ข้อมูลจัดการปัญหาน้ำท่วมโดยวิถีชุมชน


....เลี้ยงยากจริงๆเจ้าลูกหมานี่ ดื้ออย่างก๊ะลูกลิงลูกค่าง
น่ากลุ้มใจจริงว๊อยยย ป่ะ ขึ้นไปเล่นบนยอดไม้กันดีก่า ฮึ๊บบบ !!!!!
ขอขอบคุณภาพจาก YouTube

ผมได้มีโอกาสร่วมกับทีมอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกันเรียนรู้ที่จะแบ่งปันความเชี่ยวชาญต่างสาขาและระดมพลังความเป็นสหวิทยาการระดับทีมและเครือข่ายวิทยาการ ให้สะท้อนไปสู่มิติใหม่ๆของการทำวิจัย สอนแบบทีม เสวนาสหสาขา และดูแลการทำวิจัยให้นักศึกษาที่มีหน่วยก้านดี มีกำลังความสนใจและกำลังทางวิชาการแบบไม่แยกส่วน ได้ทำวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาโทและเอก ที่สร้างกรอบตัวแปรแบบสหวิทยาการ ทำให้นักศึกษาและงานของนักศึกษาจำนวนหนึ่ง มีกรอบการวิจัยในประเด็นต่างๆ ที่ใช้ความรู้ในการทำวิจัยจากหลายศาสตร์

นักศึกษาได้เกิดประสบการณ์ต่อสังคม ได้เคี่ยวกรำทางวิชาการ ได้เรียนรู้กับเครือข่ายวิชาการที่กว้างขวางของประเทศและนานาชาติ มีทักษะและภาวะผู้นำทางวิชาการเหมาะสมต่อการทำงานกับความแตกต่างและเปิดกว้าง ข้ามคณะ ข้ามสาขา ข้ามมหาวิทยาลัย ทีมอาจารย์ก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และได้เรียนรู้ไปกับการเป็นทีมวิจัยให้กับนักศึกษาในแนวทางที่จะระดมสรรพวิชา ที่มุ่งเชื่อมโยงกับปัญหาต่างๆของประเทศ เท่าทันต่อประเด็นแนวโน้มต่างๆของท้องถิ่นและของโลกด้วย

ทางด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรน้ำก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้มีโอกาสดูแลไปหลายชิ้น ผมมักได้รับการขอให้เน้นดูแลฐานทฤษฎีและระเบียบวิธีเพื่อศึกษาตัวแปรบางด้านให้ โดยเฉพาะทางด้านสังคมชุมชน ประชาคม การพัฒนาศักยการจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน การพัฒนาการเรียนรู้และวิธีปฏิบัติการเชิงสังคมทางสื่อกับการจัดการความรู้ จึงขอนำเอามาถ่ายทอดแบ่งปันไว้เพื่อเป็นแนวคิดสำหรับการวิเคราะห์ชุมชนและวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วม ตลอดจนการจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้นำชุมชน กลุ่มประชาคม กลุ่มจิตอาสา ตลอดจนหน่วยงานและองค์กรท้องถิ่น ในการนำไปพัฒนาเครื่องมือจัดการความรู้ของชุมชนต่อไป ทั้งในสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้และในอนาคต

บันทึกนี้ถ่ายทอดเท่าที่พอจะนึกขึ้นได้เร็วๆ จึงไม่ได้ค้นคว้าและอ้างอิงอย่างเป็นระบบนัก แต่ก็เป็นข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นของนักศึกษาหลายสาขาในระดับปริญญาโทและเอกของหลายแห่ง รวมทั้งเครือข่ายวิจัยแนวประชาคม ที่ใคร่ขอกล่าวถึงความมีคุณูปการแก่สังคมนี้ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยศิลปากร หาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เครือข่ายนักวิชาการประชาสังคม และเครือข่ายประชาคมพุทธมณฑลสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น

ในอนาคต ชุมชนต่างๆ อาจเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบการจัดการตนเองเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและวางแผนพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งการวางระบบตนเองเพื่อเผชิญภาวะน้ำท่วมในปัจจุบันให้ดีที่สุด ซึ่งการเรียนรู้ชุมชนและการจัดการความรู้เพื่อการดูแลส่วนรวม ตามรายการเหล่านี้ จะเป็นพลังความรู้เพื่อช่วยผู้นำชุมชนและองค์กรท้องถิ่น ตลอดจนกลุ่มการรวมตัวกันของชาวบ้าน ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ดีของระดับชุมชน..........................

แนวพัฒนามิติการประเมินวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน
เพื่อวางแผนและวางระบบบริหารจัดการชุมชนต่อกรณีน้ำท่วม ในวิถีชุมชน

๑. ข้อมูลทั่วไปของชุมชน

  • ที่ตั้ง ขนาด แผนที่
  • ศูนย์กลางชุมชน ตลาด ย่านอาศัย บทบาทที่สำคัญ
  • วัด โรงเรียน ศาสนสถาน แหล่งสาธารณะ
  • ประวัติศาสตร์ชุมชนเกี่ยวกับน้ำ แหล่งน้ำ น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำฝน น้ำท่า
  • ข้อมูลในอดีตในช่วงเวลาต่างๆ ที่ชุมชนสามารถจดจำและรำลึกได้ เกี่ยวกับความเสียหาย ความสูญเสีย การเสียชีวิต ความทรงจำของชุมชน

๒. บริบทและข้อมูลพื้นฐานทางสังคมชุมชน

  • ลักษณะระบบนิเวศทางธรรมชาติ พื้นที่ป่า พื้นที่แห้งแล้ง
  • ลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชน ควรพิจารณาว่าแบบใด เช่น เป็นชุมชนเกษตรกรทำนา ชุมชนคนทำสวน ชุมชนกลุ่มวัฒนธรรม ชุมชนแหล่งประกอบการ ชุมชนบ้านจัดสรร ชุมชนเมือง ชุมชนเขตชนบท ลักษณะของชุมชนที่แตกต่างกันเหล่านี้ จะมีวิถีปฏิบัติระดับกลุ่มก้อนในสภาวการณ์ต่างๆ ต่างกันมาก
  • ประวัติศาสตร์การก่อตั้งและพัฒนาการของชุมชน
  • ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งและแง่มุมความอ่อนไหว ความละเอียดอ่อนของชุมชนและกลุ่มคนในชุมชน ที่ต้องคิดริเริ่มสิ่งต่างๆด้วยความเข้าใจจำเพาะกรณี
  • การวิเคราะห์ภาวะผู้นำปัจเจกและการปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้เห็นเครือข่ายการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เห็นแนวจัดกลุ่มการรวมตัวที่หลากหลาย เพียงพอต่อการระดมพลังชุมชนในภาวะวิกฤติต่างๆ (อาจะทำโดยวิธีวิเคราะห์ Leaders-Leadership Spotting และ Sociogram ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หมออนามัยและนักวิชาการสาธารณสุขจะทำเป็น อสม.และผู้นำชุมชน สามารถประสานความร่วมมมือและขอความช่วยเหลือได้)

๓. ปริมาณและลักษณะการใช้น้ำของชุมชน

  • จำนวนครัวเรือนกับปริมาณและลักษณะการใช้น้ำ
  • จำนวนแหล่งประกอบกิจการกับปริมาณและลักษณะการใช้น้ำ
  • แหล่งปศุสัตว์ ฟาร์ม และลักษณะการใช้น้ำ

๔. ลักษณะของพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวกับน้ำ

  • กายภาพของพื้นที่และลักษณะการใช้ประโยชน์ เพื่อจะได้วางแผนเพื่อจัดการเชิงระบบภายใต้เงื่อนไขสมมุติของสภาวการณ์น้ำท่วมในอนาคต แบบต่างๆ
  • พื้นที่การเกษตรและการกระจายตัว เพื่อจะสามารถประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในภาพรวมของชุมชนเมื่อต้องเผชิญความเสี่ยงในระดับต่างๆ
  • ลักษณะความลาดชันและที่ราบลุ่ม

๕. ต้นทุนระบบนิเวศของน้ำในชุมชน

  • แม่น้ำที่ไหลผ่านชุมชน
  • ระบบชลประทานและคูคลองผ่านชุมชน
  • แหล่งน้ำ บึง หนอง สระ กว๊าน ในชุมชน
  • ระบบน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคและบริโภคในชุมขชน

๖. แผนที่ชุมชน พื้นที่เสี่ยง และพื้นที่เผชิญน้ำท่วม

  • ที่ดอนและที่ปลอดภัยระดับต่างๆในชุมชน
  • ที่น้ำท่วมและพื้นที่มีความเสี่ยงระดับต่างๆ
  • พื้นที่ใช้สอยสาธารณะของชุมชน

๗. ทุนศักยภาพและทรัพยากรในชุมชนเพื่อพึ่งตนเองแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเข้มแข็ง

  • พื้นที่ใช้สอยสาธารณะเพื่อหนีภัยน้ำท่วมของชุมชน
  • เส้นทาง สิ่งกีดขวาง การสัญจรที่ปลอดภัยในภาวะน้ำท่วม และเข้าถึงที่ปลอดภัยได้ดีที่สุดจากแหล่งต่างๆในชุมชน
  • เรือ แพ และสิ่งที่สามารถโดยสารและขนส่งสัญจรในชุมชนได้ในภาวะน้ำท่วม ที่มีอยู่ในชุมชนตามแหล่งต่างๆ
  • เครื่องสูบน้ำที่มีในชุมชน
  • เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับเผชิญปัญหา และพึ่งตนเองในการแก้ปัญหา เช่น  จอบ เสียม พลั่ว มีด ขวาน ฆ้อน เครื่องมือก่อสร้าง
  • ผู้มีความรู้ มีทักษะ และเป็นที่พึ่งของชุมชนได้ ในชุมชน

๘. องค์กรและการจัดการของชุมชน

  • คณะกรรมการหมู่บ้านที่ดูแลและรับผิดชอบทางด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง
  • หน่วยงานและองค์กรในชุมชนที่สามารถประสานความร่วมมือได้
  • หน่วยงานและองค์กรภายนอกชุมชนที่สามารถประสานความร่วมมือได้
  • การติดต่อและวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด บนทางเลือกและเงื่อนไขที่จำเป็นต่างๆ
  • การติดต่อฉุกเฉินเร่งด่วน

๙. ข้อมูลและการสื่อสารเพื่อบริหารจัดการภาวะวิกฤติ

  • แหล่งข้อมูลที่เข้าถึงและนำมาใช้ได้ในชุมชน
  • ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องและสามารถสื่อสารที่ดีที่สุด
  • แนวการบันทึก เก็บรวบรวมข้อมูล รายงาน และเผยแพร่สื่อสาร ของชุมชน
  • ระบบการส่งสัญญาณเตือนภัยระดับต่างๆของชุมชน
  • ระบบออนไลน์และสื่อเพื่อชุมชนใช้สื่อสาร

๑๐. การจัดการด้านสาธารณสุขมูลฐานและสุขภาวะชุมชน

  • การสื่อสารให้สุขศึกษาชุมชนเพื่อมีส่วนร่วมทางสุขภาพของปัจเจก ครอบครัว และชุมชน ในภาวะน้ำท่วม
  • การสื่อสาร รายงานสภาวการณ์ และการเฝ้าระวัง โรคภัยที่มากับน้ำท่วม โรคระบาดในท้องถิ่น
  • การจัดหายา เวชสุขภัณฑ์พื้นฐาน การปฐมพยาบาล เพื่อดูแล แจกจ่าย และให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านในชุมชนของตนอย่างเหมาะสมเพียงพอ
  • การติดต่อสื่อสารกับสาธารณสุขกับหน่วยงานในพื้นที่
  • การเยี่ยมบ้าน เสริมพลังใจ การจัดการภาวะความเครียด การดูแลสุขภาพจิตชุมชน การดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มที่อ่อนไหว
  • การสำรวจ ประเมิน บันทึก ถ่ายทอด อย่างง่าย ใช้ประสบการณ์ตรงและเทคโนโลยีที่พึ่งการปฏิบัติของตนเองได้มากที่สุด

ควรทำแผนที่ชุมชนและแผนที่ศักยภาพชุมชน เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ด้วยแผนที่ จำแนกการวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละมิติ เพื่อหลังจากนั้นจะสามารถทำ Overlay หรือวิเคราะห์แผนที่เชิงซ้อนในประเด็นต่างๆ ให้เห็นถึงความหนาแน่น การกระจายตัว ความหลากหลาย ความเพียงพอ และความขาดแคลน ทางด้านต่างๆที่ต้องการ ทำให้มีข้อมูลสื่อสารกับชุมชนและบริหารจัดการตนเองได้อย่างเหมาะสม เช่น ทราบว่ามีเรือและอุปกรณ์ขนย้ายคนและสิ่งของอยู่เพียงพอเพียงใด ที่มีอยู่ในชุมชนนั้นกระจายอยู่ที่ตรงไหน และตรงไหนต้องรีบหาเข้าไปเสริม เหล่านี้เป็นต้น

หากใช้กราฟรูปภาพหรือแผนที่ความคิด ก็ทำตัวแบบที่สามารถใช้วิเคราะห์เชิงซ้อนด้วยเครื่องมือที่ทำให้ง่ายสำหรับทำกันเองของชาวบ้าน | ตัวอย่างการถอดบทเรียนและวิเคราะห์ทุนศักยภาพชุมชนด้วยแผนที่ความคิด และวิเคราะห์เชิงซ้อนด้วยกราฟรูปภาพซึ่งสร้างและใช้เองด้วยชาวบ้าน : เครือข่ายเรียนรู้ของชุมชนรอบสำนักงานศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะชุมชนของ สสส. โดย บางกอกฟอรั่ม  Civicnet กับเครือข่ายชุมชน ที่ผมและคณะได้ทำให้ |

ข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้ชุมชนสามารถวางแผนเพื่อการจัดการตามมาตรการที่เหมาะสมต่างๆ นับแต่การระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนเพื่อแก้ปัญหา การป้องกันอุบัติภัย การอพยพเคลื่อนย้ายและการจัดการเชิงพื้นที่อย่างเหมาะสมที่สุด การสื่อสารและกำกับสภาวการณ์ที่ดี การดูแลสุขภาพและจัดการสุขภาวะชุมชน และอื่นๆที่หลากหลายและยืดหยุ่นไปตามความต้องการในเงื่อนไขแวดล้อมของท้องถิ่นที่ต่างกัน

ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งจะแปรภาวะวิกฤติให้ชุมชนเป็นหน่วยการเรียนรู้ ได้ใช้ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสพัฒนาพลเมืองและสร้างศักยภาพการจัดการของชุมชน ก่อให้เกิดวิธีบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ทำให้วิกฤติเปลี่ยนเป็นโอกาส สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในวิถีชีวิตชุมชน และเป็นอีกโอกาสหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ ที่ใช้ความจำเป็นส่วนรวม เชื่อมโยงความมีปฏิบัติการเชิงสังคมร่วมกันของพลเมืองผู้มีจิตสาธารณะด้วยการเป็นผู้ร่วมกันทำให้แก่ชุมชนและสังคมตนเอง ไม่ต้องรอปะทะหรือประท้วงเรียกร้องหาพระเอกขี่ม้าขาวอย่างเดียว

ในชุมชนต่างๆ จะสามารถลด ปรับแต่งเพิ่มเติม ให้มีความหมายและสื่อสะท้อนความต้องการใช้วิเคราะห์เพื่อวางแผนชุมชน สามารถสร้างระบบและบริหารจัดการชุมชนในสภาวการณ์น้ำท่วมได้อย่างเหมาะสม ด้วยการพึ่งตนเอง เตรียมระบบตนเองเพื่อมีความสามารถสื่อสารกับสังคม และมีกรอบปฏิบัติการที่ดีเพื่อประสานความร่วมมือจากเครือข่ายภายนอกให้สอดคล้องกับความจำเป็น มีแนวระดมพลังการมีส่วนร่วมทุกด้านเพื่อให้ชาวบ้านและชุมชน ตลอดจนสภาวการณ์ของส่วนรวม ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีที่สุด.

หมายเลขบันทึก: 464094เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2011 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชุมชนมีวิถีที่จะช่วยชุมชนได้ครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ JJ ครับ

ต้องรักษามิติชุมชนลงไปในสถานการณ์นี้ และย้ำอย่างที่อาจารย์หมอ ว่ามานี้ไปด้วยเลยนะครับ
จะทำให้มีมุมมองในการแก้ปัญหาน้ำท่วมร่วมกันในชุมชนหนึ่งๆ ให้บรรลุประโยชน์ร่วมกัน
ได้กว้างขวางมากยิ่งๆขึ้น

ตอนนี้ในที่ต่างๆ ที่อยู่ตามแนวที่ลาดต่ำลง
ก็จะทำให้ชุมชนเพียงคนละฟากถนน แตกเป็นเสี่ยงๆไปกับสถานการณ์น้ำท่วม
ฟากที่มีถนนเป็นเขื่อนกั้น ก็อยากกองกระสอบทรายและสิ่งกีดขวางสมทบให้น้ำถูกกักไว้
ส่วนฟากที่อยู่เหนือน้ำ ที่โดนน้ำหนุนเอ่อ ก็อยากพังถนนและกระสอบทรายลงไป

กลายเป็นทุกข์จากสิ่งเดียวกันแต่จุดยืนขัดกันอยู่ในตัวเอง
กลายเป็นคนละขั้ว และคนละพวกไปเลย

เรียนท่านอาจารย์

  • เป็นเรื่องที่ดีมากๆค่ะ ถ้าชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะเข้มแข็งด้วย
  • คุณยายสนับสนุนแนวคิดนี้ค่ะ ชื่นชมค่ะ

สวัสดีครับคุณมนัสดาครับ

  • หากมีระบบวางแผนและบริหารจัดการน้ำกับทรัพยากรน้ำ-ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของชุมชนด้วยการพึ่งตนเองได้เป็นเบื้องต้นนี่ ต้องนับว่าเป็นมิติหนึ่งของความเป็นชุมชนที่เข้มแข็งที่สำคัญมากเลยนะครับ
  • เพราะจะส่งผลต่อวิถีทำอยู่ทำกิน และมิติอื่นๆต่อไปอีกหลายเรื่องเลย

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะที่ไปให้กำลังใจกันยามน้ำท่วมบ้าน

สิ่งที่อาจารย์และหลายๆสถาบันการศึกษาจะเข้าไปอำนวยให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม ใช้วิถีชุมชนเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนและดำเนินงาน มีการทำอย่างมีหลักวิชาการเช่นนี้จะช่วยสังคมได้อย่างยิ่ง ขอเป็นกำลังใจให้ประสบความสำเร็จค่ะ

วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้คงเป็นตัวกระตุ้นให้ภาครัฐ หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ชุมชนให้หันมาเห็นความสำคัญของการempower ชุมชนนะคะ ช่วงน้ำท่วมได้เห็นตัวอย่างดีๆหลายแห่ง การศึกษาอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการทางวิชาการรองรับอย่างนี้ คงได้ผลที่เข้มแข็ง เป็นแนวคิด วิธีการให้ที่อื่นๆด้วย อย่างเช่น อยุธยา ที่น้ำหลากมาทุกปี หนัก เบาไม่เท่ากัน สถาบันการศึกษาควรจะมีส่วนช่วยทางปัญญาได้มากกว่านี้ ตอนนี้ในเกาะเมืองมีปัญหาเรื่องขยะเน่าเหม็นมากมาย แม่น้ำป่าสักที่ผ่านบ้านน้ำก็เริ่มค่อยๆลดระดับลง ยิ่งเห็นขยะลอยตามน้ำมาถี่ๆ เรื่องอย่างนี้ต้องมีการคิดกันด้วยนะคะว่าจะจัดการกันอย่างไรดี

สวัสดีครับดร.ยุวนุชครับ
การ Empower ชุมชน และการขับเคลื่อนชุมชนให้สามารถพัฒนาองค์กรจัดการตนเอง
เพื่อบรรลุความจำเป็นในเงื่อนไขใหม่ๆที่ในอดีตอาจจะไม่เคยมีนั้น
น่าจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นมากๆนะครับ และทั้งหมดที่ริเริ่มได้
ก็ควรมีด้านที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ และมีการจัดการความรู้
เพื่อทำให้การทำสิ่งต่างๆ เป็นโอกาสได้สั่งสมภูมิปัญญา
ผสมผสานกันทั้งของใหม่และเก่าไปด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท