Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

๖.กัณฑ์จุลพน


เป็นกัณฑ์ที่พรานเจตบุตรหลงกลชูชก และชี้ทางสู่อาศรมจุตดาบส ชูชกได้ชูกลักพริกขิงแก่พรานเจตบุตรอ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงสญชัย จึงได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤๅษี

พรานเจตบุตรให้พราหมณ์ชูชกบริโภคแล้ว ให้กระบอกน้ำผึ้งและขาเนื้อย่างแก่ชูชก เพื่อเป็นเสบียงเดินทางอย่างนี้แล้ว ยืนที่หนทางยกมือเบื้องขวาขึ้น.


เมื่อจะแจ้งโอกาสเป็นที่ประทับอยู่แห่งพระเวสสันดรมหาสัตว์ จึงกล่าวว่า
ดูก่อนมหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทน์ล้วนแล้วไปด้วยศิลา ซึ่งเป็นที่ประทับแห่งพระราชาเวสสันดร พร้อมด้วยพระมัทรีราชเทวี ทั้งพระชาลีและพระกัณหาชินา.

ทรงเพศบรรชิตอันประเสริฐ และทรงขอสำหรับสอยผลาผล ภาชนะสำหรับใช้ในการบูชาเพลิง กับทั้งชฎา ทรงหนังเสือเหลืองเป็นภูษา ทรงบรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงนมัสการเพลิง

ทิวไม้เขียวนั้นทรงผลต่างๆ และภูผาสูงยอดเสียดเมฆเขียวชะอุ่ม. นั่นแลเป็นเหล่าอัญชนภูผาเห็นปรากฏอยู่ นั่นเหล่าไม้ตะแบก ไม้หูกวาง ไม้ตะเคียน ไม้รัง ไม้สะคร้อและเถายางทราย อ่อนไหวไปตามลม ดังมาณพดื่มสุราครั้งแรกก็โซเซ ฉะนั้น.

เหล่านกโพระดก นกดุเหว่า ส่งเสียงร้องบนกิ่งต้นไม้ พึงฟังดุจสังคีตโผผินบินจากต้นนั้นสู่ต้นนี้.

กิ่งไม้และใบไม้ทั้งหลาย อันลมให้หวั่นไหวแล้วเสียดสีกัน ดังจะชวนบุคคลผู้ผ่านไปให้มายินดี และยังบุคคลผู้อยู่ในที่นั้นให้เพลิดเพลิน ซึ่งเป็นที่ประทับแห่งพระราชาเวสสันดรพร้อมด้วยพระมัทรีราชเทวี ทั้งพระชาลีและพระกัณหาชินา ทรงเพศบรรพชิตอันประเสริฐ และทรงขอสำหรับสอยผลาผล ภาชนะสำหรับใช้ในการบูชาเพลิง กับทั้งชฎา ทรงหนังเสือเหลืองเป็นภูษาทรง บรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงนมัสการเพลิง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คนธมาทโน ความว่า นั่นภูเขาคันธมาทน์ ท่านบ่ายหน้าทางทิศอุดร เดินไปตามเชิงภูเขาคันธมาทน์ จักเห็นอาศรมที่ท้าวสักกะประทาน ซึ่งเป็นที่พระราชาเวสสันดรพร้อมด้วยพระโอรสพระธิดา และพระมเหสีประทับอยู่. บทว่า พรสหมณวณณํ ได้แก่ เพศบรรพชิตผู้ประเสริฐ. บทว่า อาสทญจ มสชฏํ ความว่า ทรงขอสำหรับสอยเก็บผลาผล ภาชนะสำหรับใช้ในการบูชาเพลิง และชฎา. บทว่า จมมวาสี ได้แก่ ทรงหนังเสือเหลือง. บทว่า ฉมา เสติ ความว่า บรรทมเหนือเครื่องปูลาดใบไม้บนแผ่นดิน. บทว่า ธวสสกณณา ขทิรา ได้แก่ ไม้ตะแบก ไม้หูกวาง และไม้ตะเคียน. บทว่า สกึ ปีตาว มาณวา ความว่า เป็นราวกะนักเลงดื่มน้ำเมา ดื่มครั้งเดียวเท่านั้น. บทว่า อุปริ ทุมปริยาเยสุ ได้แก่ ที่กิ่งแห่งต้นไม้ทั้งหลาย. บทว่า สงคีติโยว สุยยเร ความว่า จะได้ฟังเสียงของเหล่านกต่างๆ ที่อยู่กัน ดุจทิพยสังคีต. บทว่า นชชหา ได้แก่ นกโพระดก. บทว่า สมปตนติ ได้แก่ เที่ยวส่งเสียงร้องเจี๊ยวจ๊าว. บทว่า สาขาปตตสมีริตา ความว่า เหล่านกถูกใบแห่งกิ่งไม้ เสียดสีก็พากันส่งเสียงร้องเจี๊ยวจ๊าว หรือกิ่งไม้มีใบอันลมพัดแล้ว นั่นแล. บทว่า อาคนตํ ได้แก่ คนที่จะจากไป. บทว่า ยตถ ความว่า ท่านไปในอาศรมบท ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่แห่งพระเวสสันดรแล้ว จักเห็นสมบัติแห่งอาศรมบทนี้.

พรานเจตบุตร เมื่อจะพรรณนาถึงอาศรมบทให้ยิ่งขึ้นกว่าที่กล่าวมาแล้วนั้น จึงกล่าวว่า
ที่บริเวณอาศรมนั้น มีหมู่ไม้มะม่วง มะขวิด ขนุน ไม้รัง ไม้หว้า สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม ไม้โพธิ์ พุทรา มะพลับทอง ไม้ไทร ไม้มะสัง ไม้มะซางมีรสหวาน งามรุ่งเรือง และมะเดื่อผลสุก อยู่ในที่ต่ำทั้งกล้วยงาช้าง กล้วยหอม ผลจันทน์มีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง ในป่านั้นมีรวงผึ้งไม่มีตัว คนถือเอาบริโภคได้เอง.

อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น มีดงมะม่วงตั้งอยู่ บางต้นกำลังออกช่อ บางต้นมีผลเป็นหัวแมลงวัน บางต้นมีผลห่ามเป็นปากตะกร้อ บางต้นมีผลสุก ทั้งสองอย่างนั้นมีพรรณดังสีหลังกบ.

 อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น บุรุษยืนอยู่ใต้ต้นก็เก็บมะม่วงสุกกินได้.

ผลมะม่วงดิบและสุกทั้งหลาย มีสีสวยกลิ่นหอมรสอร่อยที่สุด.
เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ข้าพเจ้าเหลือเกิน. ถึงกับออกอุทานว่า อือๆ ที่ประทับของพระเวสสันดรนั้น เป็นดังที่อยู่แห่งเทวดาทั้งหลาย งดงามปานนันทนวัน. มีหมู่ตาล มะพร้าว และอินทผลัมในป่าใหญ่ ราวกะระเบียบดอกไม้ที่ช่างร้อยกรองตั้งไว้ ปรากฏดังยอดธง วิจิตรด้วยบุปผชาติมีพรรณต่างๆ เหมือนดาวเรื่อเรืองอยู่ในนภากาศ แลมีไม้มูกมัน โกฐ สะค้าน และแคฝอย บุนนาค บุนนาคขาและทองหลาง มีดอกบานสะพรั่ง.


อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น มีไม้ราชพฤกษ์ ไม้มะเกลือ กฤษณา รักดำ ก็มีมาก ต้นไทรใหญ่ ไม้รกฟ้า ไม้ประดู่ มีดอกบานสะพรั่งในบริเวณอาศรมนั้น. มีไม้อัญชันเขียว ไม้สน ไม้กะทุ่ม ขนุนสำมะกอ ไม้ตะแบก ไม้รังล้วนมีดอกเป็นพุ่มคล้ายลอมฟาง.

ในที่ไม่ไกลอาศรมนั้น มีสระโบกขรณี ณ ภูมิภาคน่ารื่นรมย์. ดาดาษไปด้วยปทุมและอุบล ดุจในนันทนอุทยานของเหล่าทวยเทพ ฉะนั้น.
อนึ่ง ในที่ใกล้สระโบกขรณีนั้น มีฝูงนกดุเหว่าเมารสบุปผชาติ ส่งเสียงไพเราะจับใจ ทำป่านั้นอื้ออึงกึกก้อง ในเมื่อหมู่ไม้ผลิดอกแย้มบานตามฤดูกาล รสหวานดังน้ำผึ้งร่วงหล่นจากเกสรดอกไม้ลงมาค้างอยู่บนใบบัว เรียกว่าโบกขรมธุ น้ำผึ้งใบบัว (ขันฑสกร) อนึ่ง ลมทางทิศทักษิณและทิศประจิม ย่อมพัดมาที่อาศรมนั้น อาศรมเป็นสถานที่เกลื่อนกล่นด้วยละอองเกสรปทุมชาติ. ในสระโบกขรณีนั้นมีกระจับใหญ่ๆ ทั้งข้าวสาลีร่วงลง ณ ภูมิภาค เหล่าปูในสระนั้นก็มีมาก ทั้งมัจฉาชาติและเต่าว่ายไปตามกันเห็นปรากฏ ในเมื่อเหง้าบัวแตก น้ำหวานก็ไหลออก ดุจนมสด เนยใส ไหลออกจากเหง้าบัว ฉะนั้น.
วนประเทศนั้นฟุ้งไปด้วยกลิ่นต่างๆ หอมตลบไป วนประเทศนั้น เหมือนดังจะชวนเชิญชนผู้มาถึงแล้ว ให้ยินดีด้วยดอกไม้และกิ่งไม้ที่มีกลิ่นหอม.

แมลงผึ้งทั้งหลายก็ร้องตอมอยู่โดยรอบ ด้วยกลิ่นดอกไม้.

อนึ่ง ในที่ใกล้อาศรมนั้นมีฝูงวิหคเป็นอันมากมีสีสันต่างๆ กัน บันเทิงอยู่กับคู่ของตนๆ ร่ำร้องขานกะกันและกัน มีฝูงนกอีก ๔ หมู่ ทำรังอยู่ใกล้สระโบกขรณี คือ

หมู่ที่ ๑ ชื่อนันทิกา ย่อมร้องทูลเชิญพระเวสสันดรให้ชื่นชมยินดี อยู่ในป่านี้.

หมู่ที่ ๒ ชื่อชีวปุตตา ย่อมร่ำร้องถวายพระพรให้พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระโอรสพระธิดาและพระมเหสี จงมีพระชนม์ยืนนานด้วยความสุขสำราญ.

หมู่ที่ ๓ ชื่อชีวปุตตาปิยาจโน ย่อมร่ำร้องถวายพระพรให้พระเวสสันดร พร้อมทั้งพระโอรสพระธิดาและพระมเหสี ผู้เป็นที่รักของพระองค์จงทรงสำราญ มีพระชนมายุยืนนานไม่มีข้าศึกศัตรู.

หมู่ที่ ๔ ชื่อปิยาปุตตาปิยานันทา ย่อมร่ำร้องถวายพระพรให้พระโอรสพระธิดาและพระมเหสี จงเป็นที่รักของพระองค์. ขอพระองค์จงเป็นที่รักของพระโอรสพระธิดาและมเหสี ทรงชื่นชมโสมนัสต่อกันและกัน.

ทิวไม้ราวกะระเบียบดอกไม้ที่ช่างร้อย กรองตั้งไว้ ปรากฏดังยอดธง วิจิตรด้วยบุปผชาติมีพรรณต่างๆ เหมือนคนฉลาดเก็บมาร้อยกรองไว้. ซึ่งเป็นที่ประทับแห่งพระราชาเวสสันดร พร้อมด้วยพระมัทรีราชเทวี ทั้งพระชาลีและพระกัณหาชินา ทรงเพศบรรพชิตอันประเสริฐ และทรงขอสำหรับสอยผลาผล ภาชนะสำหรับใช้ในการบูชาเพลิงกับทั้งชฏา ทรงหนังเสือเหลืองเป็นภูษาทรง บรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงนมัสการเพลิง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จารุติมพรุกขา ได้แก่ ต้นมะพลับทอง. บทว่า มธุมธุกา ได้แก่ มะซางมีรสหวาน. บทว่า เถวนติ แปลว่า ย่อมรุ่งเรือง. บทว่า มธุตถิกา ได้แก่ เหมือนน้ำผึ้ง หรือเช่นกับรวงผึ้งเพราะมีน้ำหวานไหลเยิ้ม. บทว่า ปาเรวตา ได้แก่ ต้นกล้วยงาช้าง. บทว่า ภเวยยา ได้แก่ กล้วยมีผลยาว. สกมาทาย ความว่า ถือเอารวงผึ้งนั้นบริโภคได้เองทีเดียว. บทว่า โทวิลา ได้แก่ มีดอกและใบร่วงหล่น มีผลดาษดื่น. บทว่า เภงควณณา ตทูภยํ ความว่า มะม่วงทั้งสองอย่างนั้นคือ ดิบบ้าง สุกบ้าง มีสีเหมือนสีของหลังกบทีเดียว. บทว่า อเถตถ เหฏา ปุริโส ความว่า อนึ่ง ณ อาศรมนั้น บุรุษยืนอยู่ใต้ต้นมะม่วงเหล่านั้น ย่อมเก็บผลมะม่วงได้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นต้น. บทว่า วณณคนธรสุตตมา ได้แก่ อุดมด้วยสีเป็นต้นเหล่านี้. บทว่า อเตว เม อจฉริยํ ความว่า เป็นที่อัศจรรย์แก่ข้าพเจ้าเหลือเกิน. บทว่า หิงกาโร ได้แก่ ทำเสียงว่า หึๆ.
บทว่า วิเภทิกา ได้แก่ ต้นตาล บทว่า มาลาว คนถิตา ความว่า ดอกไม้ทั้งหลายตั้งอยู่บนต้นไม้ ที่มีดอกบานสะพรั่ง เหมือนพวงมาลัยที่นายมาลาการร้อยกรองไว้. บทว่า ธชคคาเนว ทิสสเร ความว่า ต้นไม้เหล่านั้นปรากฏราวกะยอดธงที่ประดับแล้ว. บทว่า กุฏชี กุฏตครา ได้แก่ รุกขชาติอย่างหนึ่งชื่อว่าไม้มูกมัน กอโกฐ และกอกฤษณา. บทว่า คิริปุนนาคา ได้แก่ บุญนาคใหญ่. บทว่า โกวิฬารา ได้แก่ ต้นทองหลาง. บทว่า อุทธาลกา ได้แก่ ต้นราชพฤกษ์ดอกสีเหลือง. บทว่า ภลลิยา ได้แก่ ต้นรักดำ. บทว่า ลพุชา ได้แก่ ต้นขนุนสำมะลอ. บทว่า ปุตตชีวา ได้แก่ ต้นไทรใหญ่. บทว่า ปลาลขลสนนิภา ความว่า พรานเจตบุตรกล่าวว่า ดอกไม้ที่ร่วงหล่นใต้ต้นไม้เหล่านั้น คล้ายลอมฟาง. บทว่า โปกขรณี ได้แก่ สระโบกขรณีสี่เหลี่ยม. บทว่า นนทเน ได้แก่ เป็นราวกะสระนันทนโบกขรณี ในนันทนวนอุทยาน. บทว่า ปุปผรสมตตา ได้แก่ เมาด้วยรสของบุปผชาติ คือถูกรสของบุปผชาติรบกวน. บทว่า มกรนเทหิ ได้แก่ เกสรดอกไม้.
บทว่า โปกขเร โปกขเร ความว่า เรณูร่วงจากเกสรดอกบัวเหล่านั้นลงบนใบบัว ชื่อโปกขรมธุน้ำผึ้งใบบัว (ซึ่งแพทย์ใช้เข้ายาเรียกว่า ขัณฑสกร). บทว่า ทกขิณา อถ ปจฉิมา ความว่า ลมจากทิศน้อยทิศใหญ่ทุกทิศ ท่านแสดงด้วยคำเพียงเท่านี้. บทว่า ถูลา สึฆาฏกา ได้แก่ กระจับขนาดใหญ่. บทว่า สสาทิยา ได้แก่ ข้าวสาลีเล็กๆ ซึ่งเป็นข้าวสาลีที่เกิดเองตั้งอยู่ เรียกว่าข้าวสาลีบริสุทธิ์ ก็มี. บทว่า ปสาทิยา ได้แก่ ข้าวสาลีเหล่านั้นแหละร่วงลงบนพื้นดิน. บทว่า พฺยาวิธา ความว่า เหล่าสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เที่ยวไปเป็นกลุ่มๆ ในน้ำใส ว่ายไปตามลำดับปรากฏอยู่. บทว่า มูปยานกา ได้แก่ ปู. บทว่า มธํ ภึเสหิ ความว่า เมื่อเหง้าบัวแตก น้ำหวานไหลออกเช่นกับน้ำผึ้ง. บทว่า ขีรํ สปปิ มูฬาลิภิ ความว่า น้ำหวานที่ไหลออกจากเหง้าบัว เป็นราวกะเนยข้นเนยใสผสมน้ำนม. บทว่า สมโมทิเตว ความว่า เป็นเหมือนจะยังชนที่ถึงแล้วให้ยินดี. บทว่า สมนตามภินาทิตา ความว่า เที่ยวบินร่ำร้องอยู่โดยรอบ.
บทว่า นนทิกา เป็นต้นเป็นชื่อของนกเหล่านั้น ก็บรรดานกเหล่านั้น นกหมู่ที่ ๑ ร้องถวายพระพรว่า ข้าแต่พระเวสสันดรเจ้า ขอพระองค์จงชื่นชมยินดีประทับอยู่ในป่านี้เถิด. นกหมู่ที่ ๒ ร้องถวายพระพรว่า ขอพระองค์พร้อมทั้งพระโอรสพระธิดา และพระมเหสีจงมีพระชนม์ยืนนาน ด้วยความสุขสำราญเถิด. นกหมู่ที่ ๓ ร้องถวายพระพรว่า ขอพระองค์พร้อมทั้งพระโอรสพระธิดา และพระมเหสีผู้เป็นที่รักของพระองค์ จงทรงสำราญมีพระชนม์ยืนนาน. ไม่มีข้าศึกศัตรูเถิด. นกหมู่ที่ ๔ ร้องถวายพระพรว่า ขอพระโอรสพระธิดาและพระมเหสี จงเป็นที่รักของพระองค์. ขอพระองค์จงเป็นที่รักของพระโอรสพระธิดา และพระมเหสี. ทรงชื่นชมโสมนัสกันและกันเถิด. เพราะเหตุนั้น นกเหล่านั้นจึงได้มีชื่ออย่างนี้แล. บทว่า โปกขรณีฆรา ได้แก่ ทำรังอยู่ใกล้สระโบกขรณี.

พรานเจตบุตรแจ้งสถานที่ประทับของพระเวสสันดรอย่างนี้แล้ว ชูชกก็ยินดี เมื่อจะทำปฏิสันถาร จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ก็สัตตูผงอันระคนด้วยน้ำผึ้งและสัตตูก้อน มีรสหวานอร่อยของลุงนี้ อมิตตตาปนาจัดแจงให้แล้ว ลุงจะแบ่งให้แก่เจ้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตตุภตตํ ได้แก่ ภัตตาหาร คือสัตตูที่คล้ายน้ำผึ้งเคี่ยว. มีคำอธิบายว่า สัตตูของลุงที่มีอยู่นี้นั้น ลุงจะให้แก่เจ้า เจ้าจงรับเอาเถิด.

พรานเจตบุตรได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ จงเอาไว้เป็นเสบียงทางของลุงเถิด ข้าพเจ้าไม่ต้องการเสบียงทาง ขอเชิญลุงรับน้ำผึ้งกับขาเนื้อย่าง จากสำนักของข้านี้เอาไปเป็นเสบียงทาง ขอให้ลุงไปตามสบายเถิด ทางนี้เป็นทางเดินได้คนเดียว มาตามทางนี้ ตรงไปสู่อาศรมอัจจุตฤาษี.


พระอัจจุตฤาษีอยู่ในอาศรมนั้น มีฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ ทรงเพศเป็นพราหมณ์ มีขอสำหรับสอยผลาผล ภาชนะสำหรับใช้ในการบูชาเพลิง กับทั้งชฎา ครองหนังเสือเหลือง นอนเหนือแผ่นดิน นมัสการเพลิง ลุงไปถึงแล้วถามท่านเถิด ท่านจักบอกหนทางให้แก่ลุง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมพลํ ได้แก่ เสบียงทาง. บทว่า เอติ ความว่า หนทางเดินได้เฉพาะคนเดียวมาตรงหน้าเราทั้งสองนี้ ตรงไป อาศรมบท. บทว่า อจจโต ความว่า ฤาษีองค์หนึ่งมีชื่ออย่างนี้ อยู่ในอาศรมนั้น.

ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์ได้ฟังคำนี้แล้ว ทำประทักษิณเจตบุตร มีจิตยินดี เดินทางไปยังสถานที่ อัจจุตฤาษีอยู่ ดังนี้แล.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยนาสิ ความว่า อัจจุตฤาษีอยู่ในที่ใด ชูชกไปแล้วในที่นั้น.

หมายเลขบันทึก: 462687เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2011 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

จุลพน หมายถึง ป่าที่มีต้นไม้น้อยๆ หรือป่าโปร่ง

กัณฑ์จุลพน ประดับด้วยคาถา ๓๕ พระคาถา

เป็นพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร

เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลง “คุกพาทย์” หรือ “รัวสามลา”

ประกอบกิริยาการแสดงอิทธิฤทธิ์ หรือการข่มขวัญ ซึ่งพรานเจตบุตรได้แสดงแก่ชูชก

ข้อคิดจากกัณฑ์

มีอำนาจ แต่หากขาดปัญญา ย่อมถูกหลอกได้ง่าย

เนื้อความโดยย่อ

พรานเจตบุตร ซึ่งได้รับคำสั่งจากกษัตริย์เจตราษฏร์

ให้ทำหน้าที่เป็นนายด่านประตูป่า

คอยห้ามมิให้ผู้ใดไปพบกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ เว้นแต่ราชทูตเท่านั้น

รู้ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของชูชก

จึงหลงเชื่อ ให้ที่พักอาศัยและเลี้ยงดูจนอิ่มหนำสำราญ

ครั้นรุ่งเช้าก็จัดเตรียมเสบียงให้ชูชก

พร้อมทั้งนำชูชกไปยังต้นทางที่จะไปยังเขาวงกต

และชี้บอกเส้นทางที่จะต้องผ่านว่า

ต้องผ่าน เขาคันทมาทน์ อันอุดมด้วยไม้หอมนานาชนิด

ถัดไปจะเห็นเขาสีเขียวคราม คือ เขาอัญชัน

ซึ่งอุดมไปด้วยไม้ผลและสมุนไพรชนิดต่างๆ

เดินต่อไปอีกสักครู่จะถึงสวนอัมพวันใหญ่ คือป่ามะม่วง

ถัดไปเป็นป่าตาล ป่ามะพร้าวกับต้นแป้ง

จากนั้นจะเป็นป่าไม้ดอกนานาพันธุ์ ที่มีกลิ่นหอมตระหลบอบอวลไปทั้งป่า

แล้วจะถึงสระอันอุดมไปด้วยสัตว์น้ำหลากหลายชนิด

มีขัณฑสกรที่เป็นน้ำตาลที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นบนใบบัว และเป็นเครื่องยาอย่างดีที่หาได้ยาก

พรานเจตบุตร ยังได้แนะทางที่จะไปยังอาศรมของ พระอัจจุตฤาษี

เพื่อให้ชูชกถามถึงหนทางที่จะไปยังพระอาศรมของ พระเวสสันดร

ชูชกจำเส้นทางที่ พรานเจตบุตร บอกไว้

แล้วอำลาโดยทำประทักษิณ ๓ รอบ จากนั้นจึงออกเดินทางต่อไป

ตัวละครสะท้อนคุณธรรม

พรานเจตบุตร เป็นแบบอย่างของคนดี คนซื่อ

แต่ขาดความเฉลียวฉลาดจึงถูกหลอกได้ง่าย

พระโบราณจารย์เจ้า ได้แสดงอานิสงส์แห่งการบูชาในเวสสันดรชาดกไว้โดยลำดับดังนี้

ผู้บูชากัณฑ์จุลพน (กัณฑ์ที่ ๖)

แม้จะบังเกิดในปรภพใดๆ

จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติบริวาร

จะมีอุทยานอันดาดาษด้วยดอกไม้ของหอม

และจะมีสระโบกขรณีอันเต็มไปด้วยปทุมชาติ

ครั้นตายไปแล้วก็จะได้เสวยทิพยสมบัติ

ในโลกหน้าสืบไป

เก่งธรรมะจังเลยคับ

บูชาไงอ่ะคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท