เราจะปลูกต้นรัก…ข้ามพรมแดน (ตอน 1 )


“เขาเป็นคนดี รักจริง ขยันทำงาน ถึงเงินเดือนจะไม่เยอะมากแต่เขาไม่มีภาระอะไร ก็น่าจะเก็บเงินกันได้ เจ้านายก็ยินดีด้วยถ้ารักกันเพราะเขาเป็นคนดี ถ้าเรารับเขาได้” น.เล่าถึงชายคนรัก คำว่า “รับได้” สำหรับ น. นั้น หมายความถึงเธอกำลังจะเริ่มต้นชีวิตคู่กับชายที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเอกสารอะไรเลย

 ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

9 ธันวาคม 2551

 

“ทำไมอยากจดทะเบียนสมรสล่ะ”ข้าพเจ้าเอ่ยถาม

“อยากทำให้ถูกต้องค่ะ อยากพาเขาไปบ้านหาพ่อแม่ อยากช่วยเขาเรื่องไม่มีบัตร แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง” เสียงจากปลายสายโทรศัพท์ ตอบกลับมาชัดเจน

น.(นามสมมติ) สาวน้อยจากเมืองเลย เป็นคู่สนทนาที่ข้าพเจ้าได้พูดคุยเรื่องราวของเธอ กับการปลูกต้นรักผ่านทางโทรศัพท์ ข้าพเจ้าอดแปลกใจไม่ได้ที่ทุกคำตอบของเธอจะฉะฉาน ชัดเจน กลายเป็นข้าพเจ้าเองที่รู้สึกเขินอายกับการพูดคุยเรื่องราวระหว่างเธอกับคน รัก

หลังจากเรียนจบ น.ก็เหมือนกับเด็กสาวหลายคนที่เดินทางมาหางานทำในเมืองใหญ่ แต่ชีวิตของเธอเริ่มจะแตกต่างจากหญิงสาวทั่วไปเมื่อ ปี 2550 หลังจากทำงานมาได้ปีกว่าๆ เธอได้รู้จักกับ ย.(นามสมมติ)ชายหนุ่มที่ทำงานอยู่บริษัทเดียวกัน ระหว่างนั้นทั้งเธอและเขาต่างก็มีแฟนกันอยู่แล้ว

และเมื่อได้รู้จักกันมาขึ้น ความแตกต่างระหว่างแฟนของน.กับย.ก็เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น

“เขาเป็นคนดี รักจริง ขยันทำงาน ถึงเงินเดือนจะไม่เยอะมากแต่เขาไม่มีภาระอะไร ก็น่าจะเก็บเงินกันได้ เจ้านายก็ยินดีด้วยถ้ารักกันเพราะเขาเป็นคนดี ถ้าเรารับเขาได้” น.เล่าถึงชายคนรัก

คำว่า “รับได้” สำหรับ น. นั้น หมายความถึงเธอกำลังจะเริ่มต้นชีวิตคู่กับชายที่ม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเอกสารอะไรเลย ซึ่ง ทำให้เธอได้หาข้อมูลต่างๆเพื่อทำความเข้าใจกับเขา และหนทางที่จะทำให้เขาได้รับบัตรประชาชน ร่วมปีแล้วที่ความพยายามของทั้งคู่ยังไม่เป็นผล แต่เมื่อราว 6 เดือนก่อนต้นรักของพวกเขาก็หยั่งรากลง น.ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกับเขาทั้งๆที่เธอก็รู้แก่ใจว่าหนทางจากนี้ยังไม่ รู้ได้ว่าจะต้องพบกับอะไรบ้าง

ชีวิตของ ย. 

ย. เป็นหนุ่มไทใหญ่ วัยยี่สิบแปดปี  เกิดที่เขตรัฐฉาน ประเทศพม่า  มีพี่น้องทั้งหมดห้าคน ย.เป็นคนที่สอง เมื่ออายุ 12 ปี ได้บวชเรียนหนังสืออยู่ที่วัดบ้านเกิด เรียนภาษาไทยใหญ่และจำพรรษาอยู่ที่วัด 2 พรรษา หลังจากนั้นได้สึกออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานรับจ้างเพราะฐานะทางบ้านยากจน

หลังจากนั้นอีกหลายปีมีข่าวว่าจะมีการสู้รบกันกับทหารไทยใหญ่และพม่า และมีทหารไทยใหญ่จะมาจับเอาผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 15  ปีขึ้นไป เอาไปเป็นทหาร ด้วยความกลัวๆว่าลูกชายจะโดนจับ พ่อแม่จึงให้ย.กลับไปบวชอีกครั้ง

เมษายน ปี 2544 ย. จึงได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับญาติทางชายแดนบริเวณหมู่บ้านบางหมู โดยทางด่านก็ขอดูใบบวชเท่านั้นแล้วก็ให้ผ่านเข้ามา ย. เข้ามาอยู่ที่หมู่บ้านห้วยเดื่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่บ้านญาติ หลังจากนั้นประมาณ 2 วัน ญาติได้พามาขอจำพรรษาที่วัดห้วยเดื่อ

หลังจากจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ได้ 1 พรรษา  ย. ได้รู้จักกับยายคนหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ โดยยายบอกว่ามีลูกเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่เชียงใหม่ และถ้าอยากไปจำพรรษาอยู่ที่นั่นยายจะติดต่อให้  หลังจากนั้นมาไม่กี่สัปดาห์ ยายแจ้งข่าวดีกับย.ว่าลูกยายจะรับ ไปจำพรรษาที่วัดแห่งนั้น

1 สัปดาห์ต่อมา ช่วงเดือนมกราคม 2545 พระจากเชียงใหม่(ลูกของยาย)ได้เอาเอารถมารับ ย. กับเพื่อนพระอีก 1 รูป มาอยู่ที่วัดพระนอน ตำบลต้นเบา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ ย.ได้รู้จักกับเพื่อนอีกหลายคน และด้วยความอยากเรียนภาษาอังกฤษ ย.และเพื่อนจึงได้ชักชวนกันมาหาเรียนที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ไม่ได้เรียน และได้ไปอยู่ที่วัดฝาง อำเภอขุนยวมแทน

น.อยู่ที่วัดฝางได้ประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นได้ย้ายไปที่วัดวังน้อยอีก 1 พรรษา และเมื่อหวนกลับมาที่วัดพระนอนแล้วเจ้าอาวาสไม่ยอมรับ จึงได้ไปอยู่ที่วัดกลางทุ่ง ตำบลทุ่งต้อม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่แทน และที่วัดแห่งนี้เองทำให้ ย. พบกับคนสำคัญที่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไป

“นานเหมือนกัน ผมได้รู้จักกับตาคนหนึ่งเขาดีกับผมมาก เขาคงเห็นผมพัฒนาตามวัดแล้วคงจะถูกใจ พออยู่มานาน ตาเขาก็บอกว่า ผมก็ไหว้เหมือนลูกเขาคนหนึ่งเช่นกัน  (ตาชื่อพ่อบุญลบ แม่ชื่อยายศรี  ชัยวงศ์ )ไม่ว่าผมจะไปไหนพ่อผมคนนี้จะไปรับไปส่งผมตลอด” คำบอกเล่าของ ย.

จนกระทั่งวันหนึ่งมีข่าวว่า จะมีการส่งกลับสามเณรไทยใหญ่ (พม่า) ที่ไม่มีเอกสารใดๆ แล้วพ่อบุญลบก็ได้ช่วยสอบถามเรื่องดังกล่าว- สุดท้ายก็ไม่มีคำตอบ พ่อบุญลบจึงได้พา ย.ไปหาคณะกรรมการวัดเพื่อไปขอความช่วยเหลือเจ้าคณะอำเภอเพื่อที่จะอยู่ที่ วัดต่อ แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเพราะท่านบอกว่า มีหนังสือมาจากเจ้าคณะจังหวัดจึงไม่สามารถช่วยได้ และท่านก็บอกเพียงสั้นๆว่า “เอ็งเกิดมาผิดที่” และบอกว่าให้ไปทำพาสปอร์ตสมา

หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันพ่อบุญลบ คณะกรรมการวัด ญาติโยมและเจ้าคณะตำบลไปส่งย.ที่แม่ฮ่องสอน โดยไปข้างคืนที่วัดห้วยเดื่อ 2 คืน หลังจากนั้นจึงนั่งรถไปที่ชายแดนแล้วกลับไปพม่า หลังจากนั้น 2 เดือน ย. จึงกลับมาประเทศไทยอีกครั้งบริเวณชายแดน จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากเดินเท้ามาไกลกว่า 10 ชั่วโมง จากนั้นมีรถมอเตอร์ไซต์ของผู้รับจ้างพาเข้ามารับไปที่พักในตัวอำเภอเมืองและ พอตกเย็นก็มีรถกระบะ(ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท/คน) มารับและมาส่งที่ ห้องพัก จังหวัดเชียงใหม่  หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน ทางผู้รับจ้างก็มาส่งขึ้นรถทัวร์เพื่อเข้ากรุงเทพฯ มาถึงบริเวณดอนเมือง จึงมีรถแท็กซี่มารับไปส่งที่ห้องพัก

พบรัก

เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ได้ 2 วัน ระหว่างนั้นย. จึงเดินหางานทำ เมื่อเห็นตึกทาสี จึงเข้าไปถามว่ารับคนงานทาสีไหม บังเอิญไปเจอเป็นเถ้าแก่พอดี และไม่ได้ขอดูบัตรโดยรับเข้าทำงานเลยเพราะไม่ได้เปิดเป็นบริษัทฯ ได้ค่าแรงวันละ 260 บาท อยู่แถวท่าน้ำนนท์ประมาณ 3 เดือน

แล้วย้ายที่ทำงานไปแถวอ่อนนุชทำงานทาสีที่นั่นประมาณ 1 ปี จึงได้รู้จักผู้หญิงไทใหญ่ ที่ทำงานบ้านที่ไปทาสี โดยเจ้านายของผู้หญิงแนะนำว่าเขามีลูกชายและลูกสะใภ้ที่เปิดบริษัทฯ ซึ่งเห็นว่าเขาพูด-เขียน-อ่านไทยได้ จึงเอาไปฝากที่บริษัทฯ และได้เริ่มงานตั้งแต่ปลายปี 2547 ฝ่ายจัดของในสต๊อก ตรวจสอบของในสต๊อก เงินเดือนเริ่ม 6,500 บาท ปัจจุบัน 8,000 บาท ทำให้ได้มารู้จักกับ น.ซึ่งทำงานคนละแผนก

“ผมก็ได้บอกเธอไปว่าผมไม่ใช่คนไทย และก็เล่าเรื่องทุกอย่างให้เธอฟัง แต่เธอก็ยอมรับผมได้ ตอนนั้นเธอก็มีแฟนอยู่แล้วเช่นกัน แต่ว่าด้วยความที่เราได้ทำงานร่วมกันตลอดได้รู้จักนิสัยใจคอกันมากขึ้นจึง ก่อให้เกิดความรัก ผมจึงได้บอกเลิกกับแฟนคนเก่า และแล้วเราก็ได้ตัดสินใจคบกันเมื่อต้นปี 2551 และได้ย้ายมาอยู่ด้วยกันใน 6 เดือนต่อมา” ย. เล่าถึงเรื่องราวความรักของเขากับเธอ

ทั้งคู่ศึกษาข้อมูลต่างๆบนเวปไซต์  เคยติดต่อไปที่สถานฑูตพม่าในไทยก็ได้รับคำแนะนำให้ไปยื่นเรื่องทำพาสปอรต์ วีซา เข้ามาใหม่ แต่น. เองได้ยินมาจากในเวปของไทใหญ่ว่า พม่าจะไม่ออกหนังสือใดๆ ให้กับไทใหญ่

จึงไปโพสต์ ไว้ที่เวปไซต์หนึ่งแล้วมีคนแนะนำว่า ให้ไปขึ้นทะเบียนแรงงาน แต่ไม่กล้าถามกับเจ้านายโดยตรงเพราะเจ้านายบอกว่าเคยหาข้อมูลและบอกว่าต้อง ใช้เอกสาร

ก่อนหน้านี้ น. เล่าว่าพี่ที่บริษัทแนะนำว่า เพื่อนเขาเป็นคนพม่า ไม่มีเอกสารเหมือนกันแต่ไปให้ผู้ใหญ่บ้านรับรองให้เข้าในทะเบียนบ้านหลังนี้ ได้ น.จึงได้ปรึกษากับเจ้าของบริษัทฯแล้วเห็นว่าไม่ควรทำเพราะเป็นการซื้อ ทะเบียนบ้านคนตาย สุดท้ายก็เลยไม่ได้ทำ

ทางเลือกที่ทั้งคู่กำลังชั่งใจอยู่จึงมี หนึ่ง-กลับไปที่พม่า สอง-ซื้อทะเบียนบ้านคนตายโดยเสียเงิน 2-3 หมื่นบาท และสาม-จดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งเป็นทางเลือกที่น.ได้รับคำแนะนำมาจากในเวบไซต์ เพราะมีความหวังว่าหากพวกเขาสามารถผูกพันกันตามกฎหมายแล้ว หนทางที่จะทำให้ชายคนรักได้รับการยอมรับเป็นคนไทย และได้รับการยอมรับจากครอบครัวนั้นคงจะเป็นไปได้

หมายเลขบันทึก: 463931เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ห่างหายจาก gotoknow ไปนาน ทยอยเอางานมาแปะ

สวัสดีค่ะ

แวะมาเยี่ยมค่ะ

น่าเห็นใจมากเลยค่ะ

ต้องศึกษากับผู้รู้เยอะๆค่ะ

เพราะไม่อย่างนั้นแล้วหากมีลูกด้วยกันแล้วจะทำยังไง

ความรักไม่เป็นอุปสรรคค่ะ

สวัสดีค่ะ อุปสรรค มีตั้งแต่ความไม่รู้

แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ความเข้าใจทัศนคติของผู้ปฏิบัติที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงสิทธิ

คนเหล่านี้ต้องใช้แรงกาย แรงใจมหาศาลจริงๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท