การจัดกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่


 

การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่อิงกับปฏิบัติการจริงหรือพื้นที่รูปธรรมนั้นแตกต่างไปจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ในห้องค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่สร้างการเรียนรู้เชิงปฏิบัติได้ดี เห็นของจริง ลงมือฝึกปฏิบัติได้ ฮักเมืองน่าน ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบนี้ค่อนข้างมาก โดยมีอาสาสมัครฮักเมืองน่านเป็นทีมสนับสนุนการเรียนรู้(Fa) ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้เองที่ทำให้กลุ่มและองค์กรเครือข่ายฮักเมืองน่านเติบโต เกิดการเรียนรู้ข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น และข้ามกลุ่ม/องค์กร ทำให้เกิดกระบวนการย้ายถิ่นของความรู้จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ทำให้ครูชาวบ้านได้พัฒนาเอง เกิดการยกย่องและให้คุณค่ากับครูชาวบ้าน

 

สถานที่ มักจะใช้พื้นที่จริงเป็นพื้นที่สำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้ อาจจะเป็นลานวัด ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ห้างนา แปลงนา แปลงเกษตร ป่าชุมชน ป่าขุนน้ำ วังปลา ริมแม่น้ำ ฯลฯ ขึ้นกับประเด็นการเรียนรู้

 

กลุ่มเป้าหมายการเรียนรู้ จะเน้นไปที่ผู้ปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ เป็นหลัก เน้นกลุ่มที่ไม่ใหญ่เกินไป เหมาะสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และลงมือฝึกปฏิบัติการไปด้วย

 

วัตถุประสงค์การเรียนรู้ เน้นให้ได้เห็นวิธีคิด รูปธรรมของงาน เรียนรู้กับพื้นที่ต้นแบบ และฝึกทดลองปฏิบัติจริง (ฮักเมืองน่านใช้หลักการเรียนรู้ คือ พารู้ พาดู พาทำ...มีเวลาจะมาเติมกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ครับ)

 

อุปกรณ์ช่วยการเรียนรู้ หลักๆ คือ กระดาษฟลิปชาร์ท ปากกาเคมี และอุปกรณ์เฉพาะสำหรับการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ

 

กระบวนการเรียนรู้

  • การเตรียมการจัดกระบวนการเรียนรู้ จะเตรียมการเช่นเดียวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ในห้อง เพียงแต่ที่ต้องเตรียมเพิ่มคือสถานที่ที่จะใช้จัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งต้องมีการเตรียมครูชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่ต้นแบบที่จะนำการเรียนรู้ด้วย
  • การจัดกระบวนการเรียนรู้
    • ทำความรู้จักกันและกัน จะเริ่มจากชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในครั้งนี้ หลังจากนั้นจะแนะนำเจ้าของพื้นที่ และผู้เข้ามาร่วมเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกันและกัน รวมไปถึงการบริหารกาย บริหารใจก่อนการเรียนรู้ด้วย ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าการบริหารกายและใจแบบง่ายๆ จะทำให้เริ่มการเรียนรู้ได้ดี เป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ร่วมกัน และได้มีโอกาสมาดูแลตนเองด้วย
    • เรียนรู้พื้นที่ โดยให้ครูชาวบ้านเจ้าของพื้นที่แนะนำสถานที่และเรื่องราวการเรียนรู้ในพื้นที่ในภาพรวม อาจจะพากันเดินดูพื้นที่จริงของพื้นที่เรียนรู้ ตรงนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นการยกให้ครูชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ได้เป็นพระเอก ได้บอกเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดความรู้ของตนเองที่ได้ทำมาให้กับผู้เข้าร่วมเรียนรู้ เป็นการฝึกการถ่ายความรู้ของครูชาวบ้าน และสร้างความภาคภูมิใจในตนเองด้วย
    • เรียนรู้ตามฐาน โดยการแบ่งกลุ่มย่อยเรียนรู้ตามฐานการเรียนรู้ในพื้นที่ต้นแบบตามศักยภาพของพื้นที่ที่มีอยู่ ซึ่งการเรียนรู้นี้จะเน้นการเรียนรู้ไปจนถึงการฝึกปฏิบัติ ตรงนี้ก็เช่นกันเป็นการสร้างการเรียนรู้เชิงปฏิบัติจริง ครูชาวบ้านที่เป็นครูประจำฐานก็จะนำการถ่ายทอดการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเองในกลุ่มย่อย และลงมือทดลองฝึกปฏิบัติการจริงร่วมกัน
    • การวางแผนการเรียนรู้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันว่าได้ความรู้อะไรใหม่จากการเรียนรู้ในพื้นที่จริงและฐานการเรียนรู้ แล้วจะนำองค์ความรู้นี้ไปใช้ในพื้นที่ตนเองอย่างไร จะเน้นการจัดกระบวนการกลุ่มย่อยตามพื้นที่/องค์กร เพื่อร่วมกันวางแผนปฏิบัติการจริงในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นการนำสิ่งที่เรียนรู้ไปพัฒนาต่อยอดกับสิ่งที่ตนเองทำอยู่ตามบริบทของตนเอง
    • สรุปการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการสรุปการเรียนรู้ในภาพรวมและมอบหมายภารกิจร่วมกัน
    • ถอดบทเรียนการเรียนรู้ (AAR) เป็นการทบทวนหลังปฏิบัติการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทีมจัดการ ทีม Fa และครูชาวบ้านเจ้าของพื้นที่

 

ตัวอย่างการจัดกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่

เรียนรู้เกษตรธรรมชาติที่โจ้โก้ 

ปลูกข้าว...ปลูกชีวิต 

เดินเท้าตามเส้นทางสายวัฒนธรรมเมี้ยง 

กระบวนการเรียนรู้เพื่อ “มุฑิตาจิต” 

 

 

การจัดกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่ จะให้ความสำคัญกับครูชาวบ้านและพื้นที่ที่เป็นสถานที่จัดการเรียนรู้ ตั้งแต่การถ่ายทอดความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่เว้นแม้แต่อาหาร อาหารว่าง ก็จะเน้นให้เจ้าของสถานที่เป็นผู้ดำเนินการเอง เราจึงมักได้ชิมอาหารเมนูพื้นที่ถิ่นที่แปลกและหลากหลาย ซึ่งก็เป็นอีกสีสันหนึ่งของการจัดกระบวนการเรียนรู้

การเรียนรู้ในพื้นที่ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีห้อง ไม่มีกำแพงกั้น หากแต่อิงกับชีวิตและความเป็นอยู่จริง ให้ความสำคัญกับครูชาวบ้าน ได้เห็นคุณค่าและความหมายของกันและกัน ทีมกระบวนกรมีหน้าที่เพียงพอคนให้มาพบปะวิสาสะแลกเปลี่ยนกัน ตั้งโจทย์ชวนคิดและขับเคลื่อนต่อ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของครูชาวบ้านและผู้ร่วมเรียนรู้ นับว่าเป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวามากเลยทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 465311เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2011 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท