สมาคมส่งเสริมและพัฒนาการแพทย์แผนไทย จ.สุราษฎร์ธานี (3)


ผู้เขียนได้ทำหน้าที่กรรมการระดับภูมิภาคในโครงการ Thailand NGO Awards 2011 โดย Kenan Institute Asia เข้าตรวจเยี่ยม สมาคมส่งเสริมและพัฒนาการแพทย์แผนไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2554 ขอบันทึกรายงานไว้ ณ ที่นี้






เกณฑ์ที่
3 : การระดมการทรัพยากร
                  (Reliability of the Resource Mobilization)

จากการสรุปตามเกณฑ์ที่ 1 : การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งกล่าวถึงการได้มาและการใช้ทรัพยากรของสมาคมฯ 4 รายการ คือ เงินทุน, อาคารสถานที่, วัสดุอุปกรณ์ และยานพาหนะ เมื่อพิจารณาในด้านการพัฒนารูปแบบ (Model Development) การระดมทรัพยากรเพื่อขยายผลจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง แนวปฏิบัติ ประเภทของโครงการที่สะท้อนความยั่งยืนด้านการระดมทรัพยากรที่สามารถนำไปขยายสูงวงกว้างได้นั้น

ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ มีเหตุผลและความพอประมาณในการจำกัดขอบเขตกิจกรรมของตนเองเพื่อสร้างรากฐานให้เข้มแข็งเฉพาะเรื่อง การอบรมความรู้ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และการเปิดคลินิกขนาดเล็กให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย สมาคมฯ มีความตั้งใจรักษาบทบาทในการสนับสนุนสมาชิกได้นำทักษะความรู้ที่ได้รับไปขยายผลเพื่อรักษาสุขภาพของตนเองและครอบครัว สร้างธุรกิจบริการด้านการแพทย์แผนไทย ผลิตยาสมุนไพร ฯลฯ โดยสมาคมฯ มีจุดยืนที่จะไม่มุ่งทำธุรกิจดังกล่าวแข่งขันกับสมาชิก

การขยายผลจึงออกมาในรูปแบบของการให้คำปรึกษา ข้อแนะนำการปฏิบัติ หลักเกณฑ์ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยราชการ ฯลฯ สมาคมฯ ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” มากกว่าที่จะเป็น “คู่แข่ง” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่น่าชื่นชม ยกย่อง ก่อให้เกิดการขยายผลจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่งผ่าน กระบวนการเรียนรู้มากกว่าการใช้อำนาจและเงิน ซึ่งไม่ยั่งยืนเพราะเมื่อหมดอำนาจ หมดเงิน แต่ขาดการเรียนรู้ โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรพัฒนาเอกชนก็จะจบสิ้น ล่มสลายตามกันไป

เกณฑ์ที่ 4 : การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล
                  (Good Governance, Accountability and Transparency)

ในช่วงของการตรวจเยี่ยม ผู้เขียนได้ขออนุญาตเปิดดูเอกสารบางรายการซึ่งเป็นสมุดทำการที่ใช้อยู่เป็นประจำ และมั่นใจว่าไม่ได้จัดทำเพื่อ for show สร้างภาพ รองรับการตรวจประเมิน อีกทั้งเมื่อซักถามพูดคุยกับคนทำงานในประเด็นด้านการเงินและความโปร่งใส พบว่า สมาคมฯมีการบริหารจัดการที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ซับซ้อนจนเกินไป อาสาสมัคร/ผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าถึง รับรู้และเข้าใจในคุณค่าและความหมายของระบบงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ให้ความร่วมมือกับ “ผู้นำ” ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา ปัญหาที่มีอยู่บ้างจึงเป็นเพียงข้ออุปสรรคเล็กน้อยที่คนทำงานแก้ไขได้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ระบบงานสามารถเดินไปได้อย่างเป็นปกติโดยไม่ต้องรอรับคำสั่งการของใครคนใดคนหนึ่ง

เกณฑ์ที่ 5 : ประเมินผลกระทบจากการดำเนินการและโครงการโดยภาพรวม
                  (Over-all impact)

เมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดที่มีผู้ผ่านการสอบและได้รับใบประกอบโรคศิลปะ 3 ประเภท คือ

  • ประเภทเวชกรรมไทย          =      54 คน
  • ประเภทเภสัชกรรมไทย        =    103 คน
  • ประเภทการผดุงครรภ์ไทย   =      38 คน

และจำนวนสมาชิกกว่า 300 คนที่ผ่านการฝึกอบรมทักษะความรู้ทางด้านการแพทย์แผนไทย รวมทั้งประชาชนผู้สนใจทั่วไปที่ได้รับความรู้จากการเผยแพร่ข่าวสารผ่านทางสื่อมวลชนท้องถิ่น ได้แก่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) สุราษฎร์ธานี และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ตลอดจนการใช้เว็บไซต์ ทำให้ประเมินได้ว่า ผลกระทบจากการดำเนินการของสมาคมฯ โดยภาพรวม เป็นไปในทางที่ดี สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มาก โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ในการดูแลสุขภาพ ตามแนวทาง “สร้างนำซ่อม”

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ มีอุปสรรคสำคัญ คือ ความคิด ความเชื่อ และทัศนคติที่ไม่ยอมรับแนวทางการรักษาพยาบาลด้วยแพทย์แผนไทยจากบุคลากรทางการแพทย์แผนปัจจุบัน อีกทั้งกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ให้อำนาจกับผู้รักษาตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบันค่อนข้างมาก ทำให้การขยายผลไปสู่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ความรู้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในผู้สูงอายุจะเลือนหายไปอย่างรวดเร็วโดยขาดผู้สืบทอด ทำให้สังคมไทยขาดทุนในภาพรวม

เกณฑ์ที่ 6 : ความยั่งยืน (Sustainability)

พัฒนาการที่ต่อเนื่องกว่า 12 ปีที่ผ่านมาเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืนของสมาคมฯ ได้ในระดับหนึ่ง และจากการตรวจเยี่ยมทำให้ได้พบปัจจัยทางการบริหารที่โดดเด่น ดังนี้

  • มีกิจกรรมและการระดมทุนสนับสนุนเพียงพอ โดยยืนบนขาของตนเอง
  • คณะผู้บริหารเก่งและเข้าใจในการบริหารองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่มุ่งแสวงหากำไร
  • มีการประชาสัมพันธ์ที่ดีเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
  • ทีมงาน (คณะกรรมการ / อาสาสมัครจิตอาสา) มีประสิทธิภาพ

ความยั่งยืนของสมาคมฯ จะดำเนินการไปได้ดีเพียงใดนั้น ในอนาคตสมาคมฯ จะต้องเผชิญกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมอีกมากมาย ได้แก่ จำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง ภูมิแพ้ และเบาหวาน เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาในพืชสมุนไพร ฯลฯ แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นปัจจัยหลักที่ท้าทายความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของสมาคมฯ ในอนาคต.

หมายเลขบันทึก: 464734เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2011 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท