ประวัตินางโอปอล์ สุนนานนท์ อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา


            นางโอปอล์   สุนนานนท์  (สกุลเดิม  อติเปรมานนท์)   เกิดเมื่อวันที่  9  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2470   ที่บ้านตึกพระยาโชฎึกราชเศรษฐี  ข้างวัดบพิตรพิมุข (วัดเชิงเลน) จังหวัดพระนคร  เป็นบุตรคนโตของนายทิมและนางมะลิ  อติเปรมานนท์  มีน้องร่วมบิดามารดา 10 คน คือ นางมุกดา  สุขสุภาพ นางโมรา  กินิพันธุ์
(ถึงแก่กรรม)  นางสาวมาลี   นางสาวปุยฝ้าย (ถึงแก่กรรม)  เด็กชายเมืองธน  (ถึงแก่กรรม) นายนนท์  นางอรอัจฉรา   พงศ์วุฒิศิริ  เด็กชายโสภิต  (ถึงแก่กรรม) นายชาญชัย อติเปรมานนท์   และน้องคนสุดท้องถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์นอกจากนี้ยังมีพี่น้องต่างมารดาอีก  2  คน  คือ  พันเอกหญิงสมจิตต์  (ถึงแก่กรรม)  และนายพาหนะ  อติเปรมานนท์
         
        นางโอปอล์ได้เริ่มเข้าเรียนระดับประถมที่โรงเรียนพญาไทวิทยาคาร(โรงเรียนสตรีประเทืองวิทย์ในปัจจุบัน)  เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมตอนต้นที่โรงเรียนศึกษานารี  แล้วย้ายมาศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยมตอนปลายที่โรงเรียนสตรีวิทยา  โดยนางโอปอล์เป็นนักกีฬาของโรงเรียนทุกแห่ง ตั้งแต่ระดับประถมเป็นต้นมา ซึ่งนายวิทย์  พิณคันเงิน  ผู้เคยดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ระดับ 9  และคณะได้เขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพนางโอปอล์  สุนนานนท์ ความตอนหนึ่งว่า 
                       “… สมัยอาจารย์โอปอล์เรียนระดับมัธยมโรงเรียนสตรีวิทยา ท่านเรียนเก่ง  เป็นนักกีฬาดีเด่น  ท่านเคยเป็นตัวแทนนักกีฬาวิ่งคบเพลิงเปิดงานกีฬามาแล้ว...”
     
 หลังจากจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสตรีวิทยา  ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง)  ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาที่เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา โรงเรียนเพาะช่างต้องย้ายมาจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนวัดนางนอง (เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) จนสำเร็จได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูประถมการช่าง
(ป.ป.ช.)
     ระหว่างศึกษาที่โรงเรียนเพาะช่าง บิดาซึ่งขณะนั้นเป็นครูสอนพลศึกษาโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และได้รับประกาศนียบัตรยูโด เกียรตินิยมสายดำ อันดับหนึ่งคนแรกของประเทศไทย จากสถาบันโคโดกัน ประเทศญี่ปุ่น ได้สนับสนุนให้นางโอปอล์ ได้เข้าเรียนพลศึกษาไปพร้อมๆ กับการเรียนโรงเรียนเพาะช่าง จนสำเร็จได้ประกาศนียบัตรครูพลศึกษาเอก (พ.อ.) จากโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษาในปัจจุบัน)
      พ.ศ. 2490 โรงเรียนเพาะช่างเปิดหลักสูตรประโยคครูมัธยมการช่าง (ป.ม.ช.)เป็นครั้งแรก เพื่อรับผู้ที่จบประโยคครูประถมการช่าง (ป.ป.ช.) ให้ศึกษาต่ออีก 2 ปี  แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่จบประโยคครูประถมการช่าง ที่ไปเป็นครูศิลปะตามโรงเรียนต่างๆได้มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ จึงให้สิทธิ์ครูเหล่านี้มาเข้ารับการอบรมหลักสูตรประโยคครูมัธยมการช่าง เป็นเวลา 6 เดือน แล้วสอบเพื่อให้ได้วุฒิดังกล่าว ซึ่งนางโอปอล์ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับโอกาสนี้และสำเร็จได้ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมการช่าง (ป.ม.ช.)
       ภายหลังจากรับราชการครู นางโอปอล์ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะศิลปกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ซึ่งอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่าง จนสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญาศิลปกรรมบัณฑิต (ศ.บ.)  นอกจากนี้ยังได้ศึกษาต่อในหลักสูตรระยะสั้นที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รับ Diploma of Art & Craft, Sakurakai Tokyo JAPAN และ Certificate of Art & Craft , O.T.C.A. Tokyo JAPAN
        นางโอปอล์เริ่มเป็นครูสอนที่โรงเรียนซางตาครูสคอนแวนต์ เป็นเวลา 1 ปี แล้วเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อพ.ศ. 2490 เป็นครูสอนวิชาศิลปศึกษาและพลศึกษา ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หัวหน้าหมวดศิลปศึกษา และพ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครองโรงเรียนสตรีวิทยา จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2531
        นางโอปอล์มีแววของการเป็นครูมาตั้งแต่ยังเด็ก โดยจะคอยสอนการบ้านและสอนวาดเขียนให้น้องๆ เป็นประจำ มักจะทำตัวเป็นคุณครูขานชื่อน้องๆ ตามที่ตั้งชื่อให้ใหม่  เมื่อเข้ารับราชการครู นางโอปอล์ก็เป็นครูที่มีความสามารถสูงทั้งในด้านศิลปะ และการกีฬา  เป็นผู้ที่เสียสละ ทุ่มเท อุทิศตนในการทำงานให้แก่โรงเรียนสตรีวิทยาจนตลอดชีวิตราชการ ดังที่ นางสาวเยาวนิจ    สุนนานนท์ บุตรคนโตของนางโอปอล์ ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า 
      “...ตลอดชีวิตการทำงานจะเห็นแม่อยู่ทำงานจนเย็นค่ำจึงกลับบ้าน ช่วงที่แม่เป็นอาจารย์สอนศิลปะจะฝึกฝนนักเรียนและพาไปประกวดงานด้านศิลปะเช่น การวาดภาพ การนำแสตมป์ที่ใช้แล้วมาประดิษฐ์เป็นศิลปะ และได้รางวัลชนะเลิศกลับมาสู่โรงเรียนอยู่เสมอๆ นอกจากจะสอนศิลปะแล้ว แม่ยังมีความสามารถทางด้านกีฬาและจบมาทางพลศึกษา ทางโรงเรียนสตรีวิทยา จึงขอให้แม่มาช่วยดูแลเรื่องการกีฬาของโรงเรียน ...แม่ช่วยฝึกสอนเด็กร่วมกับครูพลศึกษาของโรงเรียน ยุคนั้นการกีฬาของสตรีวิทยารุ่งเรืองมาก ถ้าแข่งขันกับโรงเรียนใด มักจะนำชัยชนะมาสู่โรงเรียนเสมอ โดยเฉพาะกีฬาบาสเก็ตบอล ซึ่งมีนักกีฬาที่เก่งและเด่นมาก ...ทางด้านศิลปะ นอกจากจะฝึกฝนพานักเรียนไปประกวดงานศิลปะแล้ว ...แม่ได้นำดอกไม้สดมาอัดให้แห้งแล้วนำมาติดที่กระดาษ ใช้พู่กันวาดเขียนก้านเป็นใบ แต่งเติมดอกไม้ออกมาเป็นภาพ ส.ค.ส. ที่สวยงาม จนได้รับคำชื่นชมและเป็นที่นิยมในสมัยนั้นและเป็นงานชิ้นหนึ่งที่นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี) ที่ทรงเป็นองค์อุปภัมภ์โรงเรียนสตรีวิทยาด้วย  ซึ่งแม่จะจัดทำทูลถวายเป็นจำนวนมากมาโดยตลอด เพื่อหารายได้ช่วยเหลือตำรวจตระเวนชายแดน...”
        นางสาวชลัยย์   บุระเกษตร ผู้เคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริการ และนางอัมพร   เอื้อนครินทร์ ผู้เคยเป็นครูโรงเรียนสตรีวิทยา ได้เขียนถึงนางโอปอล์ซึ่งเคยทำงานร่วมกันทั้งในตอนที่นางโอปอล์เป็นครูและเป็นหัวหน้าหมวดวิชาศิลปศึกษาและเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า

        "...ท่านเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยวิญญาณของความเป็นครู มีเมตตา มีความเอาใจใส่ เอื้ออาทรและห่วงใยลูกศิษย์อยู่เสมอโดยไม่เคยละเลยเพิกเฉย หรือท้อแท้ เมื่อถึงคราวที่นักเรียนเข้าค่าย ท่านก็จะกินนอน ร่วมทุกข์ร่วมสุข ใกล้ชิดกับลูกศิษย์ตลอดเวลา ไม่เคยปลีกตนไปอยู่ที่สะดวกสบาย ท่านจึงเป็นที่รักและเคารพของลูกศิษย์ตลอดมา ...ท่านเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับตลอดชีวิตของท่าน  นอกจากความเป็นครูผู้ประเสริฐกับลูกศิษย์แล้ว ท่านยังเป็นที่รักและเคารพของพวกครูน้องๆ ทุกระดับ ตลอดจนนักการของโรงเรียน เพราะท่านจะเป็นห่วงคอยถามทุกข์สุขอยู่เสมอ...

        นางสาวสุจิมา   เพ็ญเพียร ผู้เคยเป็นครูโรงเรียนสตรีวิทยา ได้กล่าวถึงนางโอปอล์ ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันความตอนหนึ่งว่า

         ...อาจารย์โอปอล์ เป็นทั้งศิษย์เก่าตัวอย่าง และเป็นครูตัวอย่างที่ดิฉันยกย่องที่สุด ท่านมีเลือดแดงขาวที่เข้มข้น จนเข้ากระดูกดำก็ว่าได้ ท่านเป็นเลือดแดงขาวที่รักสตรีวิทยาสุดหัวใจ อะไรที่ทำเพื่อโรงเรียนได้ท่านจะทุ่มเทอย่างที่สุด ... ท่านเปี่ยมด้วยความเมตตา ความเป็นธรรม ความมีน้ำใจ คำพูดที่ไพเราะรื่นหู คำว่า “หนูคะ หนูขา” เป็นคำพูดที่ติดปากอาจารย์อยู่เสมอ...”

         นอกจากจะเป็นครูอบรมสั่งสอนศิษย์แล้ว นางโอปอล์ยังเป็นครูของลูกๆ ทุกคน ดังที่นางเยาวรัช(ติ๊ก) รัตนอุบล บุตรคนหนึ่งได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า

         “...แม่เป็นครูของลูกจริงๆ ทุกสิ่งที่เราเป็น เราทำได้ ล้วนได้รับการอบรมสั่งสอนจากแม่ทั้งสิ้น ตั้งแต่จำความได้ ก็จะได้ยินแม่พร่ำสอนพร่ำบอกให้หัดทำงานบ้าน งานครัว ที่เป็นของลูกผู้หญิง ทั้งยังสอนกิริยามารยาท การเรือน การบ้าน การกีฬา งานฝีมือต่างๆ
  
งานครัว  แม่ทำกับข้าว ทำขนมให้พวกเรารับประทานเป็นประจำและติ๊กช่วยเป็นลูกมือด้วย
       
-น้ำข้าว  แม่จะเติมเกลือนิดหน่อยให้อร่อย ถ้าใครชอบหวานก็ใส่นมข้นหวาน   
       -
น้ำเต้าหู้  ใช้โม่เป็นเครื่องบด แม่ยังใช้ให้ติ๊กช่วยโม่ด้วย
       -
สลิ่ม  ยังจำภาพที่แม่ใส่แป้งลงในพิมพ์แล้วช่วยกันกดพิมพ์ให้แป้งออกมาเป็นสาย หลายๆสี ดูน่าสนุกและสวยดี ติ๊กมักเอามือไปรองใต้พิมพ์ เวลาแป้งไหลออกมาเป็นเส้น ๆ
       -
บัวลอย  แม่จะแบ่งให้พวกเราช่วยปั้น เป็นตัวอะไรก็ได้ พอสุกแล้วต่างคนก็รับประทานตัวที่ปั้น
       -
ข้าวต้มผัด  แม่จะให้ช่วยใส่ข้าวเหนียว ใส่ไส้กล้วย โรยด้วยถั่วดำ ห่อใบตองแล้วมัดด้วยตอก
       -
ห่อหมก  เป็นกับข้าวอีกชนิดที่ทำบ่อยมาก แม่จะให้ตัดใบตองเป็นวง แล้วใช้ไม้กลัดเป็นกระทงเรียงไว้ให้ ติ๊กไม่ทานเผ็ดแม่ก็จะผสมพิเศษไม่เผ็ดไว้ให้
   
การศึกษา  แม่สอนให้ติ๊กหัดทำคณิตศาสตร์ บัญญัติไตรยางศ์จนสอบได้ และแม่ก็จะพูดภาษาไทยได้ชัดมาก สอนให้พูดคำควบกล้ำ อักษา ร.เรือ ล.ลิง ต้องพูดให้ชัด ติ๊กก็ติดพูดชัดมาโดยตลอด และสอนให้พูดจาไพเราะ อ่อนหวาน มีสัมมาคารวะ
   
การกีฬา  ติ๊กก็เป็นนักกีฬาเหมือนแม่ ติ๊กต้องแข่งวิ่งผลัด 4 X 100 เมตรในงานกีฬาสี แม่ก็สอนวิธีรับไม้ ส่งไม้ สอนการออกตัวและกฎกติกามารยาทให้
   
ด้านบันเทิง  แม่สอนให้ติ๊กร้องเพลง ไปประกวดจนได้ที่ 1 คือเพลงบัวกลางบึง และแม่จะชวนพวกเราเต้นประกอบเพลงเพื่อออกกำลังกายทุกเย็น
   
งานอดิเรก  แม่จะมีงานอดิเรกมาให้พวกเราช่วยทำในยามว่างและปิดเทอมมากมายหลายอย่าง เช่น ทำฝาชี ทำตุ๊กตาจากปูนปลาสเตอร์ ทำเข็มกลัดติดเสื้อ เทียนสี ถักโครเชต์ ร้อยลูกปัดทำสายสร้อย ทำดอกไม้จากริบบิ้นฟาง ทำปังฟลาวเวอร์ สะสมแสตมป์ เป็นต้น
   
ปลูกต้นไม้  แม่ชอบปลูกต้นไม้มาก ...ติ๊กก็ช่วยแม่ทำทุกขั้นตอน
   
การศาสนา  แม่จะสอนให้ไหว้พระสวดมนต์ พวกเราจะต้องไหว้พระสวดมนต์ในห้องพระทุกวัน พร้อมกันเวลา 1 ทุ่ม และจะมีผ้าสมาธิประจำตัวคนละผืน สวดกันจนจำบทสวดได้ขึ้นใจ...
     
นางโอปอล์มีผลงานศิลปะประดิษฐ์มากมาย เช่น เขียนสีเทียนลงผ้าดิบ ตุ้มหูจากเปลือกหอย ระบายสีลงภาพถ่าย  ที่ติดเสื้อกะลามะพร้าว พวงกุญแจไม้มะขาม  แกะสลักขิง  เพ้นท์ผ้า  การ์ดอวยพร  ดอกไม้อัดแห้ง  ตุ๊กตาผ้าโครงเหล็กยัดนุ่น  กระเป๋าถือจากแผ่นหนัง  มารุชุมามิ (ใช้ผ้าทำกลีบดอกและใบ แล้วนำมาประดิษฐ์เป็นงานศิลปะได้มากมาย) เป็นต้น
       หลังเกษียณอายุราชการ นางโอปอล์ ได้ใช้ความรู้ทางด้านศิลปะไปถวายความรู้ให้แก่ภิกษุ สามเณรที่ มหามกุฎราชวิทยาลัย วัดชูจิตธรรมาราม อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้จัดเตรียม จัดซื้ออุปกรณ์การเขียนเกี่ยวกับงานศิลปะ ด้วยทุนของตนเอง ซึ่งในเรื่องนี้ พระนฤพล   โถวสกุล ศิษย์ท่านหนึ่ง ได้เขียนขอบคุณนางโอปอล์ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า
      ขอขอบคุณโยมอาจารย์โอปอล์  สุนนานนท์ ผู้ถวายความรู้แด่อาตมาและสามเณรที่นี่ ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการกว้างไกลออกไป  ซึ่งมีผลดีต่อการทำงาน การเรียนในเวลาว่าง หายเครียดจากงาน ไม่เบื่ออะไรต่างๆ  พอนึกถึงงานศิลปะ จะลงมือทำทันทีให้สำเร็จ แล้วจะมีกำลังใจขึ้นอีกมาก มองโลกอย่างสดใสในแง่ดี...”
       นางโอปอล์ได้ช่วยเหลืองานทางสังคมในหลายๆเรื่อง  เช่น   เป็นนายกสตรีวิทยาสมาคม  กรรมการสมาคมผู้ปกครองและครูสตรีวิทยา   กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสตรีวิทยา   กรรมการที่ปรึกษาสมาคมศิษย์เก่าเพาะช่าง   กรรมการอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มเยาวชนสร้างภูมิคุ้มกันการพึ่งยา   กรรมการโครงการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรมของสภาสตรีแห่งชาติ   เป็นต้น
       เกียรติคุณที่นางโอปอล์ได้รับ เช่น  ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1 จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ได้รับพระราชทานเข็มผู้บำเพ็ญประโยชน์ของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ   ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติครูดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ   ได้รับประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  เป็นต้น
       เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทานคือ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก  ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย  และเหรียญจักรพรรดิมาลา
       นางโอปอล์ สมรสกับ นายยุทธ์   สุนนานนท์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 มีบุตร 5 คนคือ นางสาวเยาวนิจ  นางสาวยุวนาฎ  นางเยาวรัช   รัตนอุบล  นางยุวริน  ฟลูรี่  และนางเยาวนุช   จำรัสโรมรัน  นอกจากนี้นางโอปอล์ยังได้อุปการะเลี้ยงดูหลานประดุจเดียวกับบุตรไว้ 1 คน คือ นางสมพิศ  งาใหญ่
      หลังเกษียณอายุราชการ จะมีลูกศิษย์ นางโอปอล์ หลายๆรุ่นทยอยมาแสดงมุทิตาจิต มาคอยดูแลเอาใจใส่ พาไปพักผ่อนในต่างจังหวัดมิได้ขาด  นอกจากนี้นางโอปอล์ยังช่วยเหลืองานสังคม พบปะเพื่อนฝูง ผู้เคยร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ  และที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องคือ การทำบุญ ทำกุศล เข้าวัด ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม     
      ปกตินางโอปอล์จะเป็นคนสนใจดูแลสุขภาพตนเอง โดยจะไปตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ  แต่เมื่อกลางปีพ.ศ. 2553 แพทย์ตรวจพบว่าเป็นวัณโรคที่ปอด ได้รักษามาอย่างต่อเนื่อง  และถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด  เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553 สิริอายุได้ 82 ปี 11 เดือน 12 วัน
      นางอาภรณ์   ปิยะเวช ศิษย์คนหนึ่ง ผู้เคยเป็นครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้เขียนบทกลอน “รำพึง-รำลึก-ตรึกพระคุณ” ถึงนางโอปอล์ ในหนังสือเล่มเดียวกัน ตอนหนึ่งว่า

        “พักตร์ผ่องเพ็ญโฉมประโลมเนตร        ยลเส้นเกศสลวยล้ำดำสนิท
 เกล้ารวบตึงซึ่งนลาฎผุดผาดพิศ                 ช่างวิจิตรขนงคู่ดูโค้งงาม
       
ศรพรหมาสตร์นารายณ์จำคลายมนต์     หากผจญคันศรบังอรสยาม
 
ที่สถิตบนพักตราสง่านาม                     โอปอล์”แก้วแพร้ววามของทรามวัย 
       ณ ห้องศิลป์ระบิลชื่อคือ ส.ว.            นวลลออสอนวาดภาพเอิบอาบใส
ภาพพอร์ตเทรตเทพบุตรสุดวิไล                  ลูกศิษย์ไซร้ฝึกฝนจนคล่องดี
      
ณ สนามหญ้าเขียวรอบตึกขาว             ราชาวดีพราวน้ำเงินสี
ปนช่อขาวสุดสล้างต่างต่างมี                      ผีเสื้อนี้บินขยับปีกฉับวน
     
ครูโอปอล์ให้เราวาดบนผืนผ้า               รอบสนามงามตาทุกแห่งหน
อากาศเย็นสดชื่นรื่นสุคนธ์                         ศิลปะเสริมกมลล้นเปรมปรีดิ์
     
รำพึง-รำลึก-ตรึกพระคุณ                     ครูการุณแยกแยะแนะวิถี
ยามเป็นผู้ร่วมงานการคลุกคลี                     ชั่วชีวีจำจดไม่หมดใจ...

                                          
                                     
นายธเนศ     ขำเกิด           ผู้เรียบเรียง

                                ข้อมูลอ้างอิง

        1. “อาจารย์โอปอล์   สุนนานนท์ 23 เมษายน 2554” หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นางโอปอล์ 
สุนนานนท์ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554
        2. สัมภาษณ์ นายวิทย์   พิณคันเงิน   นายพนัส   สุวรรณบุณย์ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สัมภาษณ์นายประพันธ์   บุญเลิศ และนางดรุณีนาถ   นาคคง   วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หมายเลขบันทึก: 456850เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2011 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
จุฬารัตน์ (วรมิศร์ )ปริยชาติกุล

ยืนยันเนื้อหาที่นำเสนอในเรื่องการพูดจาไพเราะและการออกเสียงควบกล้ำ ร, ล ของอ.โอปอล์สมัยช่วงเรียนหนังสือที่ สตรีวิทยา(2516-2561) อ.พูดคุยหรือสั่งสอนจะมีลงท้ายคะ,ขา,กับนร.ทุกคนเป็นตัวอย่างที่นร.ประทับใจ มากๆ/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท