เด็กเล็กฟันดีนานาภาค


เสี้ยวการบันทึกของผู้เข้าประชุมคนหนึ่ง ทีมผู้จัดจะสรุปบทเรียนจัดทำเอกสารสมบูรณ์ เป็นข้อเสนอต่อ สปสช. สสส. สำนักทันตสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องต่อไป

1.  พรหมลิขิต  3  องค์

อยู่ในช่วงรับผลกระทบสาธารณะร่วมกันของคนไทยส่วนใหญ่  ไม่มากก็น้อยจากน้ำท่วมโหฬารยาวนานปีนี้  ได้รับปาก อ.ทพ.ดร.ธงชัย  วชิรโรจน์ไพศาล  คณะทันตแพทยศาสตร์  แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ไว้ล่วงหน้า  2  เดือนแล้ว  จึงพาคุณครูไพศาล  สิงหาพรม  แห่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดไชยาประดิษฐ์  บ้านไชยา  ตำบลสระใคร  อำเภอสระใคร  และอาจารย์บัวลอง  พรหมกูล  แห่งโรงเรียนอนุบาลดารณีท่าบ่อ  อำเภอท่าบ่อ  จังหวัดหนองคาย 

 

พร้อมด้วยคนเขียนบันทึกนี้  นามสกุล....ลุพรหมมา  คนออกใบเสร็จรับเงินตอนซื้อตั๋วนกแอร์ถึงกับอมยิ้ม  แววตาขำขัน  คงอยากแซว  จึงบอกน้องเขาไปว่า “พอดีสามคนนี้มากับพระพรหมน่ะค่ะ”  ฮ่า ๆ ๆ  ช่างพรหมลิขิตเหลือเกิน  มาพร้อมกัน  3  พรหมทีเดียวเชียว (ดั้งเดิมนามสกุลคุณครูไพศาล ก็เขียนด้วย “พรหม”)  

 

ลิขิตฟ้าอีกเหมือนกัน  สายฝนที่หลั่งท่วมท้นภาคเหนือ  เหลือล้นมาภาคกลาง  ค่ำ ๆ วันที่  5  ตุลาคม  2554  เราทั้งสี่  รวมคุณหมอล่า  ทพ.วัชรพงษ์  หอมวุฒิวงศ์  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย  ที่มาเป็นวิทยากรงานนี้  จึงได้ร่วมผจญชะตากรรมรถติด  ลุยน้ำตั้งแต่ถนนวิภาวดีจนเข้าซอย  หายใจเข้าท้องพองเบา ๆ  หายใจออกแขม่วท้องสุดขีด  ตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ตุ้ม ๆ ต่อม ๆ  กลัวน้ำหนักกดล้อรถแท็กซี่ให้จมมิดไปอีก  ประเดี๋ยวเครื่องดับ  แย่แน่ ๆ หากต้องแบกเป้ลุยน้ำเข้าที่พักโรงแรม  เปียกม่ะล่อกม่ะแล่ก 

เคยผจญแต่น้ำท่วมนา  ท่วมบ้าน  ท่วมถนนที่บ้านนอก  ไม่เคยเกิดเป็นคนกรุง  ไม่เคยเรียนเมืองกรุง  ไม่เคยผจญน้ำท่วมแบบคนกรุงมาก่อน

 

2.   พาสิ่งดีเขียนประวัติศาสตร์

หายใจโล่งสะดวก  เมื่อแท็กซี่จอดสนิท  ลงรถโดยสวัสดิภาพ  พักผ่อนเพียงพอ  พร้อมเข้าประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลสุขภาพช่องปากเด็กเล็ก  ทีมผู้จัดเชิญผู้เข้าประชุมที่มีสิ่งดีงามในตัวเอง  ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  ครูชั้นอนุบาล  และทันตบุคลากร  จาก  10  จังหวัด  ลำปาง  แพร่  หนองคาย  อุดรธานี  อุบลราชธานี  ปทุมธานี  ราชบุรี  สระบุรี  ยะลา  นราธิวาส  รวมประมาณ  40  คน 

ทีมวิทยากรกระบวนการและผู้บันทึก  12  คน  จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่  นำทีมโดยพี่จิ๋ม  ทพญ.สุขจิตตรา  วนาภิรักษ์  คุณหมอเก่ง  ทพ.สงกรานต์  ภู่โฉม  รพ.ศรีนคร  สุโขทัย  และพี่ล่าดังที่กล่าวแล้ว 

 

ผู้สังเกตการณ์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  พี่ตุ๊  อ.ทพญ.ดร.จรัญญา  หุ่นสกุล  ส่วนสำนักทันตสาธารณสุข  กรมอนามัย  นำทีมโดย ทพญ.จันทนา  อึ้งชูศักดิ์ 

ในตอนท้ายวันที่สองของการประชุม  แต่ละคนแสดงความคิดเห็นก่อนจากลา  พี่นาได้กล่าวถึงเหตุการณ์สองวันนี้ว่า  พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชิ้นใหญ่  ในการทำงานเกี่ยวข้องเด็กเล็ก  จะเป็นก้าวย่างที่มั่นคง  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่เป้าหมายเดียวกัน  อ.ธงชัยจะนำผลประชุมไปทำต่อ  ข้อเสนอนโยบายเพื่อเด็กไทยฟันดี  ขอให้พวกเรามีความภาคภูมิใจร่วมกัน

 

3.  ทายบุคลิกจากความคาดหวัง

อุ่นหนาฝาคั่ง  รู้จักกันมาก่อนบ้าง  หรือได้ยินชื่อเสียงดีงามกันมาแล้ว  ตั้งต้นทำสมาธิก่อน  เขียนความคาดหวัง  และหากจะบรรลุต้องทำอย่างไร  ใส่ในกระดาษรูปหัวใจขนาดใหญ่  วิทยากรเก็บไปแลกกับคนอื่น  แล้วทายว่าที่เรารับมา  น่าจะเป็นของผู้เข้าประชุมที่มีลักษณะแบบใด  ผู้หญิง  ผู้ชาย  อายุ  อาชีพ  ทายจากลายมือ  ทายบุคลิกลักษณะ 

 

ดีใจ้ดีใจ...พี่จากสำนักทันตสาธารณสุขทายว่า  ผู้ที่เขียนความคาดหวังมาเป็น Keyword สั้น ๆ “พักผ่อน  เพื่อนใหม่  เติมงาน”  บรรลุด้วยการทำ “ใจว่าง ๆ  หัวว่าง ๆ  กายพร้อม”  น่าจะเป็นครูพี่เลี้ยง  เพราะเขียนความคาดหวังสั้น ๆ  เรียบง่าย  ไม่ซับซ้อน 

อิอิ !!! ทายอาชีพผิด....แต่ลักษณะน่าจะใช่  กำลังทำอะไร ๆ ให้ซับซ้อนน้อยลง  ไม่ทำบางสิ่ง  เลือกทำเพียงบางอย่างให้ชีวิตง่ายขึ้น....แต่ไม่ใช่มักง่ายนะ 

 

ทายครบทุกคนแล้ว  เจ้าของคนเขียนความคาดหวัง  ค่อยตามไปเขียนชื่อในกระดาษภายหลัง  ทำความรู้จักกันพอหอมปากหอมคอ  ติดความคาดหวังที่ฝาผนังให้อ่านได้ถ้วนทั่ว 

 

4.  ฝึกใจมองผู้อื่นและตนเองอย่างประณีต

เริ่มเข้าสู่เนื้อหากิจกรรมแรก  ฝึกทักษะการฟัง  การมองตัวเองและผู้อื่นอย่างประณีต  จับคู่ได้กับพี่ดาว  สาวเหนือสวยหวาน  คุณครูพี่เลี้ยงคนเก่ง  แห่ง ศพด.บ้านสันทราย  อบต.เวียงตาล  อ.เสริมงาม  จ.ลำปาง 

น้ำตาซึมตามความอดทน  มานะ  พยายามตามความใฝ่ฝัน  ฟันฝ่าเรียน กศน.หลังจบ ป. 6  ฝืนทัศนคติพ่อที่บอกว่า “เป็นลูกผู้หญิงบ่ต้องเรียนสูงหรอก  เดี๋ยวกะเอาผัวแล่ว”  

ทำงานหลายอย่างควบคู่  สมัครเป็นครูอนุบาลโรงเรียนเอกชน  เรียนจนจบราชภัฏ  ใช้วุฒิอนุปริญญาสมัครเป็นครูพี่เลี้ยง ศพด.ที่บ้านเกิด  สมความมุ่งมาดที่อยากเป็นครู  มุ่งมั่นเปลี่ยนสภาพคล้าย ๆ เล้าไก่  เขียนโครงการดำเนินงานต่อเนื่อง  จนกลายเป็นอาคารมั่นคงแข็งแรงสวยงาม  พร้อม ๆ เรียนจบปริญญาตรี  เมื่อ  3  ปีก่อน

 

ปัจจุบัน อบต.สนับสนุนดีเยี่ยม  ศพด.มาตรฐานน่าอยู่  รับรางวัลระดับเขตภาคเหนือ  นอกเหนือรางวัลที่เป็นรูปธรรม  สิ่งที่สัมผัสได้  ประทับใจชัดเจนมาก คือ ความภาคภูมิใจในบทบาทผู้หญิงคนหนึ่ง  ซึ่งสู้ชีวิตด้านการงานและการศึกษา  เคียงคู่สนับสนุนมาด้วยสามี  เป็นเมีย  เป็นแม่  และเป็นครู  จนยืนหยัดภาคภูมิใจในตนเอง  ส่งพลังออกมาถึงเราได้

 

 

5.  ขุดรากความดีงาม

การฟังอย่างไม่ตัดสิน  ปล่อยใจไปกับเรื่องที่เพื่อนเล่า  สังเกตภาษากาย  จับประเด็นให้ได้ใจความสำคัญตามที่เพื่อนต้องการสื่อ  ฝึกเล่าสะท้อนกลับให้เจ้าของเรื่องฟังว่าตรงหรือไม่  เป็นการฝึกทักษะที่ทำให้เรารับรู้ได้ทั้งเนื้อหา  อารมณ์  และเจตจำนงของผู้พูด  เป็นพื้นฐานของการร่วมกิจกรรมตลอด  2  วันนี้ 

 

จากนั้น แยกกลุ่มเป็นคุณครูศูนย์เด็ก  2  กลุ่ม  ครูอนุบาล  2  กลุ่ม  ทันตาภิบาล  1  กลุ่ม  และทันตแพทย์  1  กลุ่ม  ซึ่งตั้งชื่อกลุ่มภายหลัง  ตามอิริยาบถและพฤติกรรมระหว่างร่วมกิจกรรมกลุ่ม “ว่านอนสอนง่าย”  แต่ละกลุ่มมีวิทยากรกระบวนการและผู้บันทึกประจำกลุ่ม 

รอบแรกสมาชิกแต่ละคนในวง  เล่าความดีงาม  จุดแข็ง  จุดเด่นในพื้นที่ของตนเอง  สรุปเขียนใน Flipchart 

 

พักรับประทานอาหารกลางวัน  แล้วก็ถึงเวลาสำคัญที่คนเขียนบันทึกนี้รอคอย  “ผ่อนพักตระหนักรู้”  จะได้บรรลุความคาดหวังข้อที่  1  ของตัวเอง  เป็น Participant  ที่พี่จิ๋มชมว่าน่ารัก  ทำตัวตามวิทยากรบอกแทบทุกอย่าง  ให้สมกับชื่อกลุ่มด้วยไงคะ  “ว่านอนสอนง่าย”.....นอนสบายจริง ๆ 

 

ภาคบ่ายเล่าต่อในวงเดิม  สิ่งดีดีจากการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากเด็กเล็ก  แลกเปลี่ยนประสบการณ์  เรื่องราวแง่มุมที่ดี  ที่ประทับใจ  ทำอย่างไร  และปัจจัยที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ

 

หมอครอง  โรงพยาบาลหนองแค  จังหวัดสระบุรี  มีทั้งฝั่งทุ่งนาและเขตอุตสาหกรรม  รู้เขารู้เรา  วิเคราะห์พื้นที่ได้หมดจด  ออกแบบงานใน Well Child Clinic โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลครอบคลุม  ครบถ้วน  สอดคล้องทั้งแบบชาวนา  และแบบยายย่าเลี้ยงหลานที่แม่ไปทำโรงงาน

 

หมอหน่อย  โรงพยาบาลลำลูกกา  ปทุมธานี  ต่อยอดจากรากฐานงานเดิม  ทีมเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว  เข้ากันได้ดีกับทุกภาคส่วน  พัฒนาโครงการประเมินศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้านสุขภาพช่องปาก  มีมาตรฐานของแต่ละองค์ประกอบ  อบต.ที่สนใจจะให้คนรับผิดชอบออกมาเป็นเจ้าภาพต้อนรับ  เมื่อทีมหมอมาประเมิน  และเมื่อเชิญครูพี่เลี้ยงมาประชุม  ด้านสร้างเสริมสุขภาพเด็ก  พร้อมกับสอดแทรกเนื้อหาการพัฒนาศักยภาพตัวครูพี่เลี้ยงเอง  ก็จะปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  มาครบทุกคน  ส่วน อบต.ที่ไม่ค่อยสนใจ  ส่งครูมาคนเดียวก็มี

ผลการประเมิน  ศพด.เกินครึ่งผ่านมาตรฐานด้านสร้างเสริมสุขภาพช่องปากเด็ก  จากทั้งหมด  29  แห่ง  ที่เหลือก็ยังตั้งใจพัฒนาต่อไปอีก

 

คนเขียนบันทึกนี้  เล่าตั้งแต่ทำวิจัย  1  หมู่บ้าน  ล้มเหลว  พักใจ  3  ปี  วิเคราะห์สาเหตุ  ยังไม่รู้จักพื้นที่ดีพอ  ออกแบบงานใหม่  สร้างทีมร่วมกับศูนย์สุขภาพชุมชน (ชื่อเรียกเมื่อปี 2551)  เยี่ยมบ้านสัมภาษณ์เชิงลึก  การเลี้ยงดูเด็กของครอบครัวที่มีลูกหลานอายุ  1 – 2 ปี  สนทนากลุ่มหาข้อมูลระดับหมู่บ้าน  การเลี้ยงเด็ก  ด้านการกินและทำความสะอาดช่องปาก  ครั้งที่สามของการเข้าหมู่บ้าน  จึงนัดหมายกลุ่มผู้เลี้ยงดูที่มีลูกหลานอายุ  1 – 2 ปี ตามสมัครใจ  แกนนำชุมชน  อสม.  มาร่วมวงเสวนา  ภาษาอิสานเรียก “โสเหล่”  คิดภาพฝัน  หาทางเลี้ยงลูกหลานฟันดี  ตามความหมายของชาวบ้านเอง  ส่วนใหญ่เลือกทำกิจกรรมแปรงฟันให้ลูกหลาน

 

เทียวไปมาเยี่ยมทีมแกนนำชุมชน  ว่าติดตามเยี่ยมบ้านที่มีเด็ก  ผู้เลี้ยงดูแปรงฟันให้หรือไม่  มีหมู่บ้านไชยาบอกว่าไม่สนุกแล้ว  อยากจัดกิจกรรมแข่งขันแปรงฟัน  พ่อแม่ยายย่าบ้านไหนจะแปรงฟันให้ลูกหลานสะอาดกว่ากัน  ลูกหลานให้ความร่วมมือดีมากกว่ากัน  รองนายก อบต.สระใครที่อยู่บ้านนี้  จึงเขียนโครงการเสนอ อบต.จัดแข่งขันผู้เลี้ยงดูแปรงฟันให้ลูกหลาน  ที่ ศพด.วัดไชยาประดิษฐ์

 

นำความไปเล่าหมู่บ้านอื่น ๆ  เห็นด้วยจึงจัดแข่งขันทั้ง  9  หมู่บ้านที่ร่วมโครงการอีกครั้งหนึ่ง  เป็นระดับอำเภอ  ปีที่สองวงโสเหล่ขยายไปตามหมู่บ้าน  23  หมู่บ้าน  ที่เขียนใบสมัครเข้าร่วมโครงการ  ปีที่สาม  27  หมู่บ้าน  ปีที่สี่  จำนวน  27  หมู่บ้านเท่าเดิม  แต่นอกจากวงโสเหล่ด้านช่องปาก  และพัฒนาการเด็กดีแล้ว  ปี 2554  นี้  มีหนังสือนิทานมอบให้หมู่บ้านเป็นตัวอย่าง  สาธิตการเล่านิทานสร้างเสริมพัฒนาการด้วย  จึงเพิ่มแข่งขันผู้ปกครองเล่านิทาน  ในกิจกรรมตลาดนัดชุมชนลูกหลานเด็กดี  อำเภอสระใคร  ปีที่ 4  เร็ว ๆ นี้  11  ตุลาคม 2554

 

หมอแนน  โรงพยาบาลบาเจาะ  จังหวัดนราธิวาส  ร่วมทีมทันตฯ อย่างมีความสุข  ดูแลกันแบบพี่กับน้อง  มีสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัย  ที่ควบคุมน้ำล้างมือด้วยเซ็นเซอร์แบบเดียวกับที่สนามบินสุวรรณภูมิ  ฝึกทักษะแปรงฟัน  ออกแบบกระบวนงานกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ครบถ้วน  ยังไม่กล้าตระเวนออกพื้นที่เข้าถึงชุมชน  ยิ่งหากไปกับพี่ทหาร  ยิ่งตกเป็นเป้าได้ง่าย

 

หมอบี  โรงพยาบาลกุมภวาปี  จังหวัดอุดรธานี  มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนาทราย  เป็นตัวอย่างการพัฒนา  จนได้รับการรับรองเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอ่อนหวานระดับจังหวัด   ด้วยการสนับสนุนของส่วนท้องถิ่น  และทีมโรงพยาบาลกุมภวาปีที่เข้มแข็ง  ตั้งแต่หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุขและพี่ ๆ น้อง ๆ ในทีมที่อยู่กันแบบครอบครัว  การแบ่งงานผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน  หัวหน้าใจดีพาทำ  มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันต่อการทำงาน  และในเวลาพักกลางวัน เช่น  ห้องครัวทำอาหารกินร่วมกันอย่างมีความสุข 

 

6.  นำเสนอส่งสารความประทับใจ

เล่าครบทุกคนแล้ว  แต่ละกลุ่มเลือกกันเอง  เตรียมนำเสนอเรื่องเล่า  ที่สะท้อนประสบการณ์การทำงานที่ประทับใจที่สุด  กลุ่มละ  1  เรื่อง  ด้วยวิธีการนำเสนอแตกต่างกัน เช่น  แสดงละคร  เล่านิทาน  หุ่นเชิด  หุ่นมือ  หุ่นเชิดสูง  ภาพเจาะหน้า  ชอบเรื่องติ๊งโหน่งปวดฟัน  ครูอิสานพูดกับนักเรียนอนุบาลสำเนียงเหนือ  กลาง  และแหลงใต้  ช่างเข้าใจกันไปด้ายยยยยยยยย  นะ....โรงเรียนนานาภาค

 

ส่วนเรื่องธนาคารผลไม้อ่อนหวาน  ช่างเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์  สีสัน  รูปแบบฉากสวยงาม  ยกเข้าออกได้  ตัวละครมากมาย  แสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจริง ๆ

 

กลุ่มเรามีหมอหน่อยวาดภาพสวยมาก  ฉากสวยจริง ๆ  ครบทั้งทุ่งนา  โรงงาน  และพี่ทหารภาคใต้  เจาะหน้าเป็นคุณหมอสองคนคุยกัน  (หน้าหมอครองกับหมอบีโผล่ออกมา)  พากษ์โดยหมอหน่อยและหมอแนน 

โรงพยาบาลว่านอนสอนง่ายเตรียมนำเรื่องดีดีไปเล่าที่ กทม.  รวมเรื่องจากสมาชิกในกลุ่มเราเล่ามา  จนเห็นคุณยายแชมป์แปรงฟันให้หลานผ่านมา   สองคุณหมอช่วยกันถามคุณยายเพิ่มเติมว่า  ทีมหมอจากโรงพยาบาลและอนามัย  ไปทำอะไรที่หมู่บ้านคุณยายบ้าง  คุณยายก็เว้าอิสานอย่างเมามัน  ตอบคุณหมอไป  ไม่รู้จะรู้เรื่องรึเปล่า 

(ฮ่า ๆ ๆ แต่คนพากษ์เป็นคุณยายมันจริง ๆ นะ)

 

7.  คิดภาพฝันไว้....ไปให้ถึง

รวมผู้เข้าประชุมเหลือแค่  3  กลุ่ม  ครูพี่เลี้ยง  ครูอนุบาล  และทันตบุคลากร  ระดมความคิดภาพฝัน  เกี่ยวกับสุขภาพเด็ก  และแนวทางที่จะต้องทำ  นำเสนอก่อนจบ

 

ภาพฝันสอดคล้องต้องกัน  ตัวเด็กสุขภาพดีทั้งกายและใจ  ยิ้มสดใสอย่างมีความสุข  พัฒนาการสมวัยทุก ๆ ด้าน 

 

คนที่เกี่ยวข้อง (ในห้องนี้) ล้วนอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง  เพื่อทำให้ชุมชนมีส่วนร่วม  ผู้ปกครองเอาใจใส่  ผู้บริหารทุกระดับ  อปท.  โรงเรียน  สาธารณสุขสนับสนุน  ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมทำบทบาทตนเอง  สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม  พัฒนามาตรฐานด้านสุขภาพช่องปากของ ศพด. 

ค้นหาต้นแบบ  ทั้งด้านบุคคลและทีมวิทยากรของชุมชน (ภูมิปัญญาชาวบ้าน)  ที่ตรงกับความรู้วิทยาการแบบสากล  เพื่อสามารถส่งสาระความรู้สำคัญ ให้สวมเข้าพอดีกับวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างง่าย ๆ ตามบริบทแต่ละพื้นที่ 

เมื่อนั้น  การเปลี่ยนแปลงความคิดระดับชุมชนจึงจะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่าน  เอื้อให้เกิดภาพที่ฝันไว้เป็นจริง

 

นี่เป็นเพียงเสี้ยวการบันทึกของผู้เข้าประชุมคนหนึ่ง  ทีมผู้จัดที่ใช้วิทยากรกระบวนการและผู้บันทึกสิบกว่าคน  จะสรุปบทเรียนจัดทำเอกสารสมบูรณ์  เป็นข้อเสนอต่อ กองทุนทันตกรรม  สปสช.  สสส.  สำนักทันตสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องต่อไป

 

ในที่สุด  ถึงเวลาบอกความในใจก่อนลาจาก  ทุกคนได้ตามที่คาดหวัง  เกินคาด 

ขอบคุณผู้จัดมากมาย  ต่างคนต่างได้ความรู้  เชิดชูแรงบันดาลใจ  กลับไปต่อเติมทั้งงาน  ทั้งสายใยสายสัมพันธ์  ได้แนวคิดและวิธีการสื่อสารโดยใช้ศิลปะให้เหมาะกับกลุ่มเด็กเล็ก 

เป็นการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่อิ่มเอมใจอีกครั้งหนึ่ง

 

หมายเลขบันทึก: 464263เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2011 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2012 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

อยู่เขาค้ออากาศหนาวมากครับหมอ

มาหาเงินให้เกษตรกร (กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร)

ขอบคุณคะ ได้ข้อคิด ในการทำงานกับชุมชน เมื่อล้มต้องลุก ดังตัวอย่าง

เล่าตั้งแต่ทำวิจัย  1  หมู่บ้าน  ล้มเหลว  พักใจ  3  ปี  วิเคราะห์สาเหตุ  ยังไม่รู้จักพื้นที่ดีพอ  ออกแบบงานใหม่  สร้างทีมร่วมกับศูนย์สุขภาพชุมชน (ชื่อเรียกเมื่อปี 2551)  เยี่ยมบ้านสัมภาษณ์เชิงลึก 

สวัสดีค่ะคุณหมออ้อ

ยอดเยี่ยมค่ะ

กิจกรรมต่างๆน่าสนใจมากค่ะ หลากหลาย จุดประกายในการทำงานได้ดี ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

ชอบจังกลุ่ม" โรงพยาบาลว่านอนสอนง่าย"

คุณหมอเล่าได้น่าอ่านมาก เพลินดีค่ะ สนุกไปด้วย มากสาระและประโยชน์ ชื่นชมค่ะ

สบายดีนะค่ะ

สวัสดีค่ะ

มาให้กำลังใจค่ะ

  • เห็นภาพกระบวนการใช้ใจเรียนรู้มากเลยครับ เชื่อมต่อกันด้วยการถ่ายทอดความลึกซึ้ง จริงใจ จากใจสู่ใจกันเลยนะครับ
  • กระบวนการอย่างนี้ เหมือนเป็นการบ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนาธรรมการทำงานเป็นเครือข่ายและการทำงานบนความแตกต่าวงหลากหลายด้วยกันด้วยวิธีการใหม่ๆที่ข้ามองค์กร ข้ามประสบการณ์ เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว การถักทอวัฒนธรรมการทำงานแบบเดินด้วยใจ การทำงานเชิงปฏิสัมพันธ์แนวราบ ก็จะเกิดการริเริ่มด้วยพลังของปัจเจกจิตอาสา ในสถานการณ์ต่างๆของการทำงานต่อไป
  • ในทางการเรียนรู้ทางสังคมและมิติการศึกษาเรียนรู้ที่ผสมผสานในวิถีปฏิบัติ เรียกโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมการทำงานนี้ว่า การเกิดทุนทางสังคม ทุนความเป็นชุมชน ทุนทางจิตสาธารณะและความมีสำนึกร่วมกันด้วยภาวะตัวตนที่กว้างขวางมากขึ้น การมีความละเอียดอ่อน รู้สึกถึงความเป็นใจเขาใจเรา เห็นความเป็นตัวของตัวเองในสภาพแวดล้อมของคนอื่น
  • รวมทั้งแม้กระจายการทำงานและดำเนินชีวิตไปตามเงื่อนไขของปัจเจก แต่ก็จะทำให้มีทุนทางจินตภาพของกลุ่มก้อน ที่ทำให้คาดคะเนและประมาณการได้ว่า บนความสนใจเดียวกันกับผู้คนอื่นๆในสังคมนั้น ผู้คนมีแนวโน้มไปทางไหน ซึ่งเป็นวิธีเข้าใจสถานการณ์และสร้างข้อมูลการตัดสินใจชี้นำการปฏิบัติของตนเองได้ดีขึ้น
  • จึงเป็นการเรียนรู้ไปบนการทำงานด้วยวิธีการใหม่ๆอย่างหนึ่งน่ะครับ
  • ขอแบ่งปันเพื่อแลกกับการได้ชื่นชมสิ่งดีๆของคุณหมอและเครือข่ายน่ะครับ
  • คุณหมอครับ
  • มีแต่กิจกรรมดีๆทั้งนั้นเลย
  • ต่อไปมีกิจกรรมแบบนี้ชวนบ้างนะครับ

มาเยี่ยมตามคำเชิญชวน อ่านแล้วได้พลังใจเพิ่มขึ้นอีก กิจกรรมแม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ผู้ที่มาร่วมให้ความร่วมมืออย่างดี ประดุจดังพี่น้องมาเจอกัน ขอบคุณหมออ้อที่ได้ถ่ายทอดแบ่งปันแก่กัลยาณมิตร

อ่านเพลิน นึกตามเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ด้วยตั้งแต่รถติด...ไปจนถึงเบิกบานกับกระบวนการ share&learn ที่งดงามด้วยความดีที่ทุกท่านทำให้กับชุมชนที่ตนอยู่ งานที่ทำให้กับเด็กเป็นงานที่ส่งผลกระทบไปยาวนานนะคะ ชื่นชมจริงๆค่ะ

...คนที่เกี่ยวข้อง (ในห้องนี้) ล้วนอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง 

เป็นกำลังใจให้ทุกท่านได้ทำงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในตนเอง เพิ่มศักยภาพตนเองให้ทำทำงานที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆขึ้น เพื่อเด็กๆ/ชุมชน เป็นงานสร้างความสุขนะคะ

ขอบคุณทุกดอกไม้ที่ให้กำลังใจนะคะ

ท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- เดินทางเพื่อมวลชนตลอดเลยนะคะ

ยินดีนะคะ  คุณ Bonnie

จริงแท้แน่นอนค่ะ คุณหมอ ป.

ไม่ว่าทำวิจัย  ทำงานกับชุมชน  หรือชีวิต

ล้มแล้วก็ต้องลุก....สบาย ๆ ลุกครั้งสองสามก็ง่ายขึ้นแล้ว

เพียงแต่พิจารณาว่า  ได้อะไรติดมาบ้างตอนลุกได้แล้ว

และทำอย่างไรจะไม่ล้มแบบเดิมอีก

(อิอิ...ฝึกล้มท่าใหม่  ก็อีกเรื่องนึงนะคะ)

 

 

ขอบคุณนะคะ พี่พยาบาลใจดี พี่อุ้ม ที่ต่อเติมให้หัวใจพองโต :),

อาจารย์คะ อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • ชอบจังเลยค่ะ  มีผู้รู้ช่วยให้บันทึกกระจ่าง  สว่างสะท้อนหลายอย่าง  เห็นจุดร่วมของงาน  ของทางเดินชีวิต  เห็นความงามบนความแตกต่าง
  • จะเขียนบันทึก  เผฺื่อแลกกับความคิดเห็นทรงคุณค่า  ที่ช่วยต่อเติมพลังความคิดให้แตกหน่อ  ก่อความอิ่มเอมใจไปอีก
  • ขอบคุณมาก ๆ ค่ะอาจารย์ 

อ.ขจิต คะ

  • ชวนแล้วมาจริง ๆ นะคะ
  • กำลังหา  2  วัน  ระหว่าง  19 - 22  ธันวาคม 2554  แลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายทันตเภสัชบุคลากร  ในการทำงานระบบสุขภาพชุมชน  พี่หมอฝน  สสจ.หนองบัวลำภู  เป็นหัวเรือใหญ่ของเครือข่ายอิสานตอนบน  จะมาเยี่ยมพื้นที่จริง  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่อำเภอสระใคร  เมืองน่าอยู่ประตูสู่หนองคาย
  • คิวว่างไหมเอ่ย ?

ขอบคุณค่ะ พี่ล่า สาสุขฝั่งโขง

ทีมวิทยากรที่ทำให้ใจทุกดวงสื่อหากันโดยง่าย

กำลังรวบรวมรูปกิจกรรมเมื่อวาน ตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานเด็กดี อำเภอสระใคร ปีที่ 4

โปรดรอดูรูปตัวพี่เองนะคะ

สวัสดีหน้าน้ำค่ะ อ.คุณนายดอกเตอร์

ความดีต่อความดี ยิ่งทวีความสุข อยากทำเพื่อเด็ก ๆ เพื่อชุมชนที่เราอยู่

สัมผัสได้ว่าเพื่อน ๆ ที่มา ก็มีแนวคิดคล้าย ๆ กันค่ะ กระตือรือร้น อยากพัฒนาตนเอง

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับกำลังใจ.....รับแทนเพื่อน ๆ ทุกคนไว้ซะเลย

อาจารย์ยังสบายกาย สบายใจ อารมณ์นิ่งสงบไปได้เรื่อย ๆ นะคะ ในภาวะน้ำมากอย่างนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท