ทำนาแบบหยอดหล่น


สะดวก รวดเร็ว ราคาถูก และไม่เหนื่อยยากมากนัก (ไม่ต้องก้มหน้าดำนา)

แนวคิดการทำนาแบบหยอดหล่นเพื่อเหนื่อยน้อยลงแต่ได้ผลดีขึ้น

 

 

การดำนาเป็นกิจกรรมที่เหนื่อยยากมาก (หลังสู้ฟ้า)  ผมจึงได้คิดวิธีทดแทน วิธีใหม่นี้เราจะเตรียมก้อนดินปลูกที่คลุกกับเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ โดยคำนวณให้ได้ก้อนละ 3 เมล็ด

เมื่อคลุกดินกับเมล็ดข้าวเข้ากันดีแล้ว (ใส่น้ำให้แฉะด้วย)  ก็ให้เอาปั้นเป็นก้อนด้วยการปาดลงบนเบ้าไม้กระดานที่เจาะรู้ไว้เป็นหลุมๆ แถวละ 6 หลุม มี 25 แถวเรียงกัน (คล้ายเบ้าทำน้ำตาลก้อน)  ซึ่งหลุมนี้ก็คือก้อนดินที่ต้องคำนวณให้ได้ก้อนละสามเมล็ดข้าวนั้นเอง  หนึ่งแผ่นกระดานอาจมีสัก 150 หลุม หลุมควรทำเป็นทรงกระบอก ลึกสัก 1.5 ซม.  เส้นผ่าศศูนย์กลาง ประมาณ 1.5 ซม. ดังนั้นไม้กระดานเจาะรูนี้จะกว้างประมาณ 12 ซม. และยาวประมาณ 50 ซม.

 จากนั้นเคาะเบ้าให้เมล็ดหล่นไปวางไว้บนไม้กระดาน บางๆ ก้อนดินตะเรียงเป็นแถวตอนเรียง 6 เอาไม้กระดานซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ มีเสาต่อค้ำกั้นไม่ให้ทับก้อนดิน จากนั้นหมักก้อนดินทิ้งไว้ 1 หรือ 2 คืน พอให้รากข้าวงอกเป็นตุ่ม

 

ต่อไปก็เอาไปหยอดในนาที่เตรียมเทือกไว้แล้ว (เทือกคือพื้นนาแฉะที่ปาดเรียบเพื่อรอการหว่าน) วิธีหยอดคือ เอาแผ่นไม้ที่วางเรียงเม็ดดินไว้ มาวางบนแคร่ที่ห้อยคอไว้ (แบบพวกขายลอตเตอรี) วางให้มากที่สุดเท่าที่รับน้ำหนักไหว    ถ้าจะวางบนรถเข็นติดสกีก็ยังได้

 

จากนั้นเอาไม้หยอดมาพาดตามขวาง ไม้หยอดนี้ไม่ใช่อะไร เป็นเพียงไม้ระแนงหรือไม่ไผ่เรียวๆ ยาวประมาณ 130 ซม.  มีเชือกสีผูกห้อยไว้เป็นที่หมายตา 6 จุด โดยผูกกันเป็นระยะห่าง 25 ซม. ควรมีไม้หยอดนี้สัก 3 ไม้ วางขนานกัน ในแนวราบ  ห่างกัน 25 ซม. ก็จะมีทั้งหมด 18 จุด

 

การหยอดให้เดินหยอด  ให้เอาไม้บาง คัดแถวดิน ให้เลื่อนออกไป เพื่อเอามือสอดเข้าไปหยิบได้ ซ้าย 3 ขวา 3 ก็ได้หกเม็ด หยอดซ้ายขวาพร้อมกันทีละ 2 เม็ด โดยหยอดเม็ดดินลงไปตรงที่ผูกเชือกสีไว้  แล้วอีก 2 แล้วอีก 2 แล้ว ทำซ้ำอีก  อีก 6 เม็ด และอีก 6 เม็ด

การหยอด 6x3 = 18 หลุม จะใช้เวลาประมาณ 30 วินาที เท่านั้น

 การเดินนี้ควรมีเชือกขึงที่ผูกระยะ 75 ซม เป็นเครื่องหมายด้วย จะได้แนวข้าวที่ตรง  ใครแขนยาวอาจหยอดไม้ละ 8 หลุมก็ได้นะ แต่แขนต้องยาว 175 ซม.

 

 ข้อดีของวิธีนี้คือ

 

1)      สะดวก รวดเร็ว ราคาถูก  และไม่เหนื่อยยากมากนัก  (ไม่ต้องก้มหน้าดำนา)

2)      เม็ดข้าวจะตกจมลงไปลึกประมาณ 1 ซม. จากผิวดิน (แจกแรงกระแทกหล่นของเม็ดดิน) ทำให้รากข้าวงอกได้กำลังดี มีรากแข็งแรง  (ไม่ตื้นเกินไปแบบนาหว่าน) อีกทั้งรากไม่ต้องถูกกระทบกระเทือนจากการถอนและปักดำ แม้การปูกกล้าแบบต้นเดี่ยวที่เรากำลังไปลอกมาจาก Madagasgar ก็ยังมีการถอน ทำให้กระเทือนราก  เมื่อรากแข็งแรง ต้นข้าวก็แข็งแรง ทำให้ทนทานต่อโรคพืชสูงกว่าปกติ

3)      ถ้าเราเตรียมดินเม็ดด้วยปุ๋ยที่เข้มข้นด้วย ปุ๋ยจะไม่กระจายไปที่อื่น อยู่ที่บริเวณรากข้าวเท่านั้น ทำให้รากงอกได้ดีและแข็งแรงยิ่งขึ้น

4)      น่าจะลดเวลาปลูกข้าวลงได้ เพราะข้าวไม่ต้องเสียเวลาตั้งต้นใหม่จากการบอบช้ำจากการปักดำ

5)      รากข้าวจมลึกสม่ำเสมอเท่ากันหมดทุกต้น (สามารถวิจัยว่าจะหยอดสูงเท่าไรจึงจะดีที่สุด) ส่วนการดำนาบางทีดำลึก บางทีดำตื้น

 

ถ้าเราคำนวณให้มี 3 เมล็ดข้าว ใน 1 เม็ดดิน และถ้าอัตราการงอกเป็น 80% เราจะได้การงอกดังนี้ คือ ข้าวงอก 3 ต้น 51.2%, ข้าวงอก 2 ต้น 38.4%,  ข้าวงอกต้นเดียว 9.6%  และข้าวไม่งอกเลย 0.8%  ซึ่งถือว่ายอมรับได้ เพราะข้าวต้นเดียวนั้นอาจแตกกอได้ดีจนมีผลผลิตเท่าเทียมกับ 2 ต้น และ 3 ต้นในที่สุด ส่วนข้าวไม่งอกมีน้อยมาก

 

และอย่าลืมการทำนาชีวภาพ 100% (ไม่ใช้แม้สารชีวภาพ เช่น สะเดา)  ด้วยการเลี้ยงกบ เขียดในนา กบกินแมลงใหญ่ เขียดตัวน้อยๆ กินแมลงเล็ก รวมทั้งเพลี้ยต่างๆ ไม่เหลือหรอ หรือ เหลือเล็กน้อย แต่ยอมรับได้ มูลกบเขียดเป็นปุ๋ยให้นาโดยธรรมชาติ  (กลายเป็นว่าแมลงเป็นมิตรของพืช ไม่ใช่ศัตรูพืชอีกต่อไป) 

 

น้ำในนาก็ใช้เลี้ยงปลาได้หลายสกุล (เลือกกบชนิดที่ไม่กินปลา)  สำหรับหอยปูอาจเลี้ยงปลาไหลให้ช่วยกำจัด  (หรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่กินหอยปู)  อีกทั้งน้ำในนายังอาจสามารถปลูกพืชคลุมน้ำได้อีก ซึ่งถ้าวิจัยให้ดีอาจพบพันธุ์ที่ช่วยเสริมให้ข้าวโตเร็วขึ้นและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป  เพราะช่วยตรึงสารลงในดิน (เช่น อาจเป็นผักบุ้ง สันตะวา กระจอง ผักกุ่ม ผักหนาม สาหร่าย ผำ บัดเขียด ผักแว่น ผักใบพาย  ก็เป็นได้ ...บรรดาพืชน้ำทั้งหลาย)  อีกทั้งผักพวกนี้ยังอาจช่วยสร้างไรน้ำให้ปลาได้กินอีกด้วย

 

การขจัดวัชพืชในนานั้น ควรวิจัยหาพันธ์สัตว์ที่กินหญ้าทุกชนิด ยกเว้นต้นข้าว พองอกออกมาเป็นต้นอ่อนก็กินหมด อาจเป็นปลาบางสายพันธุ์ หรือ เต่าตัวเล็ก ก็เป็นได้

 

ถ้าทำนาแบบนี้อาจจะได้ผลผลิตสูง ราคาดี (เพราะชีวภาพ) ต้นทุนต่ำ  ทั้งคนปลูกคนกินมีสุขภาพดี  ยังขายปลา ขายกบ ได้อีก กำไรสุทธิน่าจะสูงกว่าทำนาแบบเดิมๆ 3 เท่าได้ แถมเหนื่อยน้อยกว่าอีก 2 เท่า

 

ช่วยกันบอกต่อ หรือ เอาไปทดลอง หรือ เอาไปคิดต่อให้ดียิ่งขึ้นนะครับ เพื่ออนาคตที่ดีของชาวนาไทย

 

ส่วนการใช้มดง่ามขจัดเมล็ดวัชพืชก่อนทำนานั้น ผมเชื่อว่าทำได้แน่นอน แต่ต้องการการวิจัยสักหน่อย  นักวิจัยท่านใดทำออกมาได้ ก็จะมีชื่อเสียงมาก (อาจถึงกับได้รางวัลโนเบล)  และเป็นประโยชน์ต่อชาวนาทั่วโลกเป็นอย่างมาก

 

...ทวิช จิตรสมบูรณ์  (๖ ธค. ๕๓)

หมายเลขบันทึก: 455971เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2011 02:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาเรียนรู้ค่ะ เป็นแนวทางที่ยังไม่เคยปฏิบัติจริงใช่ใหมค่ะ

ทฤษฏีบางอย่างน่าสนใจค่ะ แต่ บางอย่างขัดแย้งกับความเป็นจริงค่ะ เช่น (ขออนุญาติแสดงความคิดเห็นนะค่ะ)

"น้ำในนาก็ใช้เลี้ยงปลาได้หลายสกุล (เลือกกบชนิดที่ไม่กินปลา) สำหรับหอยปูอาจเลี้ยงปลาไหลให้ช่วยกำจัด"

"ถ้าเราเลี้ยงปลาในนา ซึ่ง ไม่ได้รวมถึงปลาที่มาเองตามธรรมชาติ นั่นหมายถึงเราต้องลงทุนซื้อปลามาด้วย ถ้าถึงเวลาต้องลดน้ำนา จะจัดการอย่างไรกับปลาค่ะ ถ้าสมมุติว่าจะจับปลาออกมาทั้งหมด คงวุ่นวายเหมือนกันนะค่ะ ปลาอาจจะยังโตไม่พอที่จะขาย หรือ จะกิน และถ้าหาวิธีจับได้ทั้งหมด (ซึ่งเป็นไปได้ยาก) จะนำปลาไปปล่อยหรือเลี้ยงที่ใหนละค่ะ เผอิญว่าไม่มีสระน้ำเป็นของตัวเอง"

"กรณีใช้ปลาใหลช่วยจับปูและหอย ก่อนที่ปลาใหลจะช่วยทำงานให้เรา ปลาใหลจะหางานให้เราทำก่อนค่ะ เพระปลาใหลเป็นนักขุดคันนาชั้นยอด พอๆ กับ น้องหนู และ น้องปู "

ดิฉันอาจเป็นชาวนาที่ความรู้และประสบการณ์น้อย แต่ข้อเท็จจริงบางอย่างเป็นสิ่งที่เราเจออยู่ทุกวันค่ะ จากของจริง

#2525688 ครับ เวลาลดน้ำ ถ้ไม่ขายเลย ก็อาจเลี้ยงในคูที่ขุดรอบๆ นาก็ได้ครับ (ซึ่งผมได้โพสต์ไว้แล้ว)

ปลาไหลผมตระหนักอยู่ว่ามัน "อาจ" จะขุดคันนา (สืบมาหมดแล้วแม้ไม่เคยทำนา) แต่หน้าที่ผมต้องโพสต์ไว้ ซึ่งเราทุกคนต้องช่วยกันสานต่อ เช่น ถ้าเผื่อทำนาแบบไม่มีคันนาเล่าครับ ปลาไหลมันจะไปไชอะไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท