496 มหาโพธิมหาวิหาร มรดกโลกของชาวพุทธ


สังเวชนียสถานสำคัญ

 

 

มหาโพธิมหาวิหารยามเย็น

มหาโพธิมหาวิหาร เมืองคยา มรดกโลกของชาวพุทธ

 

วันที่ 26 สิงหาคม 2554 มีโอกาสได้ไปร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษามหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา Bodhgaya Temple Advisory Board (BTAB) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามกฏหมายของรัฐพิหาร เกี่ยวกับมหาโพธิมหาวิหาร ประกอบด้วยผู้แทนและกรรมการที่ได้รับเชิญหลายระดับทั้งผู้แทนประเทศที่นับถือพุทธและที่มีวัดตั้งอยู่ที่พุทธคยา และหน่วยงานพุทธและของรัฐพิหารที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยได้รับเชิญให้เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษานี้ด้วยโดยกำหนดให้ตำแหน่งเอกอัครราชทูตเป็นกรรมการ ผมได้รับมอบหมายให้ไปประชุมแทนเอกอัครราชทูต (พิศาล มาณวพัฒน์) จึงขอนำความเป็นมาของมหาโพธิมหาวิหารมาเล่าสู่กันพอสังเขป ดังนี้

 

ความเป็นมา

มหาโพธิมหาวิหารเป็นหนึ่งในพุทธสถานนอกเหนือจาก 84000 แห่งที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชใน พุทธศตวรรตที่ 3  มหาเจดีย์โพธิคยาเป็นสิ่งก่อสร้างด้วยอิฐแห่งเดียวในแง่ของสถาปัตยกรรมที่หลงเหลืออยู่ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างเพื่อบูชาและเฉลิมฉลองการบรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านอกจากนั้นพระองค์ยังได้สร้างแท่นวัชอาสน์เป็นเครื่องหมายเอาไว้ด้วย

มหาโพธิมหาวิหารดั่งเดิมสร้างเสร็จใน พุทธศตวรรตที่ 7 ในสมัยพระเจ้าคุปต้า ได้มีการปฏิสังขรหลายครั้งแต่ครั้งที่สำคัญได้แก่ปี ค.ศ. 1874 โดยกษัตริย์พม่า Mindon-Min มาช่วยบูรณะโดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอินเดีย และ ในปี คศ.1883 เซอร์คันนิ่งแฮมได้ทำการบูรณะครั้งใหญ่ มี  J.D.M. Beglar และ Dr. Rajendra Lal Mitra ช่วยงานบูรณะด้วย และอีกครั้งเมื่ออินเดียฉลอง 2500 ปี นับว่ามหาโพธิมหาวิหารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธโลก

วัดมหาโพธิมหาวิหารในอดีตอยู่ในความดูแลของชาวพุทธจนถึง ศตวรรตที่ 13 จนถูกพวกเตริ์กรุกรานและทำลาย จนมาถึงยุคที่พวกโมหันต์มายึดครอง ( พวกโมหันต์คือนักบวชฮินดูใน คศ.1590 และยึดเป็นที่ทำการถาวรของตนและสืบต่อมาถึงปัจจุบันเป็นลูกหลานรุ่นที่ 16)  จนกระทั่งเซอร์เอ็ดวัน อาโนลด์ Sir Edwin Arnold เรียกร้องให้มีการบูรณะวัดในปี 1885 ได้เรียกร้องรัฐบาลอินเดียและอังกฤษให้วัดอยู่ในความดูแลของชาวพุทธ รวมทั้งเขียนจดหมายถึงประเทศที่นับถือพุทธให้ช่วยกัน ทำให้พระอนาคาริกะ ธรรมาปาละ Anagarika  Dharmapala พระศรีลังกามาช่วยดำเนินการเอาวัดคืนจากพวกโมหันต์ได้ในปี 1891 ต่อมาในปี 1949 รัฐพิหารออกกฏหมายว่าด้วยมหาโพธิมหาวิหารและได้ตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลบริหารวัด คณะกรรมการได้รับโอนอำนาจจากพวกโมหันต์ในปี 1953  และเริ่มดูแลตั้งแต่นั้นมา วัดไม่มีงบประมาณที่แน่นอนหรืองบประจำในเบื้องต้น อาศัยการรับบริจาคจากผู้ศรัทธาเท่านั้น

มหาโพธิมหาวิหารได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 2002 อีกทั้งมีสถานที่อีก 7 แห่งในบริเวณมหาโพธิฯ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับหลังจากทรงบรรลุพระธรรม

สถาปัตยกรรมพุทธที่ยิ่งใหญ่ 

แนะนำสถานที่น่าสนใจในวัด          

The sacred Bodhi Tree 

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับใต้ต้นในวันที่บรรลุพระนิพพานในวันเดือนเพ็ญเดือน พฤษภาคม (วันวิสาขบูชา) ชื่อภาษาฮินดีคือต้นปีปัล ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Ficus Religiosa พระพุทธเจ้าใช้เวลา 1 สัปดาห์ใต้ต้นนี้ ต้นปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5 จากที่ถูกทำลายทั้งโดยคนและจากธรรมชาติ                 

Vajrasana

แท่นวัชรอาสน์คือจุดที่พระพุทธเจ้าทรงประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สร้าง ศต.ที่ 3 BC โดยพระเจ้าอโศกมหาราช ทำด้วยหินทรายสีแดง พระอัชวโกษาได้รจนาว่าจุดนี้คือสดือของโลก พระฟ่าเอี้ยนบอกว่าพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ก็มาบรรลุนิพพานที่จุดนี้เช่นกัน รวมทั้งองค์ที่จะตรัสรู้ในอนาคตด้วย                 

Animesha Lochana Chaitya.ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมหาโพธิ์ พระพุทธเจ้าประทับในสัปดาห์ที่ 2 ในท่ายืนทอดพระเนตรต้นโพธิ์                 

Cankamana 

สัปดาห์ที่ 3 พระพุทธเจ้าทรงเดินสมาธิที่นี่                    

Ratanaghara

สัปดาห์ที่ 4  

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด ณ สถานที่นี้ ฉพรรณรังสีของพระพุทธเจ้าปรากฏออกมาให้เห็น เป็นที่มาของการออกแบบธงพุทธศาสนาที่ใช้กันอยู่จนทุกวันนี้                 

Ajapala Nigrodha Tree สัปดาห์ที่ 5 พิจารณาธรรมที่ว่าด้วยความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ                 

Muchalinda Sarovar

สัปดาห์ที่ 6 ระหว่างที่พระพุทธองค์นั่งสมาธิ มีฝนตก พญามุจลินทร์มาแผ่แม่เบี้ยคลุมกันฝนให้พระองค์                   

Rajayatna Tree

สัปดาห์ที่ 7 สถานที่นี้ มีพ่อค้าจากพม่า 2 คนผ่านมา ถวายอาหารและขอปวารณาตัวเป็นพุทธมามกะโดยมีเพียงพุทธัง สรณังคัจฉามิและธัมมัง ส่วนสรณังคัจฉามิ เพราะขณะนั้นยังไม่มีคณะสงฆ์ จึงถือว่าเป็น บุคคลคู่แรกที่เป็นพุทธมามกะ                 

Meditation Park:

สวนสำหรับปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด

Meditation facilities :

Day Meditation : เปิดให้เข้าไปนั่งสมาธิทุกวัน  (6 am-6 pm) โดยบริจาคเงิน Rs. 50/- ต่อคนโดยออกใบเสร็จให้

Night Meditation : กลางคืนเปิดให้เข้าวัด (9 pm - 4 am). โดยติดต่อสำนักงานเจ้าอาวาส Chief Monk office โดยสำเนาหนังสือเดินทางและวีซ่าและบริจาค  Rs. 100/- ต่อคน.                 

Oil Lamp House / Joss stick pot :

มีอาคารสำหรับเติมน้ำมันตะเกียงและกระถางทองใบใหญ่สำหรับปักธูปเพื่อรักษามลภาวะในวัด   

Mahabodhi Book Shop :

มีร้านหนังสือของวัดที่ขายหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาและประวัติมหาโพธิมหาวิหาร                   

Library :

ห้องสมุดที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปศึกษาค้นคว้าได้ทุกวัน 

Maltimedia Museum:

นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์มัลติมีเดียซึ่งตั้งอยู่ติดกับห้องสมุด มีการแสดงประวัติพระพุทธเจ้าในรูปแบบ3 D แอนิเมชั่น รวมทั้งประวัติของมหาโพธิมหาวิหารในรูปแบบของสารคดี น่าดูมาก 

มหาโพธิมหาวิหารพุทธคยาเป็นพุทธสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนองค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 2002 ถือเป็นพุทธโบราณสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดียและของโลก ในแต่ละปีมีผู้มาเยือนรัฐพิหารประมาณ 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธจากทั่วโลกที่มาสักการะสังเวชนียสถานแห่งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสังเวชนียสถาน 4 แห่งที่ชาวพุทธต่างปรารถนาจะไปสักการะให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต

การบริหารและดูแลวัด

การดูแลพุทธสถานโบราณแห่งนี้ มีคณะกรรมการบริหารชุดหนึ่ง (Bodhgaya Temple Management Committee BTMC) ทำหน้าที่ดูแล รักษาและพัฒนา ประกอบด้วยผู้แทน 9  คน กำหนดว่าต้องเป็นคนอินเดียทั้งหมดโดยแบ่งเป็นชาวพุทธ 4 คนและชาวฮินดู 4 คน กับประธาน 1 คน ทั้งนี้ในส่วนของฮินดู 4 คน ให้รวมพวกมหันต์ Mahanth ให้อยู่ในส่วนของฮินดูนี้ด้วย (ในกรณีของมหันต์ หากเป็นผู้เยาว์และไม่สมควรเป็นกรรมการ ก็ให้ฮินดูเป็นกรรมการแทนได้)  คณะกรรมการอยู่ในวาระ 3 ปี โดยให้  District Magistrate ที่เกษียณแล้วเป็นประธานกรรมการ  (หาก District Magistrate ของเมืองคยาไม่ได้เป็นคนฮินดู)  นอกจากนั้นรัฐจะแต่งตั้ง หนึ่งคนใน 8 คนเป็นเลขาธิการ

นอกจากนั้น มีคณะกรรมการที่ปรึกษา 1 คณะ ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศพุทธที่มีวัดและองค์การพุทธที่ตั้งอยู่ในเมืองคยาจะได้รับเชิญให้เป็นกรรมการที่ปรึกษานี้ด้วย มีวาระ 2 ปี อย่างไรก็ดี คณะกรรมการที่ปรึกษานี้เป็นองค์ที่ปรึกษาและเสนอแนะอย่างเดียวเท่านั้น มิได้มีอำนาจใด 

 

กลุ่มพระสงฆ์จากศรีลังกาบูชาพุทธคุณหน้ามหาเจดีย์

ประสบการณ์เกี่ยวกับมหาโพธิมหาวิหาร

จากประสบการณ์ที่ผมเคยไปสัมผัสมาเมื่อครั้งเข้าร่วมอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในปี 2007 และได้ไปเยือนอีกในโอกาสต่างๆ หลายครั้งผมพบว่า ชาวพุทธทั่วโลกต่างต้องการมาสักการะมหาเจดีย์และต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพราะเป็นจุดที่ถือว่าสำคัญที่เจ้าชายสิทธัตถะในฐานะนักบวชได้บรรลุธรรมกลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระมหาเจดีย์ที่พระเจ้าอโศกสร้างนั้นมีความงดงามและยิ่งใหญ่ทั้งด้วยประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยอิฐ เวลาเดินเข้าไปยังด้านหน้าของมหาเจดีย์ มีความรู้สึกย้อนกาลเวลากลับไปยังอดีต ทำให้เรารู้สึกศรัทธาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขึ้น ยิ่งได้ไปยืนอยู่ที่บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ ได้เห็นพระแท่นวัชรอาสน์ ก็ทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดพระองค์ นึกถึงเรื่องราวในวันที่พระพุทธองค์ทรงต่อสู้กับพญามารจนสามารถบรรลุธรรม ณ ที่ตรงหน้าเรานี่เอง เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจพุทธศาสนิกชนทุกคนแน่นอน

บริเวณวัดมหาโพธิมหาวิหารนั้น ตามปรกติค่อนข้างพลุกพล่านไปด้วยผู้คน โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคมซึ่งก็คงเป็นธรรมดาที่ทุกคนที่มาก็อยากจะสัมผัสกับความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในบริเวณนี้และผู้ดูแลวัดค่อนข้างจะเปิดเสรีให้พุทธศาสนิกชนบูชาตามวิธีการของแต่ละนิกาย จึงกลายเป็นสภาพที่น่าดูไปอีกแบบหนึ่ง ตรงเจดีย์ที่มีห้องประดิษฐานพระพุทธเมตตาอยู่ คนแน่นมาก ไม่มีการจัดระเบียบเท่าใดนัก คนส่วนใหญ่หลังจากกราบพระพุทธเมตตาแล้ว ก็จะเดินวนขวารอบมหาเจดีย์ บางคนก็ใช้ทางเดินนั่งปฏิบัติธรรม พระธิเบตและคนธิเบตใช้ทางเดินสักการะแบบนอนราบกับพื้น โดยเฉพาะบริเวณใก้ลต้นพระศรีมหาโพธิ์ จึงถือว่าใครใคร่ทำอะไรก็ได้ รอบนอกด้านหลังต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นลานดินกว้าง บริเวณนี้ส่วนใหญ่ใช้ทำพิธีต่างๆ ผมเองก็บวชตรงบริเวณด้านหลังต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้

การได้กลับไปมหาโพธิมหาวิหารจึงเสมือนได้กลับไปทบทวนย้อนเวลาหาอดีตเพื่อสักการะองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ว่า ณ ที่นี้ พระนวกะเตชะพละโพธิเคยอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเจริญพระชนมมายุ 80 พรรษา

 

หมายเลขบันทึก: 457078เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นบันทึกที่ทรงคุณค่า มากเลยคะ ทั้งภาพ และเนื้อหา เก็บไว้อ้างอิงได้เลย แต่สงสัย ทำไม

บริเวณวัดมหาโพธิมหาวิหารนั้น ตามปรกติค่อนข้างพลุกพล่านไปด้วยผู้คน โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม

Hi CMUpal

Maybe Oct-Mar is the 'dry' period. out of annual 'vassa'(พรรษา), rainy monsoon period and usual (farming) planting time.

There also many 'public holidays' in the dry season, so travelling urges flow (even for monks out of vassa).

Ico48

sr

คุณหมอและ คุณ sr ครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาให้ดอกไม้กำลังใจและทักทายกัน

พุทธโบราณสถานแห่งนี้ ต้องยกคุณงามความดีให้พระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งคนไทยรู้จักกันดี ที่ได้ชี้จุดที่สำคัญซึ่งเชื่อมโยงกันหลายสถานที่คือแม่น้ำเนรัญชรา หมู่บ้านนางสุชาดาหรือที่อินเดียนางสุชาตา จุดที่พระพุทธองค์ทรงทรมานร่างกาย ดงคะศิริ จุดที่นางสุชาตาถวายข้าวมธุปายาสและที่สำคัญต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับเพื่อปฏิบัติธรรมขั้นสุดท้าย

การสร้างสถูปเพื่อบูชา เช่นเดียวกับการสร้างวัดเพื่อการบูชาของพระเจ้าอโศกจึงเป็นคุณประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังได้ตามรอยอดีตได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่ว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมีนาคม ของทุกปีนั้น คือช่วงการเดินทางมาแสวงบุณของผู้แสวงบุญชาวไทยและชาวพุทธประเทศต่างๆ เหตุสำคัญคือการบินไทยได้เปิดทำการบินตรงเป็นพิเศษจากกรุงเทพฯ คยา พาราณสี กรุงเทพฯ ในระหว่างนั้น 6 เดือนต่อปี เป็นสายการบินต่างชาติเดียวที่บินจากกรุงเทพฯ ไปสังเวชนียสถาน ทำให้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว สิงคโปร์หรืออื่นๆ ใช้บริการการบินไทยเพื่อไปพุทธคยาครับ

เจริญสุขครับ

 

ขอบคุณ คุณพลเดช และคุณ sr คะ

ได้ข้อมูลว่าช่วงออกพรรษา จะมีเครื่องบินตรงจาก กรุงเทพไปพุทธคยา

ครั้งหนึ่งในชีวิต น่าไปสักการะ นะคะ..หรือ รอให้มี บินตรงจากเชียงใหม่ (คงอีกนาน :-)

Ico48

 

คุณหมอครับ

ครั้งหนึ่งในชีวิตครับ ไปเรียนรู้ห้องเรียนทางจิตวิญญานครับ

แนะนำกันสำหรับการไปแสวงบุญครับ http://www.gotoknow.org/blog/poldejw/446891

อนุโมทนาสาธุล่วงหน้าครับ

กราบอนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

และมารับบุญที่พี่โยคีนำมาฝาก

อ่านไปก็ระลึกได้เช่นกัน

โยคีน้อยอยู่ที่นั่น1 สัปดาห์

และไปนั่งสมาธิที่ใต้ต้นมหาโพธิ์ทุกวัน

ที่นั่นยังมีเรื่องเกี่ยวกับใบโพธิ์ที่ร่วงหล่นด้วย

หากลมพลิ้วมาใบโพธิ์หล่นจากต้น หากหล่นบนตักใคร

ผู้นั้นก็ได้สิทธิ์เก็บใบโพธิ์ โดยไม่มีใครมาแย่ง

คราวนั้น ใบโพธิ์หล่นลงตักหลายใบและมีกัลยาณมิตรมอบให้อีกต่างหาก

ประทับใจที่ได้ไป และปลาบปลื้มใจ ที่มีส่วนร่วมอนุโมทนาบุญบวชกับพี่ตลอดไป

สาธุ สาธุ สาธุ

สุขสันต์วันเกิด กับบันทึกบุญ ในวันเกิดนะคะ

Ico48

 

โยคีน้อย

ขอบใจมากสำหรับความดีที่คงที่และมั่นคง ใครทำใครได้นะ ทุกอย่างอยู่ที่ใจเรา ก็ขอให้พรนั้นย้อนกลับไปยังผู้ให้เป็นทวีคูณนะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท