ทักษะชั่วชีวิต (๒) : Don't lose yourself


 

ครูเรฟให้ความสำคัญกับการเล่นดนตรี เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องของความมีวินัย  กติกา  การรู้จักที่จะฟังผู้อื่น  การรู้จักใช้โอกาส  การเรียนรู้ว่านี่ยังไม่ใช่เวลาของตน และอื่นๆ อีกมากมาย

 

เวลาที่ครูชวนเด็กเล่นดนตรีครูมักจะชวนเด็กเล่นเพลงง่ายที่ครูเล่นได้ และคิดว่าเพลงนั้นเพลงนี้ยากเกินไป แต่คำถามคือ ที่ว่ายากนั้นยากสำหรับใคร ครูหรือเด็ก ถ้าเราปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ อีกไม่นานเด็กก็เก่งกว่าครูได้

 

ข้อที่สำคัญที่สุดคือ ครูไม่ควรสูญเสียความเป็นตัวเอง (Don’t lose yourself) เพราะเรื่องที่เรารัก จะเป็นเรื่องที่เราจะหยั่งเข้าไปถึงคุณค่าแท้ของเรื่องนั้นๆ ได้ดีที่สุด

 

๓ เรื่องในชีวิตที่ครูเรฟรักก็คือ

-          เบสบอล

-          ร้อคแอนด์โรล

-          เชคสเปียร์

และครูเรฟก็ถ่ายทอดจิตวิญญาณและความรักที่มีต่อเรื่องเหล่านี้ลงสู่เด็กๆ ด้วย

 

เด็กห้อง ๕๖ ได้เล่นเบสบอลมาเพื่อทำความรู้จักกีฬาที่เป็นของชาวอเมริกัน ได้สัมผัสกับรสชาติความสนุกแบบอเมริกันชน ได้เล่นดนตรีในหลากหลายลีลาเริ่มจากกีต้าร์ที่ครูเรฟสอนเอง เพื่อให้พวกเขาผ่อนคลาย และมีความสุข นอกจากนี้ครูเรฟยังสนับสนุนให้เด็กๆ ได้เล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ อีกหลายชนิด เพื่อที่เขาจะได้ใช้เวลาว่างไปในหนทางที่สร้างสรรค์ จึงไม่แปลกที่บางคนจะเลือกเล่นซีต้าร์ (sitar) ที่เป็นเครื่องดนตรีของชาวอินเดีย

 

ครูเรฟเล่าว่าส่วนใหญ่แล้วจะมีพี่ๆ ที่เรียนจบไปจากห้อง ๕๖ ไปแล้วมาช่วยสอนดนตรีให้รุ่นน้องเด็กตอนช่วงหลังเลิกเรียน  เป้าหมายที่ตั้งไว้คือทุกคนจะเล่นดนตรีได้อย่างน้อย ๒ ชิ้น

 

เด็กชายคนหนึ่งในห้อง ๕๖ เป็นคนที่เศร้าสร้อยและอมโศก เด็กคนนี้แทบจะไม่ได้พูดกับใครเลย แต่นับตั้งแต่ที่เขาได้สัมผัสกับเปียโน จากนั้นมาเสียงเปียโนก็ได้กลายมาเป็นเสียงของเขา ทั้งความสุขความเศร้าสะท้อนผ่านตัวโน้ตออกมาอย่างสวยงาม

 

จากภาพที่ครูเรฟนำมาฉายให้ดู เด็กทุกคนจะเล่นดนตรีกันอย่างสุดชีวิตจิตใจ พวกเขาไม่สนใจเลยว่าจะได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมที่มานั่งชมอยู่ในห้องหรือไม่ เพราะครูเรฟบอกกับพวกเขาเสมอว่า “Joy, work hard and fun.”  พวกเขาจึงทำให้ดีที่สุดเท่าที่แต่ละคนจะทำได้เพื่อความอิ่มเต็ม และการเติบโตของเขาเอง

 

ตลอดทั้งวัน การเรียนรู้เป็นของเด็ก และขับเคลื่อนโดยเด็ก ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อการเรียนรู้  เด็กนักเรียนห้องนี้จึงไม่มีการบ้าน เพราะพวกเขาเรียนรู้กันอย่างเต็มที่แล้ว ครูเรฟบอกว่าการที่เขาฝึกฝนการทำโจทย์ปัญหากันตั้งแต่เช้าตรู่ เรียนตามที่ตารางสอนกำหนด เล่นดนตรีระหว่างพักเช้าและพักเที่ยง เรียนบทกวีและซ้อมละครกันหลังเลิกเรียน จากนั้นทบทวนบทเรียนด้วยตัวเองแล้วแยกย้ายกันก่อนกลับบ้าน... นั่นก็เพียงพอแล้ว

 

 

หมายเลขบันทึก: 464989เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2011 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 12:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โลกของดนตรีโลกแห่งจินตนาการครับ เป็นการสร้างความมั่นใจในตนเองโดยไม่รู้ตัว ทั้งยังฝึกสมาธิได้อย่างยอดเยี่ยม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท