กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล


กรณีศึกษา
แนวทางในการช่วยเหลือปัญหาการไร้รัฐของเด็กหญิงปิยนุช อากาเป เด็กหญิงปิยนุช เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาและมารดาชาวพม่าที่เข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย เมื่อบิดาและมารดาได้เสียชีวิตลงในขณะที่เด็กหญิงปิยนุชยังเป็นผู้เยาว์ ได้มีคุณมุขทำหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดู โดยรับมาและให้พำนักอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเรียนหนังสือจนขณะนี้กำลังศึกษาในชั้น ป 4 ปัจจุบันเด็กหญิงผู้นี้อายุ 11 ปี ตามกฎหมายไทยแล้ว การได้สัญชาติไทยมีอยู่ได้ 2 ทาง คือ ตาม 1. หลักสายโลหิต 2. หลักดินแดน อย่างไรก็ตาม ตามกรณีปัญหาปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่า ปิยนุชเป็นบุตรของคนต่างด้าว ดังนั้นบุคคลผู้นี้ไม่อาจได้สัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดา โดยผลของมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ 2508 เพราะบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว นอกจากนั้น แม้ปิยนุชจะเกิดในประเทศไทยซึ่งอาจทำให้ได้รับสัญชาติไทยตามหลักดินแดนได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงมาตรา 7 (2 ) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ 2508 ในกรณีนี้ เด็กหญิงปิยนุชแม้จะเกิดในประเทศไทยแต่ก็เกิดจากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองมาโดยมิได้รับอนุญาต จึงย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทยตามหลักในมาตรา 7ทวิ (3 ) อันเป็นบทยกเว้นของมาตรา 7 (2 ) ตามความเห็นของข้าพเจ้าต่อกรณีปัญหาปิยนุชนั้น กระบวนการที่จะเยียวยาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ นอกจากจะอาศัยกฎหมายแล้วยังต้องอาศัยสิทธิที่จะเกิดขึ้นตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ 2548 อีกด้วย ในกรณีของเด็กหญิงปิยนุชนี้ เป็นบุคคลต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยแต่เป็นบุคคลไร้รากเหง้าและยังไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันหรือพิสูจน์ถึงสถานะความเป็นบุคคลอีกด้วย อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงปรากฎว่าปัจจุบันน้องนุชอายุ 11 ปี กำลังเรียนหนังสือชั้น ป.4 โรงเรียนวัดโพธิ์ทองบนไทยรัฐ ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี แม้ทางโรงเรียนจังหวัดระนองไม่รับเข้าเรียนเพราะไม่มีเอกสารและยังไม่ได้รับการสำรวจและบันทึกข้อมูลบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่คุณครูที่โรงเรียนวัดโพธิ์ทองบนไทยรัฐต่างบอกว่าน้องนุชเป็นเด็กฉลาด ดังนั้นกรณีของน้องนุชอาจจะได้รับการพิจารณาให้ได้สัญชาติไทยตามยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ 2548 ข้อ 2 กรณีเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมาตรการเร่งด่วนที่ทางการสามารถจะกระทำได้ในกรณีนี้คือการให้สถานะทางบุคคลโดยเริ่มจากการสำรวจและบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้ชื่อของเด็กหญิงปิยนุชนี้ไปปรากฏอยู่ในระบบทะเบียนราษฎร์ อันจะก่อให้เกิดการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ เช่น สิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล และให้กำหนดสถานะของเด็กหญิงปิยนุชให้มีสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและหากเด็กหญิงปิยนุชได้รับการจดชื่อให้อยู่ในระบบทะเบียนราษฎร์และอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี จนกลมกลื่นกับสังคมไทยและไม่สามารถเดินทางกลับไปประเทศต้นทางหรือไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศต้นทางแล้ว ก็จะสามารถกำหนดสถานะเของเด็กหญิงปิยนุชได้ว่า มีสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้หากเด็กหญิงปิยนุชได้รับการศึกษาจนจบขั้นอุดมศึกษา ในกรณีนี้ก็สามารถที่จะดำเนินการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยตามหลักเกณฑ์ของการขอสัญชาติตามกฎหมายสัญชาติของไทยได้อีกด้วยตามยุทธศาสตร์ข้อ 2 (2) ของยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ 2548
หมายเลขบันทึก: 45965เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท