จากประสบการณ์ที่สัมผัสในวงการ KM ดิฉันย้อนกลับไปตรวจสอบสิ่งที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เคยเขียนไว้ในเอกสารประกอบการประชุมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ในหัวเรื่อง "ธารปัญญา" อธิบายการดำเนินการจัดการความรู้ตามแนว สคส. ดังรูป ในแกนทแยง ซึ่งมีความสำคัญต่อพลังของการจัดการความรู้ ได้แก่ คน วัฒนธรรม และเครื่องอำนวยความสะดวกต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาจารย์วิจารณ์เขียนไว้ว่า คุณสมบัติที่สำคัญของคนคือ "ความมีใจที่เปิดกว้าง มีทักษะในการฟังและเข้าใจผู้อื่น ยอมรับความแตกต่าง"
ตอนที่อ่านเอกสารดิฉันไม่ได้คิดอะไรมาก รับรู้เพียงว่าคนต้องมีใจเปิดกว้าง แต่พอได้เข้ามาในวงการ KM ทำงานอยู่ท่ามกลางทีมสหวิชาชีพซึ่งให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ดิฉันเห็นจริงว่าในสถานการณ์เดียวกัน คนเรียนรู้ไม่เท่ากัน คนที่มีใจเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ จะรู้จักมองหาและเก็บเกี่ยว "ความรู้ฝังลึก" ได้เร็ว รู้สึก appreciate กับความรู้ที่ได้แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ เมื่อเจอความรู้ก็มองเห็นภาพการนำไปใช้ต่อในงานของตน ความรู้ฝังลึกไม่ได้ปรากฎตัวอย่างตรงไปตรงมาเหมือนความรู้แจ้งชัด คนที่มีใจเปิดกว้าง (บวกกับความเชื่อที่ว่ามีความรู้อยู่ในผู้ปฏิบัติ) เท่านั้น จึงจะจับ "ความรู้ฝังลึก" ได้
ดิฉันก็สังเกตเห็นเช่นกันว่า คนที่ "เชื่อ" ว่าตนมีความรู้มาก คนที่หวงความรู้ไม่เต็มใจแบ่งปัน นอกจากจะไม่ได้เรียนรู้จากผู้อื่นแล้ว ยังอาจค้นไม่พบความรู้ฝังลึกของตนเองอีกด้วย
วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๘
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย วัลลา ตันตโยทัย ใน DM KM Facilitator
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก