พบ “โรงเรียนวัดเมมสุวรรณารามโมเดล” : แก้ปัญหาน้ำท่วมแบบพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส


         ช่วงที่ผมกับคณะไปติดตามการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของ สพฐ.ที่จังหวัดพิษณุโลกทั้ง 4 เขตพื้นที่ เมื่อต้นเดือนตุลาคม  ซึ่งอยู่ในช่วงที่จังหวัดพิษณุโลกและหลายๆจังหวัดกำลังประสบอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่อยู่นั้น  โรงเรียนในแต่ละเขตพื้นที่ก็ถูกน้ำท่วม ได้รับความเสียหายและปิดเรียนกันไปหลายแห่ง  ซึ่งทาง สพฐ.ก็ได้จัดงบประมาณไปช่วยเยียวยาเบื้องต้นผ่านเขตพื้นที่ไปแล้วนั้น
         ขณะที่ผมไปเยี่ยมสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 3  ท่าน ผอ.สุรินทร์  แก้วมณี และคณะ  พาพวกเราจาก สพฐ.ไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ประสบอุทกภัยมานานเป็นแรมเดือนแล้ว  คือ โรงเรียนวัดเมมสุวรรณาราม  อยู่ในเขตอำเภอพรหมพิราม  เดินทางจากพิษณุโลกไปตามถนนพิษณุโลก-สุโขทัย  ราว 22 กิโลเมตร
       
        พอไปถึงเรามองจากถนนใหญ่เห็นอาคารโรงเรียนอยู่ไกลลิบราว 300 เมตร  มีน้ำเจิ่งนองเหมือนท้องทะเลครอบคลุมทั่วพื้นที่ไปจนสุดสายตา   ผอ.วัชรินทร์  ทับทองหลาง  ผูบริหารโรงเรียน  ส่งเรือท้องแบนสองลำมารับเราและชาวเขตพื้นที่   เรานั่งเรือพายที่มีความรู้สึกว่าปลอดภัย และไม่มีอาการโยกเอียง แต่ถึงกระนั้นท่าน ผอ.สุรินทร์คงเห็นอาการหวาดๆของพวกเรา ที่มาจาก สพฐ.เลยส่งเสื้อชูชีพตัวจิ๋วของนักเรียนให้แต่ละคน ซึ่งผมเองก็ใส่ไม่ได้  
       

        ผมรู้สึกเย็นสบายขณะขณะนั่งเรือพายตรงไปที่อาคารเรียนอย่างช้าๆ  เราเห็นสองข้างทางที่น้ำเจิ่งนองมีผักบุ้งทอดยอดเลื้อยไปตามน้ำแผ่ขยายเป็นวงกว้าง ที่บอกให้รู้ว่าถูกน้ำท่วมมานานแล้ว  พอถึงอาคารเรียนที่มีสองชั้น ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่งจึงไม่มีอะไรเสียหาย   ผอ.วัชรินทร์รอต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มไม่เห็นริ้วรอยของความเดือดร้อนจากอุทกภัย
       หลังจากทักทายเจ้าของบ้านตามธรรมเนียม ผมก็เดินเข้าไปในห้องเรียน เพื่อทักทายและปลอบโยนนักเรียนที่ประสบกับอุทกภัย  แต่เมื่อเห็นครูกำลังสอนนักเรียนอย่างเป็นปกติ  นักเรียนทุกคนต่างตั้งใจเรียน อ่านหนังสือออกเสียงดังฉะฉาน ดูสนุกสนานกันทุกคน ไม่เห็นแววของความอนาาทรร้อนใจใดๆ ผมเลยไม่ปริปากถามไถ่เรื่องน้ำท่วม  ก็ทักทายในฐานะแขกผู้มาเยือนตามปกติ  แล้วเฉไปหลังห้อง ลองสุ่มเปิดหนังสือเรียนหน้าท้ายๆให้นักเรียนอ่านให้ฟังเป็นบางคน  ก็พบว่านักเรียนสามารถอ่านได้อย่างถูกต้องและคล่องแคล่ว
       
         ก่อนออกจากห้องเรียนอดไม่ได้ ที่จะถามนักเรียนเรื่องน้ำท่วมว่า “บ้านใครน้ำไม่ท่วมบ้าง”  นักเรียนทั้งชั้นร่วม 20 คน มีเพียงสองคนเท่านั้นที่ยกมือบอกว่าน้ำไม่ท่วม  ทำให้ผมแปลกใจว่าทำไมทั้งครูและเด็กๆดูไม่อนาทรร้อนใจในเรื่องนี้กัน
         ออกมาดูแผ่นป้ายจำนวนนักเรียนของโรงเรียนที่หน้าห้อง พบว่า นักเรียนทุกชั้นมี 85 คน มีครู 9 คน สถิติวันนี้ไม่มีนักเรียนขาดเรียนแม้แต่คนเดียว  ด้วยความสงสัยเลยออกมาคุยกับ ผอ.วัชรินทร์ จึงทราบว่า  ที่นักเรียนมาเรียนอย่างมีความสุข สนุกสนานก็เพราะว่า  พอโรงเรียนได้เรือท้องแบนมา 2 ลำ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบให้ และเสื้อชูชีพที่สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา
พิษณุโลก เขต 3  มอบให้ 22 ตัว  ผู้ปกครองนักเรียนก็ไม่อยากปล่อยให้ลูกอยู่กับบ้าน เกรงจะไม่ปลอดภัย  และเห็นว่าลูกอยู่ที่โรงเรียนปลอดภัยกว่า  เพราะมีทั้งอาหารการกินให้ลูก และได้เรียนหนังสือด้วย จึงไม่อยากให้ปิดโรงเรียน  อยากให้ลูกมาโรงเรียน  เด็กๆก็สนุกสนานเมื่อน้ำท่วมตามนิสัยของเด็ก  อากาศที่โรงเรียนก็ไม่ร้อน เย็นสบายดี  เด็กๆได้นั่งเรือไปกลับเที่ยวละ 15 คน พร้อมมีเสื้อชูชีพใส่ มีครูคอยดูแลความปลอดภัยทุกเที่ยว  ดูลงตัวไปหมด   ผมจึงถึงบางอ้อ
          ผมถาม ผอ.วัชรินทร์ต่อว่า  “เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเป็นอย่างไร”  ท่านก็นำประกาศนียบัตรเหรียญทองของสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 3 มาให้ดู  ที่ระบุว่าสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โดยมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ  6 กลุ่มสาระการเรียนรู้   พร้อมทั้งเล่าถึงผลงานด้านอื่นๆที่ดีให้ฟังอีกหลายเรื่อง
           ก่อนลากลับพวกเราทุกคนในที่นั้นต่างพูดพร้อมกันว่า  นี่แหละคือ  “โรงเรียนวัดเมมสุวรรณารามโมเดล” ถึงแม้จะไม่ยิ่งใหญ่โด่งดังเหมือน  “บางระกำโมเดล”  แต่ก็เป็นโมเดลเล็กๆ ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขอย่างลงตัว
         เราจึงอยากให้  “โรงเรียนวัดเมมสุวรรณารามโมเดล มีความยั่งยืน และขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆอีก   โดยอยากเสนอแนะให้หน่วยงานระดับนโยบายจัดเรือท้องแบนเช่นเดียวกัน พร้อมเสื้อชูชีพจำนวนหนึ่ง ไว้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ฯที่มีแววว่าจะเกิดอุทกภัยทุกปี   หากโรงเรียนใดประสบอุทกภัย  ก็มายืมเรือไปใช้ จนพ้นวิกฤติก็เอาเรือมาคืน  เป็นการป้องกันไว้ก่อน  ไม่ใช่พอวัวหายแล้วจึงล้อมคอก  ดีไหมครับ...
                                                     

หมายเลขบันทึก: 464164เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2011 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอร่วมชื่นชมรร.เข้มแข็งปรับสภาพความเป็นอยู่อย่างไม่ท้อถอยบนการพึ่งพาตนเอง ขอให้กำลังใจในการเป็นแบบอย่างที่ดีเช่นนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท