1. จดหมายถึงน้องอิง : ผู้จัดการตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานเด็กดี


ความรู้แบบนี้แหละที่เราค้นได้จากแต่ละหมู่บ้าน ก็จะเล่าคืนกลับให้วงโสเหล่ ในการออกหมู่บ้านรอบ 3 ฟัง แล้วช่วยกันคิด เลือกวิธี และลงมือทำ ว่าจะเลี้ยงดูลูกหลานให้ฟันดี สุขภาพแข็งแรง ตามแบบตามวิธีของพ่อแม่ปู่ย่าตายายของแต่ละหมู่บ้านอย่างไร

น้องอิงคะ

 

แม้น้องอิงเพิ่งจะมาทำงาน  5  เดือน  แต่เป็นคนทำงานสมัยใหม่ที่พัฒนาการเรียนรู้เร็วมาก  ที่เคยบอกน้องอิงว่าจะให้เป็นผู้จัดการงาน Event  ตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานเด็กดี ปีที่ 4  ของอำเภอสระใคร  เพื่อปีหน้าเตรียมเลื่อนเป็นผู้จัดการโครงการทั้งปี  โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัยของชุมชน  พี่จะไม่อยู่โรงพยาบาล  3  วัน    ก็เลยต้องรวบรวมความคิดว่า  ควรจะเล่าความเป็นมาพอให้เห็นภาพ  น้องอิงจะได้รู้ความเป็นมา  รู้จักคน  ประสานงานและเตรียมการต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น

 

ตั้งแต่ปลายปี  2550  โรงพยาบาลเราและเครือข่ายศูนย์สุขภาพชุมชน (คำเรียกในสมัยนั้น) ทั้ง  3  ตำบล  สระใคร  คอกช้าง  บ้านฝาง  ได้ทำโครงการสายใยรักครอบครัวสร้างเสริมเด็กฟันดี  จากแรงบันดาลใจ  “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว”

จุดเน้นอยู่ที่การสร้างทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก  อำเภอสระใคร  ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าห้องฟัน รพ.เราเอง  พี่อ็อบ  ทันตาภิบาลที่คอกช้าง  พี่เหมียวพยาบาลอนามัยสระใคร  คุณทวิชนักวิชาการสาธารณสุขอนามัยบ้านฝาง 

ช่วยกันพัฒนาเครื่องมือวิจัยเชิงคุณภาพ  การสังเกต  การสัมภาษณ์ครอบครัวเชิงลึก  การสนทนากลุ่ม  ในการหาข้อมูลและความเชื่อมโยงบริบททางสังคมวัฒนธรรมของแต่ละหมู่บ้าน  ใน  9  หมู่บ้านที่ดำเนินการนำร่อง  สกัดออกมาเป็นความรู้ในมุมมองในแบบที่ชาวบ้านเข้าใจว่า  การเลี้ยงดูแบบไหนบ้างที่มีส่วนช่วยให้เด็กน้อยฟันดี  สุขภาพแข็งแรง

 

พอทีมเราตระเวนออกรอบที่ 3 ของแต่ละหมู่บ้าน  ค่อยตั้งวง “โสเหล่” ชักชวนอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)  ผู้ใหญ่บ้าน  แกนนำชุมชน  ผู้เลี้ยงดูลูกหลานเล็ก ๆ อายุ 1 – 2 ปี   มาร่วมกันคิดภาพฝัน  อยากให้เด็กเติบโตเป็นเด็กอย่างไร 

แล้วทีมเราก็เล่าข้อมูลที่ไปสัมภาษณ์ครอบครัว  บวกกับข้อมูลจากสนทนากลุ่ม  และความรู้ที่ทีมเราสกัดได้ว่า  การเลี้ยงดูที่เอื้อให้เด็กมีฟันดี  สุขภาพแข็งแรง  มีอะไรบ้างที่ผู้เลี้ยงดูทำอยู่แล้ว เช่น การให้ลูกดูดนมแม่นานเท่าที่ทำได้  การต้มขวดนม  การเตรียมอาหารเสริมที่มีคุณค่า  การเช็ดเหงือกและฟันให้เด็ก  การหย่านมขวดด้วยภูมิปัญญาคุณยาย  เช่น ทาเครือกอฮอล์ที่จุกนมจนขม  เด็กก็ไม่อยากดูดนมขวดอีก  หรือแกล้งนึ่งขวดนมจนเปื่อย  แล้วบอกเด็กว่าขวดนมพัง  ไม่มีขวดนมให้ชงอีกแล้ว เป็นต้น

 

ได้ค้นพบเคล็ดลับจากคุณยายและคุณตา  ที่สังเกตเห็นว่าหลานชอบดูสารคดีสัตว์  ก็เอาชื่อสัตว์พวกนั้นมาช่วยหลอกล่อหลานว่า  สัตว์พวกนั้นก็ชอบแปรงฟัน  หรือเวลาพาหลานไปเดินเล่นนอกบ้าน  ก็จะพาเดินไปทางที่ไม่มีร้านค้าขายขนม  (ถ้าเอา Ottawa charter  มาจับ  โอ้โฮ !!! คุณยายสุดยอดสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพของหลานเลย  คุณยายตั้งใจเลี้ยงหลานมาก  ผ่านมา  4  ปี  หลานคุณยายยังฟันดีทุกซี่)  

 

ข้อมูล  ความรู้แบบนี้แหละที่เราค้นได้จากแต่ละหมู่บ้าน  ก็จะเล่าคืนกลับให้วงโสเหล่  ในการออกหมู่บ้านรอบ 3  ฟัง  แล้วช่วยกันคิด  เลือกวิธี  และลงมือทำ  ว่าจะเลี้ยงดูลูกหลานให้ฟันดี  สุขภาพแข็งแรง  ตามแบบตามวิธีของพ่อแม่ปู่ย่าตายายของแต่ละหมู่บ้านอย่างไร

 

แต่ก่อนอื่น กิจกรรมแรกที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายผู้เลี้ยงดูอยากรู้  ก็คือ การแปรงฟัน  เป็นโอกาสดีที่เราจะเสริมพลังว่า  ข้อมูลที่ได้มาจากหมู่บ้าน  ตอนเช้าเด็กแปรงฟันดีอยู่แล้ว   แต่ก่อนนอนไม่ค่อยแปรง  ขอเล่าเพิ่มว่ามีคุณแม่ผู้ใหญ่ (คำเรียกภรรยาผู้ใหญ่บ้าน)  บอกว่าที่ต้องแปรงให้หลานก่อนนอนก็เพราะว่า  ช่วงนอนกลางคืนน้ำลายจะบูด  จึงต้องแปรงให้สะอาดที่สุด  ตื่นมาปากจะได้ไม่เหม็น

(สุดยอด....สอดคล้องทฤษฏีเชื้อก่อโรคที่เรียนมาจากคณะทันตแพทยฯ เลย)

เราก็ถามต่อเลยว่า  “คุณแม่คุณยายให้ลูกหลานกวาดบ้าน  ล้างจานหรือถูบ้านหรือยัง”

คำตอบ คือ “ยัง”

“เป็นหยังล่ะ" ...เพราะอะไร  เดาไม่ยากใช่ไหมคะ คำตอบมาหลากหลาย 

มีอีกคุณยายตอบว่า “ข้อมือเด็กน้อยยังบ่แข็ง  เฮ็ดบ่สะอาดดอก”

นั่นล่ะ  เป็นเหตุผลที่เรานำไปบอกหมู่บ้านอื่น ๆ ต่อไป  คุณแม่คุณยายผู้เลี้ยงดูเข้าใจง่ายมากว่า  ทำไมต้องเป็นผู้ใหญ่แปรงให้เด็ก  แล้วค่อยถึงเวลาสาธิต  แปรงฟันอย่างไรให้เด็กสนุก

 

จากนั้น ก็เว้นช่วงสักหน่อย  แล้วทีมเราค่อยออกติดตามรอบที่ 4  แต่ละหมู่บ้านผู้เลี้ยงดูแปรงฟันให้เด็กเป็นอย่างไร  ทีมชุมชน  อสม.  แกนนำ  ออกเยี่ยมบ้านที่มีเด็กบ่อยไหม  

ไปพบที่บ้านไชยา  ต.สระใคร  จัดแข่งขันผู้เลี้ยงดูแปรงฟันให้เด็ก  สนุกสนานมาก  ใช้งบ อบต.สระใครและที่ว่าการอำเภอ  จึงเสนอความคิดไปอีก  8  หมู่บ้านว่า  อยากมาแข่งขันกันไหม 

พอตกลง  ปี 2551 จึงเริ่มจัดตลาดนัดครั้งแรก  ตัวแทน  9  หมู่บ้าน  เสวนาบนเวที  จัดบูทมานำเสนอผลงานของชุมชนว่า  แต่ละหมู่บ้านจัดกิจกรรมอะไรกระตุ้นผู้เลี้ยงดูให้ชอบแปรงฟันให้เด็ก  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็จัดการแสดงมาโชว์พัฒนาการของเด็ก ๆ  ที่ว่าการอำเภอและ อบต. ทั้ง  3  แห่ง  จัดรางวัลมาสมทบโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ  ทั้งผู้ใหญ่และเด็กร่วมงานประมาณ  300  คน  สนุกมาก....เหมือนจับปูใส่กระด้ง

 

พอปี 2552  รู้สึกว่าชื่อโครงการยาวไป  ตั้งใหม่เป็น  เครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี  มีสมาชิกทีมเพิ่มมาใหม่  ก็จะให้ไปหัดสัมภาษณ์ครอบครัว  ให้รู้จักและเข้าใจสภาพความเป็นอยู่  การเลี้ยงดูเด็กของครอบครัว  ในบริบทหมู่บ้านของอำเภอสระใคร  ขยายจำนวนหมู่บ้านไปตั้งวงโสเหล่ได้  23  หมู่บ้าน  สิ้นปีก็จัดตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดีอีก  ที่เดิม  หอประชุมโรงเรียนสระใครไชยานุเคราะห์  อำนวยความสะดวกดีเยี่ยม

 

ปี 2553  ขยายหมู่บ้านได้เพียงเล็กน้อย  กำลังทีมงานมีเวลาเท่านี้  รวมบ้านเก่าและบ้านใหม่เป็น  27  หมู่บ้าน  จัดประชุมประเมินผลแบบมีส่วนร่วม  ได้บันได  5  ขั้น  ที่จะไปสู่จุดหมาย  “เด็กดี”  ตามความคิดของผู้ใหญ่บ้านและตัวแทน อสม.  เอาไปทำเป็นป้ายไวนิล  ใช้เป็นสื่อในการออกหมู่บ้าน  ในการเริ่มคุยในวงโสเหล่  ให้ผู้ใหญ่บ้านหรือ อสม.ที่เข้าประชุม   เล่าให้ลูกบ้านฟังและผู้เลี้ยงดูเด็กรุ่นใหม่ ๆ ฟังว่า   แต่ละขั้น ๆ  หมายถึงอะไร  หมู่บ้านเราถึงขั้นไหนแล้ว  มีกิจกรรมอะไรที่จะร่วมกันทำ  เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่หมู่บ้านของเราอยากได้

 

สิ้นปีจัดตลาดนัดอีก  มีหมู่บ้านทั้งเก่าและใหม่จัดบูทผลงานของหมู่บ้านมาแสดงเพิ่ม  พี่แดง  ทันตาภิบาลที่ย้ายกลับบ้านไปแล้วบอกว่า “โครงการเราติดตลาดแล้วหมอ”  จัดแข่งผู้เลี้ยงดูแปรงฟันให้เด็ก  แบ่งเป็น  2  รุ่น  1 – 3 ปี  และ 4 – 5 ปี  เชิญกรรมการตัดสินมาจาก  สสจ.หนองคาย  สสอ.เมือง  รพร.ท่าบ่อ  รพ.สังคม  และคุณครู ศพด.บ้านไชยา

 

ปี 2554  ตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลสระใคร  ได้พี่ต๋อมแต๋มมาร่วมทีมเพิ่ม  เชี่ยวชาญการเล่านิทาน  เพิ่มกิจกรรมเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง  พี่ต๋อมแต๋มและน้องพยาบาลที่ รพ.สต.  จะบอกผู้เลี้ยงดูก่อนว่า  ทำไมควรเล่านิทานให้เด็กฟัง  แล้วค่อยสาธิตการเล่า  จากนั้นค่อยมอบหนังสือนิทานไว้ให้หมุนเวียนยืมใช้ในหมู่บ้าน  27  หมู่บ้าน  พร้อมกับการติดตามว่าทีมชุมชนยังเอาใจใส่เยี่ยมบ้านที่มีเด็ก  กระตุ้นผู้ใหญ่แปรงฟันให้เด็กก่อนนอน

 

ส่วนที่เพิ่มปูพรมเป็นทหารราบอีกอย่าง คือ การอบรม อสม. ทั้ง  41  หมู่บ้าน  ในทุกตำบล  ให้ตรวจฟันเด็กและบันทึกง่าย ๆ ว่า  ฟันขึ้นกี่ซี่แล้ว  ฟันดีกี่ซี่  กินนมขวดอยู่มั้ย?  กินขนมหวานแล้วหรือยัง?  มีผู้ใหญ่แปรงฟันให้ก่อนนอนไหม?

 

เอาละ...ความเป็นมาพอแค่นี้ก่อนนะคะ  ให้เห็นภาพรวม  ฉบับหน้าน้องอิงค่อยรู้ว่า  จะต้องรู้ใครบ้างที่ต้องประสานงาน  เตรียมจัดงานแบบทหารอากาศ  จุดพลุสวยงามเสียงดัง   “ตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานเด็กดี”   กิจกรรมหลัก คือ แข่งขันผู้เลี้ยงดูแปรงฟันให้เด็ก  2  รุ่น  และแม่หรือผู้เลี้ยงดูเล่านิทานให้เด็กฟัง  ตัวแทนหมู่บ้านละ  1  คน

 

พบกันใหม่....นับจากจำนวนคำแล้ว   คิดถึงมากกกกกกกก นะคะ

พี่อ้อเอง

หมายเลขบันทึก: 459744เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2011 01:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

โอ้ยยยย

อ่านแล้วขนลุกอ่าพี่อ้อ ขนลุกจริงๆนะ ไม่เชื่อดูสิ

อึ้งทั้งลีลาการเขียน อึ้งทั้งกระบวนการที่ได้กระทำ

ช่วยออกมาเป็นพอกเก็ตบุ๊คได้ไหมครับ

รอติดตามฉบับ 2 อย่างแรง

อยากให้หลายพื้นที่ได้ไปเรียนรู้แบบลึกๆอ่าครับ

ไม่ใช่สิ่งที่พี่ทำ แต่สิ่งสำคัญคือ " ความคิด"

รักมากมาย

เด็กอิสานฟันดีแน่นอนครับ

ปล. ขอเอาไปให้คนในผ่ายอ่านนะครับ

ตามมน้องหมอ Bank มาอ่าน อ่านแล้วได้บริบทครับ ดีใจที่ได้อ่านเรื่องวิชาการเชิงสารคดี ไม่ธรรมดาเลยนะครับ

คุณหมอ เพรียงเธอ

รีบเอามือลูบแขนเร็วเข้า

ยิ่งแลกเปลี่ยน

"ความคิด" ยิ่งงอกเงย..งดงาม

มาคุยกันบ่อย ๆ นะคะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณนะคะ ท่าน ดร.ขจิต ฝอยทอง

กัลยาณมิตร "ผู้ให้" เสมอมา

ดีใจที่ทำให้อาจารย์ผู้ใจดี...ดีใจ

  • เด็กๆ ที่เกิดมาในชุมชนนี้โชคดีจังเลยค่ะ
  • มีผู้ใหญ่ที่ใจดี..มาดูแลฟันของน้องๆ เหมือนลูกหลาน
  • อ่านแล้วทึ่งในสิ่งที่ทำมากค่ะ ขอชื่นชมมากๆ นะค่ะ
  • คงเหนื่อยกายไม่น้อย และ สุขใจมากๆๆๆๆ ใช่ใหมค่ะ

เยี่ยมยอดจริงๆ...KM series แบบกัดไม่ปล่อยเลยนะ

สวัสดีค่ะ คุณบัวชมพู

  • สุขใจมาก ๆ ค่ะ
  • เหนื่อยกายไหม....ไม่นะคะ 
  • อาจจะเมื่อยก้นนิดหน่อย  นั่งรถถนนลูกรังสีแดงบ้าง  หน้าฝนก็หลุมบ่อเล็กบ้างใหญ่บ้าง  หมู่บ้านที่ไกล ๆ
  • แต่เกินครึ่งถนนลาดยาง  คอนกรีตเข้าถึงนะคะ  หลุมบ่อนิดนึง  ใกล้ ๆ บางทีก็ขับเอง
  • เทียบไม่ได้กับเมื่อยเอวเวลานั่งทำคนไข้ในคลินิกค่ะ
  • ขอบคุณนะคะที่มาร่วม "โสเหล่"

คุณหมอบรรจบคะ

  • ชม...ใช่ไหมคะ?  กัดไม่ปล่อยเนี่ย
  • ขอบคุณค่ะ
  • ขอบคุณท่าน ผอ.ด้วยนะคะ  ที่อนุญาตทันตแพทย์ของ รพ.ท่าน  มาร่วมเป็นกรรมการตัดสินแข่งขันผู้เลี้ยงดูแปรงฟันให้เด็ก
  • ปีนี้ก็จะเชิญอีกนะคะ

มาอ่านจดหมายถึงน้องอิง : ผู้จัดการ.... เหมือนกันแต่ต่างสถานที่  555

สงสัย แม่ใครที่ตั้งชื่อลูกว่า...น้องอิง

จะทำนายได้ว่า...ลูกจะมีทักษะ สมรรถนะเป็นผู้จัดการที่เก่ง

และที่สำคัญ น่ารักและหน้าตาดี...แม้จะต่างสถานที่ จริงป่ะคะ

ถอดบทเรียนในรูปแบบจดหมาย เล่าได้เห็นงาน เห็นคน เห็นเป้าหมาย คนมาต่อยอดทีหลังตามรอยได้ง่าย

งาม...ง่าย ในงานที่ทำจริง

ท่านลุงบังก้อถอดอีกทีนะคะเนี่ย

ขอบคุณค่ะ :),

ขอบคุณ คุณหมออ้อ มาากๆนะคะ หนูไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ แต่พอได้เข้ามาอ่านบทความแล้ว ช่วยตอบโจทย์ที่หนูมีอยู่ได้เยอะเลยค่ะ ปลื้มมากๆค่ะ ^_^ รออ่านฉบับต่อไปอยู่นะคะ

ท่าทางโจทย์จะเยอะนะคะเนี่ย....น้องอิง :),

ชอบคำพ่อ วอญ่า

"งาม ง่าย "

สั้นๆแต่จับใจครับ

นานๆได้มาอ่านที สนุกเห็นกระบวนการทำงาน ดีใจกับอ้อที่มีทีมงานที่ได้เรียนรู้ร่วมกันช่วยกันทำงานที่ยิ่งใหญ่ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่านะที่เริ่มตั้งแต่เด็ก หลายคนใจไม่เย็นพอก็จะท้อได้ แต่ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เกิดได้จริงถ้าเรามุ่งมั่น ตั้งใจ ขออนุญาตส่งต่อไปให้ทีมหนองบัวอ่านด้วยนะ

ขอบคุณแบ๊งค์นะจ๊ะที่เป็นตัวเชื่อมให้พี่ได้อ่าน

คุณหมอเพรียงเธอ

ชอบ...ที่แวะมานะเจ้า

ขอบคุณพี่ฝนนะคะ

หนึ่งในแรงบันดาลใจ

และบุคคลต้นแบบ

ที่ร่วมสานศรัทธาช่วยกัน

ก่อร่าง...สร้างทีม

ส่งไม้ต่อยอด

ถึงคนรุ่นใหม่

จากใจ...น้องฮัก

ขออนุญาตพี่อ้อ เอาไปให้พี่น้องกัลยาณมิตร ได้เป็นแนวคิดเช่นกันครับ

เชิญตามสบายค่ะคุณหมอ Bank

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท