โรซ่าพาเเซ่บ : ปัญหาสังคมเชื่อมโยงปัญหาโภชนาการ เรื่องเล่าจากโรงเรียนบ้านศรีสว่าง


จากประเด็น “โรงเรียนยุบ – ไม่ยุบ” สู่โครงการแก้ไขปัญหาทางโภชนาการ เราก็เห็นเส้นทางของความเชื่อมโยงของปัญหา แม้ว่าปัญหามากมายจะท้าทายขึ้นทุกขณะ คุณครูยังคิดกระบวนการแก้ไขปัญหาตลอดเวลา ทุกอย่างทำเพื่อเด็ก และอนาคตของสังคมไทย

จากโรงเรียนบ้านโคกลาด รถของทีมงานโรซ่าแซ่บ เดินทางต่อไปยังโรงเรียนบ้านศรีสว่าง เป็นโรงเรียนเป้าหมายที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอุดรธานี แต่สภาพถนนหนทางกว่าจะถึงโรงเรียนก็ทุลักทุเลพอสมควร โดยสภาพก็นับว่าเป็นพื้นที่ค่อนข้างสัญจรลำบากอยู่บ้าง โรงเรียนบ้านศรีสว่าง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนเด็กนักเรียนเพียง ๕๖ คน เปิดสอนในระดับชั้น ป.๑ จนถึง ป.๖ 

สภาพปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทสุ่มเสี่ยงต่อการ “ยุบ” โรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง และโรงเรียนศรีสว่างก็อยู่ในข่ายนั้น โรงเรียนจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับสภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่ก็เชื่อแน่ว่า “ไม่ยุบ” แน่ๆ

คุณครูท่านหนึ่งของโรงเรียนศรีสว่างบอกพวกเรา ส่วนเหตุผลที่คุณครูเชื่อว่าไม่ยุบนั้นเพราะ ครอบครัวในชุมชนที่รายล้อมโรงเรียนส่วนใหญ่ยากจน ดังนั้นการเดินทางไปโรงเรียนของลูกหลานหากไม่ใช่โรงเรียนบ้านศรีสว่างก็สร้างความลำบากให้กับครอบครัวยากจนเหล่านั้นเป็นแน่  ด้วยเหตุผลข้อนี้ ถึงแม้เด็กนักเรียนที่นี่มีจำนวนน้อยลง แต่จำนวนที่น้อยก็เป็นเด็กที่ต้องให้โอกาสทางการศึกษาอย่างแท้จริง ในชุมชนยังมีเด็กในหมู่บ้านส่วนหนึ่งที่ฐานะดีได้เดินทางไปเรียนโรงเรียนในเมือง ที่มีรถรับส่งอำนวยความสะดวก นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่จำนวนเด็กนักเรียนของโรงเรียนบ้านศรีสว่างลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

ชุมชนที่เป็นเขตรับผิดชอบของโรงเรียนก็มีปัญหาที่คล้ายคลึงกันกับทุกชุมชนที่ได้มีโอกาสไปเรียนรู้ร่วมผ่านโรงเรียนหลายโรงเรียนในอุดร ที่มีผู้ปกครองส่วนหนึ่งออกไปทำงานต่างจังหวัด ทิ้งลูกหลานอยู่กับ ปู่ ย่า ตา ยาย ส่วนคนที่อยู่ในชุมชนก็มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ถึงแม้พื้นที่ทางการเกษตรที่มีมากมาย แต่พื้นที่เหล่านั้นกลับตกไปอยู่ในมือของนายทุนโดยทั้งหมด ทางเลือกของชุมชนก็คือ ต้องไปเป็นลูกจ้างในไร่ของนายทุน ส่วนหนึ่งก็ต้องออกไปเผชิญโชคในเมืองหลวง กว่าจะกลับมาเยี่ยมบ้านอีกทีก็เป็นช่วงเทศกาล เหมือนกับชุมชนท้องถิ่นอีสานทั่วไป

เด็กนักเรียนที่มีจำนวนน้อยนิดในโรงเรียนเล็กๆที่นี่ แต่ละคนจึงมีเบื้องหลังที่มีปัญหาที่เกิดจากเงื่อนไขของปัญหาความยากจนในชนบทไม่มากก็น้อย ผลลัพธ์ส่วนหนึ่งของปัญหาเชื่อมโยงไปยังภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียนด้วย 

ครูท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อไปเยี่ยมบ้านเด็ก ก็พบว่า เด็กๆ กินอาหารซ้ำๆกัน เช่น แจ่วบอง ที่เป็นอาหารหลักของชาวบ้าน  และแน่นอนว่าส่วนใหญ่ก็กินแจ่วบองเป็นอาหารในทุกมื้อๆไป แม้การห่อข้าวมาทานที่โรงเรียนนักเรียนก็ยังมีแจ่วบอง รูปแบบการรับประทานอาหารที่จำกัดอัตคัดส่งผลต่อการพัฒนาสมองของเด็กนักเรียนอยู่บ้าง

ครูเอกวิทย์ กาสีใส ครู โรงเรียนบ้านศรีสว่าง


ครูเอกวิทย์ กาสีใส บอกว่า

“เราจะสังเกตว่าเด็กๆมีพัฒนาการที่ช้า การเรียนรู้มีปัญหา เด็กส่วนหนึ่งมีปัญหาความจำ ส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุหลักๆจากการกินการอยู่ของเด็กนั่นเอง”  

ปัญหานี้ทางโรงเรียนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่จะเกิดกับตัวเด็ก รวมไปถึงอนาคตของสังคม

“โชคดีทีมีนมโรงเรียน”

รองผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสว่าง บอกถึงโอกาสของเด็กๆชนบท ที่ได้รับการสนับสนุนนมสดพร้อมดื่มจากองค์การบริหารส่วนตำบล และมาตรการสำคัญที่โรงเรียนสามารถทำได้ก็คือ การให้ความสำคัญกับอาหารกลางวันที่โรงเรียนมื้อนี้จึงเป็นมื้อที่สำคัญของเด็กเลยทีเดียว และเป็นมือที่ครูสามารถดูแลจัดการได้ผ่านการคิด “เมนูเพื่อสุขภาพ” และ แม่ครัวที่ตระหนักเห็นความสำคัญของโภชนาการ

โชคดีอย่างหนึ่งที่บริษัทไฮคิว ผลิตภัณฑ์อาหาร ร่วมกับกรมอนามัยได้จัดอบรมแม่ครัว ขึ้นมา รอง ผอ.ท่านเล่าต่อว่า

“หลังจากที่แม่ครัวได้เข้าร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพแม่ครัวผ่านมาแล้ว จะสังเกตว่าแม่ครัวใส่ใจเรื่องอาหารการกินของเด็กมากขึ้น มีผลไม้ในมื้ออาหารด้วยทุกครั้ง” 

สิ่งที่น่าดีใจอีกประการหนึ่ง ผ่านการบอกเล่าของวงสนทนาเรื่องโภชนาการ ครูเล่าว่า

“ในปัจจุบันมักจะมีผู้ใจบุญมาทำบุญวันเกิดโดยการรับเป็นเจ้าภาพอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน โดยสนับสนุนเงินทำอาหารเลิศรสและมีคุณภาพเลี้ยงเด็กนักเรียน  หรือทางผู้ที่ตั้งใจอยากทำบุญก็ทำอาหารมาเลี้ยงเด็กนักเรียนด้วยตัวเองเลย การรับเป็นเจ้าภาพอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี”

คุณครูเล่าถึงรูปแบบใหม่ๆของการช่วยเหลือนักเรียนจากชุมชน

ในปี ๒๕๕๔ ทางโรงเรียนบ้านศรีสว่าง ได้จัดทำโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาโภชนาการต่อเนื่อง โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการกินอาหารถูกอนามัย ทำให้สุขภาพดี” ต่อยอดจากโครงการปีก่อน และในนี้ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไฮคิว ผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยเช่นกัน ในส่วนของการพัฒนาโรงเรียนเข้าสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนแห่งนี้ได้รับการประเมินในระดับทอง และจะพัฒนาโรงเรียนก้าวเข้าสู่ระดับเพชรต่อไป

สำหรับความตั้งใจของการสนับสนุนงบประมาณสำหรับโรงเรียนของบริษัทไฮคิว ผลิตภัณฑ์อาหาร ในปีนี้ ไม่ได้เน้นการทำโครงการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มุ่งเน้นที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โดยผ่านการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจริงๆในโรงเรียนแล้วมีกระบวนการแก้ไขและเกิดการมีส่วนร่วมในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ

จากประเด็น “โรงเรียนยุบ – ไม่ยุบ”  สู่โครงการแก้ไขปัญหาทางโภชนาการ เราก็เห็นเส้นทางของความเชื่อมโยงของปัญหา แม้ว่าปัญหามากมายจะท้าทายขึ้นทุกขณะ คุณครูยังคิดกระบวนการแก้ไขปัญหาตลอดเวลา ทุกอย่างทำเพื่อเด็ก และอนาคตของสังคมไทย

 

 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

อุดรธานี

๓๐ ส.ค.๒๕๕๔

 

การเข้าเยี่ยมครั้งที่ ๑ ตามโครงการ "โฮมฮักลูกหลานโภชนาการดี" สนับสนุนสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ปี ๒๕๕๔"

ระหว่างวันที่ ๒๘ ส.ค.๕๔ - ๒ ก.ย.๕๔

สนับสนุนโดย บริษัทไฮคิว อุตสาหกรรม จำกัด ร่วมกับ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

-----------------------------------------------------------------------

โรงเรียนบ้านศรีสว่าง  อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 457125เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้เห็นแบบอย่างการแก้ปัญหาของสังคม

เริ่มจากจุดเล็กๆ เช่นโรงเรียนเล็กๆ

ในเรื่องใกล้ตัว แต่สำคัญ เช่นเรื่องโภชนาการ

ไม่ต้องรอโครงการหลายล้าน

อาศัยความสามารถในการประสาน บริหารจัดการ

ยอดเยี่ยมคะ

ปัญหาโภชนาการเป็นปัญหาใหญ่เเละสำคัญมากๆครับ

ทุกคนต้องตระหนักเเละให้ความสำคัญ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท