ให้ข้อคิด เรื่อง “น้ำท่วม”


ให้ข้อคิด เรื่อง “น้ำท่วม”

ให้ข้อคิด เรื่อง “น้ำท่วม”

สำหรับในช่วงนี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นมาถึง ณ ปัจจุบัน เหตุการณ์ที่ได้พบเห็นไม่ว่าตามสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ Internet ก็จะทำให้เราเห็นแต่สภาพของคำว่า “น้ำท่วม” เริ่มตั้งแต่จังหวัดทางภาคเหนือ มาปัจจุบันนี้ คือ กรุงเทพมหานคร เพราะตามธรรมชาติของน้ำ ที่เมื่ออยู่ที่สูงแล้วก็จะต้องไหลลงสู่ที่ต่ำ ในตอนแรกอาจจะยังไม่มาก น้ำก็รวมตัวกันขังตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ก่อน จนเป็นมวลน้ำที่มากพอที่จะก่อตัวเพื่อให้เกิดความเสียหายก็จะไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเมืองต่าง ๆ อีกลักษณะหนึ่ง คือ การเกิดฝนตกในที่ต่าง ๆ ก็จะเป็นผลทำให้เกิดน้ำท่วมขัง หรือไม่ก็ไหลลงสู่ลำน้ำสายหลัก เช่น ปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่ต้องไหลมารวมบรรจบกับแม่น้ำสายหลักอีกครั้งหนึ่ง

จากระยะเวลาดังกล่าว แม้แต่ที่บ้านของผู้เขียนน้ำก็ได้ท่วมขังเช่นกัน ซึ่งฝนได้ตกมาตั้งแต่ต้นปีใหม่ 2554 มาจนถึงปัจจุบัน เรียกว่า ที่จังหวัดพิษณุโลกไม่มีหน้าร้อนเลยปีนี้ แต่เมื่อปีก่อน ๆ ร้อนมาก ๆ พ่อบ้านเคยบอกผู้เขียนว่า “ระวังเหอะ!!!...ร้อน ๆ แบบนี้ ถ้าได้มาจะเอาไม่อยู่” ผู้เขียนก็ไม่ได้คิดอะไร ก็เป็นอันรู้กันว่า ถ้าร้อนแล้วก็ฝนจะตก...เป็นจริงตามที่พ่อบ้านบอกสำหรับปีนี้ น้ำมากจริง ๆ ผู้เขียนได้ FB ให้น้อง ๆ ที่ได้ติดต่อกันและบอกให้ทราบตลอดเวลาว่า “ให้ระวังเรื่องน้ำท่วม เพราะปีนี้น้ำมากจริง...ไม่ใช่น้ำแบบธรรมดา เป็นลักษณะของน้ำเชี่ยว น้ำหลาก ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน”...เมื่อน้ำท่วมนาของที่บ้านที่อยู่บริเวณทุ่งสาน หมดไปประมาณ เกือบ 70 กว่าไร่ไปแล้ว (รวมนาของน้องสาวด้วย) ทำให้บริเวณทุ่งสานกลายเป็นทะเลไปในพริบตา พ่อบ้านบอกว่า “เห็นไหม? บอกแล้วไง เมื่อร้อนมาก แล้วเป็นไง เอาอยู่ไหม?”... ผู้เขียนก็ได้ยิ้ม ๆ และก็ไม่สามารถจะพูดอะไรได้... เออ!!!...ก็เป็นจริงอย่างที่พ่อบ้านพูดด้วยแหล่ะ...

แต่เราก็ไม่สามารถไปทำอะไรได้ นอกเสียจากนั่งมองตากันว่า ที่นาที่ได้ปลูกข้าวไว้ มันหายไปในพริบตา น้องเพรียงบอกผู้เขียนว่า “แม่ ข้าวกำลังตั้งท้อง (ซึ่งน้องเพรียงกับน้องอ้อมไปดูข้าวทุกวันตอนที่น้ำกำลังจะท่วมนาที่ทุ่งสาน)”...ผู้เขียนก็ได้แต่ปลอบลูกว่า “ช่างมันเถอะ ทำไงได้ ก็ในเมื่อธรรมชาติเขาจะตก เราไม่สามารถไปห้ามฝนได้นี่ลูก”...จนสุดท้าย ข้าวในนาก็จมหายไปกับสายน้ำ และน้องเพรียง + น้องอ้อม ก็หยุดไปดูข้าวที่นา

เมื่อน้ำท่วมทุ่งสานก็ไม่ใช่เท่านั้น ฝนยังไม่หยุดตก พายุเข้าไม่รู้ว่าลูกแล้วลูกเล่า ลูกนี้ไปลูกนั้นต่อ เล่นเอาผู้เขียนและพ่อบ้านเริ่มใจไม่ค่อยดีแล้ว คิดว่า ปีนี้คงเกิดน้ำท่วมใหญ่แน่ ๆ แต่ก็ได้แต่พูดกันภายในครอบครัว สุดท้ายก็เป็นจริง น้ำหลากมาก ๆ ลำน้ำน่านซึ่งเคยรองรับน้ำฝน สำหรับปีนี้น้ำเกือบล้นฝั่ง การปล่อยน้ำจากเขื่อนนเรศวร ปล่อยครบทุกบานประตูเขื่อน เนื่องจากเขื่อนสิริกิติ์ปล่อยน้ำมามากเพราะถ้าไม่ปล่อยเขื่อนอาจจะพังได้ เล่นเอาช่วงนั้น ผู้เขียนใจคอไม่ดีเลย ผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำกระสอบทรายมากั้นตามแนวฝั่งแม่น้ำน่านเพื่อไม่ให้น้ำท่วมเมืองพิษณุโลก ก็พอจะแก้ไขไปได้บ้าง แต่ก็มีบ้างที่ไหลทะลักไปที่ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่าง + เข้าที่สนามกีฬาจังหวัดพิษณุโลก + หน้าวัดใหญ่ แต่ก็ไม่ละความพยายามของผู้ว่าฯ สั่งให้นำกระสอบทรายกั้นตรงแนวที่น้ำน่านเข้ามา แล้วก็สูบน้ำออก ก็แก้ปัญหาไปได้

แต่ต่อมา ภาพน้ำท่วมก็ยังไม่ลบเลือนไปจังหวัดต่อ ๆ ไป ที่ถูกน้ำท่วม ได้แก่ นครสวรรค์ อ่างทอง ชัยนาท อยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี ปทุมธานี และตอนนี้กำลังลงไปยังพื้นที่ที่ กรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะออกลงสู่อ่าวไทยให้ได้ เพราะน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แต่ภาพที่เห็นจากสื่อต่าง ๆ ทำให้ผู้เขียนเห็นแล้วก็คิดไปตามลักษณะมุมมองของผู้เขียนเองว่า บางที่นำดินเหลว ๆ ไปกั้น แล้วก็นำกระสอบทรายเล็ก ๆ ไปวาง ผู้เขียนคิดว่า “จะกั้นน้ำไหวหรือ?..." เพราะเขารู้กันบ้างหรือไม่ว่า...น้ำที่ท่วมนั้นเป็นลักษณะของน้ำเชี่ยวกราด น้ำหลากมาก ไม่ใช่น้ำที่ค่อย ๆ ซึม...การที่ทำคันดินแบบนั้นไม่มีประโยชน์หรอก...ผู้เขียนก็ได้แต่คิด...และสุดท้ายก็เห็นน้ำหลากพุ่งชนคันดินนั้นแล้วพุ่งเพื่อหาทางออกไปในที่ที่น้ำจะไปให้ได้ โดยน้ำก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะไป ณ ที่ใด แต่ก็จะไหลไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก คือ ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ...

จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากน้ำท่วมในปีนี้ เห็นภาพที่ทุกส่วนราชการทุกภาคเอกชนร่วมมือกัน คือ เกิดความสามัคคีในการรวมพลังกันเพื่อทำกระสอบทรายกั้นน้ำให้ได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้คิดขึ้นมาเรื่องหนึ่ง คือ การกระทำแบบนั้นเป็นการกระทำที่เราสามารถกั้นน้ำได้ในกรณีที่น้ำไม่มาก น้ำไม่ไหลเชี่ยว น้ำไม่หลาก แต่ถ้าในกรณีน้ำหลาก สิ่งที่รัฐควรทำให้ปีต่อไป นั่นคือ การหางบประมาณมาเพื่อขุดลอกคลอง แม่น้ำสายต่าง ๆ ให้ลึกลงไปให้มากกว่านี้ เพื่อรองรับน้ำในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่มีก็ตาม (เพราะน่าจะไม่มีวิธีไหนที่จะรับน้ำได้เท่ากับวิธีนี้)...แต่ก็ควรดำเนินการเตรียมไว้ เสมือนการวางแผนเตรียมตัวรับมือกับน้ำ นี่คือ วิธีที่จะแก้ปัญหาที่ถาวรมากกว่าเสียงบประมาณแบบยิบย่อยไปแบบปีนี้ ซึ่งบางคนอาจมองว่า “ใช้งบประมาณมาก”...แต่ก็จะมีวิธีไหนเล่าที่ดีไปกว่าวิธีที่ผู้เขียนบอก...เพราะตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นผู้ใดทำการขุดลอกคูคลองหรือลำน้ำเลย หรือจะมี...และนี่เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนเอง...บางคนอาจมองเห็นว่า เป็นเรื่องตลก...แต่จะมีวิธีใดที่ดีไปกว่าวิธีนี้เล่า...ที่จะทำให้ไม่มีใครเดือดร้อนเลย...ผู้เขียนสังเกตว่า แม่น้ำแต่ละสายดูเหมือนตื้นเขินมาก...แม้จะลึกแต่ก็ยังไม่น่าที่จะลึกพอที่จะรับน้ำได้...ถ้าไม่ทำจะปล่อยให้ปีต่อ ๆ ไป ประเทศไทยเสียหายแบบปีนี้อีกหรือ นี่คือ...บทเรียนหนึ่งที่คนไทยควรจำและหาทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกในปีต่อ ๆ ไป...

ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทย ปี 2554

หมายเลขบันทึก: 465427เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2011 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2016 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • ขอขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะ คุณธนากรณ์ Ico24
  • ที่บ้านน้ำท่วมไหมค่ะ...

สวัสดีครับ อ.บุษยมาศ

เข้ามาแวะเยี่ยมเยียนกันนะครับ ได้รับผลกระทบมากไหมครับ? ของผมเองยังนั่งลุ้นบ้านที่กรุงเทพฯอยู่ ส่วนบ้านที่ตัวอยุธยาก็เรียบร้อยไปแล้วโดยไม่ทันได้แม้แต่จะเก็บข้าวของเลยครับ ยังเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้เลย ดีว่าลูกสาวปิดเทอมไปอยู่บ้านคุณตาคุณยายที่ผักไห่ ก็หายห่วงหน่อย ที่ผักไห่ท่วมก่อนแล้วล่วงหน้าเลยครับ ตอนนี้น้ำก็ยังไม่ลง ทรงๆตัวอยู่ แล้วบ้านที่ผักไห่โชคดีอยู่ในที่สูงจึงไม่ได้รับผลกระทบ แต่ลำบากเรื่องเดินทาง ตอนนี้โดนน้ำล้อมหมดเลย ไม่มีถนนเข้าได้แล้ว แถมสายหลักเอเซียก็ล่มด้วย ไม่ได้กลับไปหาครอบครัวมาประมาณเดือนหนึ่งแล้วครับ

เนื้อหาที่เขียนมาผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ไม่ใช่เรื่องตลกเลยครับ แต่เป็นสิ่งที่ อ.บุษยมาศ เองเกิดความตระหนักมากกว่า ผมใช้คำนี้นะครับ เพราะผมเองได้บทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้มาแชร์ให้ฟังเหมือนกันครับ ผมเองอาจจะไม่ได้ลงมือสัมผัสหน้างานมากนัก เพราะแค่ยกถุงทรายไปครั้งหนึ่งหลังก็แย่แล้วครับ ความคิดของผม (ไม่มีเจตนาจะตำหนิ หรือกล่าวหาใครนะครับผม) ผมคิดว่าพวกเราเอาแต่กั้นๆกัน ต่างคนต่างกั้น และเราก็จะเข้าใจแต่ในความต้องการของเรา โดยน้อยคนนักที่จะไปทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของน้ำ นี่แหละสำคัญมากๆเลยครับแล้วมันก็สอดคล้องกับความเห็นของ อ.บุษยมาศด้วย ผลสุดท้ายก็พัง ยิ่งกั้นก็ยิ่งพัง พอพังยก็ไหลพรวดทะลักด้วยความรุนแรง ความรุนแรงของแรงดันจากมวลน้ำมหาศาล เกิดความสูญเสียแบบไม่ทันตั้งตัว (๓๐-๔๐ นาที บ้านจมไปทั้งหลัง) มนุษย์เราใช้ความต้องการคือ ความไม่ยากที่จะสูญเสีย (แม้แต่เล็กน้อย) มาเป็นตัวตั้ง แบ่งเป็นโซน เป็นพื้นที่ ต่างฝ่ายต่างก็ต้องรักษาพื้นที่ตนเอง ทำทั้งคันดิน กระสอบทราย กั้นมวลน้ำที่เขาไม่ได้ต่างฝ่ายต่างมา เขามารวมกันเป็นมวลเป็นก้อนน้ำมหาศาล ผมเปรียบเทียบว่ามันไม่ต่างอะไรไปจากการตั้ง "ระเบิดเวลา" รอเวลาที่มันจะพัง ประวิงเวลา หน่วงเวลาอยู่ได้ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องพัง เพราะอย่างที่ อ.บุษยมาศ ว่าน้ำเขาไม่ทรงตัว เราก็ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนด้วย หนักเข้าไปใหญ่เลย เจอข้อมูลลวง ข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าไปอีก

แนวทางที่ผมพิจารณา หากจะต้องกั้นทำได้อยู่บ้าง แต่เราต้องยอมเสียบ้าง คือ ปล่อยช่องให้เขาระบายได้บ้าง อาจใช้ท่อต่อออกมาแล้วกำหนดทิศทางปล่อยออกได้ เพื่อลดแรงดันของน้ำลงบ้าง (ให้นึกถึงเขื่อนนะครับ การกั้นน้ำของเราเหมือนเขือน แต่เขื่อนเขามีรากฐานที่แข็งแรงมากๆนะครับ) คันดิน กระสอบทรายเรามีรากฐานหรือเปล่า? เขือนเขายังต้องเจาะช่องระบายช่วงที่ระดับน้ำสูงถึงขั้นวิกฤตเลยนะครับ ไม่อย่างนั้นเขือนแตก รุนแรงเป็นหมื่น เป็นแสนเท่า ของคันดิน กระสอบทรายพังเสียอีก

สรุปบทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้ก็คือ พฤติกรรมน้ำ เขาสอนให้มนุษย์อย่างพวกเราต้องรู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ บางอย่างเสียบ้าง หากเราต้องการให้สังคมของเรายืนหยัดอยู่ต่อไปครับ

ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีโอกาสจะแวะเข้ามาเยี่ยมอีกครับผม

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ธนากรณ์...Ico48

  • ค่ะ ที่บ้านที่พรหมพิราม ส่วนที่เสียหาย คือ สวน นาข้าวเกือบ 70 ไร่ หายไปกับน้ำท่วม รัฐจ่ายก็ไม่เท่ากับระยะเวลาที่พวกเราทุ่มเทแรงกาย แรงใจลงไปกับพืชสวนหรอกค่ะ ลองกอง มังคุด ขนุน มะม่วง ฯลฯ กว่าจะโตใช้เวลาไม่รู้กี่ปี แต่ทำอย่างไรได้ ก็ในเมื่อธรรมชาติ "น้ำ" มาแบบนี้ ก็ได้แต่ทำใจกันค่ะ
  • ตอนนี้บ้านของน้องสาวที่ปทุมก็ท่วมไปแล้วค่ะ เหลือแต่ชั้นบน แต่ไม่กล้าอยู่กันหรอกค่ะ (กลัวไฟฟ้าช็อต) กลับมาที่บ้านที่พิษณุโลกกันค่ะ โรงงานทำอยู่กันที่นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี ก็ไม่รู้ว่าจะรอดหรือเปล่า มาส่งหลาน ๆ ที่บ้าน แต่ก็กลับไปทำงานไม่ได้ ทางบริษัทก็ส่งข่าวมากันว่าจะรอดหรือเปล่าก็ไม่รู้ วัน สองวันนี้อาจรู้ค่ะว่าบริษัทจะรอดหรือไม่ ...
  • เป็นเหตุการณ์ที่คนไทยทุกคนควรสำนึกแล้วนะคะว่า "ควรเตรียมตัว" ได้แล้ว และเหตุการณ์แบบนี้ เมืองไทยนาน ๆ ครั้งจะเกิด แต่มาระยะหลังเริ่มจะถี่ขึ้นนะค่ะ สำหรับปีนี้ ดิฉันว่า "มันแรง" จริง ๆ ค่ะ เสียหายไม่รู้เท่าไหร่...
  • จากที่เขียนก็เป็นเรื่องที่อยากให้ทุกคนหวนกลับมาคิดว่าสิ่งที่เราทำกันลงไป มันสามารถแก้ไขปัญหาจริง ๆ ได้หรือไม่ เราติดตามข่าว ความเคลื่อนไหวกันมากน้อยแค่ไหน มีการเตรียมพร้อมกันหรือไม่ และเป็นสิ่งที่คนไทยต้องเตรียมตัวและวางแผนรองรับสำหรับปีต่อ ๆ ไป แล้วละค่ะ
  • ขอบคุณนะคะ ที่แวะมาเยี่ยม...
  • ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะ ครูประทีป  Ico24...

แต่ก็จะไหลไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก คือ ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ...

หลายๆฝ่ายจะเข้าใจธรรมชาติข้อนี้กันแค่ไหน

ขอบคุณคะ เป็นข้อเขียนที่ให้ข้อคิดอย่างมีพลัง และเห็นด้วยกับ อ.ธนาภรณ์คะ น้ำย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำ เป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไร ตามธรรมชาติ แต่เรามักพยายามฝืน ด้วยการกั้น หลังน้ำลด เราคงต้องหันมาเอาจริงเรื่อง การระบาย ทำแหล่งน้ำให้ลึกขึ้น ผู้อาศัยรอบแหล่งน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบเต็มๆ คงต้องช่วยดูแล รื้อถอนสิ่งกีดขวางออกไป อย่างไรก็ตาม การร่วมแรงร่วมใจ ก็มีข้อดี คือละลายความรู้สึกแบ่งแยก ตามความเชื่อส่วนบุคคล เพราะภัยพิบัติ มิได้เลือกว่าใครเชื่อแบบไหน ชอบแบบไหน ขออนุญาตนำบทความ อ.นพ.ประเวศ วะสี ถึงวาระแห่งชาติหลังน้ำท่วมมาฝากคะ

  • นั่นสิค่ะ คุณครู ป.1 Ico48...
  • อย่าลืมว่า!!!...การสร้างถนนที่แล้วมาก็มีส่วนที่เราทำเป็นแนวกั้นขวางทางน้ำอยู่เหมือนกัน แล้วทำอย่างไรเล่า น้ำจะได้ลงสู่ทะเลให้มากที่สุด เพราะตอนนี้ น้ำไม่ต้องการอยู่ในแหล่งที่น้ำได้อยู่ ณ ปัจจุบัน แต่ก็มากักมากั้น จึงทำให้เป็นแบบนี้ รวมถึงอาจเกี่ยวเนื่องกับการเป็นผู้นำของชุมชนที่ไม่ต้องการให้ไปในที่ที่เป็นของตน พยายามกั้นน้ำแต่สุดท้ายก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มวลน้ำที่ก่อตัวขึ้นก็พยายามดันกำแพงที่กั้นนั้นเข้าไปให้ได้
  • เป็นเพราะมนุษย์ต้องการที่จะชนะน้ำ แต่ธรรมชาติหาเป็นเช่นนั้นไม่ มีใครบ้างเล่าที่จะเข้าใจในพฤติกรรมของน้ำว่าต้องการเช่นไร?...ถ้าทุกคนเข้าใจคงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้หรอกค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะคะ และขอขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจด้วยค่ะ...
  • ค่ะ คุณ ป.Ico48 เห็นด้วยกับข้อ (8) ของ นพ.ประเวศ วะสี นะค่ะ สำนักงบประมาณควรปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณใหม่ สำหรับหลังน้ำท่วมนี้ ควรหันไปใส่ใจในเรื่อง การขุดลอก คู คลอง แม่น้ำ และนำสิ่งกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ออกให้หมด รวมถึงผู้ที่ปลูกอาศัยแล้วยื่นเข้าไปในลำน้ำ เพราะสิ่งเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ขวางทางน้ำ เพื่อน้ำจะได้ไหลให้เร็ว แรงขึ้น เหมือนกับสภาพที่เราเห็นน้ำหลากที่ไหลหลากไปตามบ้านเรือนไงค่ะ
  • รัฐควรจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้เพื่อดูแลแม่น้ำ ลำคลองให้ลึกขึ้น ไม่มีสิ่งกีดขวางลำน้ำ และควรเร่งทำอย่างจริงจัง เพราะไม่เช่นนั้น ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าปีต่อไปจะมีเหตุการณ์แบบนี้อีกหรือไม่
  • สิ่งที่สูญเสียจากน้ำท่วมในครั้งนี้ มันมากมายมหาศาลมากนัก แม้แต่นิคมอุตสาหกรรมก็เสียหาย แล้วแบบนี้ใครเขาจะกล้ามาลงทุนกับเมืองไทยละค่ะ
  • ยิ่งถ้าสะกัดน้ำไว้เท่าไร สุดท้ายก็ไม่พ้นที่มวลน้ำรวมตัวกันแล้วก็เกิดความเสียหายขึ้นมาอีก...เพราะบอกได้เลยว่า น้ำปีนี้มากจริง ๆ มากกว่าปี 2538 มากมายค่ะ...ตอนนี้ทางเหนือน้ำก็เริ่มเน่าเสียแล้วส่งกลิ่นเหม็นแล้วนะค่ะ...ระวังเรื่อง "สุขอนามัย" ด้วยค่ะ...
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะค่ะ และขอขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจด้วยค่ะ...
  • ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะ ท่านผอ.บวร Ico48
  • น้ำย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำจริงๆด้วย
  • แต่บ้านเรา
  • ทำทางกั้นน้ำ
  • เลยไปไม่รอดครับ
  • ค่ะ อ.ขจิต Ico48...รัฐพยายามทำแต่ถนน สังเกตไหมค่ะว่า ถนนน่ะยาวมาก ทำแบบแน่นหนา แต่ปล่อยให้มีที่ระบายน้ำช่องนิดเดียว ซึ่งสมัยก่อนไม่มีถนนจะมีที่ระบายน้ำมาก น้ำสามารถไหลออกได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อมีถนนมากั้นแล้วไหนเลยจะรอด น้ำจะรอให้สะสมตัวเป็นมวลน้ำก้อนใหญ่แล้วไหลพุ่งไปทีเดียว สังเกตหรือไม่ว่า พฤติกรรมน้ำเป็นอย่างไร น้ำไม่เคยเปลี่ยนพฤติกรรม น้ำจะเป็นไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว คือ จะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แต่มนุษย์เราสิค่ะที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ชอบฝืนธรรมชาติ ชอบกัก ชอบกั้น เขาเรียกว่าฝืนธรรมชาติ ความจริง มนุษย์ฝืนธรรมชาติได้ แต่ก็ต้องมีทางให้น้ำได้ระบายเพียงพอที่จะไม่มาทำให้มนุษย์เดือดร้อนได้ไงค่ะ
  • สงสัยเมืองไทยต้องทำถนนลอยฟ้าแล้วมังค่ะ...อิอิอิ...พี่ชอบคิดตลกอีกแล้วจ้า...แต่ก็น่าคิดดีนะค่ะ...
  • แล้วเป็นอย่างไรบ้าง? น้ำท่วมบ้านบ้างไหมค่ะ?  ปีนี้โดนกันทั่วหน้าเลยนะค่ะ เป็นกำลังใจให้ทางภาคกลางนะค่ะ เราต้องดูแลทรัพย์สิน + ตัวเราเอง + เท่านั้นเองค่ะ ไม่อาจขวางกั้นกระแสน้ำเขาได้เลยนะคะ...
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม + ขอขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ..อ.บุษยมาศ...ยายธีคิดว่า..เด็กรุ่นต่อๆไป..คงจะต้องเรียนรู้เรื่องของความเป็นอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบๆด้าน ทั้งใกล้ตัวและไกลตัว...เขาคงเรียนอ่านเพียงตัวหนังสือ..อย่างเคยไม่ได้...และระบบการเรียนที่..ทำให้สังคม..ภายในบ้านหายละลายไป..เวลาเรียน..และการลงทุน..ที่เรียกว่า..ไม่คุ้มทุนเวลานี้..จะเป็นไปอีกนานแค่ไหน..หากเราไม่เริ่ม..ที่จะ..แก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ..(ถ้า)เด็กที่จะเป็นผู้รับเคราะห์..ของการกระทำ..จากผู้ใหญ่ในวันนี้..และเขาไม่ถูกสร้างให้เป็น"ผู้คิดเป็น..ให้ความเห็นได้..และรับผิดชอบตัวเองได้ในเร็ววัน."..สังคมจะอยู่ได้อย่างไร...และถ้าเราจะเพียงคิดว่า "มันเป็นเวรเป็นกรรมช่างหัวมัน"อย่างเคยๆ..และ อยู่กันแบบลูบหน้าปะจมูก...อิอิ...ยายธี.(เอง).ก็เลย..แอบคิดว่า..เป็น.."งู" ที่กำลัง..จะลอย..ตามน้ำไปเหมือนกัน..อ้ะ..(โดนธรรมชาติลงโทษ..กะเขาเหมียนกัน..อ้ะ..)....ยายธีเจ้าค่ะ

  • ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะ คุณวันเพ็ญ...Ico48
  • ค่ะ ยายธี  Ico48 การเรียนในอนาคตสิ่งที่ต้องแฝงและสอนอยู่ในหลักสูตร ควรจะเป็นเรื่องของ "ทำอย่างไรที่จะให้ชีวิตอยู่รอดได้ ยามที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น เรื่อง น้ำท่วม" นี้นะคะ เป็นการสอนให้คนเราเตรียมพร้อม เตรียมตัวที่จะรับเรื่องหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นค่ะ...คงไม่ใช่ "ความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด" เช่น คำพังเพยของคนสมัยก่อนนะคะ
  • ขอบคุณยายธีที่แวะเข้ามาเยี่ยม และขอขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจด้วยค่ะ...

สวัสดีค่ะอาจารย์

เป็นกำลังใจค่ะ

หวังเช่นกันที่จะมีการป้องกันแก้ไขในระยะยาวด้วยค่ะ

  • ค่ะ คุณถาวร Ico48...
  • เมื่อหมดภาระที่คนไทยต้องพบเจอกับปัญหาเรื่อง น้ำท่วม ทุกคนต้องหันหน้ามาเตรียมที่จะรับมือกับน้ำในปีต่อ ๆ ไปด้วยนะคะ...
  • ครั้งนี้ เป็นบทเรียนที่ให้ราคาแพงต่อคนไทยอย่างมากเลยค่ะ อาจนำเข้าไว้ใน หลักสูตรของการเรียนการสอน ในเรื่อง ของการใช้ชีวิตอย่างไรต่อการที่คนไทยพบ เจอกับปัญหาในเรื่องของภัยธรรมชาติด้วยกระมังค่ะ
  • อย่ามัวรอให้เกิดเหตุการณ์กันก่อนแล้วค่อยมานั่งแก้ไขปัญหากันค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะคะ และขอขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจด้วยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท