สาเหตุน้ำท่วมจากบทความ ดร. สมิทธ ธรรมสาโรช


เมื่อเตรียมตัวเสร็จสิ้นแล้ว ทำไม "ไม่วางใจลง" บททดสอบของมนุษย์ผู้ฝึกตนก็คือการต้อนรับภัยที่จะมาเยือนด้วย "สติ"

บ้านผู้เขียนอยู่ใกล้เขตคลองสามวาและเขตสายไหม หลังคันกั้นน้ำในโครงการพระราชดำริ  เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว (วันที่ 8 ตุลาคม 2554) เนื่องจากมีการเตือนภัยน้ำท่วมจากข่าวสารภาครัฐว่ามีเขตเสี่ยงในกรุงเทพมหานครที่ไหนบ้างและเขตที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ก็อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง

  

ยอมรับว่าตอนแรกก็ตระหนกตกใจอยู่บ้าง เนื่องจากเคยอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2538 น้ำท่วมถึงเอวผู้ใหญ่ สมัยนั้น ผู้เขียนยังเป็นวัยรุ่นอยู่ และอาศัยแถวตลิ่งชัน  ไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกันบ้านของตนเองเท่าที่ควร โดยหน้าที่นี้เป็นภาระของคุณพ่อคุณแม่ ส่วนตัวผู้เขียนก็ต้องอาศัยอยู่บ้านเพื่อนนอกเขตพื้นที่น้ำท่วมตามคำสั่งของผู้ใหญ่ น้ำลดถึงเข่า จึงได้เข้ามาดูสภาพบ้านตนเอง เห็นกระสอบทรายกั้นรอบบ้าน เห็นความยากลำบากของผู้ใหญ่ที่พยายามอย่างยิ่งที่จะปกป้องบ้านของตนเองไว้

  

 

เหตุการณ์น้ำท่วมในเมืองกรุงค่อนข้างอลหม่าน การจราจรที่ต้องใช้รถสัญจรไปมากลายเป็นอัมพาต พื้นถนนกลายเป็นคลองให้เรือแล่นผ่านไปมาแทนรถในบางพื้นที่ โดยเฉพาะแถวปริมณฑล นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ

  

 

มาวันนี้ ผู้เขียนได้ย้ายที่อยู่ใหม่มาอยู่ที่นี่นานหลายปีแล้ว แม้ภาพน้ำท่วมสมัยนั้นจะยังคงติดตา แต่ก็ยอมรับว่าสมัยนี้การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารดีกว่ามาก การที่เราได้รับรู้ ได้เห็น ได้ตรวจสอบ กลั่นกรองข่าวสารต่าง ๆ หลายทาง ทำให้เราได้ฝึกการเป็นผู้รับข่าวสารที่ดี ได้ฝึกการไตร่ตรอง ขบคิดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

 

ผู้เขียนได้ติดตามบันทึกเรื่องเล่าเหตุการณ์น้ำท่วมจากกัลยาณมิตรหลายท่าน และเห็นชัดว่าตนเองถนัดที่จะเป็นผู้รับข้อมูลข่าวสารมากกว่า ด้วยอ่อนประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม แม้จะอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง แต่ก็มีการเตรียมพร้อมพอประมาณ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หลาย ๆ ท่านทราบและปฏิบัติกันอยู่แล้ว สิ่งที่จะฝากไว้ในที่นี้คือข้อคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะมาแลกเปลี่ยนมากกว่า

 

 

นั่นคือคำว่าการเตรียมตัวด้วย "ความไม่ประมาท" กับการเตรียมตัวด้วย "ความเครียด"  หรือ "ความตื่นตระหนกวิตกกังวล" เส้นใยมันบางเบามาก ที่ผู้เขียนยกเรื่องนี้มา เพราะรับโทรศัพท์ของเพื่อน ๆ และแต่ละคนก็อยู่ในอาการตื่นตระหนก เสียงสั่น มีความเครียดสูง และบางคนก็ล้มเจ็บไปแล้ว   ส่วนใหญ่เพราะได้ข่าวคราวเพื่อน ๆ ที่ตกทุกข์ได้ยากจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงภัย และเปิดรับข่าวสารทุกวัน จนตนเองแทบไม่ได้นอนพักผ่อน

 

 

เมื่อเตรียมตัวเสร็จสิ้นแล้ว ทำไม "ไม่วางใจลง" บททดสอบของมนุษย์ผู้ฝึกตนก็คือการต้อนรับภัยที่จะมาเยือนด้วย "สติ"  

 

 

 ผู้เขียนเชื่อว่า "สติ" จะช่วยคุ้มครองทุกท่านให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ หรือวิกฤตการณ์ใดก็ตามให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

 

   

 ขอจบท้ายด้วยบทความของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จากโพสต์ทูเดย์ อ่านด้วยวิจารณญาณและการไตร่ตรองของท่านเอง  

  

  

                             น้ำท่วม...บริหารจัดการไม่เป็น

posttoday.com 15 ตุลาคม 2554 

 

ไม่ใช่ภัยพิบัติลงโทษแต่...บริหารน้ำผิดพลาด

 

รุนแรงจนรัฐบาลต้องประกาศเป็น "วาระแห่งชาติ" ระดมความร่วมมือจากทุกสรรพกำลังมาร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศที่จนถึงเวลานี้ 26 จังหวัด กำลังจมน้ำ ประชาชนกว่า 2.2 ล้านครัวเรือนกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก 

 

นอกจากบ้านเรือน พื้นที่การเกษตรที่เสียหายไปแล้วกว่า 9.6 ล้านไร่ มวลน้ำก้อนมหึมายังรุกคืบสร้างความเสียหายต่อเนื่องฝ่าปราการป้องกันเบื้องต้นรุกล้ำไปยังนิคมอุตสาหกรรม จนมูลค่าความเสียหายพุ่งสูงหลายแสนล้านบาท ยังไม่รวมยอดผู้เสียชีวิตที่สูงถึง 281 ราย

 

 

 

ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในฐานะผู้คร่ำหวอดในแวดวงอุตุนิยมวิทยา มายาวนาน ฟันธงว่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ใช่เป็นผลพวงจาก "ภัยพิบัติ" แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำไม่เป็น!!! 

 

 

 

"คือไม่สามารถจะบริหารน้ำได้ ไม่มีการติดตามข้อมูลตั้งแต่ต้นฤดูฝนว่าจะตกเยอะไหม ควรเก็บน้ำในเขื่อนไว้เท่าไหร่ ปรากฏว่าทุกคนเก็บน้ำไว้ในเขื่อนใหญ่หมด ทั้งกรมชลประทาน การไฟฟ้าฯ ซึ่งกลัวว่าจะไม่มีน้ำใช้ในหน้าแล้งซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ผิด 

 

...ถ้าฝนตกต่อเนื่องทั้งกลางฤดู ปลายฤดู ยังตกอยู่ ปริมาณช่องว่างน้ำในเขื่อนจะไม่สามารถเก็บน้ำฝนกลางฤดูได้ ตอนนี้เขื่อนใหญ่เต็มหมดแล้วปัญหาคือ เมื่อเขื่อนใหญ่เต็มหมดแล้ว ก็ปล่อยน้ำในเขื่อนออกมาพร้อมกัน ปริมาณน้ำที่ปล่อยมามากกว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกใส่เขื่อน" 

 

 

ดร.สมิทธ อธิบายว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนใหญ่ทั้ง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ทำให้น้ำมารวมตัวในภาคกลางตอนบนไล่มาตอนล่าง ขณะที่ภาคกลางก็มีน้ำฝนที่ตกมาอยู่ท้ายเขื่อนอยู่ในที่ลุ่มอยู่แล้ว ดังนั้นน้ำในขณะนี้จึงมหาศาลมาก หลายคนบอกน้ำปล่อยมานิดเดียวแต่เพราะน้ำมีอยู่แล้วในที่ลุ่ม ในนา เมื่อปล่อยมาพร้อมกันปริมาณน้ำจึงมาก ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมพร้อมกัน ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา 

 

"เป็นวิกฤตบริหารน้ำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่มีการวางแผนไว้ก่อน 

อันที่จริงเราควรเก็บน้ำไว้ครึ่งหนึ่ง และถ้ามีฝนกลางฤดูที่แล้วก็สามารถเก็บน้ำไว้อีกได้" 

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานักวิชาการหลายคนบอกว่าน้ำไม่เคยสูงเช่นนี้ บางคนบอกน้ำเยอะแต่ไม่เคยท่วม ทุกคนต่างคนต่างมีข้อมูลของตัวเอง แต่ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาเถียงกันเรื่องข้อมูล เพราะข้อมูลที่แท้จริงกรมอุตุนิยมวิทยามีอยู่แล้ว เรามีสถานีวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน กว่า 200 แห่งที่วัดปริมาณฝนได้

 

สำหรับแนวทางการแก้ไขในเวลานี้ ดร.สมิทธเห็นว่า จำเป็นที่จะต้องหยุดปล่อยน้ำจากเขื่อนเพราะช่วงนี้ไม่มีปริมาณน้ำฝนที่จะตกเข้าเขื่อนแล้วทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนนี้3 เขื่อนใหญ่ก็จะไม่มีน้ำเข้าแล้ว ดังนั้นถ้าเรายังปล่อยน้ำมหาศาลซ้ำเติมระบบน้ำท่วมที่อยู่ในภาคกลาง น้ำจะท่วมหมด 

 

"ความเสียหายเป็นแสนล้านบาท ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดูแลปัญหาเกี่ยวกับน้ำ

ภายใต้สังกัดกระทรวงต่างๆ กว่า 20 หน่วยงาน แต่เราไม่มีดาตาเบส 

ต่างฝ่ายต่างทำไม่เอาข้อมูลมาแชร์กัน จึงทำให้ขาดผลวิเคราะห์ในการตัดสินใจ 

 

 ...การบริหารน้ำถ้าไม่มีการประสานงานกันทั้งกรมอุตุฯ กรมชลฯ การไฟฟ้าฯ ว่าควรจะเก็บหรือปล่อยน้ำแค่ไหนมันก็ไม่มีฐานข้อมูลที่นำมาคำนวณปริมาณน้ำว่าควรจะปล่อยหรือพร่องน้ำในระดับใดจึงจะทำให้พื้นที่ไม่เดือดร้อน" 

 

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าการไม่มีเอกภาพในการทำงาน การที่นักวิชาการทะเลาะกันเอง ไม่มีความรู้อย่างแท้จริงนำไปเสนอรัฐบาล จึงทำให้ระบบรวนทั้งหมด สุดท้ายก็นำไปสู่ปัญหาอุทกภัยทั้งๆ ที่น้ำมวลใหญ่ที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนใหญ่ๆนั้นบริหารจัดการได้ 

 

"ฝนปีนี้อาจจะมากกว่าปีที่แล้ว แต่การบริหารน้ำที่เราเก็บไว้มากไป แล้วปล่อยมาทีเดียว ไม่ปล่อยให้น้ำไหลไปตามธรรมชาติ หากปล่อยมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นฤดูตามธรรมชาติ กลางฤดูพอฝนตกก็เก็บบ้างปล่อยบ้างปลายฤดูก็ไม่จำเป็นต้องปล่อยทีเดียวเยอะๆ น้ำก็จะไม่ท่วม ถ้าเราไม่ปล่อยน้ำก้อนใหญ่จากเขื่อน 3 แห่ง รับรองว่าน้ำไม่ท่วม กทม.ปริมณฑล พระนครศรีอยุธยา และอีกหลายจังหวัดอย่างที่เห็นกันอยู่" 

 

มาตรการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าเวลานี้ ดร.สมิทธ มองว่า อันดับแรกเขื่อนใหญ่ควรหยุดปล่อยน้ำและหาทางระบายน้ำที่อยู่ในแม่น้ำใหญ่ๆ ทั้งแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกงให้ลงทะเลเร็วที่สุด ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณปากแม่น้ำทั้งสามสาย เพราะช่วงนี้น้ำทะเลหนุนสูง น้ำเหนือไหลมาสมทบจะทำให้น้ำนิ่ง ไหลช้าลง ก็ต้องเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลก็จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม กทม.ได้ 

 

"แต่เพราะหลายเขื่อนยังปล่อยมาหลาย100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่แม่น้ำต่างๆระบายต่อวันได้ไม่ถึง 50 ล้านลูกบาศก์เมตรทุกเขื่อนพร้อมใจกันปล่อย มันก็มารวมกันที่ภาคกลาง เหมือนเราเทน้ำลงมาพร้อมกัน น้ำที่เต็มแก้วเมื่อเติมไปอีกมันก็ล้น 

 

 ...เรื่องนี้ไม่ใช่ภัยพิบัติลงโทษ แต่เป็นเพราะการบริหารน้ำที่ผิดพลาด หากเราบริหารไม่ดีท่วมแน่ ถ้าไม่รู้จักเก็บน้ำในเขื่อนไว้ให้เหมาะสม นอกจากนี้การบริหารในเขื่อนเล็กๆแต่ละเขื่อนไม่สามารถระบายออกทะเลได้รวดเร็วพอ มันก็เอ่อในที่ลุ่มภาคกลาง"

 

ประเมินมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ออกมาถูกทางหรือไม่นั้น ดร.สมิทธ มองว่าจริงๆ รัฐบาลควรตั้งศูนย์เฉพาะกิจแต่แรกเพราะการบริหารภัยพิบัติใหญ่ๆ ต้องตั้งศูนย์เฉพาะ ต้องมีผู้บริหารใหญ่และผู้ควบคุมศูนย์คนเดียว จะเป็น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอกหรือนายกรัฐมนตรี ก็ได้ แต่ต้องตัดสินใจคนเดียว ทว่าตั้งช้าไปหน่อย แม้ตอนนี้จะเริ่มมีการตัดสินใจเดินหน้าแก้ไขหลายเรื่องแล้วแต่มาเริ่มตอนวิกฤตน้ำใกล้ท่วม กทม.ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและมีประชาชนอยู่มาก ทำให้ผลกระทบเยอะ

 

ส่วนความตื่นตระหนกของชาวบ้านที่ไม่มั่นใจสถานการณ์ และแก้ปัญหาด้วยการสร้างพนังกั้นน้ำหน้าบ้านตนเองจนวัตถุดิบขาดตลาดนั้น ดร.สมิทธ เห็นว่าอาจไม่ถูกต้องตามวิธีการ เพราะเป็นการสร้างที่ไม่มีหลักวิชาการการเอาดินวาง เอากระสอบทรายมาวาง มันสู้แรงดันน้ำไม่ได้ 

 

ทั้งนี้ น้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร หนักถึง 1 ตันถ้าสร้างเขื่อนสูง 2 เมตร แสดงว่ามีแรงดันน้ำถึง 2 ตัน ดังนั้นหากเขื่อนสร้างไม่แข็งแรงน้ำจะซึม กระสอบทรายไม่หนักพอก็ทลาย น้ำก็จะไหลอย่างรวดเร็วและแรงจนเอาไม่อยู่ 

 

ดร.สมิทธ อธิบายถึงแนวคิดที่ในอดีตเคยเสนอให้ตั้ง "กระทรวงน้ำ" ขึ้นมารับผิดชอบดูแลเรื่องนี้โดยตรง ว่าเป็นเพียงข้อเสนอของนักการเมืองที่จะทำให้มีตำแหน่งทางการเมืองเพิ่มขึ้นทั้งรัฐมนตรี ที่ปรึกษาและข้าราชการการเมือง เป็นการสร้างตำแหน่งเปล่าๆ 

 

"ผมว่าทำอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันก็เหมาะสมแล้ว คือการตั้งศูนย์เฉพาะแล้วรวมเอานักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำมารวมกัน แต่ว่าการบริหารต้องการคนที่รู้เรื่องมาคุยกัน อย่าให้มานั่งเถียงกัน และการตัดสินใจก็ให้นายกฯ เป็นผู้ชี้ขาด"

 

 

 

เขื่อนใหญ่ต้องหยุดปล่อยน้ำ

 

ยังต้องลุ้นระทึกกับมวลน้ำก้อนใหญ่ ที่คาดว่าจะถึง กทม.ในวันสองวันนี้ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ยังอดเป็นห่วงฝีมือ กทม. กับการผันน้ำ กทม. หากเกิดน้ำทะลักเข้าพื้นที่เข้ามาจริงๆ

 

"ผมไม่เชื่อฝีมือ กทม. เพราะไม่เคยศึกษาหรือไปดูเขื่อน 

เช่น เขื่อน จ.ปทุมธานี ที่เพิ่งแตกไป กทม.ก็ไม่ดูแลบอกว่าท้องถิ่นสร้างขึ้นเอง 

ทั้งที่จริงแล้ว กทม.ควรมีหน้าที่ไปดูแลพื้นที่ด้วย เพราะน้ำที่จะแตกจากปทุมฯ 

จะเข้า กทม.กทม.อยู่ติดจังหวัดต้นน้ำ ถ้าเถียงกันอย่างนี้ กทม.จมแน่"

 

ทั้งนี้ ไม่แน่ใจว่าเขื่อนรอบๆ กทม.จะมีความแข็งแรงพอหรือไม่ เพราะเขื่อนกั้นน้ำของ กทม.มีทั้งเขื่อนดินและเขื่อนคอนกรีต กระสอบทรายโดยเฉพาะในพื้นที่รอบนอก ทาง อบต. และอบจ. จะเป็นคนดูแล โดยใช้ผู้รับเหมาก่อสร้าง ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ อาจทำให้มีปัญหาเรื่องความแข็งแรง

 

 

"อันนี้ถือเป็นจุดอ่อนจะทำให้เกิดวิกฤตน้ำในกทม.ได้ ขณะนี้น้ำล็อตใหญ่ที่มาจากเขื่อนภูมิพลสิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ กำลังผ่านเข้ามาใน 3-4 จังหวัดที่ท่วมอยู่แล้ว กทม.จึงต้องระวังเพราะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุน ตอนนี้ดูแล้ว กทม.คงรอดยาก"

 

ดร.สมิทธ ประเมินว่า วิธีการแก้ไขให้ได้ผลเร็วคือ ต้องหยุดปล่อยน้ำจากเขื่อนใหญ่ จากนั้นตั้งเครื่องสูบน้ำที่ปลายแม่น้ำที่จะลงสู่ทะเลให้มากที่สุดเพื่อสูบน้ำออกปากอ่าว นี่คือวิธีเดียวที่จะระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

"การเอาเรือไปดันน้ำจะดันได้เฉพาะผิวน้ำเท่านั้น ไม่สามารถดันน้ำที่อยู่ลึกไปข้างล่างได้พระราชดำรัสของในหลวงเรื่องการสร้างคลองลัดโพธิ์ การที่เป็นคลองแคบจะทำให้การดันน้ำไหลออกจากคลองได้เร็ว แต่ถ้าเอาเรือหลายลำไปผูกแล้วดันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่กว้าง เป็นการเสียน้ำมันเปล่า เพราะดันได้แค่ผิวน้ำเท่านั้นเรื่องนี้ต้องคิดต้องรู้ลักษณะของน้ำ ดังนั้นที่ถูกต้องคือการตั้งระบบสูบน้ำที่ปลายคลองหรือปลายแม่น้ำออกสู่ทะเลเลย"

 

สำหรับแนวคิดที่ กทม.ลงทุนทำอุโมงค์ยักษ์มีการระบายน้ำจากที่ลุ่มของกทม. เช่น รามคำแหงหนองจอก แทนที่จะระบายออกอ่าวไทย แต่กลับเอามาออกที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไม่ช่วยอะไรเลยเพราะจะทำให้เจ้าพระยาล้นตลิ่งอีก หมุนเวียนถ้าจะลงทุนให้มากหน่อย วางท่อให้ยาวแล้วไปลงที่อ่าวไทยจะดีกว่า และทำให้ กทม.ปลอดภัยจากน้ำท่วมด้วย ไม่รู้ทำไมถึงคิดกันแค่นี้ เห็นว่าผู้ว่าฯกทม.จะทำอีกหลายอุโมงค์แต่ไม่รู้จะไปออกที่ไหน

 

ดร.สมิทธ ประเมินถึงสถานการณ์พายุบันยันที่วิเคราะห์แล้วเชื่อว่าไม่เข้าไทย แต่การที่นักวิชาการไม่มีความรู้แล้วไปให้ข้อมูลกับ ศปภ.และนายกฯ ว่าพายุจะสร้างผลกระทบต่อประเทศทำให้เกิดความตื่นกลัวกันหมด คนไม่รู้มาพูดทำให้ตกใจและประเมินพลาด 

 

"พายุลูกนี้จะเข้าที่อ่าวตังเกี๋ย ประเทศจีนจากนั้นก็จะไปเวียดนามเข้ามาทางเหนือบ้านเราก็จะทำให้มีฝนตกนิดหน่อยที่เชียงใหม่ เชียงรายจากนั้นจะทำให้อากาศหนาวเย็นลง ผมอยากขอให้คนที่ไม่มีความรู้เรื่องอุตุนิยมวิทยา หรืออุทกวิทยา หยุดให้ข้อมูล เพราะจะให้เกิดความตระหนก แตกตื่นกันไปหมด"

 

ดร.สมิทธ วิเคราะห์ต่อไปว่า หลังจากนี้ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วหากมีพายุเข้ามาจะไม่ส่งผลให้มีฝนตก หรือถ้าตกก็จะไม่มาก สิ่งที่กรมอุตุฯ และรัฐบาลต้องระวังต่อไป คือ ร่องลมมรสุมที่จะเลื่อนจากภาคกลางตอนล่างไปยังตอนใต้ ผ่านสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ซึ่งปีที่แล้วช่วงเดือนเดียวกันก็มีพายุดีเปรสชันก่อตัวทางทะเลจีนตอนล่างพัดเข้าสู่อ่าวไทย คลื่นลมที่พัดมาจะทำให้เกิดคลื่นพายุหมุนซัดชายฝั่ง(สตอร์ม เซิร์จ) สูง 4-5 เมตร และจะส่งผลกระทบให้ภาคใต้ เช่น ปัตตานี ยะลา

 

ดังนั้น ข้อมูลในการเตือนภัยพิบัติของกรมอุตุฯ จะต้องแม่น และหากสภาวะลมแรงจะทำให้สตอร์ม เซิร์จ สูงถึง 5-6 เมตร ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแนวฝั่งและรัฐบาลต้องเตือนให้เขาอพยพไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย

 

แหล่งข้อมูล 

http://www.oknation.net/blog/prompzy

วันเสาร์ ที่ 15 ตุลาคม 2554

         

ขอบพระคุณภาพงาม ๆ จากฝีมือการถ่ายภาพและพืชพันธุ์ไม้ของท่านคุณนายดอกเตอร์ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 465021เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2011 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อาจจะเป็นเพราะ ปลอด ประสบการณ์ ค่ะ

  • แหม น้อง ♥paula .`๏'- ที่ปรึกษาตัวน้อย.`๏'-  Ico48 ไม่ได้เจอกันผ่านจอ (คอมฯ) ตั้งนาน ฝากคำว่า "ปลอด ประสบ การณ์" ไว้ โดนใจใครหลายคนเลนะคะ
  • จริง ๆ แล้ว บางข่าววิเคราะห์กันเยอะแยะกว่านี้ ปลอดประสบการณ์ไม่กลัว กลัวเรื่องการเมืองที่ซับซ้อนมากกว่าค่ะ อะไรประมาณนั้น
  • หลายอย่างไกลเกินกว่าคนธรรมดาอย่างเราจะเข้าถึงได้ สิ่งที่ได้ทำคือกำลังใจให้กันแวะมาฝากบันทึกเป็นกำลังใจให้พี่น้องทุกคนที่ผ่านมาอ่านบันทึกนี้ค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะสำหรับบันทึกคำแนะนำดี ๆ ที่มาแบ่งปันด้วยเช่นกันค่ะ

ข้อมูลจากอาจารย์สมิทธ ควรที่รัฐและนักวิชาการท่านอื่นควรหันมามอง

อาจารย์นพลักษณ์ ๙ Sila Phu-Chaya เตรียมตัว เตรียมใจแล้วเนาะ ...

ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ขอให้ปลอดภัยครับ ;)...

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

พฤติกรรมน้ำ เขาสอนให้มนุษย์เรารู้จักศึกษาเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของเรา หากเรารู้จักเขาอย่างดีพอ เราจะเข้าใจเขา เราจึงจะบริหารจัดการเขาได้ อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการน้ำเป็นศาสตร์ทางวิชาการ ที่เหมือนกับศาสตร์สาขาอื่นๆอีกหลายๆศาสตร์ ซึ่งเราใช้การอนุมานกันตามเหตุตามผล ที่ได้จากข้อมูล ข้อเท็จจริง แต่เมื่อเรานำมาใช้ในทางปฏิบัติใครจะรับประกันได้ว่าจะทำได้เหมือนกับตามหลักวิชาการ เหตุการณ์เปลี่ยน เวลาเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน และที่สำคัญทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอยู่ภายใต้อารมณ์ หรือ เหตุผล มากกว่ากันครับ? หลายคนบอกว่าต้องแยกแยะนะ ต้องแยกแยะ จากประสบการณ์ในชีวิตการทำงานของผมเองนั้น ร้อยละ ๙๐ กว่า เปอร์เซ็นต์ สังคมการทำงานผมพบเจอแต่การใช้อารมณ์มาก่อนเหตุผลเสมอ (โปรดใช้วิจารณญาณในการรับรู้ด้วยนะครับ) มีบ้างที่พบเจอคนที่ใช้เหตุใช้ผลแต่เขาก็จะอยู่ในสังคมไม่ได้นาน แล้วก็ต้องเดินจากไป การแยกแยะมันเลยกลับกลายเป็นการแบ่งแยกกันไปในที่สุด

วิฤกกการณ์ครั้งนี้ พฤติกรรมของน้ำ เขาจึงสอนให้มนุษย์อย่างเราต้องปรับ เปลี่ยน ลด ละ เลิก พฤติกรรมของพวกเราหลายๆอย่าง มีให้ได้เห็นในสิ่งที่ดี และซาบซึ้ง น่าชื่นชมในน้ำใจของคนไทย ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกด้านก็มีให้เห็นสิ่งผิดปรกติทางจิตใจของบางส่วนที่คอยซ้ำเติมเพื่อนมนุษย์ด้วยกันยามทุกข์ยาก พวกที่นำความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันฉกฉวยเป็นโอกาสเพื่อผลตอบแทนอื่นๆของตนเอง อย่างไรก็ตามผมก็ขอแสดงความนับถือ ความชื่นชม พวกพี่กลุ่มที่มีจิตอาสาโดยแท้จริง และบริสุทธิ์ใจ ผมเชื่อว่าสังคมเราทุกวันนี้ที่ยังอยู่ได้ก็เพราะพวกท่านเหล่านี้ที่ยังมีอยู่อีกมากมายครับผม

ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับ

สวัสดีค่ะ

แวะมาศึกษาการจัดการน้ำค่ะ

ได้รับรู้ข้อมูลดีๆที่หลายคนคาดการณ์ไม่ถึง

 

ขอบคุณค่ะ..หวังว่าบทเรียนราคาแพงบนความทุกข์ยากแสนสาหัสของราษฏร คงจะช่วยให้มีการบูรณาการวิธีการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

  • เรียนท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ Ico48 ยังยินดียินร้ายอยู่ค่ะ แต่มา ๆ ไป ๆ แบบผ่านมาผ่านไปค่ะ เหมือนดูหนังเป็น shot shot ตื่นเต้นดีค่ะ
  • ข้อมูล ดร. สมิทธ ดูจะสวนกระแสกับคำแถลงการณ์ของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาค่ะ มาถึงวันนี้ คำพูดใดใกล้จะเป็นความจริงก็คงพอจะมองเห็นกันแล้ว
  • เพิ่งทะยอยขนของบางส่วนขึ้นชั้นสองค่ะ อืม ข่าวเมื่อตอน 18.40 น. บอกว่าคืนนี้ยังไม่ท่วม สงสัยจากนี้ไปคงดูเป็นรายวัน รายคืนค่ะ
  • ขอบพระคุณมากค่ะที่ห่วงใย รู้ตัวมาล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ ชักอยากให้รีบมา รีบไปแล้วล่ะค่ะ อิอิ

ตอนนี้คนอยุธยา ริมน้ำป่าสักขอส่งใจไปช่วยคนกรุงเทพและปริมณฑลค่ะ

ทั้งนี้ น้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร หนักถึง 1 ตันถ้าสร้างเขื่อนสูง 2 เมตร แสดงว่ามีแรงดันน้ำถึง 2 ตัน ดังนั้นหากเขื่อนสร้างไม่แข็งแรงน้ำจะซึม กระสอบทรายไม่หนักพอก็ทลาย น้ำก็จะไหลอย่างรวดเร็วและแรงจนเอาไม่อยู่ 

ข้อมูลอย่างที่ดร.สมิทธ มาชี้แจงนี่แหละค่ะที่อยากทราบ รวมทั้งเรื่องเขื่อนกับการจัดการน้ำของเขื่อน หลังน้ำไปหมด ทุกฝ่ายต้องทบทวนตัวเองยอมรับในความผิดพลาดเพื่อให้ครั้งหน้าประชาชนไม่สาหัสอย่างปีนี้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท