วาดฝันเปลี่ยนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของโลก (๓) เรียนรู้จากสหรัฐอเมริกา


ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

      ในสองตอนที่แล้วเป็นวาดฝัน แต่ตอนนี้จะเล่าว่า สหรัฐอเมริกาทำอะไรบ้าง   เป็นการตีความของผมจากความรู้ที่ได้จากการไปร่วมประชุม Transforming Health Education Globally : Four Years Afterที่ ซาน ฟรานซิสโก ในวันที่ ๙ ก.ย. ๕๔  จัดโดย UCSF Global Health Sciencesที่เล่าแล้วในตอนที่ ๑

 

          สหรัฐอเมริกามีการรวมตัวกันตั้งGlobal Health Education Consortium(GHEC)มา ๒๐ ปีแล้ว และตั้งConsortium of Universities for Global Health(CUGH)เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว   แล้ว ๒ องค์กรนี้รวมตัวกัน

 

          เท่ากับว่า เมื่อสวมแว่นสหรัฐฯ เขามีกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพผ่านขบวนการ Global Health  เป็นกลไกหนึ่ง   และหนีไม่พ้นที่แว่นสหรัฐฯ สวมทีไรภาพความเป็นจ้าวโลกก็ปรากฏคือสหรัฐใช้สารพัดเครื่องมือในการดำรงความเป็นจ้าวโลก   และ Global Health คือเครื่องมือหนึ่ง

 

          แต่กล่าวอย่างนี้อาจมองสหรัฐฯในแง่ร้ายมากไปหน่อย   คนในวงการ Global Health ที่ผมรู้จักเขาไม่ได้คิดเรื่องการเป็นจ้าวโลก  เขาเตือนกันเองด้วยซ้ำ ว่าอย่าเอาวิธีคิดแบบอเมริกันไปยัดเยียดให้ประเทศยากจน   และให้ระวังว่ากระบวนการ Global Health ที่ส่ง นศ. อเมริกันไปประเทศต่างๆ จะเป็นการรบกวนประเทศนั้นๆ  

 

          ในการประชุมเมื่อวันที่ ๙ ก.ย. เขาช่วยกันคิดว่า CUGH – GHEC จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพของโลกได้อย่างไร  และมีกิจกรรมอื่นๆ อะไรบ้างที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ 

 

          ทำให้ผมได้รู้จักโครงการ Medical Education Partnership Initiative(MEPI) ของ Fogarty International Center ที่เพิ่งเริ่ม (ในอัฟริกา)   และอาจร่วมมือกับขบวนการขับเคลื่อนของเอเชีย ที่มีเครื่องมือวัดสถานภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ นพ. วิโรจน์เป็นอาจารย์ใหญ่ พัฒนาขึ้น  ที่จะเป็นเครื่องมือกลางให้กลุ่ม 5C (คือบังคลาเทศ อินเดีย จีน เวียดนาม และไทย) เอาไปปรับใช้   สำหรับเอามาเปรียบเทียบกันได้   หากทาง Fogarty เอาไปใช้ในอัฟริกา ก็จะเกิดการเป็นเครือข่ายระหว่างขบวนการปฏิรูปฯ ในอัฟริกากับเอเชีย   Roger Glass ผอ. Fogarty ได้คุยกับ Lincoln Chen และผม เห็นพ้องกันว่า น่าจะร่วมมือกันในเรื่องนี้ได้ 

 

          และภายในวันเดียวหลังการประชุม ความร่วมมือระหว่าง 5C กับ Fogarty (อัฟริกา)ก็มีเค้าว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 

          ดูภาพของการประชุมได้ที่นี่   และอ่านรายงานข่าวการประชุมโดยละเอียดได้ที่นี่

 

          ผมค่อยๆ เข้าใจชัดขึ้นว่า ที่จริงประเทศไทยเรามีบทบาทรับใช้โลก ในการพัฒนาความเข้มแข็งของ Global Health มาเป็นเวลานาน ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ที่จัดประชุม Prince Mahidol Award Conferenceร่วมกับภาคีที่หลากหลายทุกปี

 

 
          นอกจากนั้นทีมไทยที่ไปประชุมสมัชชาอนามัยโลกที่เจนีวาทุกปี ก็ไปรับใช้โลกในการพัฒนา Global Health เช่นเดียวกัน ดังที่ผมได้บันทึกไว้ที่นี่  แต่เราทำงานพัฒนา Global Health ผ่านการลงมือทำ ใช้วิชาการสร้างความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ทำประโยชน์แก่สุขภาวะของพลโลกโดยตรง   แตกต่างจากแนวทางของ GHEC และ CUGH

 

          ไทยเราดำเนินการ Global Health อย่างเข้มแข็ง   แต่จะนำความเข้มแข็งส่วนนี้มาเป็นพลังในการปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพอย่างไร เป็นโจทย์สำหรับคิดและปรึกษาหารือกันต่อไป 

 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.ย. ๕๔
ซาน ฟรานซิสโก

         
                 
 
หมายเลขบันทึก: 464078เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2011 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2020 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท