พระวันวิวาห์ กับมาตรา 23 ที่นครพนม


“เวลา ไปกิจที่กรุงเทพฯ พระที่อยู่วัดเดียวกันที่เคยเห็นอาตมาออกทีวี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 เมื่อเวลา 19.13 ครบรอบ 1 ปี ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ มัก จะพูดกระซิบกระซาบกันว่าพระเถื่อนมาแล้ว และยิ่งวันที่เป็นข่าวเขายิ่งถามกันให้วุ่นเลยว่าพระองค์ไหนมาจากนครพนม คำว่า “พระเถื่อน” นั้นจริงๆ แล้วเป็นความหมายของพระที่ทำการอุปสมบทโดยไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่ใช่พระไม่มีสัญชาติไทยแล้วเรียกว่าพระเถื่อนทั้งๆ ที่อาตมาเองก็อุปสมบทที่วัดนั้น โดยมีพระราชาคณะชั้นเทพเป็นพระอุปัชฌาย์เป็นเจ้าอาวาสที่วัดนั้นด้วย และพระที่ว่าอาตมาเป็นพระเถื่อนนั้นก็เป็นพระเถระทั้งนั้นเรื่องแบบนี้ไม่ น่าเกิดขึ้นเลยในหมู่พระสงฆ์”

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
วันที่ 29 มกราคม 2552

—————————————————————————————

sec23-campaign1

………..
……

…………พระ วันวิวาห์  อภิญฺญาโณ ( ไชยปัญหา )  เป็นบุตรชายคนโตของแม่วิไล  ไชยปัญหา  ครอบครัวเป็นคนเชื้อชาติลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย  แม่วิไลเกิดที่บ้านหนองบก  เมืองหนองบก  แขวงคำม่วน  ประเทศลาว  ในปีพ.ศ.2509  ต่อมาเกิดสงครามภายในประเทศและได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ครอบครัวของแม่วิไลจึงได้อพยพเข้ามายังประเทศไทย  ทางบ้านนาถ่อน ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม  ซึ่งเป็นช่วงฤดูทำนา ในปีพ.ศ.2522  ส่วนพ่อของพระวันวิวาห์มาจากบ้านโพธิ์ค้ำ  เมืองหินบูน  แขวงท่าแขก  ประเทศลาว  โดยเข้ามาในช่วง  พ.ศ.2519  และได้มาแต่งงานกันที่ตำบลอาจสามารถ  อำเภอเมือง  จังหวัดนครพนม  จึงได้มีพระวันวิวาห์ในปี  พ.ศ.2527 และมีน้องชายตอนปี  พ.ศ.2532

…………ความ ทรงจำต่อภาพวัยเด็กของพระวันวิวาห์ คือครอบครัวได้เข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพช่วงหนึ่งในช่วงวัยที่พระวันวิวาห์ยัง ไม่ถึงเกณฑ์เรียนหนังสือ  โดยแม่วิไลให้เหตุผลที่ตัดสินใจนำครอบครัวออกมาจากที่นั่นว่า เนื่องจากโดนบังคับไม่เป็นอิสระทั้งพ่อ แม่ ตา ยาย จึงได้พากันออกมาอยู่ที่บ้านห้อมเหมือนเดิม

…………ภาพ ชีวิตที่ตามมาจากนั้น คือตาจะไปรับจ้างตัดไม้  พ่อเป็นสารพัดช่างที่ทำได้ทุกอาชีพช่าง ส่วนยายกับแม่เป็นแม่ค้าจะช่วยกันเตรียมของไปขายที่ตลาด จำพวกใบตองกล้วยบ้าง ผักต่างๆ บ้าง พอได้เวลา 9 โมงเช้าแม่วิไลจะเข็นรถเข็นไปไร่มันสำปะหลังเป็นระยะเวลา 1 กิโลเมตรเพื่อไปขุดมันสำปะหลัง ตอนบ่ายแก่ๆก็จะเข็นรถเข็นกลับมาบ้านพร้อมกับกระสอบมันสำปะหลัง  ซึ่งสิ่งที่พระวันวิวาห์ภูมิใจในครอบครัวอย่างหนึ่งคือด้วยความขยันขันแข็ง ของคนในครอบครัวทุกวันนี้จึงมีที่ดินเป็นของตัวเอง จากเดิมที่อาศัยที่ดินว่างเปล่าของคนในหมู่บ้านทำไร่ที่ดินก็ต้องขออาศัยชาว บ้านอยู่

…………นอก จากนี้พ่อแม่จะสอนท่านกับน้องชายเสมอว่าให้รักใคร่สามัคคีปรองดองกัน เพราะไม่มีญาติพี่น้องที่ไหน และที่ห้ามมาเสมอเลยคือไม่ให้เอาเพลงชาติไทยมาล้อเล่น ไม่ให้มีเรื่องชกต่อยกับใคร เวลาเกิดเรื่องพ่อแม่จะเสียใจมากแม้บางครั้งไม่ได้เป็นฝ่ายผิดก็ยังไปขอโทษ พ่อแม่คนที่มีเรื่องด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่า เรามาอาศัยประเทศท่านอยู่อย่าให้ท่านเดือดร้อน
…………“สงสาร พ่อกับแม่มากเวลาที่อาตมาพูดถึงเรื่องการเป็นพลเมืองไทยจะได้ยินท่านพูดปลอบ เราสองพี่น้องเสมอว่าเดี๋ยวเราก็จะได้แล้ว  รอไปก่อนอีกไม่นานหรอกกี่ครั้งกี่ปีก็จะได้ยินแต่แบบนี้เรื่องนี้เป็นสิ่ง ที่ท่านหวังและรอคอยมาตลอด  ท่านจะหวาดระแวงมากกับการเป็นพลเมืองชั้น 2  ของสังคมไทย ขนาดเวลาอาตมาส่งบัตรถวายพระพรไปให้ท่านเขียนส่งถึงในหลวงท่านก็จะถามว่าจะ ไม่เป็นอะไรเหรอจะมีผลกระทบอะไรมั้ยแม่ก็บอกว่าแม่พูดไทยไม่ได้นะเขียนก็ไม่ ค่อยได้  วันที่อาตมาลูกชายคนนี้ของแม่อุปสมบทเป็นพระแม่ก็ไม่สามารถมางานบวชได้ แม่บอกว่ากลัวเวลาโดนตรวจแล้วจะไม่ผ่าน” ถ้อยคำถึงผู้เป็นแม่ของพระวันวิวาห์


“แล้วมาตรา 23 ก็น้ำมันหมดที่นครพนม”

…………หลัง จากมาโพสต์ที่เวบบอร์ด www.archanwell.org “สถานการณ์มาตรา 23 ที่นครพนม” ว่าทาง อ.เมืองนครพนมขานรับ มาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4 พ.ศ.2551 มาตรา 23ฯ เป็นอย่างดี ในวันจันทร์ ที่ 9 มิถุนายน 2551 พระวันวิวาห์ได้กลับมาโพสต์อีกครั้งในวันพฤหัสบดี ที่ 1 มกราคม 2552 แจ้งถึงความล่าช้าในการติดตามการพิจารณาคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียน บ้านตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551  ของอำเภอเมืองนครพนม

…………หลัง จากที่ทราบว่าตนเองเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติ เป็น “คนไทยตามมาตรา 23” พระวันวิวาห์ จึงได้ไปได้ยื่นคำขอฯ โดยเป็นคนแรกของอำเภอเมืองนครพนม ในขณะที่น้องชายเป็นคนที่สอง โดยไปติดต่อขอยื่นคำร้องฯตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 2 มิถุนายน 2551 จนปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้า

…………สำหรับ พระวันวิวาห์แล้วขณะที่ความหวังของการเป็น“คนไทยตามมาตรา 23”ยังไม่บรรลุผลนั้น คำว่า “ลาวอพยพ”หรือ”ชนกลุ่มน้อย”หรือ”คนต่างด้าว” มันคือตราบาปสำหรับท่าน

…………“เวลา ไปกิจที่กรุงเทพฯ พระที่อยู่วัดเดียวกันที่เคยเห็นอาตมาออกทีวี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 เมื่อเวลา 19.13 ครบรอบ 1 ปี ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ มัก จะพูดกระซิบกระซาบกันว่าพระเถื่อนมาแล้ว และยิ่งวันที่เป็นข่าวเขายิ่งถามกันให้วุ่นเลยว่าพระองค์ไหนมาจากนครพนม คำว่า “พระเถื่อน” นั้นจริงๆ แล้วเป็นความหมายของพระที่ทำการอุปสมบทโดยไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่ใช่พระไม่มีสัญชาติไทยแล้วเรียกว่าพระเถื่อนทั้งๆ ที่อาตมาเองก็อุปสมบทที่วัดนั้น  โดยมีพระราชาคณะชั้นเทพเป็นพระอุปัชฌาย์เป็นเจ้าอาวาสที่วัดนั้นด้วย และพระที่ว่าอาตมาเป็นพระเถื่อนนั้นก็เป็นพระเถระทั้งนั้นเรื่องแบบนี้ไม่ น่าเกิดขึ้นเลยในหมู่พระสงฆ์”
………… ซึ่งท่านมองว่านี่คือผลร้ายของการที่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ไปไม่ทั่ว ถึงคนหลายกลุ่มในประเทศ  และการเป็น“คนไทยตามมาตรา 23” ก็เปรียบเสมือนการล้างมลทินนี้ให้ท่าน คำว่า “สัญชาติไทย” นั้นมีความสำคัญยิ่งกับทุกคนที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินนี้ ใครที่ไม่เคยถูกเรียกว่า “คนต่างด้าว” “คนลาวอพยพ” อย่างท่านย่อมไม่รู้ว่าความรู้สึกมันเลวร้ายเพียงใด สำหรับท่านแล้วมีความรู้สึกว่ามีชีวิตอยู่อย่างตายทั้งเป็น  และถึงแม้จะได้รับการอบรมบ่มนิสัยในด้านจิตภาวนามาแล้วแต่บางครั้งที่นึกถึง คำว่า  “ลาวอพยพ”  ขึ้นมาทีไรก็ทำให้รู้สึกท้อในชีวิต

…………เมื่อ ได้ทราบข่าวดีว่าท่านมีคุณสมบัติเป็น “คนไทยตามมาตรา 23”  พระวันวิวาห์เล่าว่าได้แต่รอคอยอย่างใจจดใจจ่อ ตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 2 มิถุนายน 2551 คือวันแรกที่ไปติดต่อดำเนินเรื่องยื่นคำขอฯ จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ไม่สบายใจ อยากจะไปธุดงธ์ก็ไปไม่ได้เพราะต้องรอทางอำเภอติดต่อมาแต่ก็ได้แต่รอแล้วรอ เล่า
………...“ทุกวันนี้เวลาไปไหนมาไหนเจอด่านตำรวจก็ไม่สบายใจเลยหัวใจเต้นตุบๆ ทุกทีเลยแต่เขาก็ไม่ตรวจพระหรอก”

…………เนื่อง จากพระวันวิวาห์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการเจ้าคณะตำบลในเมืองนครพนม  เขต 3(ธ) และเป็นกรรมการคุมสนามสอบนักธรรมและธรรมศึกษาที่นครพนม เป็นกรรมการตรวจข้อสอบนักธรรมและธรรมศึกษาภาคอีสาน ทำให้ต้องเดินทางนอกพื้นที่บ่อยเพราะต้องติดตามพระอาจารย์ไปกิจต่างจังหวัด บ่อยครั้งทั้งงานญาติโยมงานราชการคณะสงฆ์ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ธ) ก็ได้แจ้งว่า ทางสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเขาก็ทักท้วงมาเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของท่าน“ตอน ไปติดต่อเรื่องมาตรา 23ฯ นี้ก็ได้ยินปลัดสุพัฒตรากับเจ้าหน้าที่ในอำเภอคุยกันว่า ตัวปลัดเองก็จะย้ายแล้วในเดือนเมษายน 2552 นี้เองอาตมาเองก็หวังว่าเรื่องจะแล้วเสร็จก่อนที่ปลัดเขาจะย้ายไม่งั้นก็คง ต้องปวดหัวกันอีกยาว…” ข่าวล่าจากอำเภอเมืองนครพนม

…………โครงการ เฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch) และองค์กรเครือข่ายคือ โครงการแสวงหาองค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐ และไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายจากพระวันวิวาห์ อภิญญาโณ ต่อกรณีดังกล่าว โดยอาจมีความเป็นไปได้ว่ามีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรโดยสำนักทะเบียนอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ในการพิจารณาคำขอฯ

…………ทาง โครงการฯ และองค์กรเครือข่าย จึงส่งหนังสือความเห็นทางกฎหมาย(Legal Opinion) ถึงนายอำเภอเมืองนครพนม (ที่ ฝสร.3/2552 ลว.29 มกราคม 2552) เพื่อขอให้ทางอำเภอเมืองนครพนมดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าว พร้อมกับชี้แจงข้อหารือ ข้อกฎหมายและความเห็นทางกฎหมายต่อกรณีของพระวันวิวาห์

 

*ปัจจุบันพระวันวิวาห์ได้ลงรายการสัญชาติไทย และถ่ายบัตรประชาชนแล้ว

หมายเลขบันทึก: 463933เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท