บทบาทของน้ำมันมะพร้าว ต่อความอ้วน


น้ำมันมะพร้าวลดน้ำหนักได้

 

 บทบาทของน้ำมันมะพร้าวต่อความอ้วน 


      เหตุผลหนึ่งที่น้ำมันมะพร้าวมีฤทธิ์ในการลดไขมันของร่างกาย และลดน้ำหนัก ก็เพราะมันมีพลังงานน้อยกว่าไขมันอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ น้ำมันมะพร้าวจึงได้ชื่อว่า เป็นน้ำมันชนิดเดียวในโลก ที่เป็นไขมันธรรมชาติ ที่มีแคลอรีต่ำที่สุด เมื่อคุณใส่น้ำมันมะพร้าวในอาหาร คุณสามารถกินอาหารชนิดเดียวกับที่คุณเคยกิน แต่ได้แคลอรีน้อยกว่า
     เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีรายงานว่า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราคาน้ำมันมะพร้าวตก เพราะมีข่าวว่าน้ำมันมะพร้าวทำให้อ้วน จึงขายไม่ค่อยได้  ผู้เลี้ยงหมูในสหรัฐฯ จึงซื้อเอาไปเลี้ยงหมู  แต่ปรากฏว่า หมูกลับผอมลง (Peat 1996)
      อย่างไรก็ตาม การที่น้ำมันมะพร้าวมีแคลอรีต่ำกว่าไขมันอื่น ๆ ก็ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้มันได้รับชื่อเสียงในฐานะที่เป็นไขมันที่มีแคลอรีต่ำ  เพราะน้ำมันมะพร้าว มีข้อดีอื่น ๆ อีกมากมาย  

 

1.เหตุผลที่น้ำมันมะพร้าว ช่วยลดความอ้วนได้ดีกว่าน้ำมันอื่น 

ผู้ที่บริโภคน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำ ดังเช่นชาวเกาะทะเลใต้ ที่อยู่ในตอน ใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก มีรูปร่างที่สมส่วน ไม่อ้วน แต่ก็ไม่ผอม ทั้งนี้เพราะน้ำมันมะพร้าว ช่วยลดความอ้วนได้ดีกว่าน้ำมันอื่น ๆ  ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้:

 

1.1 ช่วยกระตุ้นเมตาบอลิสซึม

      สิ่งที่ทำให้น้ำมันมะพร้าวมีข้อได้เปรียบในการควบคุมน้ำหนักอยู่ที่ผลของมันต่อขบวนการเมตาบอลิสซึม น้ำมันมะพร้าว มี MCT ซึ่งทำให้โมเลกุลของน้ำมันมะพร้าว มีขนาดเล็กกว่าโมเลกุลของน้ำมันอื่น ๆ ซึ่งมี LCT เพราะฉะนั้น มันจึงถูกย่อยได้เร็วมาก เร็วจนกระทั่งร่างกายของเรา ใช้มันเป็นแหล่งของพลังงานทันที มากกว่าที่จะนำไปสะสมเป็นอาหารสำรองในรูปของไขมันที่ไปสะสมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  MCT จะถูกใช้ไปเพื่อการสร้างพลังงาน คล้ายกับคาร์โบไฮเดรต

     ดังนั้น มันจึงไม่เคลื่อนย้ายในกระแสเลือดคล้ายไขมันอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้เอง น้ำมันมะพร้าวจึงไม่มีส่วนในการจัดหาไขมันให้แก่เซลล์ไขมัน หรือไปเพิ่มน้ำหนักตัวให้แก่ร่างกายของผู้บริโภคมีการศึกษาอันหนึ่ง (Crozier และคณะ, 1987) ที่ประเมินน้ำหนักตัว

     และการสะสมไขมันของอาหารสามชนิด คือ (1) ไขมันต่ำ (2) ไขมันสูงที่เป็น LCT และ (3) ไขมันสูงที่เป็น MCT โดยได้ปรับให้มีแคลอรีสูงเพื่อกระตุ้นให้เพิ่มน้ำหนัก โดยใช้เวลาในการทดลองรวม 44 วัน เมื่อถึงกำหนด ผู้ที่กินอาหารไขมันต่ำสะสมไขมันเฉลี่ยวันละ 0.47 กรัม ผู้ที่กินอาหาร LCT สะสมไขมันเฉลี่ยวันละ 0.48 กรัม ในขณะที่ผู้ที่กินอาหาร MCT สะสมไขมันเฉลี่ยวันละ 0.19 กรัม

     ผู้วิจัยจึงสรุปว่า ผู้ที่กินอาหาร MCT สามารถลดปริมาณอาหารได้ 60% ของปริมาณไขมันที่เก็บสะสมในร่างกายเมื่อเปรียบกับอาหารอื่น ๆ  เพราะว่า MCT ถูกใช้โดยร่างกายเป็นแหล่งของเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงาน มันจึงมีผลในการกระตุ้นกระบวนการเมตาบอลิสซึม  Dulloo และคณะ (1996)  ได้ศึกษาพบว่า  MCT ไปกระตุ้นกระบวนการเมตาบอลิสซึม จึงไปช่วยเพิ่มการใช้แคลอรีของร่างกาย 

      ด้วยเหตุนี้ แคลอรีที่เราบริโภคเข้าไปในรูปของอาหาร จึงถูกเผาผลาญในอัตราสูงขึ้น จึงมีจำนวนน้อยที่เหลือสะสมเป็นไขมันในร่างกาย  การกระตุ้นเมตาบอลิสซึมนี้ เกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมงหลังจากกินอาหารที่มี MCT ผลลัพธ์ก็คือ คุณได้พลังงานที่เพิ่มขึ้น และเผาผลาญแคลอรีในอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังจากกินอาหารเข้าไป


  1.2 ทำให้เกิดความร้อนสูง (thermogenesis)

     การเพิ่มอัตราเมตาบอลิสซึมนี้ ยังนำไปสู่การเกิดความร้อนสูง นั่นคือมีการเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายอีกด้วย  เมื่อคนที่เป็นโรคที่ทำให้มีระบบการทำงานของต่อมธัยรอยด์ต่ำ (hypothyroidism) บริโภคน้ำมันมะพร้าวเข้าไป อุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้นเท่ากับระดับปกติ และจะยังคงสูงอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง อุณหภูมิของคนพวกนี้จะสูงขึ้น 1 ถึง 2 องศา หรืออาจมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันมะพร้าวที่บริโภคเข้าไป  (Fife, 2002)  ดังนั้น คนอ้วนเพราะต่อมธัยรอยด์ทำงานในระดับต่ำ จึงสามารถใช้น้ำมันมะพร้าวกระตุ้นให้ต่อมธัยรอยด์ทำงานดีขึ้น เพื่อช่วยลดน้ำหนักได้

 

1.3 ช่วยชะลอความหิว

   อีกสิ่งหนึ่งที่น้ำมันมะพร้าวช่วยได้ก็คือ มันช่วยลดปริมาณรวมของการบริโภคอาหารและแคลอรี น้ำมันมะพร้าวช่วยได้ดีกว่าน้ำมันอื่น ๆ ดังนั้น เมื่อคุณเติมน้ำมันมะพร้าวลงไปในอาหาร คุณจะกินอาหารได้น้อยลง และรู้สึกอิ่มนานขึ้น จึงไม่กินมากขึ้นในมื้อต่อไป
    มีการทดลองอันหนึ่ง ให้อาสาสมัครสตรี ดื่มเครื่องดื่มที่ประกอบด้วย MCT (จากน้ำมันมะพร้าว) และ LCT (จากน้ำมันอื่น) หลังจากนั้น 30 นาที จึงให้กินอาหารกลางวัน ซึ่งผู้”ทดลองมีสิทธิ์เลือกอาหารอะไรก็ได้ และมากเท่าไรก็ได้ ปรากฏว่า กลุ่มสตรีที่กินน้ำมันมะพร้าวก่อนอาหารเที่ยง  กินอาหารเที่ยงน้อยกว่ากลุ่มที่กินน้ำมันอื่น ผู้วิจัย (Rolls และคณะ, 1988) จึงสรุปว่า “มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในการบริโภคอาหารกลางวันระหว่างสองกลุ่ม

       ในการศึกษาอีกอันหนึ่ง นักวิจัย (Van Wymelbeke และคณะ 1998) ได้ให้ชายที่มีน้ำหนักตัวปกติ กินอาหารเช้าที่มีความแตกต่างกันในประเภทของไขมัน หลังจากนั้น ได้วัดปริมาณอาหารที่บริโภคในมื้อกลางวัน และมื้อเย็น ปรากฏว่า ผู้ที่กินอาหารเช้าที่เป็น MCT กินอาหารกลางวันน้อยกว่า และแม้กระทั่งอาหารเย็นก็ไม่มีความแตกต่างในปริมาณอาหารที่บริโภคโดยคนทั้งสองกลุ่ม
     การศึกษา ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า เมื่อบริโภค MCT ในอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง ความหิวจะถูกยืดออกไปนานขึ้น และจะกินอาหารมื้อต่อไปน้อยลง  สิ่งสำคัญอันหนึ่งก็คือ แม้ว่าอาสาสมัตรจะกินอาหารกลางวันน้อยลง แต่คนพวกนี้ก็ไม่ได้กินอาหารเย็นมากขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น ปริมาณอาหารหรือแคลอรีที่บริโภคตลอดวันจึงลดลง
    ยังมีการศึกษาอีกอันหนึ่ง (St-Onge and Jones, 2002) ที่แสดงว่า น้ำมันที่เป็น MCT ที่ใช้แทนน้ำมันอื่นในอาหาร ช่วยทำให้บุคคลสามารถลดน้ำหนักได้ 36 ปอนด์ต่อปี โดยไม่ต้องปรับนิสัยการกินแต่อย่างใด กล่าวคือ ยังคงบริโภคอาหารที่มีแคลอรีเท่าเดิม การเปลี่ยนประเภทของไขมันในอาหารสามารถทำให้เกิดการลดปริมาณไขมันในร่างกาย และน้ำหนักตัว โดยปราศจากการเปลี่ยน แปลงประเภทและปริมาณของอาหารที่บริโภค เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นตลอด เวลา โดยที่ใครก็ตามที่เปลี่ยนน้ำมันที่บริโภคเป็นน้ำมันมะพร้าว ผู้นั้นจะลดน้ำหนักตัวเองได้โดยไม่ต้องอดอาหารแต่อย่างใด


   1.4  ง่าย สะดวก และไม่ทรมานในการอดอาหาร  

      การเปลี่ยนประเภทของน้ำมันที่ใช้ในการเตรียมอาหารเป็นน้ำมันมะพร้าว เป็นวิธีที่ง่าย และสะดวก แต่ช่วยให้คุณลดน้ำหนักลงได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร ทั้งนี้ เพราะคุณไม่ต้องปรับสภาพการกินอาหาร หรือเปลี่ยนชนิดของอาหาร และที่สำคัญ คุณไม่ต้องทนทรมานในการอดอาหาร หรือกินอาหารไขมันต่ำที่ปราศจากรสชาติ แต่มีราคาแพงลิบลิ่ว  นอกจากนั้น ยังเป็นวิธีที่ได้ผลอย่างถาวร

 

 คุณสมบัติที่ดีเด่นของน้ำมันมะพร้าว

    น้ำมันมะพร้าว โดยเฉพาะที่สกัดโดยวิธีบีบเย็น เป็นน้ำมันที่ปราศจากสาร เคมีสังเคราะห์ใด ๆ เจือปน เราสามารถใช้น้ำมันมะพร้าวในสภาพที่สกัดได้ทันที โดยไม่ต้องทำให้บริสุทธิ์ ฟอกสี และกำจัดกลิ่น (ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า RBD – refined, bleached, deodorized)
      ดังเช่นน้ำมันพืชอื่น ๆ จึงยังคงมีสารต่อต้านการเติมออกซิเจน (แอนตีออกซิแดนต์) อยู่ครบบริบูรณ์ และปลอดภัยจากอันตรายของสารเคมี ซึ่งยังคงมีอยู่ในน้ำมันบริโภคทุกชนิด ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งมีส่วนในการทำลายแอนตีออกซิแดนต์ ที่มีอยู่ในอาหาร เช่นผักและผลไม้ ที่เราบริโภคเข้าไป ผลที่ตามมาก็คือ ร่างกายของเรา จะปราศจากสารแอนตีออกซิแดนต์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเติมออกซิเจน ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ที่เป็นสาเหตุของโรคแห่งความเสื่อม รวมทั้งโรคอ้วนด้วย

 

3  คุณสมบัติในการลดความอ้วนของน้ำมันมะพร้าว 

แม้กระทั่งในปัจจุบัน ยังมีความเชื่ออย่างผิด ๆ ว่าการบริโภคไขมันชนิดใดก็ตาม  ทำให้น้ำหนักเพิ่ม    แต่จากผลการวิจัย ได้สรุปแล้วว่า การที่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของไขมัน น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้:

 

3.1 ให้พลังงานน้อยที่สุดในบรรดาไขมันทั้งหลาย

เนื่องจากเป็นไขมันขนาดกลาง (MCT) น้ำมันมะพร้าว จึงเป็นไขมันที่ให้พลังงานน้อยที่สุด คือเพียง 8.6 กิโลแคลอรีต่อกรัม เปรียบเทียบกับไขมันขนาดยาว (LCT) ชนิดอื่น ๆ ซึ่งให้พลังงานถึง 9 กิโลแคลอรีต่อกรัม
สรุปได้ว่า น้ำมันมะพร้าวให้พลังงานน้อยกว่าน้ำมันอื่น ๆ 
จึงทำให้ผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าวได้พลังงานน้อยกว่า จึงไม่อ้วน
 

3.2 มีความอยู่ตัวสูง:

    น้ำมันมะพร้าว มีความอยู่ตัวทางเคมีสูง เพราะมีองค์ประกอบเป็นไขมันอิ่มตัว ที่อะตอมของคาร์บอนเชื่อมต่อกันเป็นสายโซ่ด้วยแขนเดี่ยว (single bond) ทำให้อะตอมของออกซิเจน หรือไฮโดรเจน ไม่สามารถเข้าไปแทนที่ได้ การไม่ถูกเติมออกซิเจน ทำให้ไม่เกิดอนุมูลอิสระ และการไม่ถูกเติมไฮโดรเจน ทำให้ไม่เกิดไขมันทรานส์ ทั้งอนุมูลอิสระและไขมันทรานส์ เป็นสาเหตุของโรคแห่งความเสื่อมมากมาย โดยเฉพาะโรคอ้วน
สรุปได้ว่าน้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว ที่อยู่ตัว 
ไม่เกิดอนุมูลอิสระ และไขมันทรานส์ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำให้อ้วน
 

3.3   เคลื่อนที่ได้เร็ว ย่อยได้ง่าย และไม่เปลี่ยนไปเป็นไขมัน

    น้ำมันมะพร้าว  มีโมเลกุลขนาดปานกลาง (MCT) จึงถูกย่อยได้ง่าย และเคลื่อนย้ายได้สะดวก รวดเร็ว เมื่อบริโภคเข้าไป จะผ่านลำคอไปยังกระเพาะเข้าสู่ลำไส้ แล้วไปถูกเผาผลาญให้เป็นพลังงานในตับภายใน 24 ชั่วโมง โดยไม่ไปสะสมเป็นไขมันเหมือน กับน้ำมันที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่
     ดังนั้น ผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าวจึงแข็งแรง เพราะได้พลังงานทันทีที่บริโภคเข้าไป  Ingle (1999) และ Enig (1999) พบว่ากรดไขมันอิ่มตัวขนาดปานกลาง (MCT) สามารถลดการสังเคราะห์และการเก็บสะสมไขมัน ดังนั้น การบริโภคเนยหรือน้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นไขมันขนาดปานกลาง จึงมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการลดความอ้วน โดยการบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ  แต่เป็นไขมันที่โมเลกุลมีความยาวมาก  กลับอ้วนกว่าเดิม 
สรุปได้ว่า น้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีโมเลกุลขนาดกลาง เคลื่อนที่ได้เร็ว 
ย่อยได้ง่าย และไม่เปลี่ยนไปเป็นไขมันที่ทำให้อ้วน
 

3.4 ช่วยเปลี่ยนไขมันที่สะสมไว้ก่อนไปเป็นพลังงาน 

   นอกจากนั้น น้ำมันมะพร้าว ยังไปกระตุ้นให้ต่อมธัยรอยด์ทำงานได้ดีขึ้น ก่อให้เกิดความร้อนจากผลของ thermogenesis ซึ่งช่วยในการเผาผลาญอาหารที่บริโภคเข้าไปพร้อมกัน ให้เปลี่ยนเป็นพลังงาน แทนที่จะไปสะสมเป็นไขมันในร่างกาย ความร้อนที่เกิดขึ้น จึงไปช่วยสลายไขมันที่ร่างกายสะสมอยู่ก่อนหน้านั้น ให้สลายตัวไปเป็นพลังงาน จึงทำให้ผู้บริโภคผอมลง
      ดังคำกล่าวที่ว่า Eat Fat - Look Thin และนี่เอง เป็นเหตุให้คนไทยสมัยโบราณ ไม่ค่อยมีใครอ้วน เพราะรับประทานมะพร้าว กะทิ และน้ำมันมะพร้าว ร่วมกับอาหารหวาน-คาว  เพราะนอกจากตัวมันเองจะไม่ไปสะสมเป็นไขมันแล้ว น้ำมันมะพร้าว ยังช่วยไปดึงเอาไขมันที่ร่างกายสะสมไว้ก่อนหน้านั้น ไปเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน 
สรุปได้ว่า น้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นกรดไขมันขนาดปานกลาง ที่นอกจากจะเปลี่ยนไปเป็นพลังงาน และไม่สะสมเป็นไขมันในร่างกายซึ่งทำให้อ้วนแล้ว ยังไปนำไขมันที่สะสมไว้ก่อนหน้า ไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน จึงผอมลง
 

3.5  มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค 

    น้ำมันมะพร้าว มีกรดลอริก (lauric acid, C-12) อยู่สูงมาก (48-53%) ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกันกับกรดไขมันที่มีในนมของมารดา (ซึ่งมีเพียง 3-18%) เมื่อบริโภคเข้าไปในร่างกาย กรดลอริกจะเปลี่ยนเป็นโมโน ลอริน (monolaurin) ที่มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อยีสต์ ไวรัส หรือโปรโตซัว นอกจากกรดลอริกแล้ว
     น้ำมันมะพร้าว ยังประกอบ ด้วยกรดไขมันที่มีขนาดปานกลางอีก 3 ชนิด (ตารางที่ 1) ทุกชนิด ต่างก็มีส่วนช่วยยับยั้งเชื้อโรค โดยไม่ทำให้เกิดการดื้อยา และจะฆ่าเฉพาะเชื้อโรคที่มีเกราะหุ้มเป็นไขมัน แต่ไม่ได้ทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ที่อยู่ในร่างกาย ที่ไม่ได้มีไขมันเป็นเกราะหุ้ม
 สรุปได้ว่า น้ำมันมะพร้าวมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคทุกชนิด รวมทั้งชนิดที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพ
ของการเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงานและการสะสมไขมันในร่างกาย
 

3.6 มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ 

      อนุมูลอิสระ เป็นโมเลกุลที่อีเลกตรอนในวงแหวนรอบนอกสูญหายไป จึงไปขโมยอีเลกตรอนจากโมเลกุลข้างเคียง จึงเกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ที่ทำให้เกิดความเสื่อมของเซลล์ อันเป็นสาเหตุของโรคแห่งความเสื่อมมากมาย รวมทั้งโรคอ้วนด้วย อนุมูลอิสระเกิดจากผลของการเติมออกซิเจน  ในร่างกายของเรา มีสารแอนตีออกซิแดนต์ ที่ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ โดยการหยุดปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ที่ทำให้เกิดความเสื่อมของเซลล์
      ปริมาณสารแอนตีออกซิแดนต์ ในร่างกาย ขึ้นอยู่กับอาหารที่เราบริโภคเข้าไป ถ้าเป็นน้ำมันไม่อิ่มตัว เช่นน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการ RBD ที่ทำลายสารต่อต้านการเติมออกซิเจนที่มีอยู่จนหมด ดังนั้นผู้บริโภคน้ำมันเหล่านี้ จึงไม่ได้สารแอนตีออกซิแดนต์
      ดังนั้น เมื่อเซลล์ถูกกับออกซิเจนจึงเกิดกระบวนการเติมออกซิเจนให้แก่เซลล์ตลอดเวลา เพราะร่างกายของเรามีออกซิเจนบริบูรณ์จากการหายใจ ทำให้เซลล์เกิดอนุมูลอิสระ แม้กระทั่ง ผิวหนังของเราก็ถูกเติมออกซิเจน ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งสังเกตได้จากการที่ผิวหนัง มีรอยเหี่ยวย่น หากได้ชโลมน้ำมันมะพร้าวให้ผิวของเราแล้ว  ผิวของเราก็จะลดความเหี่ยวย่นจากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ
สรุปได้ว่า น้ำมันมะพร้าว สามารถต่อต้านการเติมออกซิเจน 
ที่เป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ 
ซึ่งทำให้เกิดโรคแห่งความเสื่อม รวมทั้งโรคอ้วน
 

3.7  ช่วยให้สุขภาพดีโดยองค์รวม

 การบริโภคน้ำมันมะพร้าว ช่วยให้มีสุขภาพดี แข็งแรง กระฉับกระเฉง ว่องไว ซึ่งก็มีส่วนให้ร่างกายใช้พลังงานมากขึ้น และไม่สะสมเป็นไขมันที่เป็นสาเหตุของความอ้วน  

 

4.  น้ำมันมะพร้าวช่วยให้คนผอม อ้วนขึ้น 

    เนื่องจากน้ำมันมะพร้าว สามารถลดน้ำหนักได้ จึงมีคำถามจากคนที่ผอมว่า มันจะทำให้คนผอมอยู่แล้ว ผอมลงไปอีกหรือไม่ ในเรื่องนี้ Fife (2005) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในเรื่องของน้ำมันมะพร้าว ให้คำตอบว่า “ไม่”   ได้มีการศึกษาพบว่า ถ้าหากคุณมีไขมันในร่างกายอยู่น้อย
     น้ำมันมะพร้าว จะไม่มีผลในการกระตุ้นเมตา-บอลิสซึม ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ และผู้ที่ขาดอาหาร ยังจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นได้ ถ้าเติมน้ำมันมะพร้าวลงไปในอาหาร  ดังนั้น ถ้าหากคุณมีน้ำหนักเกิน น้ำมันมะพร้าวจะช่วยลดไขมันออกจากร่างกายของคุณ แต่ถ้าคุณมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ น้ำมันมะพร้าว ก็จะช่วยให้คุณมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น  
จึงสรุปได้ว่า น้ำมันมะพร้าว ช่วยให้คนอ้วน ผอมลง  และคนผอม อ้วนขึ้น
 

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ 
 น้ำมันมะพร้าวลดความอ้วนได้อย่างไร ?โดย ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา     
 ด้วยความปรารถนาดี   กานดา แสนมณี
หมายเลขบันทึก: 466578เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2011 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2013 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณสาระดีๆ..

มีประโยชน์ พี่ใหญ่เป็นหนี้บุญคุณน้ำมันมะพร้าวมากมาย ทั้งกินทั้งทาค่ะ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีดี น่ะค่ะ

พี่ดาสบายดีน่ะ

มหัศจรรย์น้ำมันมะพร้าว

มีมากมายจริงๆค่ะ (นอกเหนือจากลดความอ้วน)

ของฝากที่ตัวเองเคยฝากคนป่วย 

ซึ่งแทบไม่มีความหวังในการรักษาแล้ว

เป็นคำตอบ ความหวังให้เขามีชีวิตใหม่อันสดใสแข็งแรง

ดีใจจริงๆค่ะ แต่เสียดายพี่ชายแท้ๆ ยังใช้รักษาไม่ต่อเนื่อง

ขอบพระคุณค่ะ สำหรับข้อมูลที่แบ่งปัน

ช่วงแรก นำบทความไปถ่ายเอกสารเย็บเล่ม

ราคาแพงกว่าหนังสือหลายตังค์

ด้วยความที่อยากให้ใครต่อใครได้รับรู้ข้อมูลดีๆหนะค่ะ



สวัสดีค่ะ

 คุณพี่ใหญ่ Ico48

  ดาจะต้องรบกวนขอให้คุณพี่ใหญ่เล่าประสบการณ์อีกครั้งเพื่อเขียนลงในหนังสือ ผู้ที่ไม่กล้าใช้จะได้ใช้อย่างคุณพี่ใหญ่นะคะ  ขอบคุณมากค่ะ

น้องกอหญ้า  Ico48

พี่ดาสบายดีขอบคุณมากค่ะ น้องก็สบายดีเช่นกันนะคะ  ค่ะน้ำมันมะพร้าวเพียงทราบวิธีใช้ก็จะเกิดประโชน์ต่อร่างกายมาก

คุณตะวันฯ  Ico48

ขอบคุณมากและดีใจค่ะ บอกกล่าวให้ทราบและช่วยบอกกล่าวต่อ  อาจจะขอรบกวนช่วยเล่าประสบการณ์เพื่อเขียนลงหนังสือได้ไหมค่ะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท