้  แน่นอนทำลายสิ่งแวดล้อมโลกจน (เน่า่เปื่อย) เสียสมดุล  ยากแก่การเยียวยา  สภาวะที่เปลี่ยนไปก็เป็นสภาวะใหม่  สิ่งแวดล้อมใหม่  และ มันก็เกิดขึ้นเช่นนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์โลก  จน ชาร์ล ดาร์วิน หยิบมาเขียนทฤษฎีวิวัฒนาการจนโด่งดัง  และ พวกชีวะเรียนกันหัวโต.. ทฤษฎีความน่าจะเป็น  ทฤษฎี Chaos  ถูกนำมาใช้อธิ บาย  ด้วยสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตต้องปรับกายภาพตามให้มีสภาพที่เหมาะกับสิ่งแวดล้อมใหม่ จึงเกิดกายใหม่ที่ต่างจากกายเดิม .. สิ่งมีชีวิตใหม่..  

          ... มีเปลี่ยนก็มีปรับ... ปรับได้ก็อยู่ได้ ... ปรับไม่ได้ก็สูญพันธุ์ไป...  ก็เท่านั้น  ...  มนุษย์จะเป็นอย่างไรหล่ะ ????  

          2. มนุษย์วิตก  รับรู้  ตระหนัก และ เข้าใจธรรมชาติ  "ตนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  ไม่ใช่ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของตน"  พากันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  ยอมรับการจัดการให้....

             2.1 จำนวนประชากรไม่เพิ่มขึ้นหรือให้ลดลงจนมีจำนวนเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ (Carrying capacity)

             2.2 ยอมรับการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบจำกัด  ใช้ปัจจัยการดำรงชีวิตน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ทุนนิยม (บริโภคนิยม) เลิกๆไปไ้ด้ไหม  เพราะการให้เศรษฐกิจเติบโตทุกปี  แปลว่าต้องผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี  นั่นคือ ต้องใช้วัตถุดิบเพิ่มขึ้นและมีของเสียเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว  ...แล้วจุดสิ้นสุดอยู่ที่ไหน  ...  โลกเป็นอย่างไร...  ถูกสูบทรัพยากรไป  แล้วยังเป็นกระโถนรองรับของโสโครกอีก  จะทนได้อย่างไร   กลับไปมีชีวิตแบบคำของคานธี  "จงแสวงหาความสุขบนทรัพยากรที่มีอยู่" ...  ได้ไหม   

              ลดคน ..  ลดกิน .. ลดใช้ .. คืนความสมดุลกลับไปสู่โลก

           3. มนุษย์ควบคุมจำนวนไว้ได้ที่จุดใดจุดหนึ่ง  และมีอัจฉริยะมาเกิด  สามารถค้นพบสิ่งที่ทำให้ได้อาหารจำนวนมากๆๆ จนมีปริมาณมากพอสามารถเลี้ยงพลโลกจำนวนนี้ได้ / มีกระบวนการให้ของเสีย (Waste) จากการผลิต การกระจาย และการบริโภค ที่ธรรมชาติสามารถรองรับได้โดยไม่เสียดุลยภาพ / และสุดท้่ายปิ๊งเรื่องโซลาร์เซลล์ เหมือนที่ปิ๊งในเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำทั้งหลาย  จนคอมพิวเตอร์เครื่องโตเท่าตู้เสื้อผ้ามาอยู่ในฝ่ามือได้  ดังนั้นโซลาเซลล์ที่ใหญ่ๆ เท่าหลังคาบ้านเหลือแค่กระดาษ A4 ได้ไหม ??  แปะไว้แผ่นเดียวจักรยานยนต์วิ่งได้ทั่วไทย  มุงหลังคาบ้าน 30-40 แผ่นมีไฟฟ้าใช้ทั้งบ้าน  หรือ คิดเครื่องจักรใช้น้ำ (อันนี้ดูยากหน่อยนะเพราะยังไม่เห็นกรอบคิดต้นแบบที่พอเป็นไปได้เหมือนโซลาเซลล์)  สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  ถูกไหม ??? ลองกลับไปสมัยต้นรัตนโกสินทร์ว่าต่อไปในอนาคตคนจะขี่ม้าเหล็กกัน...  คงเีถียงคอเป็นเอ็น  เป็นไปไม่ได้ๆๆๆๆ   สิ่งเหล่านี้ก็เช่นกัน  สหรัฐมีวิชาอนาคตศาสตร์เรียนกัน  เมืองไทยถามว่าเรียนไปทำไม..  เออเน๊อะ... เรียนไปทำไม   ใครเขาจะจ้าง...สติเฟื่องไปหรือเปล่า ???

 

          คนที่ 7,000 ล้าน  เป็นอะไรให้คิดเป็นอุทาหรณ์ย้อมมาดูพฤติกรรมมนุษย์ยุคโลกาภิวัตน์....  จะเป็นอย่างอยากได้อย่างไร ???  

 


หมายเลขบันทึก: 466765เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2011 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...เขาให้ตัวเลขสำหรับที่ทำกิน..ด้วย..ลดลงต่อคน..ปลูกอะไรแค่กินคนเดียวก็ไม่ได้แล้ว..อ้ะ...คนที่เจ็ดพันล้าน..ออกเมื่อตะกี้..ที่..ฟิลิปปิน..อ้ะ...จินตนาการไปว่า...คน..ต่อไปนี้..ต้องอยู่แบบเดิม..เมื่อล้านปีที่แล้ว..ถ่ายแล้ว..ต้องกินเข้าไปใหม่..โลกร้อนขึ้น..ไม่ต้องใช้เครื่องนุ่งห่ม..ล่อนจ้อนเหมือนเดิม..สามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก...ปรับเปลี่ยนตัวได้เข้ากับสภาพแวดล้อม..ที่มีญาณแก่กล้า..อาจได้เปรียบกว่าคนอื่นหน่อย..เหาะเหินเดินอากาศได้..อ้ะ.....ๆๆๆ..ยายธี

... จัดหนักเลยนะนั่น ...

... ขอบคุณครับคุณยาย....รอจนเจอตัวเลยนิ.... หลานแมนนี่ ปาเกียว ซะเนี่ยะ นึกว่าจะได้เจ้า flood แถวๆ รพ.ใน กทม. ซะหน่อย

.... หรือจะข้ามกระโดดไปสู่ยุคพระศรีอารยเมตตรัย ซะให้้รู้แล้วรู้รอดเลยดีแม๊ะ... หุหุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท