ผลไม้ใกล้บ้าน (ลูกพลา)


ลูกพลา ผลไม้พื้นบ้านคนคอน

          วันก่อนพี่สะใภ้ แต่งกลอนลูกรกช้างมาให้ 1 ครั้ง วันนี้ขอกลอน  ลูกพลา มาเพิ่มอีก  แต่พี่สะใภ้บอกว่ากำลังรวบรวมเพื่อทำเป็นผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ แต่งเป็นเพลงบอกเพื่ออนุรักษ์ทั้งพันธุ์ไม้พื้นบ้าน   วัฒนธรรม  การละเล่น  และภูมิปัญญา  น่าจะไปได้สวย  แต่คงต้องใช้เวลาในการรวบรวมอีกหลายเล่ม    ผู้เขียนขอมาเผยแพร่ให้ก่อน   เพื่อให้ผู้อ่านได้ ติ-ชม    ลองอ่านคำกลอนดูนะคะ  ( ส่วนสาระตรงอื่นผู้เขียนไปหามาจากหนังสือบ้าง  จากอินเตอร์เนตบ้าง   )  

                                              ลูกพลา

                เราคนคอนเด็กท่งนา             หาลูกพลามากินกัน

                รสชาตินั้นหวานอมเปรี้ยว      เม็ดไม่เคี้ยวคายทิ้ง

                ไม้ยืนต้นเนื้อแข็งดี                 เรียวไม้ตีวัวควายวิ่ง

                ให้มันนิ่งไม่ดื้อซน                  ใช้ได้ผลครัน

                เนื้อไม้พลาทำถ่านไฟ          ความร้อนได้ติดทนนาน

                พวกชาวบ้านได้ประหยัด     ถ้ารู้จัดสรร

                ลูกของพลาขนาดเล็ก          พวกเด็กเด็กชอบเล่นกัน

                ลูกอ่อนนั้นมันสีเขียว            รสชาติเปรี้ยวจัง

                เมื่อลูกมันแก่และสุกงอม    รสหวานหอมสุดแสนหรอย 

                เด็กตัวน้อยเก็บเร็วไว            มากมายดังใจหวัง

                ส่วนใบพลาจะขอบอก          ไม่ลื่นหรอกแต่คายจัง

                ชาวบ้านนั่งรูดปลาไหล          สะอาดดังใจปอง

                ประโยชน์ของต้นไม้พลา       มีคุณค่าหลายประการ

                ต้นเผ่าถ่านลูกกินดี                อย่างน้อยมีสอง

                นำลูกพลามาเล่นฉับโผลง      เป็นตัวโกงเป็นผู้กอง

                ชวนเพื่อนพ้องเล่นยิงกัน        พิษภัยนั้นหลาย

                คนใต้ทุกวันนี้ไม่รู้ค่า               ลืมต้นพลากันหมดสิ้น

                ไม้พื้นถิ่นช่วยอนุรักษ์              ก่อนที่จักสาย

                วิงวอนท่านช่วยรักษา             ปลูกต้นพลาให้มากมาย

                จะผ่อนคลายดับความร้อน         ผูกเปลนอนกัน

                ร่วมปลูกพลาถวายพ่อไทย         โลกสดใสได้แน่นอน

                ให้คนคอนได้ร่ำลือ                       ป่าพลาคือสวรรค์

 

                     

ชื่อวิทยาศาสตร์      Microcos tomentosa  Smith.      ชื่อวงศ์     TILIACEAE

ชื่ออื่นๆ          พลับพลา ขี้เถ้า (ภาคกลาง),    กะปกกะปู  สากกะเบือ       พลา  คอม  กอม (ภาคเหนือ), คอมส้ม   ก้อมส้ม(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ),  พลองส้ม  คอมเกลี้ยง (ภาคตะวันออก),  มลาย (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)   พลา (ภาคใต้)

พลา   เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง (สูงถึง 15 เมตร) ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กลับ กว้าง 4 - 8 ซม. ยาว 8- 17 ซม.   ใบเรียบ ปลายใบแหลมหยักคอดเป็นติ่งสั้นหรือเว้าแหว่งเป็นริ้ว   ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบมี 3 เส้น จากฐานเดิม  มีขนสากทั่วไป ช่อดอกออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมากและล้อมรอบรังไข่   ผล รูปไข่    กลับ มีก้านยาวโค้ง  ผิวของผลมีขนทั่วไป    เมื่อแก่สีเหลือง  สุกสีเขียวคล้ำถึงดำ   พลาออกดอก  ตั้งแต่เดือนเมษายน พฤษภาคม

ส่วนที่ใช้ประโยชน์   :   ผลพลา สุกกินได้    เนื้อไม้, แก่น ต้มน้ำดื่ม แก้หืด

 “พลา"  คือต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่มีมากแถวๆท้องนาท้องไร่ (ไม่แน่ใจว่าภาคอื่นๆ จะมีหรือเปล่า? แต่ภาคใต้มีเยอะมาก ขึ้นอยู่ทั่วไปหมด)   พลา เป็นไม้เนื้อแข็ง ชาวบ้านมักนำกิ่งพลาเป็นไม้เรียว(ตีก้นพวกลิงทโมนทั้งหลาย ใช้ตีวัว ควายเวลามันดื้อ) ไม้พลาที่ต้นใหญ่ๆ ชาวบ้านมักนำไปเผาถ่าน ถ่านจากไม้พลาสามารถให้ความร้อนได้ดี

ใบ มีลักษณะยาวและแหลมตรงส่วนปลายใบ เมื่อคลำดูรู้สึกสากๆ  ชาวบ้านชอบนำไปรูดปลาไหล (คล้ายใบนมวัวนมควาย)

ดอก เป็นดอกเล็ก ๆ สีเหลืองมีลักษณะเป็นพวง

ผล หรือ ภาษาบ้านๆ เรียกว่า “ลูกพลา” มีลักษณะเป็นพวง/ช่อ ภายใน 1 พวงหรือ 1 ช่อ ประกอบด้วยผลกลมๆ เล็กๆ  หลายสิบลูก

- ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน

- ผลแก่ สีจะมีความเข้มมากขึ้น

-ผลสุกจะมีสีดำ เด็กๆ ชอบนำมากิน เพราะมีรสชาดหวานมัน อร่อย

ลูกพลาจัดเป็นผลไม้ของเด็กๆ อีกชนิดหนึ่ง เมื่อสมัยที่ผู้เขียนยังอยู่ในวัยเยาว์จะชวนเพื่อนๆไปเก็บลูกพลาอ่อนนำมาแทนเม็ดกระสุนปีนใส่ในกระบอก “ฉับโผง” ซึ่งเป็นของเล่นที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่

            

“ฉับโผง” เป็นของเล่นชนิดหนึ่งที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่สดๆ ใช้ไม่ไผ่ลำเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.2-0.3 ซม. (พอที่จะใส่ลูกพลาในกระบอกพอดี) โดยมีส่วนประกอบเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก เป็นไม้ไผ่กลวง ความยาวประมาณ 8 – 10 ซม.

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนด้ามที่นำไม้ไผ่มาเหลาเกลาให้กลม  ความยาวประมาณ 8 – 10 ซม. เช่นกัน กล่าวคือ ขนาดพอที่จะกระทุ้งเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้(ส่วนแรก) แล้วทำด้ามจับขนาดพอดีมือ(ประมาณ 5-6 ซม.)

วิธีเล่น เก็บลูกพลาอ่อน ๆสด ๆอัดเข้าไปในกระบอกฉับโผง แล้วมือข้างหนึ่งถือกระบอกมือข้างหนึ่งถือด้ามจับสอดปลายด้าม แล้วออกแรงกระทุ้งไปด้านหน้าแรงๆให้แรงอัดดันลูกพลาพุ่งออกไปนอกกระบอกใช้ยิงต่อสู้กัน โดยแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกเป็นโจร ฝ่ายหลังเป็นตำรวจ(หรือทหาร)จะคอยไล่ล่าโจรผู้ร้าย ต่างฝ่ายต่างก็มี “ฉับโผง” เป็นอาวุธ หากลูกพลาที่ยิงออกไปโดนใคร แสดงว่าคนนั้นโดนกระสุนปืนบาดเจ็บและตาย ไม่มีสิทธิ์จะเล่นต่ออีก ฝ่ายใดเหลือผู้เล่นมากกว่าถือว่าเป็นฝ่ายชนะ (ข้อควรระวัง คือ  ต้องคอยหลบให้ดี เพราะ ถ้าหลบไม่ดี ลูกกระสุนที่ว่าจะโดนตา  ตาอาจจะเจ็บหรือบอดได้)

วิธีทำกระบอกฉับโผ

วัสดุ

1. กิ่งไม้ไผ่ที่มีรู

2. ไม้ไผ่แห้งเหลาเท่าขนาดรู

3. ลูกพลา (ฉับพลา) หรือ กระดาษชุบน้ำ สำหรับเป็นลูกกระสุน

วิธีทำ

1. ตัดไม่ไผ่ให้มีรูทั้งสองด้าน

2. นำไม้ไผ่แห้งมาเหลาให้เท่าขนาดรู พร้อมทำด้ามจับ เพื่อเป็นไม้กระทุ้ง

3. ใส่กระสุน แล้วกระทุ้งให้เกิดแรงดัน แล้วเล็งไปที่ต้องการ จะมีเสียงดัง...สนุกมากค่ะ

ขอขอบคุณ : บทกลอนจากพี่สะใภ้

                   :  ภาพ จากอินเตอร์เนต

หมายเลขบันทึก: 460472เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2011 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เจริญพรคุณครูkasorn - taparat

ขอบคุณคุณครูที่นำผลไม้พื้นบ้านมาเผยแพร่ 
อาตมาหาข้อมูลเรื่องนี้ในอินเตอร์เน็ทมาตั้งนานเป็นปีแล้ว แต่ก็หาไม่เจอสักที เพราะเรียกชื่อไม่ตรงกันนี่เอง จึงหาเท่าไหร่ก็หาไม่พบ

เมื่อเดือนที่แล้ว(สิงหาคม ๒๕๕๔) ไปงานทำบุญที่สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่(อยู่บนเขา ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ยังไม่มีไฟฟ้า) ต.วังนกแอ่น อำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก ไปเจอผลไม้ชนิดหนึ่งที่เราเคยกินตอนเป็นเด็กมีอยู่ในวัดหลายต้นเลย

คนที่นั่นเรียกต้นคอม ลูกคอม ส่วนบ้านอาตมาที่อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ เรียกว่าลูกไม้ลาย เคยพิมพ์ข้อความชื่อที่คนหนองบัวเรียกกัน ก็ไม่พบในอินเตอร์เน็ท เมื่อได้ชื่อไม้คอม ลูกคอมมาจากบ้านวังนกแอ่น ก็ลองหาดูอีก ก็ยังไม่เจออยู่ดี

วันนี้มาเจอข้อมูลของคุณครูรู้สึกดีใจจัง ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมาก ได้รู้จักชื่อใหม่อีกหลายชื่อและก็ได้รู้ว่าคนเมืองคอนเรียกว่าลูกพลาอีกด้วย ได้อ่านทั้งบทกลอน บทความสาระความรู้ครบถ้วนสมบูรณ์

และที่ดีใจอีกอย่างหนึ่งก็คือมีชื่อหนึ่งที่เรียกใกล้เคียงกันกับท้องถิ่นบ้านอาตมา(ไม้ลาย)นั่นก็คือมลายของ(ภาคตะวันออกเฉียงใต้)

ตอนเป็นเด็กเล่นไม้อีโบ๊ะก็จะใช้ลูกไม้ลายนี้แหละ ทำเป็นลูกกระสุน ยิงกันสนุกสนาน อีกทั้งลูกสุกก็กินอร่อยด้วย (เมื่อก่อนไม่ค่อยมีผลไม้อะไรให้กินมากมายด้วย) ผลไม้ป่า ผลไม้ในทุ่งนา รู้สึกว่าจะกินอร่อยไปซะหมดนั่นแหละ สมัยนี้ผลไม้เยอะเหลือเกิน แต่ของไทยๆเริ่มสูญหาย ผู้คนไม่รู้จักมากขึ้น(แม้แต่ชื่อก็ไม่รู้จัก คงไม่ต้องกล่าวถึงว่าเคยกินไหม)

ได้ความรู้ใหม่จากเมืองคอนอีกแล้วไม้อีโบ๊ะ "ฉับโผง" : การละเล่นนของเด็ก

นำภาพที่ถ่ายไว้เมื่อเดือนที่แล้ว มาฝากให้ดูด้วย

                          
                          
                          
                           อธิบายภาพ : ลูกไม้ลาย(อำเภอหนองบัว)นคสวรรค์ ลูกคอม(อำเภอวังทอง)พิษณุโลก
                          

 

มนัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • ชื่อเรียกไม่เหมือนกัน  แต่ดูจากภาพแล้ว ชนิดเดียวกันแน่นอนค่ะ
  • ภาษาถิ่นแต่ละถิ่นไม่เหมือนกัน  แต่วัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน
  • ตอนเด็กๆผลไม้พวกนี้จะมีเยอะ หากินกันเองไม่ต้องซื้อหา
  • สนุกสนาน  แล้วก็อิ่มด้วย 
  • การเล่นไม่ฉับโผง  เด็กๆยังเล่นกันอยู่แต่ต้องคอยระวังความปลอดภัย
  • ขอบพระคุณที่พระคุณเจ้าให้ความสนใจเจ้าค่ะ

สุพรรณ เรียก"ไม้ลาย" ค่ะ
เคยกินแล้ว
“ฉับโผง”  ก็เคยเล่นค่ะ

   แสดงว่าไล่รุ่นพี่ทัน  อิๆๆ 

   อาจารย์ได้กินผลไม้สมัยใหม่เลยลืมของเก่า

             เข้าตำราได้ใหม่ลืมเก่า /ขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ

 

  • สวัสดียามดึกค่ะพี่ครู 
  • ไม่เคยทานเลยนะคะ แต่จำได้ว่าตอนเด็กๆ มีการเล่นยิงกันโดยใช้เม็ดผลไม้ ใส่อย่างนี้แหละค่ะ จำไม่ได้ว่าเรียกอะไร
  • ขอบคุณคำกลอนที่อนุรักษ์ผลไม้และข้อมูลที่ไม่เคยทราบ มากๆค่ะ
  • ฉับโผลง ฉับโผง คุ้นๆว่าเคยได้ยินมาแล้ว พอเห็นภาพ อ๋อ! ท่านวอญ่าเคยบอกนี่เอง เด็กๆบ้านกร่างเรียก"อีโบ๊ะ"ครับพี่ครู ฮาๆๆ 
  • ขอบคุณกลอนความรู้เกี่ยวกับลูกพลานี้ครับ

ฉับโผงๆ ไม่ได้ยินนานมากๆ พี่สอนจ๋า

ได้อ่านกลอนภาษาใต้ แล้วได้แรงอกนิ

 Ico48  สวัสดีค่ะน้องปู 

  • ฉับโผงเด็กๆบ้านพี่เขายังเล่นกัน  เป็นการละเล่นพื้นบ้าน  แต่กระสุนอาจเปลี่ยนแปลงไปตามความสะดวก  บางครั้งนักเรียนใช้กระดาษปั้นเป็นก่อนกลมๆ  แต่ตอนนี้ครูต้องห้ามนักเรียนนำเข้ามาเล่นในโรงเรียนเพราะกลัวอันตราย  เข้าหน้าเข้าตา  ตาอาจบอดได้
  • ส่วนกลอนพี่สะใภ้เพื่อแต่งเป็นคำร้องเพลงบอกค่ะน้องปู  แต่พี่ยังว่าไม่เป็นเลย  อิๆๆ

ขอบคุณค่ะ..ที่บ้านมีต้นไม้ ใบสากๆ คล้ายๆกันค่ะ..ขึ้นเอง สงสัยนกมาทิ้งเมล็ดไว้..ให้คนมาตัดทิ้งเสียแล้ว เพราะความไม่รู้จัก..

Ico48  ขอบคุณพี่ใหญ่เช่นกันค่ะ

พังงา เรียกลูกมายล์

อยู่ใกล้กันยังเรียกแตกต่างนะคะ

         ขอบคุณคุณทิพย์ที่มาทักทายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท