ความเจ็บปวดในการทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัย



        โปรดอ่านข่าวนี้ ประกอบเรื่องราวความเจ็บปวดของผม ในการทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัย   ซึ่งอาจมีมุมมองไม่ตรงกับที่เขียนในข่าว   และอาจไม่ตรงกับคนที่สะใจกับการมีความขัดแย้งในมหาวิทยาลัย
 
          การทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นการรับใช้สังคมอย่างหนึ่ง   โดยทำหน้าที่ governance หรือกำกับดูแล เพื่อให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่รับใช้สังคมอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิผล มีความสุจริต   เป็นการใช้ทรัพยากรของสังคมเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างแท้จริง   ไม่มีการเบียดบังเอาไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน   ไม่มีการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
 
          เมื่อเห็นมหาวิทยาลัยที่ผมเข้าไปเป็นกรรมการสภาฯ มีผลงานดี มีความราบรื่น ทำประโยชน์ให้แก่สังคมในหลากหลายด้าน   ผมก็มีความสุข 
 
          แต่เป็นธรรมดาโลก ที่สังคมมีความซับซ้อน   มองได้หลายแง่มุม   “ความถูกต้อง” ของคนหนึ่ง อาจตรงกันข้ามกับ “ความถูกต้อง” ของอีกคนหนึ่ง   เพราะมองต่างมุม รวมทั้งอารมณ์ที่ใช้ประกอบการมองก็เจือผลประโยชน์ส่วนตนที่แตกต่างกัน   รวมทั้งสังคมมหาวิทยาลัยเป็นสังคมเพื่อความสร้างสรรค์   จึงต้องส่งเสริมการมองต่าง สำหรับเป็นองค์ประกอบของการสร้างสรรค์   แต่มีบางกรณีที่การมองต่างมันเลยเถิดไปเป็น “ยึดมั่นต่าง”   จึงเกิดความขัดแย้งขึ้น
 
          เมื่อความขัดแย้งลุกลามเป็นความต้องการเอาชนะกัน   ใช้กโลบายทุกชนิดที่มีเพื่อเอาชนะ   รวมทั้งการปลุกปั่นนักศึกษา ให้ใช้การกดดันด้วยอารมณ์ (ม็อบ)   เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมในสายตาของผม
 
          ดังนั้น ที่ มช. เมื่อวาน ผมจึงนึกชมกลุ่ม นศ. ที่ออกมาแสดงความต้องการ   ว่าเขาใช้ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมที่ไม่มาชุมนุมกดดันที่ตึกสำนักงานสภามหาวิทยาลัยที่เราประชุมกันอยู่   การแสดงออกซึ่งความต้องการของกลุ่มนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้   แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เป็นปัญญาชนพึงกระทำอย่างมีวุฒิภาวะ   และแสดงความเคารพผู้อื่นด้วย
 
          การปลุกปั่นอารมณ์ ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ให้ข้อมูลป้ายสีผู้อื่น และแสดงท่าทีข่มขู่   เป็นสิ่งที่ผมรังเกียจ   และเจ็บปวดเสมอเมื่อเห็นว่าเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย   ไม่ว่ามหาวิทยาลัยใด  เพราะมันบอกว่าสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมมหาวิทยาลัย ยังด้อยพัฒนา  
 
          ที่จริงการปลดคณบดีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นความล้มเหลวของสภาฯ เพราะสภาฯ เป็นผู้แต่งตั้งคณบดีทุกคน   ซึ่งจะต้องพิจารณาแล้วว่าคณบดีท่านนั้นเหมาะสมที่จะทำหน้าที่นั้น   และเมื่อแต่งตั้ง ก็จะมีกลไกสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้ทำหน้าที่ลุล่วงด้วยดี   และเมื่อเผชิญอุปสรรค ก็สามารถฟันฝ่าได้   เหตุการณ์นี้บอกผมว่าสภาฯ ผิดพลาด   และผมก็เป็นส่วนหนึ่งของสภาฯ นี้
 
          คณะกรรมการสรรหาคณบดีท่านนี้ ก็ควรจะต้องรู้สึกเจ็บปวด   ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดสอนเราว่าการสรรหาคราวนั้นผิดพลาด 
 
          ที่จริงผู้มีส่วนผิดพลาดหรือบกพร่องมีมากกว่าสภาฯ   เพราะในความเห็นของผม เมื่อมีการแต่งตั้งคณบดีใหม่   ย่อมเป็นหน้าที่ของอธิการบดีที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือในลักษณะ facilitate, coach, advice, empower ตามความเหมาะสม   เพื่อให้การบริหารงานของคณะดำเนินลุล่วงด้วยดี  
 
          แต่ในหลายกรณี ไม่เป็นเช่นนั้น   เพราะวัฒนธรรมมหาวิทยาลัย เป็นวัฒนธรรมของผู้ที่ถือตัวว่าเก่ง   การเข้าไป โค้ช อาจถูกตีความว่า ไม่ไว้ใจในความสามารถ   หรือเข้าไปก้าวก่าย   อธิการบดีบางท่านจึงเลือกที่จะอยู่ห่างๆ   ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว   คณบดีจึงต้องเผชิญคลื่นลมแบบเดียวดาย

 

          วัฒนธรรม “ข้ามาคนเดียว” ไม่ทำงานเป็นทีมเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยในภาพรวม จึงมีส่วนทำให้ความผิดพลาดเล็กๆ   ไม่ได้รับการแก้ไข และขยายตัวลุกลาม   โดยอาจมี “เชื้อไฟ” แห่งอคติ และโลภะ โทสะ โมหะ ของผู้เกี่ยวข้อง เข้าไปโหม  กลายเป็นความขัดแย้งเพื่อผลประโยชน์ของคนเพียงบางกลุ่มเป็นหลัก   เป็นผลประโยชน์บนความสูญเสียของส่วนรวม คือมหาวิทยาลัย และสังคมส่วนรวม   ที่ทำให้ความเคารพเชื่อถือซึ่งกันและกันเสื่อมคลาย   ทำให้ผมเจ็บปวด
 
          ผมไม่ชอบ ที่สังคมมหาวิทยาลัยแสดงออกในลักษณะทะเลาะกัน   และเห็นด้วยกับกรรมการสภาฯ ท่านหนึ่งที่ให้ความเห็นว่า   หากทะเลาะกัน มีลักษณะเพื่อเอาชนะกันชัดเจน  ต้องตัดสินให้แพ้ทั้งคู่
          และผมรังเกียจการต่อสู้กันด้วยการไปปลุกปั่นนักศีกษาให้เข้ามาใช้อารมณ์ในการกดดัน   ด้วยการขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง   กรรมการท่านหนึ่งเล่าเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอาจารย์ผู้ใหญ่ ๒ คน เมื่อเกือบ ๕๐ ปีมาแล้ว   และมีการดึงเอานักศึกษาแพทย์เข้าไปกดดันด้วยการหยุดเรียน   ท่านเล่าว่าตัวท่านเองในเวลานั้นมองโลกเป็นสองสีเท่านั้น คือขาวกับดำ   
 
 
วิจารณ์ พานิช
๒๔ ก.ค. ๕๔

         
         
         
หมายเลขบันทึก: 455559เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2011 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

วัฒนธรรม “ข้ามาคนเดียว” ไม่ทำงานเป็นทีมเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยในภาพรวม จึงมีส่วนทำให้ความผิดพลาดเล็กๆ   ไม่ได้รับการแก้ไข และขยายตัวลุกลาม 

เห็นด้วยกับข้อความนี้อย่างยิ่งคะ.."การทำงานเป็นทีม" คือคำตอบ

"ความถูกต้อง" ไม่เหมือนกัน และเป็นคนละเรื่อง กับ "เสียงส่วนใหญ่"

สังคมไทย ...มักเอา สองเรื่องนี้มาเป็นสิ่งเดียวกัน คือ "ถ้าเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร ...สิ่งนี้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง" นี่เป็นปัญหาและวิกฤตนำคนไทยทั้งสังคม ตกเหว ...คนทั้งสังคม ก้มหน้าก้มตา จูงมือกันไปตกเหว ด้วยเสียงส่วนใหญ่ "เป็นเสียงจาก ความเห็นแก่ตัว เป็นเสียงแห่งความบอดของปัญญา เป็นเสียงของอธรรม"

แล้วเรา-ท่านจะทำอย่างไร???

เรียน ท่านอาจารย์ ที่เคารพ

ผมได้อ่านบทความของท่านอาจารย์แล้ว ขอให้กำลังใจท่านอาจารย์ครับ และขอสแสดงความเห็นดังนี้ ในปัจจุบัน โลกเราเข้าสู่ระบบทุนนิยม และระบบทุนนิยมได้แพร่เข้าไปสู่ทุกระบบในสังคม แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย ก็เช่นเดียวกัน คำว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นถ้อยคำที่น่าเคารพบูชา คือ ผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ ที่จะนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพในสังคมเพื่อดูแลตนเองและครอบครัว ทุกคนต่างให้ความคาดหวังไว้สูง แต่ อาจารย์ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์ที่มีความต้องการ มีความอยาก เช่นเดียวกัน

ปัจจุบันทุนนิยมมีบทบาทมากในสังคมทุกชนชั้น ทุนนิยมนี้เข้ามาควบคุมจิตใจมนุษย์ให้อยากมีความสุขทางโลก อยากมีเงิน อยากมีเกียรติยศมีตำแหน่ง มีอำนาจวาสนา โดยไม่คำนึงถึงหลักคุณธรรม และผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง ระบบราชการก็เป็นเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ ความเปลี่ยนแปลง ตามหลักทฤษฎี ที่เมื่อพัฒนาองค์กรแล้วจะทำให้เกิดประสิทธิผล ทำให้ทุกคนในองค์กรมีความสุขนั้น กลับไม่เป็นไปตามที่หลักทฤษฎีระบุไว้ เพราะความสุขที่เกิดขึ้นเป็นความสุขแบบมิจฉาทิฐิ เป็นคล้ายดังองค์กรที่มุ่งหวังผลกำไร (profit organization) คนส่วนมากเข้าไปทำหน้าที่ในหน่วยภาครัฐควรต้องคำนึงบทบาทของตนเองให้ถูกต้องว่า เราเข้ามาเพื่อทำงานในองค์นี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เข้าไปทำหน้าที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาลูกศิษย์ของตนแต่ละสถาบัน เพื่อให้เขาเหล่านั้นไปทำหน้าที่ที่ดีแก่ตนเอง และสังคม หากอาจารย์เข้าไปทำงานเพื่อประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียวแล้ว โดยไม่คำนึงบทบาทที่แท้จริงและถูกต้องแล้ว ต่อไปสังคมก็จะผิดเพี้ยนไปหมด ทุกคนมุ่งแต่ประโยชน์ของตนเอง ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนร่วม ผมเชื่อว่าเมืองไทยทุกวันนี้ คนที่มีความคิดเช่นนี้ (มิจฉาทิฐิ) กำลังระบาดอยู่มากมาย และเชื้อนี้ร้ายแรงมากแทรกซึมไปทุกองค์กร หากพวกเราไม่ควบคุมไว้ และหรือทำลายลง เมืองไทยในอนาคต คงจะคล้าย ๆ ประเทศที่มีมาเฟียครองเมือง ทุกจังหวัดจะเต็มไปด้วย เจ้าพ่อที่มีอิทธิพล กำหนดสิ่งใดให้เป็นไปตามความคิดของตนเองได้ และเขาเหล่านี้ก็จะเข้าไปสู่ระบบการเมือง และเข้าไปกำหนดบทบาทต่าง ๆ ของบ้านเมืองให้เป็นไปความคิดของเขา เขาคนนี้จะมีลูกน้องมากมาย ที่เข้าไปรับใช้เขา และได้ประโยชน์ต่าง ๆ ที่ขอจากลูกพี่ ซึ่งมีตำแหน่งอันสูงส่งจากอิทธิพลทางการเมือง อิทธิพลนี้สามารถแทรกเข้าไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย และรั้วแห่งหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ได้ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อไป

ผมเชื่อว่าที่ท่านอาจารย์ได้ให้ข้อมูลจากการเป็นกรรมการมหาวิทยาลัยหลายแห่งมา เกิดกรณีแย่งชิงความเป็น คณบดี เป็นอธิการบดี ก็มาจากข้อมูลที่ผมได้แสดงความเห็นไว้ ผมอยากให้ทุกท่านลองมาตรวจสอบว่า เพื่อนสมาชิกทุกท่านมีความคิดทางใดมากกว่า ระหว่างมิจฉาทิฐิ กับ สัมมาทิฐื เช่น ต้องการทุกอย่างอยากรวดเร็ว ทานอาหารเร็วเวลาสั่งอาหารมาทานต้องการเร็วกว่าคนอื่น ขับรถเร็วโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น อยากรวยเร็วโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง อยากมีตำแหน่งสูงเร็วโดยไม่คำนึงถึงระบบความเป็นธรรม แค่สามเรื่องนี้ก็คงเข้าใจได้ว่าท่านถูกระบบทุนนิยม (มิจฉาทิฐิ) เข้ามาสู่ในชีวิตของเพื่อนสมาชิกแล้วหรือยัง

ความคิดเห็นของผมนี้อาจไปกระทบกระเทือนความรู้สึกของท่าน และหรือในองค์กรของท่าน ผมต้องขอประทานโทษด้วยครับ หากข้อความที่แสดงความเห็นมานี้อาจรุนแรงไปด้วยจิตใจที่มีความรักประเทศไทยเรา และรักความเป็นอาจารย์ ครู ผู้ที่ประกอบคุณงามความดี เป็นดั่งคุณพ่อและคุณแม่คนที่สองของเรา ที่ให้ความรัก ความรู้แก่ศิษย์ด้วยใจรัก หวังให้ลูกศิษย์มีชีวิตที่ดีงาม จึงแสดงความคิดเห็นดังกล่าว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท