สัญลักษณ์ในการสื่อสารภาษาไทย (ตอนที่๑)


วิชา ท ๓๑๑๐๒ ม.๔

ใบความรู้ที่ ๑.๒

วิชาภาษาไทย ๒  ท๓๑๑๐๒

สัญลักษณ์ในการสื่อสาร

สัญลักษณ์ หรือ เครื่องหมาย (Symbol) โดยพื้นฐานหมายถึง สิ่งที่ใช้แทนความหมายของอีกสิ่งหนึ่ง หรือถ้าจะกล่าวให้ลึกลงไปอีก สัญลักษณ์ หมายถึง วัตถุ อักษร รูปร่าง หรือสีสัน ซึ่งใช้ในการสื่อความหมายหรือแนวความคิดให้มนุษย์เข้าใจไปในทางเดียวกัน อาจจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ ในทางปรัชญามักมีคำนิยามว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ หรือแม้ในจักรวาล สามารถแทนได้ด้วยสัญลักษณ์ทั้งสิ้น

สัญลักษณ์นั้นช่วยในการสื่อสาร อาจจะเป็นรูปภาพ การเขียนอักษร การออกเสียง หรือการทำท่าทาง ซึ่งช่วยให้ผู้ส่งสารและผู้รับสารเข้าใจตรงกันแม้จะพูดกันคนละภาษา แต่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของทั้งสองฝ่ายว่า ผู้ส่งสารมีความสามารถใช้สัญลักษณ์ให้สื่อความหมายมากเพียงใด และผู้รับสารมีความเข้าใจในสัญลักษณ์ที่ใช้มากเพียงใด ดังนั้นภาษามือจึงจัดว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งเช่นกัน

๑. สัญลักษณ์แฝงคติ หรือ อุปมานิทัศน์ (ภาษาอังกฤษ: Allegory) มาจากภาษากรีก “αλλος” หรือ “allos” ที่แปลว่า “อื่น” และคำว่า “αγορευειν” หรือ “agoreuein” ที่แปลว่า “การพูดในที่สาธารณะ” ซึ่งหมายถึงศิลปะที่ใช้สัญลักษณ์แทนความหมายโดยตรงในภาษาเขียน

สัญลักษณ์แฝงคติมิได้ใช้แต่ในงานวรรณกรรม แต่อาจจะใช้ทางจักษุศิลป์ซึ่งมักจะพบในจิตรกรรม หรือ ประติมากรรม หรือ การแสดงสัญลักษณ์ทางศิลปะอื่นๆ

ความหมายทางภาษาศาสตร์จะกว้างกว่าที่ใช้กันโดยทั่วไป ความหมายของ “สัญลักษณ์แฝงคติ” จะมีน้ำหนักกว่ามากกว่าการใช้ “อุปลักษณ์” (metaphor) และเมื่อใช้ก็จะทำให้ผู้รับเกิดแรงบันดาลใจทางจินตนาการมากกว่า ขณะที่ “วจนะเปรียบเทียบ” (analogy) จะคำนึงถึงเหตุผลและตรรกศาสตร์มากกว่า เช่น “ตำนานแฝงคำสอน” (parable) จะเป็น “วจนะเปรียบเทียบ” ที่มีคำสอนทางจริยธรรมเพียงหัวข้อเดียว

ความหมายของ “สัญลักษณ์แฝงคติ” มักจะเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของหัวข้อที่กว้างกว่าการใช้ “วจนะเปรียบเทียบ” ฉนั้นในงาน “สัญลักษณ์แฝงคติ” ชิ้นหนึ่งก็อาจจะมี “วจนะเปรียบเทียบ” หลายประเด็น จึงทำให้ตีความหมายกันไปได้หลายอย่าง ซึ่งบางครั้งก็อาจจะบิดเบือนไปจากความหมายที่ศิลปินตั้งใจเอาไว้ เช่นบางคนให้ความเห็นว่า “สัญลักษณ์แฝงคติ” ของ “เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์” คือสงครามโลกเป็นต้น แต่วรรณกรรมชิ้นนี้เขียนก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้น และถึงแม้ว่า เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ผู้ประพันธ์จะกล่าวไว้ในคำนำในฉบับพิมพ์อเมริกันว่า “(หนังสือเล่มนี้)ไม่ใช่สัญลักษณ์แฝงคติหรือหัวข้อ....กระผมไม่ชอบสัญลักษณ์แฝงคติไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใหน ...”[1]

อีสป (อังกฤษ: Aesop – ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล หรือราวพุทธกาล?) นักเล่านิทานชาวกรีก ในตำนาน กรีก โบราณ นิทานที่กล่าวว่าเล่าโดย "อีสป" เชื่อกันว่าเป็นนิทานที่รวบรวมมาจากหลายแหล่ง นิทานอีสปได้รับความนิยมแพร่หลายเนื่องจากกวีชาวโรมันชื่อเพดรัสนำมาเล่าจนแพร่หลายในคริสต์ศตวรรษที่ 1 (ระหว่าง พ.ศ. 443-543) และต่อมา "ฌอง เดอ ลา ฟงแทน" กวีชาวฝรั่งเศสได้นำมาเรียบเรียงใหม่เป็นร้อยกรองที่ค่อนข้างเกินจริงแต่มีชีวิตชีวาเมื่อปี พ.ศ. 2211

นิทานที่อีสปเล่า นิยมเรียกกันว่า นิทานอีสป เป็นนิทานสอนคนทั่วไปในด้านศีลธรรมโดยใช้สัตว์ต่างๆ เป็นตัวละคร เช่น เรื่องเด็กเลี้ยงแกะ ลาโง่ หมากับเงา เป็นต้น

สำหรับ ตัวอีสปเองนั้น เชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีหน้าตาอัปลักษณ์ แต่เดิมเคยเป็นทาสมาก่อน แต่สามารถเป็นไทได้เพราะความสามารถในการพูดของตัวเอง เป็นบุคคลที่ไหวพริบปฏิภาณดีเยี่ยม เป็นคนพูดที่เก่งกาจคนหนึ่งในยุคนั้น

ตำนานแฝงคำสอน  หมายถึงวรรณกรรมหรือโคลงกลอนสั้นๆ สำนวน สุภาษิต ที่แฝงคำสอนหรือบทเรียนทางจริยธรรม หรือทางศาสนา “ตำนานแฝงคำสอน” ต่างจาก “นิทานเฟเบิล” (Fable) ตรงที่นิทานเฟเบิลจะใช้สัตว์ ต้นไม้ สิ่งของ หรือธรรมชาติเป็นองค์ประกอบของเรื่อง ขณะที่องค์ประกอบของ “ตำนานแฝงคำสอน” จะเป็นมนุษย์

นักวิชาการทางพันธสัญญาใหม่จะใช้คำว่า “ตำนานแฝงคำสอน” เฉพาะตำนานแฝงคำสอนที่เกี่ยวกับพระเยซูเท่านั้น[1] ซึ่งตามความหมายจริงๆ ของคำนี้จะกว้างกว่านั้น

คำว่า “ตำนานแฝงคำสอน” มาจากภาษากรีก “παραβολή'” หรือ “parabolē” ที่เป็นคำที่นักวาทศาสตร์ชาวกรึกใช้ในการบรรยายการใช้เรื่องที่แต่งขึ้นมาสั้นๆ เพี่อเป็นตัวอย่าง ต่อมาความหมายก็เปลี่ยนไปเป็นการเล่าเรื่องที่แฝงคำสอนทางจริยธรรม[2]

ตัวอย่าง “ตำนานแฝงคำสอน” ที่เป็นที่รู้จักกันก็ได้แก่ตำนานของพระเยซูเรื่อง “ตำนานลูกคนโปรด” (Parable of the Prodigal Son) หรือตำนานที่เขียนโดยอิกเนซิ คราซิคิ (Ignacy Krasicki) ผู้เป็นบาทหลวงชาวโปแลนด์ เรื่อง “ตำนานคนตาบอดกับคนขาหัก” (The Blind Man and the Lame)

อ้างอิงhttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%9D%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B4

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 464990เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2011 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 03:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท