มาตรวจสอบ "ความเข้มแข็งในการมองโลก" ของตนเอง กันดีไหม


ในภาวะของปัญหาที่รุมล้อม การตรวจสอบความเข้มแข็งในการมองโลกของตน จะช่วยให้ท่านพิจารณาได้ว่า ตนเองมีลักษณะที่จะช่วยให้สามารถเผชิญกับปัญหาได้ดีในระดับใด

       ในภาวะปัญหาที่รุมล้อม "ความเข้มแข็งในการมองโลก"ของท่าน จะเป็นตัวทำนายว่า ท่านจะสามารถจัดการกับปัญหาได้ดีเพียงใด ผู้ที่มีความเข้มแข็งในการมองโลกมากกว่า จะสามารถจัดการกับปัญหาได้ดีกว่า ผู้ที่มีความเข้มแข็งในการมองโลกน้อยกว่า ความเข้มแข็งในการมองโลก (Sense of Coherence) เป็นแนวคิดของ แอนโทนอฟสกี้ (Antonovsky) ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยา (Sociologist) ชาวอเมริกันอิสราเอลที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเครียด สุขภาพ และสุขภาวะ  "ความเข้มแข็งในการมองโลก" หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบบวัดความเข้มแข็งในการมองโลก (Sense of Coherence Scale : SOC Scale)  ที่แอนโทนอฟสกี้สร้างขึ้น เป็นแบบวัดชนิดมาตรประมาณค่า (Rating Scale) 7 ระดับ วัดใน 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ความเข้าใจในสถานการณ์ (Comprehensivity) 2) การให้ความหมาย (Meaningfulness) และ 3) ความสามารถในการจัดการ (Manageability) มีจำนวน 29 ข้อ (Mlonzi & Strumpfer.2011 : Online)   

  

                (ขอบคุณภาพและข้อความจาก Internet)

         ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนา ที่จะเขียนบันทึกนี้ให้เป็นเชิงวิชาการ แต่ก็จำเป็นต้องเสนอข้อมูลเชิงวิชาการไว้บ้าง ตัวอย่างข้อมูลวิจัยในประเทศไทยที่น่าสนใจ คือ สุทธาทิพย์ วรรณกุล (2550) มหาบัณฑิตสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาพบว่า ความเข้มแข็งในการมองโลก มีความสัมพันธ์กับการปรับตัวของนักศึกษา นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พักอาศัยอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย มีความเข้มแข็งในการมองโลกเฉลี่ยในระดับปานกลาง มีเพียงร้อยละ 0.5 ที่มีความเข้มแข็งในการมองโลกในระดับสูง และร้อยละ 1.7 มีความเข้มแข็งในการมองโลกในระดับต่ำ  นักศึกษาเพศชายมีความเข้มแข็งในการมองโลกมากกว่าเพศหญิง แต่นักศึกษาที่เรียนในชั้นปีต่างกันมีความเข้มแข็งในการมองโลกไม่ต่างกัน (แสดงว่าประสบการณ์ในมหาวิทยาลัย ไม่ได้ส่งเสริมความเข้มแข็งในการมองโลกให้กับนักศึกษา - ผู้เขียน)

          จุดประสงค์หลักในการเขียนบันทึกเรื่องนี้ คือ ต้องการเชิญชวนให้กัลยาณมิตรตรวจสอบ "ระดับความเข้มแข็งในการมองโลก" ของตนเอง โดยการทำแบบวัดข้างล่าง ซึ่งผู้เขียนได้ประยุกต์มาจากแบบวัดความเข้มแข็งในการมองโลก ในงานวิจัยของ สุวรรณา ก่อสุวรรณวงศ์ (2550) มหาบัณฑิตสาขาวิจัยและสถิติการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งได้สร้างแบบวัดไว้จำนวน 36 ข้อ ผู้เขียนได้ตัดข้อที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กันออก นำข้อที่เลือกไว้ไปปรับสำนวนภาษาให้กระชับขึ้น และจัดเรียงลำดับข้อใหม่เพื่อให้แต่ละข้อมีเนื้อหาเชื่อมโยงกัน เมื่อกัลยาณมิตรทำแบบทดสอบเสร็จ ให้รวมคะแนนทั้ง 20 ข้อ และแปลความหมายของคะแนนที่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ถ้าท่านใดมีผลการวัดที่แปลความหมายได้ว่า ท่านมี "ความเข้มแข็งในการมองโลก" ในระดับปานกลางลงไป ก็ควรหาทางปรับระดับความเข้มแข็งในการมองโลกของท่านให้สูงขึ้น โดยการย้อนกลับไปดูว่า รายการในข้อใดที่ท่านได้คะแนนต่ำ ถ้าเป็นรายการที่เกี่ยวกับความคิด ความเชื่อ หรือ มุมมองก็ลองปรับความคิด ความเชื่อ หรือมุมมองในรายการนั้นๆ (โปรดอ่านข้อคิดท้ายบันทึก ให้อ่านหลังจากที่ท่านได้ทำแบบวัดและแปลความหมายของคะแนนเสร็จแล้ว เพราะการอ่านก่อนอาจส่งผลต่อการตอบของท่าน ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการตอบได้)

แบบวัดความเข้มแข็งในการมองโลก

คำชี้แจง : ในแต่ละรายการ โปรดเขียนวงกลมรอบเลข 1, 2, 3, 4, 5 ที่ตรงกับระดับความเป็นจริงของท่าน ตัวเลขแต่ละตัวมีความหมายดังนี้             1 = จริงน้อยที่สุด, 2 = จริงน้อย, 3 = จริงปานกลาง, 4 = จริงมาก, 5 จริงมากที่สุด

                           

   1. ข้าพเจ้าบอกได้ถึงอารมณ์ของตนเอง ที่เกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่ง..........1........2........3........4........5

2. ข้าพเจ้าบอกได้ว่า อารมณ์ของตนมีสาเหตุมาจากอะไร..............1....2....3....4....5
3. ข้าพเจ้าบอกได้ว่า  ทำไมตนเองจึงเป็นอย่างที่เป็นอยู่................1....2....3....4....5
4. ข้าพเจ้าพร้อมที่จะทำความเข้าใจ กับทุกสถานการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต...1....2....3....4....5
5. ข้าพเจ้าเชื่อว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า มีสาเหตุที่อธิบายได้...1....2....3....4....5
6. เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ข้าพเจ้าจะปรับตัวเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ......1....2....3....4....5
7. ข้าพเจ้าบอกกับตัวเองเสมอว่า “เราต้องผ่านพ้นอุปสรรคทุกอย่างไปได้”....1....2....3....4....5
8. เมื่อเกิดปัญหา  ข้าพเจ้าสามารถเผชิญกับปัญหาได้อย่างมีสติ...........1....2....3....4....5
9. ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า  ทุกปัญหาต้องมีทางแก้........................1....2....3....4....5
10.  เมื่อมีเรื่องทุกข์ใจ  ข้าพเจ้าจะหาวิธีการแก้ไขหลายๆ  วิธี.............1....2....3....4....5
11.  เมื่อจะทำสิ่งใดก็ตาม  ข้าพเจ้ามีความมั่นใจว่า ตนเองจะทำได้สำเร็จ.....1....2....3....4....5
12.  ข้าพเจ้าสามารถผ่อนคลายความเครียด เพื่อจะได้หาวิธีแก้ปัญหาต่อไป....1....2....3....4....5
13.  ข้าพเจ้าเห็นว่า การจัดการกับปัญหาหนึ่งๆ ให้สำเร็จ เป็นเรื่องที่ท้าทาย....1....2....3....4....5
14.  ข้าพเจ้าเห็นว่า ผลของการทุ่มเทในการแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่คุ้มค่า..........1....2....3....4....5
15.  เมื่อมีปัญหา  ข้าพเจ้าจะสามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ด้วยดีเสมอ........1....2....3....4....5
16.  ข้าพเจ้ามองว่า  ความผิดพลาดที่ผ่านมา เป็นบทเรียนที่มีค่าอย่างยิ่ง.....1....2....3....4....5
17.  ข้าพเจ้าเห็นว่า  การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน จะช่วยพัฒนาความคิดได้.......1....2....3....4....5
18.  ข้าพเจ้ามองว่า ปัญหาทุกปัญหา ให้ประสบการณ์กับชีวิต.....1....2....3....4....5
19.  ข้าพเจ้ารู้สึกว่า มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิตของตนมากมาย.......1....2....3....4....5
20.  ข้าพเจ้ามองว่า ชีวิตของตนเองมีคุณค่าและมีความหมาย.....1....2....3....4....5

 เมื่อทำแบบวัดเสร็จ ให้รวมคะแนนทั้ง 20 ข้อแล้วแปลความหมายของคะแนนที่ได้ ตามเกณฑ์ข้างล่าง

               ได้ 81 - 100 คะแนน แสดงว่า ท่านมีความเข้มแข็งในการมองโลก ในระดับ  มากที่สุด

               ได้ 61 - 80   คะแนน แสดงว่า ท่านมีความเข้มแข็งในการมองโลก ในระดับ  มาก

               ได้ 41 - 60   คะแนน แสดงว่า ท่านมีความเข้มแข็งในการมองโลก ในระดับ  ปานกลาง

               ได้ 21 - 40   คะแนน แสดงว่า ท่านมีความเข้มแข็งในการมองโลก ในระดับ  น้อย 

               ได้  0 - 20   คะแนน แสดงว่า ท่านมีความเข้มแข็งในการมองโลก ในระดับ  น้อยที่สุด

    ประกาศจากเรือนจำกลาง......... (คลายเครียด)

  (ขอบคุณภาพจาก Internet)

     ขอให้นักโทษที่หลบหนี ขณะอพยพย้ายที่คุมขังจากเหตุน้ำท่วมเรือนจำ

           กลับไปรายงานตัวกับเจ้าพนักงานภายใน 16.00 น. วันนี้

                  ผู้ที่ไม่ไปรายงานตัวตามเวลาที่กำหนด จะถือว่าสละสิทธิ์...(ฮา...)

 

  ข้อคิดสำหรับผู้ที่ได้คะแนนความเข้มแข็งในการมองโลกในระดับปานกลางลงมา

           1) What matters most is how you see yourself?

                สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ภาพที่คุณมองตนเอง (คุณมองตนเองเป็นแมว หรือเป็นราชสีห์)

           2) Belive in yourself and all that you are. Know that there is somthing inside you that is greater than any obstacle.

               จงเชื่อในตัวคุณเองและทุกสิ่งที่คุณเป็น และขอให้รู้ไว้ด้วยว่า ในตัวคุณ มีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ภายนอก 

                                        

       บรรณานุกรม                 

วิไล แพงศรี. (2552). การศึกษาตัวแปรทางจิตวิทยาในงานวิจัยทางการศึกษา. อุบลราชธานี : คณะ

           ครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

สุทธาทิพย์ วรรณกุล. (2550). ความเข้มแข็งในการมองโลกและการปรับตัวของนักศึกษาที่พักอาศัย          

             ในหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระ วท.ม. (จิตวิทยาการปรึกษา).

           เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สุวรรณา  ก่อสุวรรณวงศ์. (2550). ปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อความเข้มแข็งในการมองโลกของนักเรียน

             ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4  โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีเขต 2      จังหวัด

             นนทบุรี. วิทยานิพนธ์ กศ.ม. (วิจัยและสถิติการศึกษา). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย

           มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

Mlonzi, Ezra N. and Strumpfer, D.J. W. (2011).  Antonovsky's  Sense of Coherence Scale

            and 16PF Second-Order Factors. Retrieved October 6, 2011 from  http://findarticles

          .com/p/articles/mi_qa3852/is_199801/ai_n8800634/.

Wikipedea. (2011). Aaron Antonovsky. Retrieved October 6, 2011 from  http://en.wikipedia.org/

          wiki/Aaron_Antonovsky.  

หมายเลขบันทึก: 463926เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

-ผมรวมคะแนนของตนเองได้ 96 คะแนนครับ

-อ่านประกาศจากเรือนจำแล้ว ฮามากๆ เลยครับ คิคิคิ....เข้าใจคิดจังเลยเน๊าะ

  •  โอ้โห! ได้คะแนนเกือบเต็มเลยนะคะ "คุณอักขณิชIco48" จริงๆ แล้วก็ไม่น่าแปลกใจ ที่คนแบบคุณอักขณิชจะได้คะแนนสูงในแบบวัดนี้ ยินดีด้วยนะคะ และก็ยินดีกับครอบครัวของคุณอักขณิช ที่มีผู้นำครอบครัวที่มีพื้นฐานที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา (ที่อาจจะมีเป็นธรรมดาของการดำเนินชีวิต) ได้ดี
  • จริงๆ แล้วช่วงนี้งานยุ่งมาก แต่คิดว่าช่วงที่เดินทางไปปักกิ่ง จะห่างหายความสัมพันธ์กับกัลยาณมิตร ก็เลยหาทางเพิ่มบันทึก เพื่อเป็นสื่อกลางสร้างสัมพันธ์ในช่วงที่ไม่อยู่ค่ะ
  • เรื่อง "ประกาศจากเรือนจำ" ไม่ได้คิดเองหรอกค่ะ เคยอ่านนานมากแล้ว วันนี้ดูข่าวน้ำท่วมเรือนจำและมีการเคลื่อนย้ายนักโทษ จึงนึกขึ้นมาได้ เลยนำมาดัดแปลงฝากกัลยาณมิตรเผื่อจะคลายเครียดได้บ้าง ดีใจค่ะที่คุณอักขณิชอ่านแล้วฮา
  • ขอบคุณนะคะที่มาให้กำลังใจเป็นท่านแรกเลย 

 

  • ขอบคุณ "อ.นุIco64" และลูกสาวค่ะ ที่แวะมาให้กำลังใจ นครนายกไม่มีข่าวน้ำท่วม คงไม่มีอุทกภัยนะคะ
  • หลังจากตื่นตาตื่นใจกับวีดิทัศน์ชีวิตจั๊กจั่นอันน่าทึ่งของฝากจากคุณอักขณิชแล้ว สาวน้อยในอ้อมกอดของ อ.นุ ได้ตื่นตาตื่นใจกับอะไรอีกไหมน้า

แมวที่เห็นตัวเองเป็นราชสีห์ น่ากลัวกว่าแมวที่เห็นตัวเองว่าเป็นแมว (ในแง่คิดเชิงปรัชญาของคนตะวันออก)

ชอบนักโทษคนนี้จัง เข้าใจว่าจะรักษาสิทธิ์ของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น

  • ขอบคุณ "คุณสามารถ เศรษฐวิทยาIco48" มากนะคะ ที่อุตส่าห์ตามมาให้ข้อมูลที่ได้เรียนถามไว้
  • กำหนดการจัดงาน 3-11 ธ.ค. 54 แสดงว่าภาพที่ลงเป็นของปีก่อนซีคะ

 

  • ที่ "คุณสันติสุข สันติศาสนสุขIco48"  (ชอบนามสกุลที่มีชื่อเป็นส่วนประกอบ และความหมายก็ดีด้วย) บอกว่า แมวที่เห็นตัวเองเป็นราชสีห์ น่ากลัวกว่าแมวที่เห็นตัวเองว่าเป็นแมว (ในแง่คิดเชิงปรัชญาของคนตะวันออก) ก็ขอเสริมว่า ในด้านการสร้างมนุษยสัมพันธ์นั้น การเป็นคนถ่อมตน จะเป็นบุคลิกภาพที่เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็น มากกว่าบุคลิกภาพที่อวดตัวว่าเป็นคนเก่ง
  • แต่ในด้านการทำงานหรือการแก้ปัญหานั้น มีคำคมว่า "ท่านทำได้ ถ้าท่านคิดว่าท่านสามารถทำได้" ซึ่งก็มีผลวิจัยสนับสนุนว่า "ความเชื่อในความสามารถของตน (Self-efficacy Belief)" เป็นปัจจัยสำคัญของการทำอะไรๆ ให้สำเร็จ
  • ก็คงจะต้องเลือกเป็นให้เหมาะกับกาลเทศะ จริงไหมคะ
  • คุณสามารถนี่ก็มีอารมณ์ขัน (Sense of Humour) ไม่เบานะคะ ที่บอกว่า "ชอบนักโทษคนนี้จัง เข้าใจว่าจะรักษาสิทธิ์ของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น" ขอบคุณนะคะที่ทำให้ได้หัวเราะอีกรอบ
  • และขอบคุณที่มาให้กำลังใจในบันทึกนี้ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์คะ ที่นำแบบทดสอบน่าสนใจ ให้ได้พิจารณาตนไปด้วย

คะแนน 80 (หลังจากแอบเข้าข้างตัวเองหน่อยนึงแล้ว :-)

ข้อที่ให้ตัวเองเต็มคือ 13, 16,17,18

ข้อที่ให้ตัวเองต่ำ คือ 2,8,11,12 คะ

.....

ขออนุญาตแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วง 1 ปีในต่างวัฒนธรรมคะ

"การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม"

การถ่อมตน บางที เขาตีความตรงไปตรงมา ว่า "ไม่เชื่อมั่นในตนเอง" หรือความสามารถไม่ถึงที่จะทำงานนั้นได้

การให้เกียรติ จึงเป็นการแสดงออกซึ่ง การฟัง การยกย่อง ชมเชยความสามารถของผู้อื่น

....

การยกย่องผู้อื่นได้อย่างจริงใจ น่าจะมาจากความภาคภูมิในตัวเองก่อนคคะ

เมื่อเรามองตัวเองเป็นสิงห์ ก็ไม่กลัวที่จะอยู่กับสิงห์ นะคะ :-)

  • ขอบคุณ "คุณครูกิติยา เตชะวรรณวุฒิIco24" ค่ะ ที่แวะมาให้กำลังใจ
  • ช่วงนี้คงปิดภาคเรียนแล้วนะคะ
  • เข้าใจว่า คุณครูคงต้องรับผิดชอบงาน "ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน" ด้วย (งานดังกล่าว เป็นหน้าที่รับผิดชอบของครูทุกคนในโรงเรียนใช่ไหมคะ) แบบวัดในบันทึกนี้ สามารถนำไปใช้ได้ในขั้นตอนของการรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อคัดกรองนักเรียนกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มปัญหา และกลุ่มพิเศษ นะคะ  
  • นึกว่า บันทึกนี้จะไม่ได้รับความสนใจจาก "อาจารย์หมอ ป.Ico48" เสียแล้วซีคะ
  • แต่แล้วก็ได้รับกำลังใจจากอาจารย์หมอเช่นเคย ขอบคุณจริงๆ ค่ะ ที่มาให้กำลังใจและยังให้เกียรติร่วมทำแบบวัดด้วย แถมยังให้ข้อมูลข้อที่ได้คะแนนเต็มและข้อที่ได้คะแนนต่ำไว้ด้วย ข้อมูลในลักษณะนี้ มีความสำคัญมากค่ะ ในทางสถิตินั้น ค่อนข้างจะเน้นไปที่ค่าเฉลี่ย (Mean) แต่ค่าเฉลี่ยจะให้ภาพไม่ชัดเท่ากับการวิเคราะห์ว่า ข้อไหน/ด้านไหนที่ตนเอง (หรือนักเรียนนักศึกษา : กรณีที่ครูอาจารย์นำไปวัดนักเรียนนักศึกษา) ได้คะแนนสูง/ต่ำ เพราะสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนา "ความเข้มแข็งในการมองโลก" ของตนเองหรือของนักเรียนนักศึกษาได้ตรงจุดมากกว่า
  • อย่างกรณีของอาจารย์หมอ ข้อที่อาจารย์หมอให้คะแนนตนเองเต็ม คือ ข้อ 13, 16, 17, 18 ข้อ 13 จัดอยู่ในด้านความสามารถในการจัดการ ส่วนข้อ 16, 17, 18 จัดอยู่ในด้านการให้ความหมาย (Meaningfulness) จึงพอจะอุปมาน (Induce) ได้ว่า อาจารย์หมอมีความเข้มแข็งในการมองโลกสูงในด้านการให้ความหมาย และข้อที่อาจารย์หมอให้คะแนนตนเองต่ำ คือ ข้อ 2, 8, 11, 12 ข้อ 2 จัดอยู่ในด้านความเข้าใจในสถานการณ์ (Comprehensivity)  ส่วนข้อ 8, 11, และ 12 จัดอยู่ในด้านความสามารถในการจัดการ (Manageability)  จึงพอจะพิจารณาได้ว่า ถ้าต้องการเพิ่มระดับความเข้มแข็งในการมองโลก อาจารย์หมอควรหาทางเพิ่มความสามารถด้านการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการตั้งสติเวลาเผชิญปัญหา และการหาทางผ่อนคลายความเครียดอันจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ปัญญาในการคิดหาทางออกของปัญหา (นี่ถ้านำข้อมูลด้านบุคลิกภาพที่อาจารย์หมอเคยให้ไว้ในบันทึกของอาจารย์หมอเองว่า ตนเป็นคนประเภท "ภูเขาไฟหิมะ" ละก็ แสดงให้เห็นชัดเลยนะคะว่า การให้คะแนนตนเองของอาจารย์หมอ มีความตรงตามสภาพ (Cocurrent Validity)
  • รู้สึกว่า ด้านที่เราให้คะแนนตนเองสูงและต่ำจะตรงกันค่ะ อาจารย์หมอ
  • การที่อาจารย์หมอ ได้ "แบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วง 1 ปีในต่างวัฒนธรรม" เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากค่ะ ดิฉันเองต้องการ (แบบ "Need" ค่ะ ไม่ใช่แบบ "Want") การแลกเปลี่ยนความคิดเป็นอย่างมากในทุกบันทึก ค่ะ และมองว่า ความคิดที่สอดคล้องกัน ทำให้เรามั่นใจในความคิดของตนเพิ่มขึ้น และความคิดที่แตกต่าง ก็ทำให้เราได้มุมมองที่กว้างขึ้น จึงเป็นความคิดที่มีคุณค่าทั้งสองประเภท และต้องการการแลกเปลี่ยนความคิดทั้งสองแนวค่ะ
  • สำหรับข้ออคิดที่อาจารย์หมอแบ่งปันในบันทึกนี้ จากประสบการณ์การทำงานในวัฒนธรรมตะวันตก คือ "ในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมนั้น การถ่อมตน บางที เขาตีความตรงไปตรงมา ว่า "ไม่เชื่อมั่นในตนเอง" หรือความสามารถไม่ถึงที่จะทำงานนั้นได้ การให้เกียรติ จึงเป็นการแสดงออกซึ่ง การฟัง การยกย่องชมเชยความสามารถของผู้อื่น การยกย่องผู้อื่นได้อย่างจริงใจ น่าจะมาจากความภาคภูมิในตัวเองก่อนคะ เมื่อเรามองตัวเองเป็นสิงห์ ก็ไม่กลัวที่จะอยู่กับสิงห์" เป็นแง่คิดที่น่านำไปพิจารณาในบริบทการทำงานเป็นทีมในสังคมไทยมากเลยค่ะ 
  • อาจจะมีกัลยาณมิตรบางท่านที่มีมุมมองว่า "การปฏิบัติในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ไม่สามารถนำมาใช้ในวัฒนธรรมไทยได้"  แต่ก็อยากจะฝากมุมมอง "Know global, act local : รู้ในความรู้ที่เป็นสากล แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของท้องถิ่นของตน" ให้พิจารณาด้วยนะคะ 
  • ขอขอบคุณอาจารย์หมออีกครั้งค่ะ ที่กรุณามาเติมพลังใจและพลังปัญญา ก่อนที่ดิฉันจะเดินทางไปดูงานที่ปักกิ่งกับคณะครุศาสตร์ มรภ.อุบลฯ 10-16 ต.ค. 54 นี้ค่ะ (บันทึกนี้เกิดขึ้นปุบปับแบบไม่มีแผนล่วงหน้า... บันทึกไว้ด้วยเจตนาให้เป็น "สื่อสัมพันธ์กับกัลยาณมิตรา เมื่อถึงคราห่างไกลกัน" ค่ะ) 

ขอบคุณคะอาจารย์ ได้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง

ขอให้เดินทางไปดูงานปักกิ่งโดยปลอดภัยนะคะ :-D

  • ขอบคุณ "อาจารย์หมอ ป.Ico48" ค่ะ ที่อวยพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ กำลังใช้ "hotmail" ค่ะ  จะปิดเครื่องอยู่แล้วพอดีเห็น e.mail แจ้งว่าได้รับความเห็นจากอาจารย์หมอค่ะ
  • เครื่องจากอุบลฯ ออก 10 ต.ค. 09.00 น. นัดทานข้าวกับลูกๆ มื้อเย็นพรุ่งนี้ ลูกชายส่งข้อมูลร้านให้เลือก 2 ร้านเลือกร้านที่มี Slogan ว่า "กินปู ดูเรือบินค่ะ" อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ จะพักค้างคืนที่กทม. 1 คืนค่ะ ส่วน "Flight" ไปปักกิ่ง ออก 11 ต.ค. 06.00 น. ค่ะ  
  • กลับมาจากจากเซี้ยงไฮ่ เอ้ยปักกิ่งหรือยังครับอาจารย์แม่
  • ไม่ได้ทำแบบทดสอบ
  • กลัวได้คะแนนมาก
  • ไปที่วังน้ำเขียวมาสนุกมากๆๆ
  • เอามาฝากด้วยครับ
  • http://www.gotoknow.org/blogs/posts/464351
  • "ลูกขจิตIco48" คะ (อาจารย์แม่ว่าความเข้มของภาพประจำตัวน้อยไปนะคะ อาจารย์แม่เริ่มหูตาฝ้าฟาง มองไม่ชัดค่ะ) อาจารย์แม่เพิ่งกลับจากปักกิ่ง ถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเช้านี้ประมาณตี 2 ค่ะ และจะกลับอุบลฯ วันนี้้รถด่วนสองทุ่มครึ่งค่ะ
  • นัดทานข้าวเที่ยงกับลูก ลูกชายกำลังจะมารับค่ะ แต่ลูกสาวไปช่วยทำกระสอบทรายที่รังสิตเลยไม่ได้เจอกันค่ะ ทานข้าวแล้วว่าจะให้ลูกพาไปสวนสิริกิติ์ค่ะ
  • อาจารย์แม่ยังไม่ได้ดูกิจกรรมที่วังน้ำเขียว เพราะลูกจะมารับแล้วค่ะ พรุ่งนี้ถึงจะดูหลังจากกลับถึงอุบลฯ แล้ว ขอบคุณมากนะคะที่นำมาฝาก 
  • ลูกขจิตก็ยังทำงานหนักเหมือนเดิมนะคะ แต่ที่บอกว่า "สนุกมาก" ก็คงไม่เหนื่อย
  • "ลูกขจิตIco48" คะ อาจารย์แม่ตามไปดู "กิจกรรมที่วังน้ำเขียว" แล้ว ชอบผักลุงไกรมาก ถ้าได้ไปด้วยจะซื้อทุกอย่างเลย เพราะเป็นผักเมืองหนาวที่ฟาร์มไอดินฯ ปลูกไม่ได้ และอาจารย์แม่ก็ซื้อกินเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "แคร็อท" ไม่ได้เอาไปผัด ไปทำสลัดอะไรหรอกนะคะ แต่เอาไปตำผสมมะละกอ ทำให้สีสันน่าทานขึ้น และรสชาติก็กรอบอร่อยขึ้นด้วยค่ะ (ตอนอยู่ออสเตรเลีย ใช้ตำแทนมะละกอที่หาได้ยากมาก และแพงมาก)
  • อาจารย์แม่จะเข้าไปคุยต่อในบันทึกของลูกขจิตนะคะ

สวัสดีค่ะIco48  ท่านผศ.สบายดีนะคะ...ถ้าทำแบบทดสอบก่อนหน้านี้คะแนนคงไม่เต็มทุกข้อ...เพราะตอนนี้ผ่านพ้นการจัดการกับปัญหาและอุปสรรคมาแล้วมากมายอย่างมีประสิทธิภาพ ...ความเข้มแข็งในการมองโลก น่าจะมีความสัมพันธ์กับอายุของผู้ตอบด้วยนะคะ

  • กลับมาทักทายอาจารย์แม่
  • นึกว่าอาจารย์แม่ไม่ชอบแครอท
  • จะลองหาผักผลไม้กินแบบอาจารย์แม่แนะนำ
  • ที่บ้านผมปลูกฟักข้าวครับ
  • แต่ไม่ค่อยได้กินชอบกินฟัก ฟักทองมากกว่า
  • ฟักเอามาต้มกับมะนาวดองอร่อยมาก
  • ขอให้อาจารย์แม่มีความสุขกับการทำงาน
  • วันนี้คุณสามารถเอาน้ำไปช่วยคนถูกน้ำท่วม เย็นๆๆคงมาส่งข่าวว่าเป็นอย่างไรบ้าง
  • คาดว่าจะได้ไปอยุธยาครับ

 

  • สวัสดีค่ะ ดีใจมากที่กลับจากไปทดสอบสมรรภาพทางใจ/กายกับการปีนกำแพงเมืองจีนแล้ว ได้เห็นหน้า "ดร.พจนา แย้มนัยนาIco48" กัลยาณมิตรที่รู้สึกคุ้นเคยและรักใคร่ (ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องแปลกไหมนะคะ ที่ดิฉันจะมีความรู้สึกกับกัลยาณมิตรในสังคม G2K เป็นความรู้สึกเฉพาะไปในแต่ละท่าน)
  • ที่ ดร.นัยนา บอกว่า "ถ้าทำแบบทดสอบก่อนหน้านี้คะแนนคงไม่เต็มทุกข้อ...เพราะตอนนี้ผ่านพ้นการจัดการกับปัญหาและอุปสรรคมาแล้วมากมายอย่างมีประสิทธิภาพ" ก็แสดงว่าได้เต็มทุกข้อซีคะ เยี่ยมจริงๆ
  • และที่ ดร.นัยนา บอกว่า "ความเข้มแข็งในการมองโลก น่าจะมีความสัมพันธ์กับอายุของผู้ตอบ" ก็คงจะจริงค่ะ แต่ก็น่าจะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เป็นต้นว่า "ประสบการณ์ในการแก้ปัญหา" และ "ความสำเร็จในการจัดการกับปัญหา" เพราะถ้าอายุมากแต่ชีวิตโรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่มีปัญหามาให้แก้ หรือมีปัญหามาให้แก้แต่ก็แก้ได้ไม่ลุล่วง ก็คงไม่ได้ทำให้เป็นคนที่มีความเข้มแข็งในการมองโลกขึ้นมาได้มากนัก อย่างกรณีของดร.นัยนา การที่ได้ "ผ่านพ้นการจัดการกับปัญหาและอุปสรรคมาแล้วมากมาย (ประสบการณ์) อย่างมีประสิทธิภาพ (ความสำเร็จ)" ก็ถือเป็นปัจจัยด้านประสบการณ์และความสำเร็จในการแก้ปัญหา ที่ส่งผลให้มีความเข้มแข็งในการมองโลกเต็มเปี่ยม
  • ดิฉันเองวัยก็สูง ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาก็มีมากมาย แต่มีหลายเรื่องที่แก้ปัญหาได้ไม่เป็นที่พอใจ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ได้คะแนนไม่เต็มในหลายข้อค่ะ
  • ขอบคุณมากนะคะ ที่ชี้ประเด็นให้ได้ขบคิดต่อยอดเป็นการประเทืองปัญญาค่ะ    
  • อ้อ! "ลูกขจิตIco48" ก็ปลูกฟักข้าวเหมือนกันเหรอ เกือบ "เอาฟักข้าวไปแจกชาวสวน" แล้วไหมล่ะ
  • ดีใจที่ลูกขจิตบอกจะหาผักผลไม้กินตามที่อาจารย์แม่แนะนำ นอกจากเป็นความรู้ที่ผู้รู้แนะนำไว้ ยังเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วยนะคะ อาจารย์แม่กินผักมากกว่าพี่ๆ น้องๆ มาตั้งแต่เด็กๆ เลยไม่ป่วยบ่อยเหมือนพี่ๆ น้องๆ และเวลาเป็นอะไรก็ไม่ค่อยต้องกินยา/หาหมอ และหายเร็ว พ่อใหญ่สอยังพูดเลยว่า "ดีนะ แกป่วยทีก็หายได้เองและหายเร็วเสียด้วย"
  • ปัญหาน้ำท่วมวิกฤติจริงๆ และไม่รู้จะรุนแรงขึ้นไปอีกแค่ไหน จะขยายวงกว้างไปอีกเท่าไหร่ ตอนอาจารย์แม่กลับถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เห็นตู้รับบริจาคช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมก็ได้บริจาคไปตามที่มีเงินอยู่ในกระเป๋า พ่อใหญ่สอก็บอกอยากซื้อสิ่งของไปบริจาคชาววารินที่ประสบอุทกภัย เป็นการส่วนตัว แต่อาจารย์แม่บอกให้บริจาคเป็นเงินให้กับส่วนกลางที่เขาทำหน้าช่วยเหลืออยู่น่าจะดีกว่า เพราะถ้าเราซื้อเป็นของก็ไม่ทราบว่าจะตรงกับความต้องการไหม และเวลานำไปบริจาคเองก็กลัวมีปัญหาการจัดการ จะมอบกับใคร และถ้ามีคนต้องการมากกว่าของที่มีให้ก็จะไม่เหมาะที่จะให้ไม่ทั่วถึง
  • เมื่อวานอาจารย์แม่โทร.ติดต่อลูกไม่ได้ทั้งสองคน เข้าไปดูในเฟสบุ๊คถึงรู้ว่าลูกทั้งสองพากันไปช่วยทำกระสอบทรายอยู่ที่รังสิตคลอง 6 ส่วนลูกเอ๋ไปทำมาก่อนแล้วด้วย ถ้าอาจารย์แม่อยู่ในกทม.ก็คงไปช่วยด้วย
  • ฝากชื่นชมจิตอาสาของคุณสามารถด้วยนะคะ และที่ลูกขจิตจะไปช่วยด้วยก็อย่าลืมดูแลความปลอดภัยของตนเองด้วย อาจารย์แม่เป็นห่วง แล้วที่มีอาการไม่สบายตอนจัดค่ายน่ะ หายเป็นปกติแล้วเหรอคะ
  • ขอบคุณที่อาจารย์แม่เป็นห่วง
  • หายดีแล้วครับ
  • ตอนนี้รอฟังข่าวจากคุณสามารถว่าเป็นอย่างไรบ้าง
  • ขอบคุณสำหรับการตรวจสอบ "ความเข้มแข็งในการมองโลก" ของตนเองนะคะ
  • ผลที่ได้ไม่น่าเชื่อว่าตนเองได้ 100 คะแนน พยายามทบทวนแล้วทบทวนอีกว่าข้อนี้น่าจะลดลง แต่ก็ปฏิเสธใจตนเองไม่ได้สักทีว่าข้อนี้ คือ ข้อที่ตัวเราเป็นจริงมากที่สุดค่ะ
  • ผลออกมาแล้วก็ทำให้ตัวเรารู้จักตัวตนของเราเองนะค่ะ
  • ขอบคุณอีกครั้งค่ะ...
  • ขอบคุณ "คุณบุษยมาสIco48" ผู้อำนวยการกองบริหารงานบุคคล (บุคลากร 8) ประเภทผู้บริหาร
    กองบริหารงานบุคคล มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) จังหวัดพิษณุโลก มากนะคะที่แวะมาให้กำลังใจและร่วมทำแบบตรวจสอบ "ความเข้มแข็งในการมองโลก" ของตน
  • ในการทำแบบวัดที่ให้ประเมินตนเอง เวลาได้คะแนนสูงเรามักเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจว่า เราให้คะแนนตนเองสูงเกินจากที่เป็นจริงไปรึเปล่า แต่เมื่อเราได้กลับไปทบทวนดูแล้วลงความเห็นว่าเราเป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้จะได้คะแนนเต็ม ก็ต้องยอมรับล่ะค่ะ ว่าเราสมควรได้คะแนนเต็มจริงๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท