องค์กรเคออร์ดิค ตอนที่ 36 องค์กรแห่งนวัตกรรม


องค์กร เคออร์ดิค คือองค์กรที่มีเป้าหมาย ความมุ่งมั่น คุณค่า มั่นคง ไม่คลอนแคลน แต่มียุทธศาสตร์ หรือวิธีการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นอย่างยืดหยุ่น ปรับตัวได้

สกว. กับความเป็นองค์กร เคออร์ดิค

36. องค์กรเคออร์ดิค คือองค์กรแห่งนวัตกรรม 

ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)www.kmi.or.th 

http://gotoknow.org/thaikm

               องค์กร เคออร์ดิค คือองค์กรที่มีเป้าหมาย ความมุ่งมั่น คุณค่า มั่นคง ไม่คลอนแคลน     แต่มียุทธศาสตร์ หรือวิธีการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นอย่างยืดหยุ่น ปรับตัวได้     ใช้พลังของความยืดหยุ่น การเรียนรู้ ปรับตัว เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น     ใช้พลังของความแตกต่างภายในองค์กร และพลังของการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายนอก และภายใน องค์กร เป็นเครื่องมือบรรลุเป้าหมาย    องค์กร เคออร์ดิค ใช้ทั้งพลังของความมั่นคง คงที่  และพลังของความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง      ลื่นไหลไปกับกระแสของการเปลี่ยนแปลง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่มั่นคง      และไม่ใช่แค่ลื่นไหลไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น     แต่ยังเป็นผู้ก่อกระแสการเปลี่ยนแปลงเองด้วย     ทั้งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร และการเปลี่ยนแปลงภายนอกองค์กร  

              การเปลี่ยนแปลงที่เป็นเครื่องมือสำคัญภายในองค์กร คือ นวัตกรรม (innovation)     องค์กรเคออร์ดิค มีกิจวัตรในการสร้างนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา      สร้างนวัตกรรมในการทำงานประจำ     สร้างนวัตกรรมในทุกหน่วยงานย่อย     สร้างนวัตกรรมในระดับพนักงานแต่ละคน  และในระดับทีมงานย่อยๆ  ไปจนถึงหน่วยงานย่อย  และองค์กรในภาพรวมองค์กรเคออร์ดิค สร้างและใช้ นวัตกรรมในวิถีชีวิตประจำวันของตน     มีนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการดำรงอยู่  ปฏิบัติหน้าที่  และสร้างความเข้มแข็งเพื่ออนาคตของตน และอนาคตของสังคมที่ตนเป็นส่วนหนึ่ง

               ในผู้บริหารระดับสูง  ก็บริหารโดยการ สร้าง และใช้ นวัตกรรม     ในการนำนาวาองค์กรผ่านคลื่นลม  ผ่านมหาสมุทรแห่งความท้าทายและโอกาส      โดยที่มีการจัดการให้นวัตกรรมในระดับผู้ปฏิบัติงานประจำ  กับนวัตกรรมในระดับบริหาร  มีการเชื่อมต่อกัน     และมีการส่งเสริมเกื้อกูล (synergy) กัน

               องค์กรเคออร์ดิค ใช้กระบวนการสร้างและใช้นวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพนักงาน     สร้างความเป็นชุมชนในหมู่พนักงานขององค์กร     เพื่อใช้การสนธิพลัง (synergy) ในการสร้างสิ่งที่เหลือเชื่อ (นวัตกรรมใหญ่) จากนวัตกรรมเล็กๆ ที่คนเล็กคนน้อยขององค์กรช่วยกันสร้างขึ้น

                 องค์กรเคออร์ดิค ใช้กระบวนการสร้างและใช้นวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาพนักงาน (human resource development)     ให้พนักงานได้ ลับ มีดแห่งความริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity) และจินตนาการ (imagination) อยู่ตลอดเวลา      โดยการทำงานร่วมกันสร้างและใช้นวัตกรรม ในการปฏิบัติงาน      ให้พนักงานได้พัฒนาจิตวิญญาณด้านดี หรือด้านบวก  จากการทำงานสร้างสรรค์รวมหมู่     โดยใช้ KM เป็นเครื่องมือ 

                  องค์กรเคออร์ดิค ใช้กระบวนการสร้างและใช้นวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร     ให้เป็นองค์กรเรียนรู้  องค์กรที่มีการจัดการโดยใช้ความรู้เป็นฐาน (knowledge-based management)     เป็นองค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา     ในการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้  มีวิธีการทำให้เป็นกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน      สร้างความภาคภูมิใจร่วมกัน      สร้างความรู้สึกมั่นใจในศักยภาพ (และข้อจำกัด) ของตนเอง      สร้างความรู้สึกและพฤติกรรมที่แสดงความเคารพ เห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงาน      และในขณะเดียวกัน  ก็หมั่นตรวจสอบสภาพแวดล้อม  ตรวจสอบตลาด  คู่ค้า  คู่แข่ง      ว่ามีการเปลี่ยนแปลง (หรือนวัตกรรม) อะไรบ้าง      การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะมีผลต่อองค์กรอย่างไร      นำเอา สัญญาณระวังภัย เหล่านั้นมาเป็นสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้น ให้ต้องร่วมกันสร้างนวัตกรรมขององค์กรต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง     

                ความรู้จากภายนอกเหล่านี้ ส่วนหนึ่งสามารถนำมาต่อยอด เกิดเป็นนวัตกรรมขององค์กร      ที่อาจทำให้ล้ำหน้าคู่แข่งไปไกลก็ได้     คือมองนวัตกรรมจากภายนอกเป็นทั้ง ความท้าทาย (threat) และ โอกาส (opportunity) ขององค์กร  

สร้างนวัตกรรมด้วยความสนุกสนาน 

                 ตำราด้านการจัดการของต่างประเทศอาจไม่เน้นเรื่องนี้นัก     เพราะความสนุกสนานในที่ทำงานไม่ใช่วัฒนธรรมของเขา      แต่สำหรับคนไทยแล้ว ความสนุกสนานเป็นวิถีชีวิต     แต่เราจะต้องมีวิธีการสร้างความสนุกสนานแบบได้งาน หรือ ได้นวัตกรรม

                      การสร้างและใช้นวัตกรรมในการทำงานน่าจะมีหลากหลายวิธี  ในหลากหลายบริบทบริบทที่เราคุ้นเคย คือการสร้างนวัตกรรมผ่านการวิจัยและพัฒนา (R&D-based innovation)     ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนของการประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่สร้างขึ้นในบริบทของการปฏิบัติงานจริง (knowledge translation) ด้วย

                     บริบทที่น่าจะสำคัญที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับคนเกือบทุกคนขององค์กร คือ การสร้างนวัตกรรมผ่านงานประจำ (routine work – based innovation)การสร้างนวัตกรรมผ่านงานประจำ ทำโดยใช้กระบวนการกลุ่มย่อย (Small Group Activities)     ส่งเสริมให้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนางานประจำที่ตนรับผิดชอบ     เช่น กิจกรรม QCC,  กิจกรรม KM,   กิจกรรม 5 ,  เป็นต้น

                     ความสนุกสนาน ภาคภูมิใจ เคารพซึ่งกันและกัน จะเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้เคล็ดลับของกระบวนการ KM มาประยุกต์ใช้    ได้แก่

  • การนำความสำเร็จเล็กๆ ในการพัฒนางานประจำมาเล่า  ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จัดขึ้นในหน่วยงาน
  • การจัดบรรยากาศเชิงบวก เชิงสร้างสรรค์ เชิงชื่นชมยินดี
  • การใช้เครื่องมือ  storytelling, deep listening, dialogue, appreciative inquiry, เป็นต้น
  •  การจดบันทึกเรื่องเล่าเด็ดๆ  และเกร็ดความรู้ที่ไม่มีในตำราจากเรื่องเล่า    ใส่ใน ICT เผยแพร่ภายในองค์กร     เพื่อสร้างกระแส  สร้างความภาคภูมิใจ    และสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   
  • การให้รางวัลที่เน้นการยกย่อง การยอมรับ
  • การส่งเสริมให้มีการนำความรู้ปฏิบัติไปทดลองปรับปรุงงาน แล้วนำผลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • มีวงหรือเวที สำหรับนำเอาวิธีการเด็ดจากภายนอกองค์กรมาเล่า  และแลกเปลี่ยนเรียนรู้     เพื่อส่งเสริมการนำความรู้ภายนอกมาทดลองต่อยอด
  • มีการเฉลิมฉลอง  เมื่อพบนวัตกรรมที่แม้จะเล็ก แต่จะมีส่วนขับเคลื่อนงานขององค์กรไปสู่เป้าหมายใหญ่ในอนาคต     การเฉลิมฉลองนี้ มองในมุมหนึ่ง ก็คือการส่งสัญญาณคุณค่าของความสำเร็จเล็กๆ      และส่งสัญญาณเป้าหมายใหญ่ขององค์กร      

                 โดยต้องทำเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ     เป็นกิจกรรมที่เป็นเนื้อเดียวกันกับงานประจำ     ทำเป็นวิถีชีวิตในการทำงาน      และพนักงานรู้สึกว่ากิจกรรมเหล่านี้ทำให้ชีวิตการทำงานของเขาดีขึ้น     มีความสุขมากขึ้น  มีความรักใคร่กลมเกลียวกันมากขึ้น 

กิจกรรม วิ่งผลัด 

               นวัตกรรมเล็กๆ ในกลุ่มพนักงานระดับปฏิบัติมีคุณค่าอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของงานทีละเล็กละน้อย      และมีคุณค่าในการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม     หรืออาจเรียกว่าวัฒนธรรม CQI (Continuous Quality Improvement)    หรือวัฒนธรรมปรับปรุงไม่หยุดนิ่ง      หรือวัฒนธรรม KM      หรือวัฒนธรรมเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงานประจำ      จะเรียกชื่อไหนก็ได้ ตามความเหมาะสม

                      องค์กรเคออร์ดิค ต้องไปไกลกว่านั้น     ต้องรู้จักหยิบเอานวัตกรรมเล็กๆ มาต่อยอด หรือ มัดรวม      เพื่อสร้างนวัตกรรมในระดับก้าวกระโดด      ที่จริงคำว่า มัดรวม เป็นคำที่ผิด      เพราะจริงๆ แล้วเป็นการนำนวัตกรรมเล็กๆ หลายๆ ชิ้นมา ต้มยำ หรือ ทำขนมเปียกปูน มากกว่า      คือนำมาบูรณาการและต่อยอด เกิดเป็นนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด    ยกระดับสู่ ภพภูมิใหม่ (new order)  

                     กิจกรรมต่อยอดนี้  ผู้แสดงบทบาทหลักคือผู้บริหาร  ทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับกลาง  และระดับสูง     ซึ่งได้คอยตรวจสอบนวัตกรรมเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในงานประจำอยู่อย่างสม่ำเสมอ     และคอยจ้องหาโอกาสที่ฐานนวัตกรรมเล็กๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มีเพียงพอที่จะนำมาประกอบกันเข้า  และเติมความรู้อื่นๆ เข้าไป      เพื่อพัฒนาไปเป็นนวัตกรรมที่ถือได้ว่ายิ่งใหญ่ระดับก้าวกระโดดกิจกรรมวิ่งผลัด หรือต่อยอดนวัตกรรมนี้  ต้องทำอยู่ตลอดเวลา      ที่สำคัญคือ เป็นการส่งสัญญาณจากผู้บริหารว่า นวัตกรรมเล็กๆ ที่เกิดขึ้น มีคุณค่าต่อองค์กรอาจต้องต่อกันเป็นสิบเป็นร้อยผลัด  ใช้เวลาหลายปี     นวัตกรรมระดับก้าวกระโดดจึงเกิดขึ้น      และกิจกรรมต่อยอดหรือวิ่งผลัดที่เกิดอยู่ 100 “กิ่งนั้น     หากเกิดนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดสัก 2 – 3 “กิ่งก็ถือว่าสมปรารถนาแล้ว      ได้รับผลดีคุ้มค่าแล้ว     คือเราไม่คาดหวังการก้าวกระโดดจากทุกกิจกรรมหรือทุก กิ่งของกระบวนการต่อยอดนวัตกรรม     

สร้างคุณค่าจากคำอธิบาย

               เมื่อมีนวัตกรรมน้อยใหญ่เกิดขึ้น     ต้องไม่เพียงแค่นำนวัตกรรมนั้นไปใช้ประโยชน์ขององค์กร     ต้องมีการนำมาเล่าเรื่องราวเพื่อสร้างความรู้สึกว่าทุกคน (หรือหลายคน) มีส่วนร่วม      สร้างความภาคภูมิใจ  การเห็นคุณค่า ร่วมกัน     และสร้างความเข้าใจว่าเกิดนวัตกรรมนั้นได้อย่างไร     เป็นการส่งเสริมกำลังใจให้มีความพยายามสร้างนวัตกรรมในเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย    คำอธิบายดังกล่าว ควรมาจากหลากหลายมุมมอง  ไม่ใช่มาจากทีมผู้สร้างนวัตกรรมนั้นเท่านั้น      ที่สำคัญ ผู้บริหารที่ใกล้ชิดกับงานนั้น  และผู้บริหารระดับสูงสุด ควรได้เข้ามาร่วมอธิบายด้วย      ประเด็นสำคัญของคำอธิบายของผู้บริหารสูงสุด คือ นวัตกรรมนั้นมีคุณค่าอย่างไรต่อองค์กร     จะมีส่วนขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อย่างไรในบางส่วนของการตีความนี้ อาจต้องถือเป็นความลับที่รู้กันเฉพาะภายในองค์กรเท่านั้น 

สรุป

              องค์กรเคออร์ดิค ต้องมีทักษะในการสร้างและใช้นวัตกรรม เพื่อการทำหน้าที่และการดำรงอยู่ของตน     รู้จักใช้นวัตกรรมจากภายนอก    สร้างและใช้นวัตกรรมจากภายใน     โดยที่การปฏิบัติดังกล่าว ก่อผลเชิงความสนุกสนาน  ความมั่นใจ ภูมิใจ และเคารพเห็นคุณค่าซึ่งกันและกันของสมาชิกภายในองค์กร     การบรรลุผลดังกล่าวใช้เครื่องมือหลายชนิด และอย่างหนึ่งคือ การจัดการความรู้

หมายเลขบันทึก: 160085เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2008 05:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012 07:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท