๙๖. อสม.พลังประชาชนเพื่อปฏิรูปวิถีชีวิตสุขภาพและการจัดการสุขภาวะชุมชน


เครือข่ายความร่วมมือออนไลน์เพื่อทำงานแบบบูรณาการ 
Cross-Organization Cooperative Working,
Learning from Case of Creative Drawing for VHV Roles Promotion 

ทางเครือข่ายผู้นำ อสม. และศูนย์สุขภาพภาคประชาชนภาคตะวันออก ชลบุรี เตรียมจะใช้โอกาสเทศกาลปีใหม่ทำสื่อเผยแพร่สื่อสารต่างๆ ให้มีความหมายต่อการรณรงค์ทางสุขภาพของภาคประชาชนและมีความหมายต่อการเชิดชูพลังจิตอาสา และจิตวิญญาณอาสาสมัคร ของเครือข่าย อสม.ไปด้วย เลยมาขอให้ผมวาดรูปให้

ผมเลยวาดความเป็นสุขภาพใกล้บ้านใกล้ใจ เพื่อสื่อความมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขมูลฐานในด้านที่จะสามารถเชื่อมโยงกับงานสุขภาพชุมชนและงานสุขภาพปฐมภูมิ, งานที่เริ่มมีความเป็น Home visit, งาน Home-Based Primary Care, งานสุขภาวะทางจิตใจ รวมทั้งแสดงมิติทุนทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนชาวบ้านไทย ที่จะมีบทบาทสำคัญมากต่อลักษณะการทำงานสุขภาพชุมชน ทาง ผอ.ศูนย์สุขภาพภาคประชาชนภาคตะวันออก ชลบุรี และคณะทำงานบอกว่าชอบ ก็เลยทำให้เลือกเอาไปใช้เองตามอัธยาศัย ๒ แบบ คือลายเส้นขาวดำและระบายสีให้อ่อนๆ

เรียนรู้งานศิลปะเชิงวิชาการ
และกระบวนการทำงานสร้างสรรค์สื่อศิลปะ

งานศิลปะบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวที่ต้องการด้วยภาพอย่างนี้ เรียกว่าภาพประกอบเพื่อแสดงข้อมูล หรือภาพ Illustration เพื่อสื่อความรู้ ความเข้าใจ ให้อารมณ์ความรู้สึก และเข้าถึงจินตนาการต่อความเป็นจริงได้ดีที่สุด คุณลักษณะของภาพจะมีความสามารถในการบันทึกและนำเสนอข้อมูล เพื่อให้ความรู้และแสดงความเป็นจริงให้เข้าถึงได้ด้วยภาพวาด (Informative and Educative Drawing)

ในการทำศิลปะสื่อและในภาคธุรกิจเอกชนนั้น ภาพลักษณะนี้จะต้องใช้คนทำงานหลายกลุ่มงาน คือ ๑) งานวิเคราะห์และเตรียมข้อมูล ซึ่งต้องค้นคว้าข้อมูลเพิ่ม วิเคราะห์ และนำเสนอให้ได้ประเด็นที่แจ่มชัดที่สุด เรียกว่าทำบรี๊ฟ หรือทำ Creative Briefs Data  ๒) งานคิดและสร้างสรรค์ หรือทำ Creative เพื่อแปรข้อมูลไปสู่การออกแบบปมและสถานการณ์ของการนำเสนอที่ดีที่สุด ให้แรง โดนใจ สร้างสรรค์อย่างมีรสนิยม ให้ความบันดาลใจและให้กำลังความมีจิตใจสูงแก่สังคม ) งานขยายและผลิตซ้ำความคิดให้ทำเป็นสื่อได้ หรือ Copy write และ Re-write เพื่อทำความคิดสร้างสรรค์และปมที่วิเคราะห์และออกแบบให้ลงตัวแล้ว ให้ออกมาเป็นภาพร่าง คำพูด และองค์ประกอบต่างๆ ๔) งานทำให้เป็นภาพ หรือ Visualization ให้ทุกฝ่ายสามารถเลือกและตรวจสอบองค์ประกอบทุกด้านอย่างพิถีพิถันก่อนการลงมือผลิต ๕) การนำเสนอ ปรับปรุงและบรรณาธิกร ๖) งานผลิต ๗) งานสตูดิโอ จะเป็นงานเฉพาะทางของฝ่ายเทคนิคต่างๆ ซึ่งทีมทำสื่อและงานสร้างสรรค์พอจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้ แต่เจ้าของงานและคนทั่วไปเข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนนี้ นอกจากจะไม่ทันการณ์แล้วก็จะซับซ้อนเกินที่จะคุยกันของคนทำกับคนที่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ  

ดังนั้น เบื้องหลังของการที่จะได้สื่อและงานศิลปะสื่อที่ดีนั้น จึงมีความจำเป็นมากที่จะต้องใช้คนที่มีความสามารถสูงในหลายด้าน มีงบประมาณที่เหมาะสม และต้องการทักษะการจัดการที่จำเป็นหลายด้าน อีกทั้งหากคนทั่วไปทราบระบบการทำงาน ก็จะสามารถรู้ได้ว่า ขั้นตอนที่เจ้าของงานและผู้ทำงานเชิงเนื้อหาควรเข้าไปเกี่ยวข้องและทุ่มเทให้ความร่วมมือคนทำงานสร้างสรรค์ศิลปะสื่อให้มากนั้น คือ ขั้นตอนที่ ๑ และ ๕ หากเป็นขั้นตอนอื่นแล้วจะทำให้กระบวนการต่างๆเสียหายและต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรในทุกด้าน อีกทั้งเป็นเหตุให้งานส่วนใหญ่ของราชการและงานทางความรู้ ได้ผลออกมาไม่ดี การเรียนรู้และมีความเข้าใจกระบวนการเหล่านี้ จึงเป็นการสร้างทุนการปฏิบัติที่จะช่วยลดความสูญเสียในระบบ เพิ่มคุณภาพงานสื่อสารและพัฒนาการเรียนรู้ของสังคมได้อย่างแน่นอน

วิธีคิดเพื่อบุกเบิกและพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร

ในหน่วยงานราชการส่วนมากแล้ว จะขาดระบบการทำงานเชิงสร้างสรรค์ในลักษณะดังกล่าวนี้มาก อีกทั้งวัฒนธรรมในองค์กรราชการนั้น ก็มักไม่เอื้อต่อการทำงานในลักษณะนี้เลย แต่หน่วยงานราชการเป็นคลังความรู้และคลังทางวิชาการที่ดี มีคนที่มีกำลังทางความรู้ มีทักษะด้านข้อมูล ซึ่งก็เป็นจุดแข็งที่หาได้ยาก ผมจึงสร้างโอกาสเท่าที่ทำได้เพื่อเสริมด้านที่ขาดหาย โดยพัฒนาหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนากำลังคนของหน่วยงานต่างๆที่มีพื้นความสนใจทางด้านนี้ให้มีทักษะพึ่งตนเองเพื่อทำงานอย่างบูรณาการอยู่ในตนเองสำหรับทำงานสร้างสรรค์อย่างนี้ โดยดึงเอาบุคลากรฝ่ายเทคนิค (Media and Communication Technical Specialists) มาอบรมและจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะเชิงเนื้อหา อีกด้านหนึ่ง ก็ดึงเอาครูอาจารย์และนักวิชาการที่มีเนื้อหาในงานต่างๆ (Academician and Contents Expert) มาเติมทักษะศิลปะสื่อให้เป็นกลุ่มคนที่มีทักษะบูรณาการอยู่ในตนเอง เพื่อทำสื่อและมีศิลปะของการสื่อความรู้กับสังคมขึ้นใช้งานได้อย่างเหมาะสม หรืออย่างน้อย ก็มีพื้นฐานที่ดีกว่าเดิม เพื่อสามารถทำงานเชิงนโยบายและประสานความร่วมมือ เดินไปหามืออาชีพในภาคธุรกิจ สามารถร่วมคิด ทำ และสื่อสะท้อนความต้องการต่างๆบนฐานของการมีความเข้าใจ มีรสนิยม และมีความแตกฉานเรื่องศิลปะสื่อ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถเป็นเครือข่ายปฏิบัติการความรู้เชิงสังคม ทำให้ส่วนรวมมีความแข็งแรงสำหรับเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยความรู้

ทำไปได้มากพอสมควร ต่อเนื่องเป็น ๑๐ ปี กระทั่งทำเวทีระดับประเทศทางด้านสื่อสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็นกลไกคนทำสื่อและมือวิชาการในแนวบูรณาการ เคลื่อนไหวในขอบเขตทั้งประเทศลงไปจนถึงในงานประจำของหน่วยงานสาขาต่างๆ โดยเชื่อว่า สังคมแห่งความรู้และสังคมที่มีความเข้มแข็งทางปัญญาจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เป็นแน่ หากคนที่อยู่ใกล้ข้อมูลและความรู้ ไม่สามารถสื่อสารและถ่ายทอดความรู้ให้กับสังคม และไม่สามารถเข้าถึงภาคความสร้างสรรค์ของสังคมเพื่อเชื่อมโยงทุนศักยภาพของกันและกันให้สะท้อนไปสู่การทำสิ่งต่างๆให้ออกมาได้อย่างดี ดีกว่าทำแบบแยกส่วนที่ไม่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม การที่มีระบบออนไลน์ให้คนที่สามารถประสานความร่วมมือและทำงานด้วยกันได้ ได้ใช้เป็นช่องทางสร้างความร่วมมือกันทำงานเพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม แบบข้ามกรอบความเป็นองค์กรและข้ามข้อจำกัดต่างๆดังที่กล่าวถึงในข้างต้นได้ ก็เป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่งในการทำงานในหน่วยงานราชการให้เกิดผลดีได้มากขึ้น

เรียนรู้ อสม.และเรียนรู้ทางสังคม

ดูรูปเพลินๆแล้วก็น่าจะได้รู้จัก อสม.และถือโอกาสได้เรียนรู้สังคมที่อยู่รอบตัวไปด้วยบางแง่มุม ที่บอกเล่าอยู่บนความเป็น อสม.

  • อสม. เป็นคำย่อที่ย่อมาจาก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ชื่อภาษาอังกฤษที่ใช้ในประเทศไทยและนานาชาติว่า VHV : Village Health Volunteer
  • อสม.ถือเป็น นวัตกรรมชุมชนจิตอาสา (Voluntary Practice Community) เป็นเครือข่ายประชาชน ที่เป็นแนวร่วมดำเนินการพัฒนาประเทศด้วยกลวิธีสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทย ซึ่งเริ่มดำเนินการและขยายผลทั้งประเทศเมื่อ ๒๕๒๕ โดยความร่วมมือกันของ ๔ กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะทางสังคม คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรการเกษตร กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ
  • ต่อมาขยายเป็นความร่วมมือพหุภาคีของ ๖ กระทรวงหลักโดยเพิ่มกระทรวงกลาโหมและกระทรงพาณิชย์ เพื่อร่วมดำเนินงานให้ครอบคลุมไปถึงชุมชนตามแนวชายแดนและครอบคลุมไปถึงการพัฒนาปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน
  • มหาวิทยาลัยมหิดลกับกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักเพื่อให้การสนับสนุนทางวิชาการ
  • อสม.เป็นเครือข่ายดำเนินการสุขภาพและเคลื่อนไหวสังคมเพื่อสร้างสุขภาพของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยในระยะแรก มุ่งสร้างผลกระทบต่อการครอบคลุมโอกาสการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิต ให้ครอบคลุมคนส่วนใหญ่ในชนบทของประเทศ พร้อมกับพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์  ให้สามารถริเริ่มการพัฒนาตามความจำเป็นด้วยตนเองได้มากยิ่งๆขึ้น
  • อสม. จะมีอยู่ในทุกหมู่บ้านและทุกชุมชนทั่วประเทศไทย โดย อสม. ๑ คน จะได้รับการพัฒนาศักยภาพเป็นเครือข่ายทำงานสาธารณสุขมูลฐานครอบคลุมครัวเรือของหมู่ญาติและผู้อยูี่อาศัยในชุมชนเดียวกัน ๑ คนต่อ ๗- ๑๕ ครัวเรือน
  • งานสาธารณสุขมูลฐานของ อสม. เป็นงานสุขภาพเชิงรุกและแก้ไขปัจจัยเชิงระบบที่อยู่ในชุมชนและวิธีชีวิตของประชาชน ประกอบด้วย ๑๔ องค์ประกอบ คือ งานโภชนาการ, งานป้องกันและควบคุมโรคระบาดในท้องถิ่น, งานจัดหาและดูแลแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค, งานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค, งานให้การดูแลรักษาอย่างง่าย, การใช้เทคโนโลยีและการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น, งานให้สุขศึกษาแก่ประชาชนในชุมชน, การดูแลสุขภาพเด็กและอนามัยแม่และเด็ก, งานสาธารณสุขและสุขาภิบาลในชุมชน, งานสุขภาพจิตชุมชนและการสร้างสุขภาวะทางจิตวิญญาณ, งานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ มลภาวะ, งานป้องกันและควบคุมอุบ้ติเหตุอุบัติภัย, งานป้องกันและควบคุมปัญหาเอดส์
  • อสม.จะเป็นเครือข่าย สะท้อนปัญหา ความจำเป็น และริเริ่มปฏิบัติการต่างๆ โดยระดมพลังการจัดการของชุมชนและเป็นเครือข่ายที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีในการประสานงานและเข้าถึงทรัพยากรต่างๆที่จัดสรรไว้ให้โดยราชการ เพื่อนำไปก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดและสอดคล้องกับความต้องการต่างๆของชุมชนที่สุด
  •   ปรัชญาของการสาธารณสุขมูลฐานที่สำคัญ   คือ สุขภาพดีและมีประสิทธิภาพด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกและสามารถพึ่งความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างสูงสุดของของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน กับการพัฒนาสังคมทั้งมวลเพื่อสุขภาพและเป็นกลวิธีการพัฒนาสุขภาพสู่เป้าหมายการพัฒนาคนกับสังคมเพื่อสุขภาวะของชุมชนและคนทั้งมวล (All for Health, Health for All)

อสม. เป็นพลังปฏิรูปวิถีชีวิตสุขภาพของสังคมขึ้นมาจากระดับฐานราก ทำให้สังคมมีพื้นฐานที่จะสามารถริเริ่มการพัฒนาขึ้นได้อีกหลายด้านโดยบทบาทของภาคประชาชน.

หมายเลขบันทึก: 460392เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2011 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

*ขอบคุณค่ะ..เป็นงานศิลป์ที่สื่อความหมายได้ครบถ้วน..รวมทั้งรายละเอียดในเส้นสายลายประณีตมากมาย..ไม่เว้นแม้แต่ฝุ่นผงบนพื้นกระดาน..ชื่นชมค่ะ...

*ช่วงนี้ อาจารย์คงมีเวลามากขึ้นแล้ว..และผลิตงานดีๆออกมาให้ได้เห็นมากขึ้นนะคะ..

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ ขอบพระคุณครับ
ช่วงนี้ส่วนใหญ่ก็จะตะลุยนั่งเขียนงานต่างๆที่อยากทำให้เสร็จให้เรียบร้อยที่สุดก่อนจะไปเริ่มงานอื่นๆน่ะครับ พี่ใหญ่สบายดีนะครับ อ่านบันทึกของพี่ใหญ่แล้วทำให้ผมอยากลองหัดดีด Ukulele ดูด้วยคอร์ดแม่บทสักชุดหนึ่งคือ Cmajor Am F G ก็พบว่ามันง่ายมากเลยนะครับ ง่ายกว่ากีตาร์หลายเท่าเลย แต่เสียงเพราะดีครับ เลยเข้าใจแล้วว่าทำไมคนเขาถึงได้ชอบเล่นกันแพร่หลายเร็วจริง

เคยเห็นภาพแบบนี้อยู่บ่อยๆ  ตอนไปออกค่ายอาสาฯ น่ะค่ะ

  • เป็นความอบอุ่นดีเหมือนกันนะครับ
  • สังคมไทยมีพื้นฐานของสังคมเครือญาติที่ดีอยู่แล้ว เลยเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เป็นโอกาสได้สร้างความอุ่นอกอุ่นใจในหมู่ญาติพี่น้องไปด้วย
  • ในชนบทจะเป็นผลดีต่อชาวบ้านและชุมชนมากกว่าในสังคมเมืองครับ ในสังคมเมืองคนชอบมีความเป็นส่วนตัวและไม่ต้องการคนอื่นให้เข้าไปมีส่วนร่วมในวิถีชีวิตสุขภาพมากนัก
  • แต่ก็ทำให้มีแหล่งบริการสุขภาพอย่างอื่นเข้ามารองรับ ทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปของสังคมอย่างที่มีในชนบท
  • ถ้าเรามี อสม แบบนี้ทั้งแผ่นดินก็ดี
  • ชาวบ้านจะรู้วิธีป้องกันโรคกันเอง ช่วยเหลือกันด้วยความเอื้ออาทร
  • ไม่ต้องเดินทางไกลเข้ามาในเมืองเพื่อเอารองเท้าต่อคิวหน้าห้องหมอ
  • ผมคิดถึง ทีมพี่ครูต้อย  ที่ลงไปทำเรื่องเบาหวานครับอาจารย์
  • http://www.gotoknow.org/blog/krutoiting/456872
  • เป็นบริบทการเรียนรู้ที่ดีมาก
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ขจิตครับ
เห็นด้วยครับอาจารย์ แล้วก็จะเป็นเครือข่ายเสริมพลังการพัฒนาตนเองของท้องถิ่น และเป็นหัวหอกสำคัญของการนำการปฏิรูปท้องถิ่นอีกด้วย

  • ชื่นชมในแนวคิดริเริ่มที่น่าทึ่งคะอาจารย์ เชื่อมโยงศิลปะ กับ การสาธารณะสุข 
  • สีหน้าท่าทางของ อสม. สื่อออกมาทางตัวอักษร คงไม่สมบูรณ์ เท่าเห็นจากภาพวาด ชอบทั้งสองรูปคะ แต่ส่วนตัวชอบลายเส้นสีดำมากกว่านิดหนึ่ง เพราะเรียบง่ายได้จินตนาการสีต่างๆ เอง
  • น่าส่งเสริม creative thinking ในโรงเรียนแพทย์ด้วยคะ เพราะเท่าที่สังเกตเน้น concept,rule based thinking มากๆ กับ critical thinking แบบกึ่งๆ ( คือคิดเป็น แต่สื่อสารไม่เป็น :-)

ขอบพระคุณ อสม. ผู้เสียสละและ เป็นแรงหนุน สำคัญ ในการขับเคลื่อนงานชุมชน เจ้าค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ CMUpal ครับ

  • คนทำงานศิลปะที่ชอบภาพขาวดำ ก็จะมีมุมมองการชมและสะท้อนคิดจากภาพลายเส้นขาวดำ เหมือนมุมมองของคุณหมอเลยละครับ
  • ผมเองนั้นก็ชอบแบบขาวดำมากกว่า และเท่าที่รู้จักผ่านการศึกษาการทำงานนั้น โดยมากแล้ว คนที่ชอบภาพลายเส้นแบบขาวดำ รวมไปจนถึงงานพู่กันหมึกจีนและศิลปะของการเขียนอักษร-บทกวี โดยมาก นอกจากจะชอบภาพแบบขาวดำแล้ว ก็ถือเป็นขนบอีกด้วยว่าจะต้องฝึกฝนตนเองไปจนถึงขั้นใช้สีน้อยที่สุด ซึ่งก็คือใช้แต่สีดำสีเดียว ต้องใช้เส้นให้น้อยที่สุด จุ่มหมึกและจรดพู่กันลงบนกระดาษแล้ว ก็ยกมือขึ้นน้อยครั้งที่สุดจนถึงกับไม่ยกเลยคือลากและสบัดทีเดียวเสร็จ
  • วิธีคิดและการทำงานแบบนี้ (แบบชอบขาว-ดำ) อยู่บนฐานความคิดที่มักจะต่างจากวิธีคิดของคนทั่วไปอย่างยิ่ง
  • คนทั่วไปมักจะมองว่าสีดำกับลายเส้นเป็นสีหม่นหมองและไม่ต้องทำอะไรมาก ในขณะที่คนที่ชอบงานศิลปะแบบสีดำ-ขาว และลายเส้น จะมีหลักคิดแบบเซนทางศิลปะ คือ เป็นการมีอิสรภาพแก่การชมที่จะสร้างปัญญาและเกิดสีสันต่างๆไปตามประสบการณ์เฉพาะตนอย่างเป็นตัวของตัวเองทุกคน
  • เสาร์อาทิตย์นี้ ผมจะไปพาอาจารย์แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และพยาบาล ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ของศิริราช ไปอยู่กับกระบวนการที่เกือบจะเป็น Creative Thinking และเดินทางเข้าสู่ภายในตนเองเพื่อเข้าถึง Soft-structure ทางด้านต่างๆ ด้วยประสบการณ์ภายในของตนเอง เหมือนกันครับ
  • ท้าทายดีเหมือนกัน แต่หัวหน้าภาคฯท่านชวนเชิญมาและอยากได้กระบวนการจากต่างศาสตร์สาขา ซึ่งผมเองก็สนใจแนวทางอย่างนี้มากอยู่แล้วเช่นกัน เลยก็คิดว่าจะถือเป็นการไปทำงานด้วยกันเลยทีเดียว แล้วจะเก็บมาเล่าให้ฟังครับ

สวัสดีครับคุณ poo ครับ
ผมเคยนั่งคุยกับ อสม.กลุ่มต่างๆในห้วงกว่า ๒๐ ปีมานี้แทบนับไม่ถ้วน เลยกล้าที่จะสะท้อนให้ว่า อย่างที่คุณ poo กล่าวนี้ มีคุณค่าและเป็นที่ภาคภูมิใจในชีวิตการอุทิศตนต่อผู้อื่นด้วยจิตอาสาของ อสม. มากที่สุดเลยละครับ เขาชอบที่จะรู้ว่าคนเห็นความหมายของความเสียสละชีวิตจิตใจให้กับการดูแลสุขภาพและสุขภาวะของชุมชน มากกว่าการได้อย่างอื่นตอบแทนเสียอีก

คณะแพทย์ มข เคย จัดอบรม อสม เดี๋ยวนี้ เงียบไปแล้ว ครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ JJ ครับ เป็นมิ่งมงคลหลายครับที่ท่านอาจารย์มาเยือน
ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะเดี๋ยวนี้งานสุขภาพชุมชน
มีเครือข่ายและแนวเข้าถึงชุมชนได้หลากหลายมากแล้ว
หลายแห่งก็ขับเคลื่อนเครือข่ายงานกับบทบาทของ อสม.
ให้ผสมผสานกับงานอื่นๆที่ทำในระดับชุมชนต่างๆ
แล้วก็ไม่ได้จำกัดอยู่กับบทบาทความเป็น อสม.แบบเดิมๆแล้วครับ

เรียนมาน้อยมากแบบผิว ๆ นะคะอาจารย์ ทางด้านศิลปะในการสื่อออกมาให้โดนใจ เพียงพอที่จะกระทบใจ จนถึงขั้นอยากเปลี่ยนใจของคนรับสาร ที่จะนำไปถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในอำเภอ

เห็นด้วยนะคะ อสม.ส่วนใหญ่ที่อำเภอเห็นคุณค่าการเสียสละเพื่อหมู่บ้านตนเอง ประโยชน์ที่ทำเพื่อพี่น้องคนบ้านเดียวกัน มากกว่าสินจ้างรางวัล

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
ขอเป็นกำลังใจครับ คนที่เก่งในเรื่องเนื้อหาอยู่แล้ว เมื่อเติมส่วนขาดด้านศิลปะและสื่อ เพื่อเอาไว้ใช้พึ่งตนเองในการทำงานสักระดับหนึ่งได้นี่ ก็ต้องนับว่าเป็นคนมีกำลัง ที่จะช่วยให้คนมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อพึ่งตนเองและริเริ่มการมีส่วนร่วมเพื่อทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองด้วยกัน เป็นคุณหมอสร้างสุขภาวะชุมชนและดูแลผ่านทางระบบสังคมเลยนะครับ

  • อาจารย์ครับ
  • เอาNarrated Ppt ของคุณหมอวิจารณ์ พานิช  ที่นี่
  • มาฝากครับ
  • เป็นเรื่อง 21 Century skills
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ขจิตครับ
หากเรียนรู้จากชีวิตการทำงานของอสม. ก็จะสะท้อนทักษะที่จำเป็นต้องมีและต้องใช้
เพื่อทำงานได้จริงในวิธีทำงานแบบใหม่ ในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆของสังคม สอดคล้องกับ 21 Century Skills เลยนะครับขอบพระคุณอาจารย์เช่นกันครับ

  • ไปตราดมากับเด็กๆๆ
  • ได้เรียนรู้มากเลยครับ
  • มีต้นไม้แปลกๆดีครับ
  • เอามาฝากด้วยครับ
  • http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/461563

คราวนี้ข้ามฟากไปภาคตะวันออกเลยนะนี่
เป็นความโชคดีของเด็กๆและคณะคุณครูด้วยนะครับ
ที่ได้หาประสบการณ์เรียนรู้อย่างบูรณาการกับอาจารย์

อาจารย์ที่เคารพครับ

ท่าน อสม. ทุกคนนับเป็นแรงสำคัญให้กับหมออนามัย

ที่พวกเรามีอยู่จำนวนน้อยมาก

อดคิดไม่ได้ว่า...ถ้าไม่มี อสม. พวกเราจะทำงานได้ลุล่วงได้อย่างไร ?

จริง ๆ แล้ว อสม. ทุกท่านเป็นคนจิตสาธารณะ

ยิ่งเรื่องประเด็นเงินตอบแทนเดือนละ 600 บาท

อสม.มองข้ามไปเลย

จริงแล้ว ต้องการมาทำงานเพื่ออาสารับใช้พี่น้องในพื้นที่ตนเอง

บอกได้อย่างเดียวว่า

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

ที่เขียนเรื่องราวให้กำลังใจ อสม. ครับ

ขอบพระคุณแทน อสม.ด้วยครับ

สวัสดีครับทิมดาบครับ

  • หมออนามัยกับ อสม.นี่ เป็นด่านหน้าของงานสุขภาพชุมชน และงานสุขภาพที่อยู่ในวิถีชีวิตกับในมือของประชาชนเลยนะครับ
  • ต้องขอร่วมเป็นสื่อช่วยขยายผลการทำงาน และร่วมเป็นกำลังใจทั้ง อสม.กับหมออนามัยเลยนะครับ

อยู่ต่างจังหวัดในหมู่บ้านที่เป็นหมู่ ไม่ใช่หมู่บ้านจัดสรร ก็ได้สัมผัสการทำงานของอสม.ค่ะ

ได้พูดคุยกันลึกซึ้งกับอสม.หลายคนก็ตอนเขียนหนังสือKM เบาหวานค่ะ

ศิลปะเป็นสิ่งที่สามารถนำไปบูรณาการได้กับงานทุกชนิด ทุกประเภทเลยนะคะ เป็นงานสร้างสุขจริงๆ 

ดูๆแล้วก็เป็นเครื่องมือและวิธีทำงานเชิงสังคม
รวมทั้งงานเคลื่อนไหวทางความรู้ในมิติใหม่ๆ ที่ดีมากเลยละครับ
ได้สนุกไปด้วยเลยละครับ

ทักษะการสื่อด้วยภาพก็เป็นที่ต้องการของครู อสม ด้วยเช่นกันนะครับ

อสม กับการจัดการของชุมชนเพื่อความริเริ่มและพึ่งตนเองของชุมชนในเรื่องสุขภาพ สุขภาวะชุมชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในอีกแง่หนึ่งนั้น ก็เป็นพลังจัดการการเปลี่ยนแปลงสู่ภาวะที่พึงประสงค์ต่างๆของสังคมที่สะท้อนขึ้นมาจากชุมชน นอกเหนือจากการที่จะต้องมักเป็นผู้รอรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาจากโลกภายนอกอย่างเป็นผู้ถูกกระทำจำนวนหนึ่ง ให้เป็นผู้ที่จะเป็นผู้คิดริเริ่มและสามารถพึ่งตนเองทางการปฏิบัติเป็นเบื้องต้นก่อน

ดังนั้น ทักษะการสื่อสารและสร้างกระบวนการเรียนรู้ นอกจากเป็นที่ต้องการและช่วยพลังปฏิบัติการต่างๆของ อสม และเครือข่ายชุมชนแล้ว สื่อภาพและเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่สนองตอบต่อความต้องการในลักษณะนี้ ก็จัดว่าเป็นสื่อและเทคโนโลยีแบบเสริมพลังจิตอาสาและเสริมสร้างพลังการจัดการตนเองของชุมชนด้วย ซึ่งยังมีช่องว่างและโอกาสให้ทำสิ่งต่างๆสำหรับคนทำสื่อ นักเทคโน และนักพัฒนากระบวนการทางการศึกษา อีกเยอะเลยนะครับ ขอเป็นแรงหนุน เป็นกำลังใจ และเป็นแนวร่วม สำหรับการริเริ่มของคนรุ่นใหม่ๆนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท