วาดฝันเปลี่ยนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของโลก (๒) ร่วมกันเปลี่ยนแปลง


 ตอนที่ ๑

 

          ในตอนที่แล้วได้เสนอว่า คณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของไทยต้องมีหน่วยงานเล็กๆ ทำหน้าที่เข้าไปร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพ และระบบการศึกษาของบุคลากรสุขภาพ

          ในตอนนี้ขอเสนอว่า คำว่า “ระบบการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ” น่าจะหมายถึง “ระบบการเรียนรู้ของวิชาชีพสุขภาพ” และหมายรวมถึงการเรียนรู้ตั้งแต่ยังไม่เข้าทำงาน ไปจนตลอดอายุการทำงาน คือหมายรวมทั้ง pre-service learning และ in-service learning ด้วย

          คณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแต่ละคณะ ต้องมีหน่วยงานย่อย สำหรับเข้าไปร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพในภาพรวม และขับเคลื่อนระบบการเรียนรู้ของวิชาชีพสุขภาพซึ่งเป็นระบบย่อย

          หน่วยงานย่อยนี้ อาจใช้ชื่อว่า Health Systems Unit (HSU) หรือหน่วยระบบสุขภาพ มีเจ้าหน้าที่ประจำ ๒ – ๓ คนก็พอ และมีอาจารย์มาจากหน่วยต่างๆ มาใช้เวลา ๑๐ – ๕๐% รับผิดชอบงานของหน่วยนี้ และอาจเชิญคนจากระบบบริการ (เช่นกระทรวงสาธารณสุข) มาร่วมเป็นอาจารย์ของหน่วยแบบ part time ด้วย เพื่อให้ได้แนวคิดและทักษะรวมของหน่วยครบด้าน

          หน้าที่หลักของ หน่วยระบบสุขภาพ คือเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรเข้ากับขบวนการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพของประเทศ และของโลก เป็นตัวแทนองค์กรเข้าไปทำหน้าที่เชิงรุกต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพ

          หัวใจที่สำคัญด้านวัฒนธรรมองค์กรที่จะต้องพัฒนาขึ้นในยุคนี้อาจเรียกว่า “change appetite” หรือ “change appreciation” คือผู้คนในองค์กรในยุคนี้ต้องมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลง เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน เห็นเป็นโอกาส ไม่มองเป็นสิ่งน่ารังเกียจหรือน่ากลัว มองเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือความรับผิดชอบต่อโลก เพราะเราต้องช่วยกันกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ป้องกันการเปลี่ยนแปลงไปในทางไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม

          การเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมของการศึกษาในวิชาชีพสุขภาพ ได้มีการศึกษาและเสนอโดย Global Commission on Education of Health Professionals for the 21st Century ซึ่งอ่านได้ที่นี่ และผมได้สรุปข้อเสนอไว้ที่นี่ ท่านที่อยากอ่านบันทึกทั้งหมดของผมเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพอ่านได้ที่นี่

          เราไม่จำเป็นต้องเชื่อตาม Global Commission ไปเสียทั้งหมด เราควรศึกษาทำความเข้าใจตัวเราเอง และวางยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมกับระบบสุขภาพของเรา โดยควรทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับประเทศอื่น การที่ผมได้มาประชุมที่ UCSF ถือเป็นโอกาสที่จะได้หาลู่ทางความร่วมมือระหว่างประเทศให้จริงจังแหลมคมยิ่งขึ้น

          เราต้องเข้าไปมีส่วนกับการเปลี่ยนแปลง เป็น active partner มิฉะนั้นเราก็จะเป็น passive follower หรือเป็น resistor to change ไม่เข้าใจและตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง

          ตอนนี้ประเทศไทยก็อยู่ในฐานะคล้ายๆ จะเป็นแกนนำการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชีย โดยมีสมาชิกแกนนำอยู่ ๕ ประเทศ คือ จีน อินเดีย บังคลาเทศ เวียดนาม และไทย โดยญี่ปุ่นทำท่าเข้ามาร่วมด้วย มีการประชุมร่วมกันแล้ว ๑ ครั้ง ที่ขอนแก่น ในเดือน ส.ค. ๕๔

          ภายในประเทศเรามีการรวมตัวกันทำงานในลักษณะพร้อมใจกัน และค่อยๆ เกิดระบบสนับสนุนที่น่าสนใจมาก ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้นำกันแน่ คือมีลักษณะเป็นผู้นำหลายคนหลายบทบาท แต่ละคนแสดงบทบาทต่างกัน ได้แก่ ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา เป็นที่ปรึกษาใหญ่, ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน, ศ. พญ. วณิชชา ชื่นกองแก้ว ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นคนทำงานตัวจริง, ทีมงานคือ ผศ. พญ. สายพิณ หัตถีรัตน์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, นพ. สุธีร์ รัตนมงคลกุล แห่งคณะแพทยศาสตร์ มศว., รศ. นพ. โสภณ นภาธร แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มี นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และทีมจาก IHPP เป็นอาจารย์ใหญ่ด้านการวิจัยสถานภาพ และการพัฒนาแบบประเมินสถานภาพ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นผู้สนับสนุนจากหลายด้าน และมีผมเป็นผู้ส่งใจช่วยอยู่ห่างๆ

          ผมชอบมากที่ทีมไทย และการแสดงบทบาท มีลักษณะเป็น chaordic movement และทำงานแบบ complex – adaptive ที่ผมชื่นชอบ เพราะมันจะยืดหยุ่นและมีการเรียนรู้มาก ใช้ปัญญาและหัวใจ ไม่ใช้อำนาจนำ ซึ่งเหมาะมากกับการทำงานสร้างสรรค์

          ในประเทศไทย เรากำลังทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นแบบ self-organized และทำให้เป็น delighted change, energetic change, self-generated change mechanism ไม่ใช่เพราะมีใครมาบังคับ โดยเกิดรูปแบบการจัดการ (management organization) ใน ๒ ระดับ คือระดับประเทศ ตามที่เล่าข้างบน กับระดับมหาวิทยาลัยหรือคณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เกิด หน่วยระบบสุขภาพ ที่กล่าวตอนต้นของบันทึกนี้

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ย. ๕๔

ซาน ฟรานซิสโก

หมายเลขบันทึก: 463970เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2013 06:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูลบาง File ต้องเป็นสมาชิก และ บาง File link ไม่มีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท