การประชุมวิชาการ ครั้งที่ ๑๙


การประชุมวิชาการ ครั้งที่ ๑๙  วันที่ ๒๗ ตค.  เป็นเรื่อง KM ในโรงเรียน ๒ โรงเรียน  คือจิระศาสตร์วิทยา ซึ่งผมเคยลงบันทึกไว้แล้ว (คลิก)   กับ รร. เพลินพัฒนา  ซึ่งขอนำบทความจากนิตยสารสานปฏิรูปมาลงดังนี้ 

 เพลินพัฒนา: วิจัยและพัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (1)
เพลินพัฒนาเป็นโรงเรียนตั้งใหม่ที่แหวกแนวกว่าโรงเรียนทั่วไปหลายประการ เป็นโรงเรียนเดียวที่หาญกล้าประกาศตนว่า “เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม” โดยมีคำอธิบายว่าหมายถึงกระบวนการปฏิสัมพันธ์ เช่น การทำงาน การเรียน การสอน การเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ความช่วยเหลือ ความร่วมมือฯ ของทุกคนในชุมชนแห่งนี้ และการดำเนินชีวิตทุกรูปแบบที่มุ่งก่อให้ความหมาย ความเข้าใจ ความรู้ และความเห็นร่วมกัน (แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน)  ก่อเกิดการสร้างสรรค์ความรู้ ความเห็น ความเชื่อใหม่ๆ ก่อเกิดการสังเคราะห์เป็นข้อตกลงร่วมกันในประเด็นเกี่ยวกับความดี ความงาม และความจริง ก่อเกิดการสะสมความรู้ ความเห็น ความเชื่อเข้าเป็นของกลางของสังคม และก่อเกิดการถ่ายทอดความรู้ ความเห็น ความเชื่อจากคนสู่คน จากรุ่นสู่รุ่น จากสังคมสู่สังคม
หากชุมชนแห่งการเรียนรู้นี้จะเกิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆดังกล่าวข้างต้นได้แล้ว “กระ บวนการทางวัฒนธรรม” ย่อมมิใช่อะไรนอกเหนือจากสิ่งที่สานปฏิรูปขออาสาตีความว่าเป็น “การจัดการความ รู้” ที่มีมิติซับซ้อนหลายชั้น จึงใคร่ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านร่วมกันศึกษาข้อมูลและตีความต่อเนื่อง 2 ตอน ตอนแรกจะว่าด้วย ‘หน่วยวิชา’ นวัตกรรมเพลินพัฒนา, ‘ความรู้’ ในมุมมองของเพลินพัฒนา และ ยุทธการดูดซับความรู้จากภายนอก   ส่วนในฉบับหน้า ตอนที่สองจะว่าด้วยเรื่อง วพ. แผนที่สู่การเรียนรู้ และ “ชื่นใจได้เรียนรู้” ที่สุดแห่งการจัดการความรู้

‘หน่วยวิชา’ นวัตกรรมเพลินพัฒนา

          เนื่องจากโรงเรียนเพลินพัฒนาได้พยายามสร้างนวัตกรรมแปลกใหม่หลายประการในวงการศึกษาของไทย สานปฏิรูปจึงขอปูพื้นฐานให้เข้าใจถึงที่มาของแนวคิดและกระบวนการทำงานของชาวเพลินพัฒนาบางส่วน นวัตกรรมที่โดดเด่นที่สุดของโรงเรียนแห่งนี้ คือด้านการเรียนรู้ โดยการออกแบบ “หน่วยวิชา” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการเรียนรู้ที่เอา “สาระวิชา” เป็นตัวตั้งแบบโรงเรียนทั่วๆ กับ การเรียนการสอนเป็น “หน่วยการเรียน” ที่ใช้โครงงาน หรือผลงานเป็นแกนหลัก ซึ่งมักนิยมในหมู่โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแนวปฏิรูป เพลินพัฒนาวิเคราะห์จุดแข็งของการเรียน “สาระวิชา” ว่าช่วยให้องค์ความรู้อย่างเป็นระบบครบถ้วน แต่จะอ่อนในด้านการเชื่อมโยงองค์ความรู้ ทั้งภายในสาระวิชานั้นและระหว่างกับสาระวิชาต่างๆ รวมถึงปัญหาการประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงของผู้เรียน ส่วนการเรียนแบบโครงงานนั้น เพลินพัฒนามองว่าให้ความเชื่อมโยงระหว่างสาระวิชาได้พอสมควร เชื่อมโยงกับการงานและชีวิตได้ดี แต่อ่อนในด้านความครบถ้วนของระบบระเบียบขององค์ความรู้และทักษะที่สำคัญของสาระวิชาต่างๆ ที่นำมาบูรณาการ อีกทั้งยังอ่อนในด้านความเชื่อมโยงขององค์ความรู้ภายในแต่ละสาระวิชาเหล่านั้น รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างสาระวิชาต่างๆ ยังไม่ถึงขนาดที่จะถักทอให้เข้ากันได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น เพลินพัฒนาจึงสร้างนวัตกรรม “หน่วยวิชา” ขึ้นเพื่อรวมจุดดีและลบจุดด้อยของแนวทางการจัดการเรียนการสอนทั้งสองแนวทางข้างต้น มุ่งเชื่อมโยงองค์ความรู้ภายในแต่ละสาระวิชาให้เกิดเอกภาพ รวมถึงมุ่งเน้นการเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ในวิชาต่างๆ ให้เกิดการบูรณาการกันอย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้โดยอาศัยหลักในการสร้างหน่วยวิชาหลายประการ กล่าวคือ

·       เชื่อมประสานสาระย่อยที่อยู่ภายในแต่ละหน่วยวิชาให้บูรณาการกันอย่างเป็นเอกภาพ เช่น หน่วยวิชา “ธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา” เกิดจากการบูรณาการสาระวิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ มาเป็นจุดตั้งต้น

·       ขยายพื้นที่ของหน่วยวิชาเพื่อบูรณาการสาระของศาสตร์ที่มีความใกล้เคียงมาร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ  เช่น หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย สามารถขยายพื้นที่การเรียนรู้เพื่อเชื่อมโยงไปสู่เรื่องของหัตถศิลป์ไทย คีตศิลป์ไทย นาฏศิลป์ไทย และวิจิตรศิลป์ไทย ได้

·       คงจุดเด่นของสาระที่ชัดเจนในหน่วยวิชาแต่ละหน่วยไว้ แต่ไม่กำหนดขอบเขตหรือพรมแดนที่แน่ชัดตายตัว เปรียบเสมือนเปลวเทียนที่มีแกนกลางสว่างจ้าแต่มีรัศมีแผ่กระจายออกไปโดยรอบ ทำให้สามารถบูรณาการสาระวิชาต่างๆ ให้เหลื่อมซ้อนกันได้อย่างมีเอกภาพ

·       อาศัยหลักความยืดหยุ่นในการบูรณาการหน่วยวิชาอื่นๆ เข้ามาแทนที่กัน  และในการยุบรวมหน่วยวิชาเพื่อสร้างหน่วยวิชาใหม่ มีการสังเคราะห์หน่วยวิชาใหม่จากกลุ่มสาระวิชาที่กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ เช่น หน่วยวิชาจินตทัศน์ เกิดจากการรวมสาระ คณิตศาสตร์ ตรรกวิทยา ทักษะกระบวนการคิด หัตถกรรม วาดเส้น ออกแบบ และแผนที่ความคิด เข้าไว้ด้วยกัน เป็นต้น
·       ในแต่ละภาคการศึกษา ทุกหน่วยวิชาจะถูกออกแบบและปรับใช้ให้มีความเชื่อมโยงและส่งเสริมซึ่งกันและกัน มีเนื้อหาหรือทักษะบางอย่างร่วมกัน และมุ่งสู่เป้าหมายบางอย่างร่วมกัน เพื่อสร้างช่องทางและแรงดึงดูดให้ทุกหน่วยวิชาหล่อมหลอมเข้าหากันอย่างเอกภาพ

ท้ายที่สุด หลังจากเรียนเป็นหน่วยวิชาไปแล้ว 8 สัปดาห์ 2 สัปดาห์สุดท้ายของแต่ละภาคการศึกษา (ปีหนึ่งมี 3 ภาคๆ ละ 10 สัปดาห์) จะมีการหลอมรวมเป็นหน่วยการเรียนชื่อ “ชื่นใจได้เรียนรู้” ซึ่งเป็นกิจกรรมหรือโครงงานที่ประมวลและสังเคราะห์หน่วยวิชาทั้งหมดให้เป็นการงานหรือชิ้นงาน หรือเป็นการนำเสนอความคิดในรูปแบบต่างๆ

กระบวนการทำงานข้างต้นเป็นทั้งการวิจัยและพัฒนา และการจัดการความรู้ในเชิงเนื้อหาสาระ และกระบวนการเรียนรู้ อันมีที่มาจากกระบวนการแสวงหาและพัฒนาความรู้ของครูและบุคลากรโรงเรียนเพลินพัฒนาอย่างเอาจริงเอาจังในช่วง 2 ปีแรกของการก่อตั้งนั่นเอง

‘ความรู้’ ในมุมมองของเพลินพัฒนา

อาจารย์ศีลวัต ศุษิลวรณ์ หรือ “ครูปาด” รองผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและบุกเบิกงานวิชาการของโรงเรียน ได้วิเคราะห์ว่า “ความรู้” ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของโรงเรียนเพลินพัฒนานั้นมี 2 ประเภทใหญ่ คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นในระบบการทำงาน กับความรู้ที่อยู่นอกระบบการทำงาน ความรู้ทั้ง 2 ประเภทนี้ยังแบ่งเป็นด้วยความรู้ที่อยู่ในรูปของเอกสาร กับความรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิต (โปรดดูตาราง “ที่มาและประเภทของความรู้”)

ครูปาดได้นิยามความรู้ที่อยู่ในเอกสาร (explicit/condified knowledge) ว่าเป็นความรู้แบบประวัติศาสตร์ คือเป็นการบันทึกเพื่อศึกษา  และเรียกความรู้ที่อยู่ในวิถีปฏิบัติหรือที่อยู่ในคน (tacit knowledge) ว่า ความรู้แบบมานุษยวิทยา เพราะนักมานุษยวิทยาสนใจสังคมมนุษย์ที่เรียนรู้กันในวิถีปฏิบัติ
“เราให้ความสำคัญกับความรู้ที่อยู่ในระบบงานเป็นลำดับแรก ทั้งความรู้ที่อยู่ในเอกสารและที่อยู่ในวิถีชีวิต  ลำดับที่สองคือความรู้ที่อยู่นอกระบบงานที่เป็นเอกสาร เพราะง่ายที่ครูจะเข้าถึงได้ ในระหว่างที่ครูทำแผนหรือเตรียมการสอน เรามีห้องสมุด มีศูนย์ข้อมูล มีอินเทอร์เน็ตให้ครูเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้โดยสะดวก   ลำดับสุดท้าย คือความรู้ที่อยู่นอกระบบงาน และอยู่ในวิถีชีวิตของคนอื่น เช่น การไปดูงาน ซึ่งเป็นการไปเรียนรู้ชีวิตของคนอื่น หรือการอบรม ซึ่งเป็นการเอาวิถีชีวิตหรือความรู้ของคนอื่นเข้ามาประยุกต์ใช้  เราจัดไว้หลังสุด จะนำมาใช้ต่อเมื่อระบบข้างในดีแล้ว รู้ว่าตนเองต้องการอะไรก่อน” ครูปาดกล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ประเภทต่างๆ ของโรงเรียน และว่าการจะถ่ายประสบการณ์คนอื่นเข้ามาจะต้องมีการคัดเลือกอย่างมีลำดับ ไม่ใช่ว่าจะเอาอะไรเข้ามาก็ได้
ตารางที่มาและประเภทของความรู้

 

ความรู้ที่อยู่ในเอกสาร
(ความรู้แบบ “ประวัติศาสตร์”)
ความรู้ที่อยู่ในวิถีปฏิบัติ
(ความรู้แบบมานุษยวิทยา)
ความรู้ที่เกิดขึ้นในระบบการทำงาน
วพ. 1,2,3 / การบันทึกภาพ, การบันทึกเสียง / การจัดเก็บวัตถุ
การประชุมเสวนา / การสื่อสารระหว่างทีม / การเรียนรู้ในหน่วยวิชา / การสื่อสารภายในองค์กร – Intranet
ความรู้ที่อยู่นอกระบบการทำงาน
ห้องสมุด / ศูนย์ข้อมูล
การบุกเบิกค้นคว้าโดยผู้บริหารและฝ่ายวิชาการเพื่อนำความรู้ใหม่ๆ มาเผยแพร่ / การดูงาน / การฝึกอบรมต่างๆ
ฝ่ายบริหารและฝ่ายวิชาการของโรงเรียน จะทำหน้าที่อำนวยการและจัดระบบการทำงานให้เอื้อต่อการแปลงความรู้แบบมานุษยวิทยาที่อยู่ในวิถีปฏิบัติของครูและบุคลากรไปอยู่ในรูปของเอกสารเพื่อให้สามารถส่งต่อกันได้และมีระเบียบ และส่งเสริมให้มีการนำเอกสารเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานให้มากที่สุด ที่สำคัญคือเพื่อการปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ใหม่ๆ ร่วมกัน
“การที่ครูได้ฝึกบันทึก วพ. 2 (แบบบันทึกผลการปฏิบัติการในห้องเรียน) และ วพ. 3 (แบบสรุปผลการวิจัยนักเรียนเป็นรายบุคคลและสรุปผลวิจัยการสอนของครู) บ่อยๆ มีข้อดีคือคุณภาพการบันทึกของครูจะดีขึ้นเรื่อยๆ ช่วยในการจัดระเบียบความคิดและเอกสารข้อมูลต่างๆ ให้ดีขึ้น เพราะยิ่งบันทึกดี บันทึกเป็นระบบระเบียบก็ยิ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น” ครูปาดกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความรู้ในวิถีปฏิบัติบางอย่าง เช่น เมื่อครูเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์หรือวิธีมองโลก เรื่องแบบนี้ไม่สามารถบันทึกให้กระจ่างชัดในเอกสารได้  แต่เมื่อมีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มกับเพื่อนครูจะมีการถ่ายทอดกัน หรือในระหว่างการสอนก็อาจถ่ายทอดไปสู่นักเรียน  หรือในบางครั้ง เมื่อครูจะต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติม  อาจไปพบปะกับเพื่อนฝูงหรือผู้รู้ท่านอื่นๆ แล้วเกิดการเรียนรู้ขึ้นมา เป็นความรู้ที่อยู่ในตัวครูแต่ละคน
หัวใจสำคัญในการจัดการความรู้แบบเพลินพัฒนาจึงอยู่ที่การทำให้ความรู้ประเภทต่างๆเกิดการไหลเวียน เพื่อยกระดับความรู้ที่มีอยู่ให้สูงขึ้นๆ ในการนี้ฝ่ายบริหารและฝ่ายวิชาการจะทำหน้าที่ผู้เอื้ออำนวยให้ความรู้ประเภทเอกสารกับความรู้ในวิถีชีวิตมีช่องทางที่จะมาเจอกันได้ โดยการประชุม เสวนา ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู ผู้บริหาร และฝ่ายวิชาการ เป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นส่งเสริมให้นำความรู้ที่เป็นเอกสารไปสู่การปฏิบัติ และในทางกลับกันเพื่อส่งเสริมให้นำความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติมาอยู่ในรูปของเอกสารและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เช่น ในการนำเสนอ วพ.1 (แบบวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้) จะมีทีมเพื่อนร่วมงาน และฝ่ายวิชาการ เข้าไปเรียนรู้ช่วยกันปรับปรุงแก้ไข ช่วยกันซักถาม  เป็นต้น (รายละเอียดของการจัดการความรู้ผ่านการวิจัยและพัฒนา (วพ.) จะกล่าวในตอนที่ 2 ฉบับหน้า)  การปฏิบัติเหล่านี้จะส่งเสริมให้มีการนำความรู้ในรูปแบบต่างๆ มาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง โดยมีวงจรของการวิจัยและพัฒนา ทั้งก่อนสอน ระหว่างสอน และหลังการสอน ประกอบกับการจัดการเรียนรู้ในลักษณะของ “หน่วยวิชา” เป็นแกนในการขับเคลื่อนความรู้ที่เป็นบูรณาการและมีพลวัตตลอดเวลา

ยุทธการ “ดูดซับ” ความรู้จากภายนอก

ดังได้กล่าวแล้วว่า ปัจจุบันโรงเรียนเพลินพัฒนาจัดลำดับความสำคัญของความรู้ที่อยู่นอกระบบการทำงานประเภทที่อยู่ในวิถีชีวิตไว้ลำดับท้ายๆ  เนื่องจากประสบการณ์ในการพัฒนาครูในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงเรียนพบว่า เมื่อให้ความสำคัญกับความรู้จากการดูงานและฝึกอบรมเป็นลำดับต้นๆ ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายวิชาการสังเกตว่าจะได้รับการต่อต้านจากครูและบุคลากรค่อนข้างสูง มีการหยิบยกเหตุผลมากมายขึ้นมาเพื่อที่จะไม่ทำตามแบบอย่างคนอื่น 
“ผมเองก็เคยไปจัดอบรมให้โรงเรียนอื่น พบเหตุผลเช่นเดียวกัน คือครูที่โรงเรียนอื่นมักจะอ้างว่าโรงเรียนเขาไม่สามารถทำตามแบบอย่างที่มาอบรมได้ เพราะไม่มีงบประมาณบ้าง ไม่มีคนบ้าง ไม่มีเวลาบ้าง  ผมจึงวิเคราะห์ว่าเนื่องจากการฝึกอบรมเป็นของแปลกปลอมนั่นเอง   เราก็เคยพบปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันนี้ เช่น ลูกทีมเรากำลังทำงานอยู่ กำลังต้องการการสนับสนุน  แต่จู่ๆ เราเชิญเข้าอบรม การอบรมนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาของเขาที่กำลังทำอยู่ประมาณ 35% ที่เหลืออีก 65% เป็นประโยชน์ในระยะยาวและลึกมาก  ครูจะต้องใช้เวลาไปกับการอบรมนั้น ทำให้ขาดความต่อเนื่องที่จะพัฒนางานหรือแก้ไขปัญหาของตนเอง หากเป็นเช่นนี้บ่อยๆ ครูก็จะเข็ดขยาดกับการจัดอบรมที่ฝ่ายบริหารจัดขึ้น” ครูปาดกล่าวสรุปบทเรียนจากการฝึกอบรม และชี้ว่า ปัญหาเหล่านี้ทำให้ฝ่ายบริหารต้องทบทวนถึงความจำเป็นในการจัดอบรมขนานใหญ่
และชี้ว่า “นี่คือการจัดการความรู้ชนิดหนึ่ง ที่องค์กรจะต้องมีโครงสร้างหรือระบบที่จะจัดการกับความรู้ที่เข้ามาสู่องค์กรให้ได้ ว่าจะให้อยู่ตำแหน่งแห่งใดในองค์กร หากทำได้จะนำไปสู่การผลิตซ้ำความรู้ได้ คือจัดฝึกอบรมเองได้  มีระบบประเมินผลและวิจัยพัฒนาอยู่ในนั้น”
ดังนั้น ครูปาดจึงทดลองพัฒนาระบบจัดการความรู้ในการฝึกอบรมใหม่ เริ่มจากการคิดร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหาร/ฝ่ายวิชาการ กับครูผู้สอน ว่าต้องการรับการอบรมในเรื่องอะไรบ้าง เพื่อให้การอบรมนั้นๆ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอน และสอดคล้องกับความต้องการของครูผู้เข้าอบรมให้มากที่สุดทั้งนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักว่า การอบรมทุกครั้งจะต้องมีภาระงานตามมา
ครูปาดยกตัวอย่างการอบรมครั้งล่าสุดว่า “เราจัดอบรมเรื่อง ดนตรี นาฏกรรม และการเรียนรู้ภาษา ไปเมื่อปลายเดือนธันวาคม ปี 2547 อบรมกันเพียง 8 วัน แต่จนถึงวันนี้ เรายังถอดความรู้จากการอบรมได้เพียง 40% เท่านั้น ในระหว่างการอบรม เรามีการบันทึกทั้งภาพ เสียง และถ่ายวิดีโอไว้ตลอด มีครูคนหนึ่งคอยบันทึกว่า เห็นอะไร ทำอะไรบ้าง และผมเองก็คอยจดบันทึกว่าได้เรียนรู้หรือมีแนวคิดอะไรบ้าง  บันทึกเหล่านี้ต้องถูกนำมาย่อยใช้งานร่วมกัน  เราให้ผู้เข้าร่วมการอบรมทุกคนมาพบกันทุกสัปดาห์ๆ ละ 2 วันๆ ละ 20 นาที เพื่อเปิดดูวิดีโอซ้ำ แล้วอภิปรายกันว่าสิ่งที่ได้รับจากการอบรมนั้นคืออะไร มีความหมายอย่างไร นำไปประยุกต์ใช้อะไรได้”
ฝ่ายบริหารและฝ่ายวิชาการจะทำหน้าที่อำนวยการให้เกิดการจัดการความรู้ โดยจัดกระบวนการประมวลสรุป และสร้างความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ได้รับจากการฝึกอบรมให้เกิดขึ้นกับทีม การดูภาพถ่าย และวิดีโอซ้ำจะช่วยกระตุ้นให้ครูทบทวนการอบรมโดยละเอียดถึงภาษากาย สีหน้า ท่าทาง แววตา และปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวิทยากรกับผู้รับการอบรม จากนั้นให้อภิปรายกันว่าตนเองเกิดการเรียนรู้อะไร ในขั้นนี้จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างมาก เกิดการสังเคราะห์เป็นความคิดเห็น ความเข้าใจ ทักษะ และวิธีใช้สิ่งที่ได้จากการฝึกอบรม เป็นกระบวนการที่ครูจะค่อยๆ จัดการความรู้โดยอัตโนมัติ มีการตีความ เชื่อมโยงความรู้ที่ได้จากการอบรมซึ่งเป็นความร้จากภายนอกให้เข้ากับความรู้และประสบการณ์ของตนเอง  
ขั้นตอนสำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่ง คือการฝึกปฏิบัติซ้ำในเรื่องที่ได้อบรมไปแล้วนั้น โดยครูที่เข้ารับการ อบรมจะเป็นวิทยากรให้กับครูที่ไม่ได้เข้าอบรม  การจัดฝึกอบรมครั้งใหม่นี้จะแตกต่างจากครั้งที่มีบุคคลภายนอกเป็นวิทยากร เพราะเป็นการจัดฝึกอบรมที่มีคนในองค์กรเป็นผู้จัด ในเนื้อหาและบริบทของโรงเรียนเพลินพัฒนาเอง จึงเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของครูมากยิ่งขึ้น  ในระหว่างการอบรมนี้จะมีการบันทึกทั้งภาพและวิดีโอโดยละเอียด  จากนั้นจะนำไปตัดต่อเป็นวิซีดีขนาดสั้นพร้อมคำบรรยายทีละกิจกรรม และมีคู่มือกำกับด้วยว่าวีซีดีนั้นเหมาะสำหรับครูระดับชั้นใด สาระการเรียนรู้อะไรบ้าง เป็นต้น
“การถอดความรู้จากการอบรมในลักษณะนี้ ต้องใช้เวลาและความร่วมมือของครูอย่างสูง เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นมาก จึงไม่สามารถทำได้บ่อยครั้ง  เพราะฉะนั้นเราจะต้องเลือกให้ดีว่าจะจัดอบรมในเรื่องอะไรที่ทุกคนจะเห็นคุณค่าและประโยชน์จริงๆ” ครูปาดกล่าวย้ำอีกครั้ง และว่าโรงเรียนเพลินพัฒนาจะไม่จัดอบรมบ่อยนัก และการจะจัดแต่ละครั้งต้องมีการเตรียมความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน
ในตอนที่สอง (ฉบับหน้า) สานปฏิรูป จะเจาะลึกถึงการวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนเพลินพัฒนาว่าได้นำ “หน่วยวิชา” ไปจัดการเรียนการสอนอย่างไร มีระบบจัดการความรู้อยู่ตรงไหนบ้าง จนกระทั่งถึงที่สุดของการเรียนการสอนในแต่ละภาค คือ “ชื่นใจได้เรียนรู้” ซึ่งเป็นการจัดการความรู้แบบบูรณาการ 3 ชั้น  ชั้นแรก ฝ่ายวิชาการได้บูรณาการความรู้ในสาระวิชาต่างๆ เข้าด้วยกันเป็น “หน่วยวิชา”  ชั้นที่สองนักเรียนได้บูรณาการหน่วยวิชาที่เรียนมาตลอด 8 สัปดาห์ไปใช้ในโครงการ “ชื่นใจได้เรียนรู้” และชั้นสุดท้าย ครูต่างสาระต่างหน่วยวิชาได้ร่วมกันทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

เอามาลงไว้เรียกน้ำย่อยสำหรับผู้สนใจ KM โรงเรียน   อย่าลืม วันที่ ๒๗ ตค.   ดูรายละเอียดได้ที่ www.kmi.or.th

วิจารณ์ พานิช

๒๘ กย. ๔๘


 

หมายเลขบันทึก: 4632เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2005 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท