เราจะปลูกต้นรัก…ข้ามพรมแดน (ตอนจบ )


“เรื่องที่น่าเศร้าที่สุดกับการทำงานที่นี่ของผมมาตอลด 4 ปี คือ ผมรู้ภายหลังว่าที่เจ้านายไล่ออกเหตุผลหลักๆก็คือ เขากลัวว่าเขาจะเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ผมหาวิธีทำบัตรและเข้าเรียน ตั้งแต่ที่ผมได้ปรึกษาและขออนุญาตเขาตั้งแต่ตอนนั้นที่ถูกปฏิเสธ ผมไม่นึกมาก่อนเลยว่ามันจะเป็นแบบนี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้แถมยังเลือกทำไม่ได้อีกหรือ ผมรู้สึกน้อยใจในตัวเองมา แต่ก็ยังดีที่ได้กำลังใจจากแฟนและคนที่เรารู้จักทำให้มีกำลังใจจะสู้ต่อไป แต่อย่างไรก็ตามก็หวังว่าสักวันหนึ่งผมจะสามารถทำบัตรได้ ได้เรียนหนังสือ และทางบ้านของแฟนจะยอมรับในตัวผมได้ ผมขอสัญญาเลยว่าผมจะตั้งใจทำงาน และตอบแทนพระคุณแผ่นดินไทยดั่งเช่นคนไทยคนหนึ่ง”

  ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
19 ธันวาคม 2551

“เราได้คิดว่าหากมีบัตรเราคงจะเรียนหนังสือได้และได้ทำงานที่ดีกว่านี้ ด้วยตัวผมเองก็อยากเรียนหนังสืออยู่แล้ว และที่สำคัญอยากจะทำให้พ่อ แม่ของเธอยอมรับผมได้”

บนเส้นทางรัก-จดทะเบียนสมรส 

8 ตุลาคม 2551 น. กับ ย. ตัดสินใจไปขอจดทะเบียนสมรสที่เขตบางกะปิ

ก่อนหน้านั้น น. ได้ติดต่อขอคำแนะนำกับ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ และรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร หรือ อ.แหวว เพื่อชั่งใจกับทางเลือกที่เธอมีอยู่ ณ ตอนนั้น

…เช้าวันนั้น ที่เขตบางกะปิ เจ้าหน้าที่สอบถามว่าทั้งคู่เคยเคยจดทะเบียนมาก่อนหรือไม่ จากนั้นได้ขอดูเอกสารต่างๆ  โดยเมื่อรู้ว่าฝ่ายชายไม่มีเอกสารใดๆ เจ้าหน้าที่จึงคืนบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของ น. พร้อมกับบอกว่าบอกว่ายื่นขอจดทะเบียนสมรสไม่ได้

น. จึงตัดสินใจโทรศัพท์ขอคำแนะนำจากพี่สุรพงษ์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมคุยโทรศัพท์กับพี่สุรพงษ์ และอ้างถึงหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย[1] ที่ระบุว่า ต้องมีหนังสือรับรองความโสดจากสถานทูต สุดท้ายเมื่อ น. ยืนยันตามคำแนะนำของพี่สุรพงษ์ เจ้าหน้าที่ก็ได้รับคำร้องโดยให้ฝ่ายหญิงลงชื่อในคำร้องเพียงคนเดียว

โดยหลักการแล้วกฎหมายไทยว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนสมรสนั้นคุ้มครอง มนุษย์ทุกคนโดยไม่มีการเลือกแบ่งเชื้อชาติ หรือ สัญชาติ เพราะ  “การจดทะเบียนสมรส” เป็นสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวทางกฎหมาย ทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของสามีภรรยา สิทธิในครอบครัวเป็นของมนุษย์ทุกคน

แต่ในทางปฏิบัติ เงื่อนไขที่จะต้องเผชิญโดยตลอด คือคุณสมบัติและเงื่อนไขในการจดทะเบียนสมรสได้ คือ ทั้งคู่ต้องไม่มีคู่สมรสอยู่ก่อน และไม่เป็นพี่น้องกัน ซึ่งถ้าชายหรือหญิงเป็นคนสัญชาติไทย ระบบฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎรไทยก็จะสามารถตรวจสอบได้ แต่ถ้าทั้งคู่เป็นคนต่างด้าว ระเบียบของกรมการปกครองก็จะขอให้มีพยานหลักฐานหรือเอกรับรองความเป็นโสดจาก สถานทูตที่ชายหรือหญิงต่างด้าวนั้นมีสัญชาติมาแสดง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ  แต่กรณีของคนไร้สัญชาตินั้นก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสถานทูตมารับรองความเป็น โสดให้ได้ ตามหลักกฎหมาย และ ระเบียบของกรมการปกครองก็ระบุชัดเจนว่า ให้คนต่างด้าวหาพยานหลักฐานมาแสดงว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนเช่นนั้นจริง

กรณีของ ย. นั้น ด้วยความที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆที่แสดงว่าเป็นคนสัญชาติพม่า และด้วยข้อมูลที่รู้มาว่าไม่ยอมรับ “ไทใหญ่” การไปติดต่อสถานทูตเพื่อดำเนินการดังกล่าวนั้น จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งหลายคู่ที่ข้าพเจ้าเคยได้ข่าวคราวก็มักจะถอดใจเมื่อได้รับคำชี้แจงดัง กล่าวจากเจ้าหน้าที่ ทั้งที่การพาพยานบุคคลซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุด เพราะหากไม่เป็นความจริงก็เท่ากับเป็นการแจ้งความเท็จอยู่ ไปเพื่อดำเนินการดังกล่าวดังน่าจะทำได้

และด้วยความกังวลจากเหตุที่ว่า ย. นั้น ไม่มีเอกสารใดๆเลย หากมีการฟ้องร้องคดีเพื่อเป็นบรรทัดฐานในเรื่องดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะของ ย. ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นไปตามความพร้อมของเจ้าตัวที่จะดำเนินการในเงื่อนไขใด สุดท้ายความตั้งใจที่จะฟ้องร้องเขตบางกะปิจึงถูกพับไปก่อน และ ณ วันนี้แม้ว่าทั้งคู่จะยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าต้นรักที่ทั้งคู่กำลังปลูกนั้นจะไม่เติบโตงอกงาม

บนเส้นทางสู่ความมีตัวตน-กับบทพิสูจน์ความรัก(อีกครั้ง) 

ทั้งคู่จึงมาติดตามในการทำให้ ย. ได้รับสถานะและมีเอกสารแสดงตน จากข้อเท็จจริงที่มี จะเห็นได้ว่า ย. เข้ามาเมืองไทยและทำงานรับจ้างตั้งแต่ปี 2547 แต่จน ณ ปัจจุบัน ด้วยความไม่รู้จึงไม่ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงาน ดังนั้นในอนาคตเป็นไปได้ว่าหากรัฐไทยมีนโยบายในการรับขึ้นทะเบียนแรงงาน เพิ่มเติม ย. นั้นก็สามารถจะไปขอขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อให้ได้รับการบันทึกตัวตนทางกฎหมาย ย.ก็จะไม่ประสบปัฐหาไร้รัฐ และหากสามารถผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่า ย.ก็จะไม่ไร้สัญชาติและจะสามารถทำพาสปร์ต และวีซ่าเพื่อกลับเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย

หากแต่กระบวนการทั้งหมดยังไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันรัฐไทยนั้นเปิดให้มีการต่อทะเบียนแรงงาน สำหรับแรงงานที่ขึ้นทะเบียนไว้เดิมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากคำแนะนำของ กิติวรญา รัตนมณี โครงการแสวงหาองค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐ และไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทย คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ย. จึงได้ไปสมัครเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)เขต วัฒนา เพื่อให้มีสถานะเป็นนักเรียน และย. ย่อมจะได้รับการสำรวจ และได้รับบัตร “บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน(บัตรเลข 0 )”[2] ซึ่งก็จะเป็นขั้นแรกในการทำให้ ย. มีเอกสารแสดงตน

31 ตุลาคม 2551 ย.ได้เดินทางไปสมัครเรียนที่ ศูนย์ กศน.เขตวัฒนา  แต่ ได้รับการปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า “การสมัครจำเป็นต้องมีเอกสารรับรองจากทางราชการ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” รวมถึงระบุว่าผู้สมัครจำเป็นต้อง “หาคนรับรองมาว่าคุณพักอาศัยอยู่ที่ไหน ทำงานที่ไหน มีความประพฤติเป็นเช่นไร”โดยเมื่อย.ได้ขอความช่วยเหลือจากเจ้านายให้รับรองให้แต่ก็ถูกปฏิเสธ เนื่องจากวันนั้นเป็นวันสุดท้ายในการรับสมัครเรียน ทำให้ ย.ไม่ได้สมัครเรียนในที่สุด

ดังนั้นโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐจึง ได้ส่งหนังสือความเห็นทางกฎหมายไปยัง ศูนย์กศน. เขตวัฒนาเพื่อทำความเข้าใจ และยืนยันว่าสิทธิในการศึกษาของบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคน ที่มาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวนี้ รวมถึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับรองไว้เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548  ซึ่งศูนย์กศน.เขตวัฒนา ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ผูกพันต้องเคารพและให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง (มาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญฯ) และต้องใช้อำนาจโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว (มาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญฯ) ตลอดจนต้องเคารพต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยผูกพันเป็นภาคีซึ่งได้รับรอง สิทธิดังกล่าว[3]

หนทางจากนี้ของทั้งคู่ จึงต้องรอติดตามความคืบหน้าดังกล่าว พร้อมกับบททดสอบความรักที่ตามมา

ล่าสุด ในอีกไม่กี่วันที่จะขึ้นปีใหม่  ย. ได้ถูกไล่ออกจากงาน ด้วยเหตุผลจากความผิดพลาดเรื่องงานบ่อยครั้ง นอกจากนั้นเหตุผลอีกประการที่ไม่ได้มีการเอ่ยถึงคือการที่ทั้งคู่ได้ติดต่อ สอบถามและขอคำแนะนำจากที่ต่างๆเรื่องการขอสถานะของ ย . ซึ่งทำให้เจ้านายไม่สบายใจและเกรงว่าจะได้รับผลกระทบตามมา

“เรื่องที่น่าเศร้าที่สุดกับการทำงานที่นี่ของผมมาตอลด 4 ปี คือ ผมรู้ภายหลังว่าที่เจ้านายไล่ออกเหตุผลหลักๆก็คือ เขากลัวว่าเขาจะเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ผมหาวิธีทำบัตรและเข้าเรียน ตั้งแต่ที่ผมได้ปรึกษาและขออนุญาตเขาตั้งแต่ตอนนั้นที่ถูกปฏิเสธ ผมไม่นึกมาก่อนเลยว่ามันจะเป็นแบบนี้  คนเราเลือกเกิดไม่ได้แถมยังเลือกทำไม่ได้อีกหรือ ผมรู้สึกน้อยใจในตัวเองมา แต่ก็ยังดีที่ได้กำลังใจจากแฟนและคนที่เรารู้จักทำให้มีกำลังใจจะสู้ต่อไป  แต่อย่างไรก็ตามก็หวังว่าสักวันหนึ่งผมจะสามารถทำบัตรได้ ได้เรียนหนังสือ และทางบ้านของแฟนจะยอมรับในตัวผมได้ ผมขอสัญญาเลยว่าผมจะตั้งใจทำงาน และตอบแทนพระคุณแผ่นดินไทยดั่งเช่นคนไทยคนหนึ่ง” ความในใจและความตั้งใจของ ย.



[1] ว 1170 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบเงื่อนไขและการจดทะเบียนสมรสของบุคคลต่างด้าว ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2543

[2] ตามยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติครม. 18 มกราคม 2548

[3] จดหมาย ความเห็นทางกฎหมาย (Legal Opinion) ต่อการดำเนินการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าศึกษาของสถาบันการศึกษา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้า เรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 ถึงผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขตวัฒนา โดยโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ วันที่ 8 ธันวาคม 2551  http://statelesswatch.wordpress.com/

หมายเลขบันทึก: 463932เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท