อสม.แล้วยังอาสา (๒)


ทีมงานของศสช.คงต้องคิดต่อว่าจะช่วยลดความพร่องนี้(ความรู้จักคุ้นเคยของอสม.กับชุมชน)ให้น้อยลงอีกได้อย่างไร ?...และจะใช้ประโยชน์จากความรู้จักคุ้นเคยของอสม.กับชุมชนให้เกิดประโยชน์ต่องานสุขภาพชุมชนต่อไปอย่างไร ?

 มาถึงท้ายสุดของปีงบประมาณเก่าและกำลังจะก้าวสู่ปีงบประมาณใหม่แล้วสำหรับกิจกรรมของกลุ่มอสม.อาสาปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชน ตามที่ผมได้เคยบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ ทีมงานจึงได้เชิญอสม.อาสาทั้งหมดมาประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๘ เพื่อทำการประเมินผลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาข้อสรุปร่วมในการดำเนินงานในปีต่อไป

เริ่มด้วยการให้สม.อาสาทุกคนแสดงความคิดว่าแต่ละคนต้องการอะไร มีความประสงค์ใดในการร่วมโครงการ ซึ่งพอสรุปความรวมได้ว่า

  • เพื่อทำประโยชน์ต่อส่วนรวม
  • เพื่อแบ่งเบาภาระของหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่
  • เพื่อให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
  • เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับประชาชนในพื้นที่ของตนเอง
  • เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่
  • เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในชุมชน
  • ฯลฯ

โดยสรุปจากการรวบรวมข้อคิดเห็นดังกล่าวทำให้ทีมงานอสม.อาสาทุกคนเห็นประโยชน์จากการเข้ารวมโครงการและเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องสานต่อโครงการนี้ในปีงบประมาณต่อไปให้ได้

ต่อจากนั้นทีมงานได้นำเสนอผลการประเมินโครงการที่เราได้ทำการสำรวจจากความคิดเห็นของอสม.อาสาเอง ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ และความคิดเห็นของประชาชนผู้รับบริการ ( ตามที่ผมได้เคยบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ ) ซึ่งส่วนใหญ่ประเมินระดับคะแนนสูง ๆ แทบทั้งสิ้น เราขอให้ทีมช่วยกันดูประเด็นที่ผลการประเมินอยู่ในระดับกลาง ๆ ลงมาเพื่อทำให้ที่ประชุมเห็นโอกาสในการปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้น   ประเด็นที่คะแนนในการประเมินยังไม่สูงนัก ได้แก่

  • จากการประเมินของอสม.อาสาเอง พบว่า ความสัมพันธ์และความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่กับอสม.ดีขึ้นบ้างแต่ไม่มาก
  • จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ ยังพบจุดที่ควรแก้ไขคือ ความตรงต่อเวลาในการปฏิบัติงานของอสม. การเพิ่มความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่  การแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่ และความรู้สึกต่อคุณภาพบริการโดยรวม
  • จากกการประเมินโดยประชาชนผู้รับบริการ พบว่าประเด็นที่ควรปรับปรุงคือ ตวามสามารถในการให้คำแนะนำอำนวยความสะดวกต่อผู้รับบริการ  การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แก่ผู้รับบริการ และการเชื่อมต่อบริการสู่ชุมชน

ทุกคนเห็นร่วมกันว่าสิ่งที่ควรทำเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงจุดอ่อนในการปฏิบัติงานคือ การแนะนำทำความรู้จักหน่วยงานอื่น ๆ ภายในโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการแนะนำอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการที่ต้องไปรับบริการยังหน่วยงานข้างเคียงเหล่านั้น  และการฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมบางอย่างให้กับอสม.อาสาเอง

วันนี้(๒๘ กันยายน ๒๕๔๘) อสม.อาสาได้กลับมมาร่วมประชุมกันอีกครั้ง เพื่อทบทวนและทำความตกลงร่วมในการปฏิบัติงานในปีงบประมาณหน้า

เริ่มด้วยทบทวนความหมายของอสม.อาสา ว่าคือกลุ่มอสม.ที่มีความสมัครใจและความตั้งใจในการช่วยเหลือปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชน นอกเหนือไปจากภาระหน้าที่ประจำคือการทำงานด้านสุขภาพในชุมชน จากนั้นได้ทบทวนขั้นตอนการให้บริการของสุขภาพชุมชนตั้งแต่แรกลงทะเบียน การให้บริการในสำนักงาน การประสานเชื่อมต่อบริการที่บ้าน และชุมชน จนกระทั่งวางแผนประเมินผล โดยเน้นให้เห็นขั้นตอนย่อย ๆ ในการรับริการในสำนักงานเพื่อให้อสม.อาสาเข้าใจขั้นตอนที่ชัดเจนขึ้น

จากนั้นได้ทบทวนบทบาทหน้าที่ที่มอบหมายให้อสม.อาสาช่วยทำในศูนย์สุขภาพชุมชน ได้แก่

  • การต้อนรับและจัดการด้านบัตรคิว
  • การช่วยชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง
  • การช่วยค้นหาแฟ้มครอบครัว
  • การให้คำแนะนำขั้นตอนการรับริการแก่ผู้รับบริการ
  • การช่วยประสานงานแก้ปัญหากับผู้รับบริการ
  • การอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น แนะนำช่วยเหลือผู้รับบริการไปติดต่อรับบริการอื่น ๆ เท่าที่จำเป็น

จากนั้นเป็นการกำหนดกติกาในการทำงานร่วมกัน ได้แก่

  • การตรงต่อเวลา
  • ความรับผิดชอบในกรณีติดภารกิจอื่น ไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ต้องหาเพื่อนมาแทน
  • พยายามจัดเวรให้แต่ละคนมีโอกาสปฏิบัติงานได้จำนวนครั้งใกล้เคียงกัน สำหรับพื้นที่ที่มีอสม.อาสาน้อย บางวันอาจไม่มีอสม.อาสามาร่วมทำงาน

เราตกลงร่วมกันว่าจะมีการประเมินโครงการเหมือนเดิม โดยการใช้แบบสอบถามจากอสม.อาสา จากเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้รับบริการ

ทีมงานได้แจ้งให้ทราบว่า ศสช.จะจัดสิ่งสนับสนุนให้กับอสม.อาสา นอกเหนือไปจากค่าอาหารกลางวันเพียงเล็กน้อย ได้แก่

  • เสื้อทีม
  • บัตรประจำตัว สำหรับใช้ในขณะปฏิบัติงาน
  • การจัดทำเกียรติบัตรเมื่อร่วมปฏิบัติงานครบปี
  • การจัดทำทำเนียบอสม.อาสาไว้ที่ ศสช.เหมือนกับทำเนียบเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนผู้รับบริการได้รับทราบว่าเขาคืออสม.อาสาที่มีบทบาทช่วยเหลืองานบริการสุขภาพของศสช. ซึ่งจะมีผลต่อความร่วมมือในการรับบริการและการทำงานของอสม.ในชุมชนต่อไป

หลังจากนั้นเราได้พาทีมอสม.อาสาทุกคนไปทำความรู้จักกับหน่วยงานข้างเคียงในโรงพยาบาลเพื่อให้เขาสามารถแนะนำอำนวยความสะดวก หรือพาผู้รับบริการไปติดต่อประสานงานได้ตามความจำเป็น

ก่อนปิดประชุมเราได้เน้นย้ำว่าขอให้อสม.อาสาคิดว่าศสช.เขตเมืองเป็นสมบัติของเรา หรือเป็นบ้านอีกแห่งของเรา  วันนี้เราได้มาทบทวนว่าบ้านหลังนี้มีอะไร อยู่ตรงไหน เรามีวิธีการขั้นตอนในการรับรองแขกผู้มาเยือนบ้านเราอย่างไร รู้จักเพื่อนบ้านของเราว่ามีใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร เพราะบางครั้งเราจะต้องแนะนำหรือพาแขกของเราไปเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้านบ้าง  ท้ายที่สุดขอให้ทุกคนลองช่วยกันสำรวจและแสดงความคิดเห็นว่า เราจะปรับปรุงตกแต่งบ้านของเราตรงไหนบ้างเพื่อให้สวยงาม สะดวกสบายในการทำงานยิ่งขึ้น ได้คำตอบและแนวคิดดี ๆ หลายประเด็นซึ่งหลายเรื่องตรงกับใจของเจ้าหน้าที่ที่ได้เตรียมแผนในการปรับปรุงอยู่แล้ว  ซึ่งฝากไว้ให้กลับไปคิดต่อและรวบรวมผ่านเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่มา ทีมงานจะได้ช่วยกันปรับปรุงสิ่งที่ทำได้ก่อนโดยเร็ว ต่อไป

ผมจะไม่ขอสรุปผลการประชุมในวันนี้ เพียงแต่ขอแสดงความรู้สึกประทับใจในคำพูดประโยคหนึ่งของอาจารย์ทองมา(หนึ่งในอสม.อาสาของเรา) ว่า "ในขณะร่วมทำงานในศสช. ทีมอสม.อาสาของชุมชนแก่งขนุนรู้จักประชาชนในพื้นที่ ที่มารับบริการด้วยโรคเรื้อรังทุกคน... รู้จักว่าบ้านอยู่ตรงไหน ทำอะไร ครอบครัวโดยรวมเป็นอย่างไร..." ทั้งนี้เพราะผมคิดว่าเป้าหมายสูงสุดของโครงการคือการสร้างพลังให้กับอสม.ให้สมารถทำงานกับชุมชนได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ... ความรู้จักคุ้นเคยกับคนในชุมชน เป็นสิ่งที่"พร่อง"ไปบ้างสำหรับอสม.ในเขตเมือง(เมื่อเทียบกับอสม.ในชนบท)  ถ้าเราสามารถเติมเต็ม"ความพร่อง"นี้ได้บ้างก็จะทำให้อสม.ของเรามีพลังมากขึ้นในการทำงานกับชุมชน

ทีมงานของศสช.คงต้องคิดต่อว่าจะลดความพร่องนี้ให้น้อยลงอีกได้อย่างไร ?....และจะใช้ประโยชน์จากความรู้จักคุ้นเคยของอสม.กับชุมชนให้เกิดประโยชน์ต่องานสุขภาพชุมชนต่อไปอย่างไร ?

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4636เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2005 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ศิริพร สิทธิโชคธรรม

1.ขอชื่นชมและให้กำลังใจกับทีมงานทุกท่านที่ตั้งใจจริงค่ะ

2.อะไร คือ คำว่า " พร่อง" นิยามให้ชัดนะคะ จะได้ช่วยกันหาสาเหตุโดยใช้ tree diagram ช่วยกันระดมความคิด หา  root cause ที่แท้จริงออกมา และเลือก root ที่สามารถแก้ไขได้ มีความเป็นไปได้ แก้ไขก่อน เอาใจช่วยค่ะ

3. อสม.และแกนนำ คือ ในท้องที่ซึ่งเชื่อมระหว่าง จนท. pcu กับคนในชุมชน จะมีประสิทธิภาพสูงสุดขึ้นอยู่กับ

   3.1เชื่อมได้ดีแค่ไหน

   3.2 สามารถนำภูมิปัญาท้องถิ่น ค่านิยม และวัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อให้เกิด social energy ได้แค่ไหน สามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องที่โดยประยุกต์ ทั้ง popular wisdom  local wisdom  ร่วมกับ วิชาการแพทย์ได้ดีเพียงใด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท