ข้าวหอมไชยา คืนถิ่น


ดอก หอมทั่วทุ่ง หุง หอมทั่วบ้าน
“อันเมืองไชยา  ใครไปใครมา  ข้าวปลาไม่อด  อารี อารอบ  ไม่ชอบ ถือยศ  เป็นที่ปรากฏ  แต่ไหน แต่ไร มา”
              เมืองไชยา  นอกจากจะมีมรดกทางวัฒนธรรมหลายอย่างแล้ว  ยังมีมรดกทางธรรมชาติอีกหลายอย่างเช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้  ภูเขา  แม่น้ำ  ทะเล  และหนึ่งในนั้นก็คือ  ข้าวหอมที่ขึ้นชื่อ คือ  “ข้าวหอมไชยา”   
ความเป็นมาของข้าวหอมไชยา 
       มีผู้ที่รู้ ที่ได้รับการถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา เล่าว่า  เดิมเมืองไชยาปลูกข้าวอยู่  2  ชนิด  คือ ข้าวหล้า  จะปลูกในที่ดอน  ได้แก่ ข้าวกันตัง  ปลูกประมาณเดือนสิงหาคม – ธันวาคม  และเก็บเกี่ยวประมาณ  กพ. – เม.ย.  และอีกชนิดหนึ่งคือข้าวเบา  (ชาวบ้านเรียกอย่างนั้น) ได้แก่ข้าวหอม  เช่น  หอมไชยา  หอมห่วง  หอมแดง  ซึ่งปลูกกันมาช้านานแล้ว  คนอายุ  60-70 ปี  เกิดมาก็พบเห็นข้าวหอมนี้แล้ว
      ลักษณะเด่นของข้าวหอมไชยา  คือต้นใหญ่  แตกกอดี  สูงถึง  150  ซม.  ต้านทานศัตรูพืชได้ดี  รวงยาวสีเหลือทอง  เมล็ดใหญ่ป้อม  กลิ่นหอม  มีความนิ่ม-เหนียว  ใกล้เคียงกับข้าว กข.21  แต่มีข้อเสียคือ  หุงไม่ขึ้นหม้อ  จะเปลืองข้าวสารมากกว่าข้าวชนิดอื่น  (ดอก หอมทั่วทุ่ง  หุง หอมทั่วบ้าน)   คือ 
- ยามข้าวออกดอกจะมีกลิ่นหอมของดอกข้าวทั่วไปทั่งทุ่ง  ถ้าผ่านทุ่งนาจะได้กลิ่นหอมของดอกข้าว  และ
- เมื่อหุงข้าวหอมไชยา ใครผ่านไป-มา  จะรู้ได้เลยว่า  บ้านนี้กำลังหุงข้าวหอมไชยา เพราะได้กลิ่นหอมไปทั่วบ้าน 
 
ภาพกิจกรรม การแลกเปลี่ยนและเยี่ยมชมแปลงนาข้าวหอมไชยา
          พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวหอมไชยา  คือบริเวณทุ่งไชยา   ดิน เป็นดินเหนียว ปนทราย มีลักษณะร่วน    น้ำ  เป็นนาน้ำลึก    อากาศ  เหมาะกับภาคใต้ เป็นข้าวนาปี  เริ่มปลูกเดือนเมษายน – กรกฎาคม  และมีเทคนิคอยู่ว่า  ให้เอาดินขี้ค้างคาวจุ่มชุบรากกล้าข้าว ก่อนใช้ปักดำ
        พื้นที่เพาะปลูกปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่ที่ตำบลละเม็ดและตำบลโมถ่าย  พื้นที่ประมาณ  100 ไร่ มีเกษตรกรที่สนใจปลูก  24  ราย  ผลผลิตประมาณ  50 ถัง/ไร่     สาเหตุที่มีการปลูกข้าวหอมไชยากันน้อย  เพราะว่า ช่วงหนึ่งรัฐ  (เกษตร)  ได้ส่งเสริมให้ชาวนาเพาะปลูกข้าวพันธุ์ กข. ที่ให้ผลผลิตสูง  ไม่ไวแสง  ปลูกได้ปีละ  2  ครั้ง ชาวนาจึงหันมาปลูกข้าว กข. กันมากขึ้น  จนเลิกปลูกข้าวหอมไชยาไปเลย   ศัตรูที่สำคัญของข้าวหอมไชยา  คือ  หอยเชอร์รี่และเพลี้ยกระโดด
ปัญหาที่พบในข้าวหอมไชยา 
1. การขาดแหล่งน้ำในการทำนา  ที่นาถูกแบ่งเป็นสวนปาล์มน้ำมัน  ยางพารา
2. พันธุ์ข้าว  ไม่ใช่พันธุ์แท้ดั้งเดิม  มีการผสมข้ามสายพันธุ์  สีซีดไม่ใช้สีเหลือทอง เหมือนในอดีต
3. เป็นพันธุ์ที่เมล็ดเล็ก แข็ง  หุงไม่ขึ้นหม้อ  ซึ่งผู้บริโภครุ่นใหม่ไม่ค่อยนิยม 
4.  พ่อค้าคนกลางกดราคา  และใช้เทคนิคทางการค้า  เช่น  ข้าวเปลือก 1 ถัง ต้องหนัก 11 กก. (จาก 10 กก.)  ราคา  12 บาท/กก.
5.  อาจจะสูญพันธุ์ในอนาคต  เพราะไม่มีการเก็บเชื้อพันธุ์  และผู้บริโภคไม่ค่อยนิยม
แนวทางการอนุรักษ์ ฟื้นฟู
1.  ต้องสืบค้นเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมไชยาที่เป็นพันธุ์แท้  ขณะนี้ ทราบว่ามีเมล็ดพันธุ์แท้ เก็บอยู่ที่ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว  จังหวัดปทุมธานี  และอีกช่องทางหนึ่งคือ  ต้องคัดพันธุ์โดยชาวนาเอง
2. ต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม  สืบค้นจากคนรุ่นก่อน ๆ  การทำแปลงขยายพันธุ์เอง
3. การรวมกลุ่มของชาวนา
     - รวมกลุ่มผลิต  เพื่อลดต้นทุนและลดความเสี่ยง
     - รวมกลุ่มแปรรูปและจำหน่าย ไม่ต้องผ่านพ่อค้า  ซึ่งราคาข้าวหอมไชยาจะ มีความเคลื่อนไหวสูง  ข้าวเปลือกราคา กก. ละ 12 บาท ข้าวสารราคา กก.ละ  50-60 บาท  และเมล็ดพันธุ์ราคา กก.ละ  35  บาท  ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างมากพอสมควร
            ในส่วนของภาครัฐ จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ได้สนับสนุนให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูข้าวหอมไชยา กันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง  โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำแปลงขยาย คัดเชื้อพันธุ์  ในแปลงของชาวนาที่สมัครใจ จำนวน  24  ราย  ได้ดำเนินการมา  2  ปีแล้ว  แต่พันธุ์ข้าวที่ได้ ยังไม่เหมือนกับข้าวหอมไชยาในอดีต  มีการผสมข้ามพันธุ์ไปบ้าง  ไม่อ่อนนุ่ม  ความหอมน้อยลงไปมาก  สีเหลือทองก็ซีดลง 
          การฟื้นคืนถิ่นของข้าวหอมไชยา ให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง  ต้องอาศัยความร่วมไม้ ร่วมมือ จากหลาย ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ท้องถิ่น เกษตรกร ที่จะช่วยกัน  นำข้าวหอมไชยาคืนถิ่นท้องทุ่งไชยา  ความหวังอาจจะไม่ไกลนัก ถ้าทุกฝ่ายให้ความสำคัญ  แม้ว่าพื้นที่นาจะเหลือน้อยเต็มทีก็ตาม
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม /-  คุณลิขิต    ดิษยนาม  /-  คุณภิรมย์   อินทรคง  077-228339  /-  คุณประสงค์  หีตอนันต์  081-7876490   /-  คุณสง่า   มณีรัตน์  084-8466535
                                                                                                ชัยพร  นุภักดิ์
หมายเลขบันทึก: 454718เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2011 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณ ทุกท่านที่เข้าเยี่ยมชม ครับ
  • 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท