หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน : ...เทียนพรรษา อีกหนึ่งของ "ใจนำพา ศรัทธานำ ทาง" (สโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์,ชมรมนอกหน้าต่าง)


ผมให้ความสำคัญต่อความร่วมมือของชุมชนอย่างมาก เพราะนั่นคือภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่าชุมชนมี ”ส่วนร่วม” กับกิจกรรมที่จัดขึ้น รวมถึงศักยภาพทางความคิดของชุมชนที่ไม่จมจ่อมอยู่กับสถานะของการเป็น “ผู้รับ” จนลืมที่จะหยัดยืน และสร้างสรรค์โอกาสให้กับตัวเอง

ใจนำพา ศรัทธานำทาง คือหลักคิดที่ผมยึดปฏิบัติในวิถีการงาน หลายต่อหลายครั้งการงานของผมสะดุดอยู่กับขั้นตอนบางขั้นตอนในระบบ ชวนหัวเสีย จิตตกก็บ่อย แต่ทั้งปวงนั้น ผมก็จะไม่ละวางทิ้งไว้ให้เสียประโยชน์ใดๆ ตรงกันข้ามกลับพยายามเดินหน้า พุ่งชนปัญหา เพื่อไปให้ถึงปลายทาง

หรืออย่างน้อยก็พยายามไปให้ได้ไกลที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยปลอบใจตัวเองเสมอว่า การลงมือทำ ยังดีกว่าไม่ลงมือทำ ทำไปเรียนรู้ไป สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ก็ยังดีกว่าล้มเหลวเพราะไม่ลงมือทำ !

ผลพวงวิธีคิดดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมหลายกิจกรรม อาทิ มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน (หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน) ทอดเทียนพรรษา กฐินโบราณ จดหมายจากมหาวิทยาลัยถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน ลมหายใจปัญญาชนคนชาวค่าย

กิจกรรมเหล่านี้ ร้อยทั้งร้อยเกิดจากการริเริ่มคิดของผมและทีมงาน ไม่ใช่เกิดตามนโยบายของผู้บริหารเสียทั้งหมด หลายอย่างไม่มีงบประมาณสนับสนุน เป็นภารกิจคิดฝันในแบบฉับพลัน ก็ใช้กระบวนการร่วมแรงใจระดมทุน ทั้งขายหนังสือ ตีกลองร้องเพลงในตลาดน้อย ชักชวนนิสิตมาเสริมพลังของการขับเคลื่อน ภายใต้แนวคิด “ใจนำพาศรัทธานำทาง”


กรณีการจัดกิจกรรมขึ้น ณ บ้านกุดหัวช้าง ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคามก็เช่นเดียวกัน กว่าจะก่อร่างสร้างกิจกรรม “หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน” ขึ้นได้ ก็ใช้พลังภายในอย่างมหาศาล ผมและทีมงานต้องประสานรอบทิศ เพื่อให้องค์กรนิสิต (สโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์) ได้ขยับลงไปฝากตัวเป็น “ลูกฮัก” ของชาวบ้าน

เท่านั้นยังไม่พอ ยังจำต้องเชิญให้ชมรมนอกหน้าต่างลงพื้นที่ไปร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย ซึ่งกิจกรรมในครั้งนั้นก็คือการสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่นั่นเอง

เดิมผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับกิจกรรมนี้เสียทั้งหมด เพราะเกรงว่าจะเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ เพราะไม่รู้ว่าทำมาทำไปจะหาเงินหาทองจากที่ไหนมาสมทบ แต่ชาวบ้านก็ยืนยันว่าอยากทำในเรื่องนี้ และจะพยายามต่อยอดกันให้แล้วเสร็จ โดยจะไม่ปล่อยให้เป็นภาระของมหาวิทยาลัยแต่เพียงฝ่ายเดียว พร้อมกันนี้ชาวบ้านยังแสดงความพร้อมในเรื่องเงินทุนและกำลังคนให้เห็นชัดเจนว่าชาวบ้านก็มี “ใจนำพา..ศรัทธานำทาง” เหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้กิจกรรม “หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน” ณ บ้านกุดหัวช้างจึงเปิดตัวขึ้นด้วยการรื้อศาลาวัดหลังเดิมลง ปรับเปลี่ยนเป็นการสร้างใหม่ ปรับที่ให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมถึง มีการประสานเครือข่ายมาร่วมด้วยช่วยกันอย่างคึกคัก จนทุกสิ่งอย่างปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอย่างมหัศจรรย์

และครั้ั้งนั้น กิจกรรมในระยะต้นก็ขับเคลื่อนด้วยงบประมาณจากมหาวิทยาลัยฯ จำนวน 30,000 บาท

ความพร้อมของชุมชนอันหมายถึงวิธีคิดแบบ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” เช่นนั้น ทำให้ผมมั่นใจว่าชาวบ้านในชุมชนนี้มีความเป็นปึกแผ่น แน่นแฟ้น และรักบ้านเกิดเมืองนอนอย่างชัดเจน ดังนั้นผมจึงขยับโครงการทอดเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติฯ เข้าไปสมทบ

กิจกรรมการทอดเทียนเฉลิมพระเกียรติฯ จึงเป็นกิจกรรมที่มุ่งให้นิสิตได้เรียนรู้ชุมชน พร้อมๆ กับการทำความดีถวายแด่ในหลวงและสมเด็จพระราชินีของปวงชนชาวไทย รวมถึงการมุ่งเสริมสร้างเรื่องจิตอาสาที่มีต่อการรับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรม จริยธรรมและอัตลักษณ์ของนิสิต คือ “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”

แต่พอกิจกรรมทอดเทียนพรรษาเริ่มก่อตัวขึ้น มีหลายอย่างขลุกขลักอยู่บ้าง ผมใช้เวลาไม่น้อยกับการอธิบายให้ผู้บริหารเข้าใจในเจตนารมณ์การขับเคลื่อน และถึงแม้จะยังไม่อนุมัติโครงการฯ แต่ผมก็ยังยืนยันหนักแน่นว่าการทอดเทียนพรรษาจะยังเดินหน้าในวิถี “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”

และถึงแม้จะยังยืมเงินออกมาไม่ได้ ผมก็ยืนยันว่าจะสำรองจ่ายเอง!

การทอดเทียนพรรษาในปีนี้ ผมและทีมงานเลือกเฟ้นวัดในชุมชนราวๆ ๑๐ วัดเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรม โดยหลักๆ พิจารณาจากความพร้อมและความต้องการของชุมชนเป็นที่ตั้ง รวมถึงการพิจารณาจากความสำเร็จอันหมายถึงความร่วมมือของชาวบ้านที่มีต่อกิจกรรม “หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน” (มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน)

ผมให้ความสำคัญต่อความร่วมมือของชุมชนอย่างมาก เพราะนั่นคือภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่าชุมชนมี ”ส่วนร่วม” กับกิจกรรมที่จัดขึ้น รวมถึงศักยภาพทางความคิดของชุมชนที่ไม่จมจ่อมอยู่กับสถานะของการเป็น “ผู้รับ” จนลืมที่จะหยัดยืน และสร้างสรรค์โอกาสให้กับตัวเอง





ด้วยเหตุนี้การจัดกิจกรรมทอดเทียนพรรษา จึงกลายมาเป็นการต่อยอดพันธกิจของกิจกรรม “หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน” ไปในตัว โดยทางผมและทีมงานมีงบประมาณส่วนหนึ่งจัดสรรแก่องค์กรนิสิต จากนั้นก็ให้องค์กรนิสิตได้ระดมทุนเพิ่มเติมด้วยตนเอง พร้อมๆ กับการออกแบบกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน เน้นย้ำกิจกรรมที่หลากหลายและบูรณาการ

และที่สำคัญก็คือการกำหนดนโยบายให้นิสิตรุ่นพี่ได้พา “น้องใหม่ลงสู่ชุมชน” เพื่อฝากตัวเป็นลูกฮักต่อชาวบ้าน




แรกเริ่มนั้น ผมและทีมงานออกแบบกิจกรรมคร่าวๆ ด้วยการทอดเทียนตลอดเทศกาลเข้าพรรษา ไม่รีบเร่งเหมือนทุกปี เพื่อที่จะให้แต่ละองค์กรทิ้งช่วงและเว้นระยะให้องค์กรอื่นๆ ได้มีทางเลือกที่จะเข้าร่วมอย่างทั่วถึง เพราะหากใครไม่สามารถเข้าร่วมครั้งนี้ได้ ก็ยังมีพื้นที่และโอกาสอื่นๆ ให้เข้าร่วมอีก และที่สำคัญก็คือให้จัดกิจกรรมในรูป “เครือข่าย” ด้วยการเชิญชวนเพื่อนๆ หลากคณะมาร่วมสร้างสรรค์ให้มีพลังมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่ก็อย่างว่ากำหนดการมักมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ดังจะเห็นได้จากชุมชนมีภารกิจสำคัญเร่งด่วน จึงจำต้องปรับแผนแบบเร่งรีบ ผนึกกิจกรรมทอดเทียนเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมของชาวบ้าน


กรณีดังกล่าว ผมพยายามชี้แจงต่อระบบให้เข้าใจถึงภาวะเร่งด่วนที่ต้องปรับแผน ผมยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “ถึงแม้โครงการจะยังไม่ได้รับการอนุมัติ ผมก็ยังจะเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ชาวบ้านเหนื่อยครั้งเดียว ไม่ใช่จัดงานในทำนองเดียวกันมากกว่าหนึ่งครั้ง”

ด้วยเหตุนี้ผมจึงปรับแผนเชิงรุกชวนชมรมนอกหน้าต่างให้ผนึกกำลังกับสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อจัดกิจกรรมทอดเทียนพรรษา ณ บ้านกุดหัวช้าง ซึ่งทั้งสององค์กรนั้น คือ “ลูกฮัก” ของหมู่บ้านแห่งนี้



ก่อนงานเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่วัน ผมกระตุ้นให้นิสิตลงชุมชนเพื่อประสานงานด้วยตนเอง โดยที่ผมและเจ้าหน้าที่เกริ่นนำและแอบประสานบางเรื่องไว้ให้อย่างเสร็จสรรพ เพียงแต่พยายามสื่อสารให้นิสิตเรียนรู้ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุด ออกแบบกิจกรรมให้หลากหลายเพื่อรองรับให้สมดุลกับจำนวนคนที่เข้าร่วม ไม่ใช่ “มีแต่คน แต่ไม่มีงานให้ทำ” ท้ายที่สุดก็เป็น “ภาระชุมชน” เปล่าๆ

เช่นเดียวกับย้ำให้นิสิตรับผิดชอบต่อตัวเองให้มากที่สุด เช่น ให้มีการสมทบค่าอาหารให้กับชาวบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย เน้นการอยู่ร่วมแบบ “พ่อฮัก แม่ฮักและลูกฮัก” ...กินข้าวร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน...และไปมาหาสู่กันอย่างต่อเนื่อง



จนบัดนี้ผมยังไม่มีโอกาสได้คุยกับนิสิตที่ลงพื้นที่ดังกล่าวอย่างจริงจัง แต่ก็รู้ว่าหลายอย่างที่เราแนะนำไปได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการทอดเทียนพรรษาเหมือนกัน เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ในชุมชน การปลูกต้นไม้ เป็นต้น

ถึงกระนั้นก็ยังเชื่อว่ากิจกรรมที่ทำลงไปนั้น คงก่อประโยชน์ต่อนิสิตและชาวบ้านอยู่ไม่น้อย แต่ที่แน่ๆ ผมเชื่อเหลือเกินว่า การทำอะไรด้วยวิธีคิด “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” นั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลยสักนิด

หมายเหตุ

  • นิสิตสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และชมรมนอกหน้าต่าง ทอดเทียนพรรษาและถวายเงินสมทบการสร้างศาลาการเปรียญ เมื่อหักค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารและเทียนพรรษาแล้ว มีเงินถวายวัด จำนวน 10,715.50 เมื่อรวมกับชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธาต่างถิ่น ได้เงินถวายวัด 60,000 กว่าบาท
  • โครงการทอดเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อ 24 กรกฎาคม 2554
  • ภาพโดย พนัส ปรีวาสนา, สุริยะ สอนสุระ
หมายเลขบันทึก: 456689เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2011 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

“ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”

  • ภาพที่เห็นบ่งบอกเช่นนั้นค่ะอาจารย์

 

ผมคิดอะไรไม่ออกเลย คุณแผ่นดิน ... เมื่อเห็นภาพนี้เข้าไป

งามขนาดก๊าบ ;)...

ศักยภาพทางความคิดของชุมชนที่ไม่จมจ่อมอยู่กับสถานะของการเป็น “ผู้รับ” จนลืมที่จะหยัดยืน และสร้างสรรค์โอกาสให้กับตัวเอง

ชอบค่ะ

ตามด้วย 

ทำไปเรียนรู้ไป สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ก็ยังดีกว่าล้มเหลวเพราะไม่ลงมือทำ !

ผนวกกันแล้ว...ดีใจกับลูกศิษย์ของอาจารย์นะคะ  ที่คงไม่จบออกมาแบบหน่อมแน้ม...คิดว่าโลกมีแต่สีชมพู  แรก ๆ ชีวิตการทำงาน  ไม่สำเร็จ...จะเป็นฐานอันมั่นคง  ให้เราก้าวไปอย่างมั่นใจขึ้นด้วยซ้ำ  หากใช้บทเรียนที่ได้รับเป็น

รู้ทั้งศักยภาพตัวเอง  และศักยภาพชุมชนที่จะไปทำงานด้วย...สร้างสรรค์แน่เลย

 

ชื่นใจจังค่ะ เห็นรูปธรรมของอิทธิบาทสี่ ที่ร่วมกันสานพลังความดี เพื่อชีวีเป็นสุข :)

มาชม

ขอมีเพียงผูันำทางสว่างใจ ให้วิธีคิดวิถีชีวิตชุมชนคนอีสานก็โลดแล่นพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ดีงามนะครับ

สวัสดีครับ Kanchana Su.

เดิมนิสิตจะไปปลูกต้นยูคาฯ ด้วยนะครับ  ผมเลยเสนอแนะไปว่าอยากให้ปลูกต้นไม้ประเภทยางนา หรือไม่ก็ปลูกต้นไม้ที่กินได้  โดยร่วมกับชุมชนให้มีการเลือกพื้นที่สาธารณะ หรือไม่ก็ปลูกในวัด จะได้มีการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อกระตุ้น หรือเสริมสร้างกระบวนการของการปลูกควบคู่ไปกับการดูแลรักษา..

ซึ่งก็เป็นที่น่าชื่นใจครับที่นิสิตและชาวบ้านก็พลิกมาคิดในทำนองเดียวกัน...

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

นิสิต เป็นเยาวชน ก็เหมือนต้นกล้าที่เขากำลังถือกระชับมั่นในมือนั่นแหละครับ

การลงมือทำ ยังดีกว่าไม่ลงมือทำ 

ลงมือทำ

- ถ้าสำเร็จ ได้ความภูมิใจ
- ถ้าไม่สำเร็จ ได้เรียนรู้

ไม่ลงมือทำ

- ไม่ได้ความภูมิใจ ไม่ได้เรียนรู้ และโอกาสสำเร็จ = 0

เป็นกำลังใจให้คะ 


 

*** เป็นกิจกรรมที่น่าชื่นชม

*** คืนวันของขวบวัยช่วงหนุ่มสาวเป็นสีขาวอมชมพูที่สวยงาม...ความรัก ความบริสุทธิ์รวมกันเป็นสีแห่งศรัทธา

ผมให้ความสำคัญต่อความร่วมมือของชุมชนอย่างมาก เพราะนั่นคือภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่า ชุมชนมี "ส่วนร่วม" กับกิจกรรมที่จัดขึ้น รวมถึงศักยภาพทางความคิดของชุมชนที่ไม่จมจ่อมอยู่กับสถานะของการเป็น “ผู้รับ” จนลืมที่จะหยัดยืน และสร้างสรรค์โอกาสให้กับตัวเอง

นำดอกบัวสองกระถาง มามอบตามหลัง ยังไม่สายนะคะ 


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท