เวที 21st Century Skills กับการปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ : 3. ตอบครูธนิตย์


นอกจาก “ครูเพื่อศิษย์” จะต้องฝึกตัวเองแล้ว ยังต้องออกแบบการเรียนรู้ และทำหน้าที่ “ครูฝึก” ให้ศิษย์ได้ฝึกทักษะนี้ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

เวที 21st Century Skills กับการปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ : 3. ตอบครูธนิตย์

ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ครูธนิตย์ สุวรรณเจริญ เป็นครูเพื่อศิษย์หมายเลข ๑ ใน บล็อก ครูเพื่อศิษย์ ของผม  อ่านบันทึกของผมได้ที่นี่   เช้าวันที่ ๑๖ ส.ค. ท่านเข้ามาทักทาย แต่ผมไม่รู้จัก   เพราะเราไม่เคยพบหน้ากันเลย   แต่พอ อ. ขจิตแนะนำว่าท่านคือครูธนิตย์ผมก็ร้องอ๋อด้วยความคุ้นเคย   เรารู้จักกันทาง B2B มาเกือบ ๓ ปี โดยไม่เคย F2F เลย   

บ่ายวันที่ ๑๖ ท่านเล่าเรื่องภาระที่ทับถมมาที่ครูจากทุกทิศทุกทาง หลากหลายเรื่อง  ไหนจะลูกศิษย์  ครอบครัว ไหนจะงานวัด บวชนาค ทอดกฐิน งานศพ งานธุรการของโรงเรียน งานโครงการที่สั่งมาจากส่วนกลาง   ที่ลงท้ายงานนอกเหล่านี้เข้ามารุมเร้าให้ต้องทิ้งงานครู หรืองานศิษย์

ผมเก็บคำของท่านมาคิดต่อ   และได้ข้อเตือนใจว่า ครูที่ดีคือครูที่ตั้งโจทย์เก่ง เร้าใจลูกศิษย์ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิษย์   สมแล้วที่ผมยกย่องครูธนิตย์เป็นครูในดวงใจของผมหมายเลข ๑  เพราะโจทย์ของท่านทำให้ผมคิดคำตอบออกหลายประเด็น  สำหรับส่งการบ้านครู   แต่ครูจะให้คะแนนสอบผ่านหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ 

ผมตีความว่า โจทย์ของครูธนิตย์ เป็นโจทย์ Life Skills ของครู   ว่าด้วยทักษะในการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตวันละ ๒๔ ชั่วโมงเท่ากันทุกคน   ว่าจะเลือกทำอะไร ไม่ทำอะไร   มีเกณฑ์อะไรในการเลือกทำหรือไม่ทำงานต่างๆ ที่เข้ามารุมเร้า

โอ้โฮ! นี่คือโจทย์แห่งชีวิตของผมทีเดียวนะครับ  เป็นโจทย์ฝึกทักษะที่ผมหมั่นฝึกมาตลอดชีวิต ตั้งแต่เด็กๆ อายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ   จนจะ ๗๐ ขวบอยู่แล้วก็ยังต้องหมั่นฝึกอยู่เลย

ที่จริงผมอยากจะอวดว่า นี่คือความชำนาญของผม   เพราะเวลานี้ผมทำงานเพียงประมาณ ๑ ใน ๓ ของงานที่วิ่งเข้ามาเท่านั้น   เนื่องจากถ้าจะทำทั้งหมดต้องใช้เวลาถึงวันละ ๗๒ ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปไม่ได้   หรือมิฉะนั้นก็ต้องทำโคลนนิ่งให้น้องสาวทำแทน   แต่ผมก็ไม่เก่งแบบท่านอดีตนายกทักษิณ

แต่มาคิดอีกที ผมอวดไม่ได้หรอกครับ   เพราะวิธีจัดลำดับความสำคัญของผมคงไม่ดีเท่าไรนัก   ชีวิตของผมจึงเป็นได้เพียงแค่นี้  

แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขออนุญาตอวดเสียหน่อยก็แล้วกัน   ว่าวิธีจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องใช้เวลาและสมาธิของผมคือ “โยนมันทิ้งไปอย่างไม่ใยดี”  

เรื่องแบบนี้ต้องยกตัวอย่างครับ จึงจะเข้าใจ  ย้อนกลับไปสมัยทำงานในมหาวิทยาลัยก็แล้วกัน   ผมโชคดี (หรือร้ายก็ไม่ทราบ) ที่ทำงานได้ทั้งหน้าวิชาการ และหน้าบริหาร   และอยู่ในฐานะที่เขาเอาชื่อไปให้สภามหาวิทยาลัยเลือกว่าจะมอบภาระอธิการบดีให้ทำไหม   ตำแหน่งอธิการบดีมันทั้งมีเกียรติและท้าทายนะครับ   และผมก็พอจะรู้ว่าหากผมอยากเป็นผมควรใช้เวลาทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุน   แต่ผม “โยนมันทิ้งไปอย่างไม่ใยดี”  ผมบอกตัวเองว่า ผมถนัดวิชาการมากกว่าวิชามาร   ชีวิตแบบใดก็ตามที่ต้องใช้วิชามารผมไม่เดิน  ผมไม่ใยดีแม้จะเย้ายวน

ผมคิดว่านี่คือการฝึกทักษะชีวิต ทักษะการจัดลำดับความสำคัญของชีวิต ซึ่งมีทักษะย่อยๆ อยู่เต็มไปหมด   ในกรณีตัวอย่างเรื่องที่ผมเล่า มีส่วนของทักษะเชิง Moral Development ของ Lawrence Kohlberg อยู่ด้วย   

กลับมาที่ทักษะการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องทำในชีวิตของครูเพื่อศิษย์   ผมคิดว่ามีอยู่ ๒ หลักเท่านั้น   และต้องใช้ทั้ง ๒ หลักนี้ควบคู่กันไป คือ

  1. หลักการแบ่งเวลา จัดเป็นส่วนๆ และบริหารเวลาของแต่ละส่วนให้ได้ผลดีที่สุด  เช่น เวลาสำหรับศิษย์  เวลาสำหรับครอบครัว  เวลาสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ
  2. หลักการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมแต่ละส่วน  และไม่ยอมให้งานด่วนที่ไม่สำคัญเข้ามาครอบครองชีวิตเรา   ตัวเราเองต้องเป็นนายของเวลาสำหรับทำงานสำคัญ

พูดง่าย ทำยาก จึงต้องฝึกไงครับ  มันไม่มีสูตรสำเร็จ มันมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย   จึงเป็นทักษะ ไม่มีใครสอนใครได้ เจ้าตัวต้องฝึกเอง

นอกจาก “ครูเพื่อศิษย์” จะต้องฝึกตัวเองแล้ว   ยังต้องออกแบบการเรียนรู้ และทำหน้าที่ “ครูฝึก” ให้ศิษย์ได้ฝึกทักษะนี้ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ส.ค. ๕๔

          

 

หมายเลขบันทึก: 454768เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2011 05:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะ ได้แนวคิดดีๆจากการปฏิบัติจริง :)

  • เรียนท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ครับ 
  • ผมถามคำถามพวกนี้กับตัวเองบ่อยๆ บางคราวมีโอกาสก็จะได้ฟ้องและถามสังคมด้วย ดังที่ได้บันทึกไว้ ณ gotoknow แห่งนี้ อาทิ คุณภาพครู หรือ ภาระงานกับคุณภาพครู เพราะตอบไม่ได้เหมือนกันว่า ครูควรจะทำอย่างไรกับสภาพที่เป็นอยู่ สำหรับตัวเองพยายามทำอย่างที่คิดครับ คือ เน้นงานสอนนักเรียนให้มากกว่างานอื่นๆ ด้วยเชื่อว่าเป็นครู ก็ควรจะมีหน้าที่สอนเป็นหลัก รวมทั้งการเรียนการสอนก็ควรเป็นหัวใจของทุกโรงเรียนด้วย ดีใจสุดๆครับ เมื่อได้อ่านบันทึกของท่านอาจารย์นี้..เชื่อและมั่นใจยิ่งขึ้นครับว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว 
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติครูเล็กๆอย่างผมเป็นที่สุด

มาขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ให้แนวทางการจัดการศึกษาตลอดมาได้นำมาเรียนรู้ต่อยอดและได้เอกสาร"ครูเพื่อศิษย์" จากท่าน ซึ่งอาจารย์ใน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้ศึกษาเอกสารที่ท่านได้สรุป 21st Century Skills เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ และได้เป็นเชียร์อาจารย์ธนิตย์เรื่องการวิพากษ์การศึกษาไทย ขอเป็นแนวร่วมค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท