ลูกไม้มวยไทย หักคอเอราวัณ - วัน เมืองจันทร์


วัน เมืองจันทร์ ผู้ใช้ท่าหักคอเอราวัณ คนแรกที่สนามมวยสวนสนุก

“หักคอเอราวัณ

พวกชาวยุโรปและอเมริกา เมื่อได้เข้ามาเห็นการแข่งขันมวยไทยที่เวทีมาตรฐานในกรุงเทพมหานคร มักจะตื่นเต้นการเตะและการใช้ศอกแบบมวยไทย บางคนถึงกับอุทานว่า แปลกประหลาดและตื่นเต้นและหวาดเสียวยิ่งกว่าการสู้วัวของชาวสเปน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใน้มคอตีเข่า ซึ่งสมัยโบราณเรียกไม้มวยไทยนี้ว่า “หักคอเอราวัณ”

อันคำว่า “เอราวัณ” นั้น ในเทวภูมิกล่าวว่าเป็นช้างมี ๓๓ เศียร สำหรับท้าวจตุโลกบาล หรือ พระอินทร์ใช้เป็นพาหนะไปไหนๆ แต่ทางฝ่ายพราหมณ์ว่ามีเพียง ๓ เศียร เพราะเข้ากับหลักประกอบไม้มวยไทยที่กล่าว คือ หัวปฏิปักษ์ ๑ กับหัวเข่าอีก ๒ หรือหมายความว่าเมื่อโน้มคอ (หัว) ปฏิปักษ์ได้ ต้องตีเข่าขวาซ้าย ๒ ที ถือว่า “ไม้เด็ด”

ชาวต่างประเทศเห็นว่าเป็นการต่อสู้ที่รุนแรงมีอันตรายที่สุด เพราะมวยสากลมีกติกาห้ามจับห้ามกอด (Hold Or hug) นักมวยที่ละเมิดกติกาข้อนี้ถือว่าผิดถนัด (Major foul)

แต่ผู้เขียนต้องขออภัยที่จะกล่าวติงว่า พวกเราใช้ไม้มวยไทยนี้กันอย่างฟุ่มเฟือยเกินไปจนไม่คิดใช้ไม้อื่นๆบ้าง และยังใช้ผิดแผกไปจากนักมวยคนแรกที่นำไม้มวยโบราณนี้มาใช้ที่สนามมวยสวนสนุกเมื่อ ๔๓ ปีมาแล้ว

วัน เมืองจันทร์

นักมวย “ลูกประดู่” ที่ผู้เขียนอยากจะกล่าวไว้ในที่นี้ เป็นศิษย์ของอาจารย์หลวงพิพัฒน์พลกาย (กระจ่าง วิธรจน์เพชร) และสังกัด คณะนิวาสะวัต ชื่อ วัน เมืองจันทร์

อันที่จริง วัน เมืองจันทร์ มีนามสกุลแท้ว่า “เพ็ญกุล” ซึ่งสืบเลือดเนื้อเชื้อสายลงมาจาก เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วกรุงเทพมหานครว่า “บ้านที่มีละครโรงใหญ่”

วัน เมืองจันทร์ มีพี่ชายเป็นนักฟุตบอลคนสำคัญของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเป็นนักมวยมีชื่อด้วยเหมือนกัน ในนาม พัน เมืองจันทร์

วิธีปราบปฏิปักษ์ด้วยการโน้มคอตีเข่าของ วัน เมืองจันทร์ จะเริ่มเมื่อมีเสียงระฆัง (ความจริงกลอง) สัญญาญให้ต่อสู้ วัน เมืองจันทร์ เป็นนักมวยบึกบึนและมั่นคง ไม่รีรอ แบบเดียวกับ “ตะลุมพุกแห่งเมืองแมนนาซา” หรือ แจ๊ึค เดมป์เซย์ วัน เมืองจันทร์ ถือว่าคนเกงที่จะชิงดีกันด้วยการใช้กำลังและไม่ต้องเกรงตำรวจนั้น ย่อมอยู่ร่วมสังเวียนเดียวกันนานนักมิได้ ฉะนั้นพอสิ้นเสียงระฆัง (ซึ่งความจริงกลอง) วัน เมืองจันทร์ จะยกปลายศอกซ้ายขึ้นเสมอระดับและตรงคาง โดยงอหมัดเข้ามาแนบสนิท ปดขากรรไกรขวา ศอกขวาแนบแน่นกระดูกซี่โครงอ่อน หมัดขวาป้องกันหัวใจ พร้อมที่จะลั่นไปยังใบหน้าหรือคว้าคอปฏิปักษ์เมื่อเข้าประชิด ขณะเดียวกันก็ยกเข่าซ้ายสูงขึ้นปิดช่องท้อง พุ่งเข้าหาปฏิปักษ์หมายลำตัวแบบ “เข่าโทน” ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะวิชา หมายความว่าตีเข่าตรงๆ หรือทีเดียวอยู่ ขาขวาย่อและสืบส่งไปข้างหน้าโดยเร็ว

ลักษณะเข้ามวยแบบนี้ทำให้ปฏิปักษ์ซึ่งไม่ได้เรียนรู้เชิงไว้ก่อนต้องพะวงป้องกันเข่าซ้าย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ วัน เมืองจันทร์ คว้าคอกระชกมาตีเข่าด้วยเข่าขวาที่ลำัตัว หากปฏิปักษ์อ่อนกว่าหน้าคะมำต่ำลง เข่าขวาก็อาจโดนหน้าถึงหาม และอาจโดนเข่าซ้ายอันเป็นติดตามซ้ำเติมอีกทีหนึ่ง

วัน เมืองจันทร์ จึงใช้ไม้มวยไทยดังกล่าวคว่ำปฏิปักษ์ฝีมือดี ทั้งตัวเท่ากันและใหย่เป็นยักษ์โดยมากไม่เกิน ๓ ยกเสียหลายคน (เพราะข้อบังคับคุ้มครองการแข่งขันชกมวยของสมุหพระนครบาล ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ อนุมัติให้คู่ต่อสู้มีน้ำหนักต่างกันได้ ๑๔ ปอนด์) นักมวยฝีมือดีที่ถูก วัน เมืองจันทร์ ปราบ เท่าที่ผู้เขียนนึกได้มี ทวี จิตรชุม , เสงี่ยม จุฑาเพ็ชร์ , เหม ชิตปรีชา , เลิศ ล้ำสูงเนิน มวยดีโคราช , พายัพ ใจเด็ด , จีนไก่ แซ่ฮุ้น ฯลฯ

แต่ขึ้นชื่อว่าไม้ตาย ก็ต้องมีไม้แก้ ผู้เขียนจึงจะเล่าถึงผู้ที่แก้ไม้ตายของวัน เมืองจันทร์ ที่เรียกว่าโน้มคอตีเข่า หรือหักคอเอราวัณต่อไป

(ฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒๐๙ วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖) โดย ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย

นำไปใช้กรุณาให้เครดิตด้วยนะครับ

http://www.muaychaiya.com/หักคอเอราวัณ/

หมายเลขบันทึก: 457117เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความแข็งแกร่ง ความอาจหาญดุดันและความเรียบง่ายในการป้องกัน แก้ไข และตอบโต้ด้วยอวัยวาวุธเพื่อพิชิตคู่ต่อสู้ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของศิลปะมวยไทย..แต่การที่จะสร้างให้เกิดมิใช้ของง่ายต้องผ่านการถ่ายทอดฝึกฝนทั้งจิตใจและร่างกายโดยบรมครูผู้ประเสริฐสุดยอดเท่านั้น..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท