การประยุกต์ TQM มาใช้บริหารโครงการ


การประยุกต์ TQM มาใช้ในเชิงปฏิบัติ
                 
           
               TQM (Total Quality Management)  ถือเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในทุก ๆ ด้าน  ปัจจุบันผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหลายแห่งมีความประสงค์ที่จะนำ TQM  มาประยุกต์ใช้  ซึ่งผู้บริหารเหล่านี้หลายท่านได้ศึกษาปรัชญาและแนวคิดพื้นฐานของ TQM ไปบ้างแล้วแต่ยังไม่สามารถมองภาพในเชิงปฏิบัติได้อย่างชัดเจน  ดังนั้นบทความนี้จึงเป็นการแนะนำให้ผู้บริหารทราบโดยสังเขปว่าการนำ TQM  มาประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัตินั้นควรจะมีกิจกรรมอะไรบ้างที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับปรัชญาและแนวคิดพื้นฐานของ TQM
 การนำ TQM มาประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติ    นั้นมีกิจกรรมที่สำคัญอย่างน้อย   6 ประการ  ที่ผู้บริหารจะต้องดำเนินการในองค์กรของตนเองดังนี้
 
1.   การฝึกอบรมทางด้านคุณภาพ
                ความเข้าใจ TQM ที่ถูกต้องเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลดังนั้นพนักงานทุกระดับจะต้องได้รับการอบรมให้ทราบถึงปรัชญาแนวคิดพื้นฐานของ TQM เครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  บทบาทของพนักงานแต่ละระดับ   ตลอดจนประโยชน์ที่องค์กรและตัวพนักงานจะได้รับในการทำกิจกรรม TQM ซึ่งหากพนักงานยังไม่เข้าใจในประเด็นเหล่านี้ก็อาจเกิดการต่อต้านในการทำกิจกรรมและส่งผลให้เกิดความล้มเหลวในที่สุด
2.   การบริหารงานประจำวัน (Daily Management)
                องค์กรจะต้องมีการกำหนดระบบหรือกระบวนการบริหารงานประจำวัน ตลอดจนมาตรฐานในการปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อให้พนักงานรับทราบถึงขั้นตอนของระบบงาน หน้าที่ของตนเอง และ
วิธีการทำงานที่ถูกต้อง  (เปรียบเสมือนกับการเขียน Procedure และ Work Instruction ในการทำ
ISO9001:2000  แต่ควรจัดทำให้ครบทุกหน่วยงาน)  ทั้งนี้ผู้บริหารควรกำหนด  KPIs  (Key
Performance  Indicators)   ของระบบงานประจำวันไว้ด้วยเพื่อเป็นเป้าหมายในการปรับปรุงพัฒนาของหน่วยงานต่าง ๆ
               
3.   การบริหารนโยบาย (Policy Management)
                3.1  การกำหนดนโยบาย
                       (1)   ผู้บริหารระดับสูงจะต้องกำหนดนโยบายในการบริหารงานและประเด็นที่ต้องการ
ปรับปรุงพัฒนา โดยพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนและความสำคัญต่อความอยู่รอดขององค์กร เช่นการเพิ่มยอดขาย, การลดต้นทุน, การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต เป็นต้น
                       (2)   กำหนดวัตถุประสงค์/เป้าหมายให้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน เพื่อเป็นระดับหรือผลของการปรับปรุงที่ต้องการในแต่ละประเด็น และต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน
                       (3)   กำหนดกลยุทธ์ที่สามารถอธิบายถึงกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมพนักงานอ่านแล้วต้องเข้าใจ  ว่าผู้บริหารอยากให้ทำอะไร และทำอย่างไร     เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์
                        (4)  การกระจายนโยบาย (Policy   Deployment) ประเด็นที่จะปรับปรุง,   วัตถุประสงค์/เป้าหมาย และกลยุทธ์ที่ผู้บริหารระดับสูงกำหนดต้องมีการกระจายลงสู่ทุกระดับอย่างเป็นระบบเพื่อให้แต่ละระดับทราบถึงสิ่งที่หน่วยงานตนเองจะต้องทำและทราบถึงเป้าหมายของหน่วยงาน  ซึ่งในระดับล่างจะชัดเจนเป็นแผนปฏิบัติ 
                3.2   ดำเนินการตามนโยบายและแผนงานที่วางไว้   ทำการบันทึกผลของการดำเนินการและนำผลของการดำเนินการตรวจสอบ เทียบกับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดเป็นระยะๆ
                3.3   ผู้บริหารระดับสูงจะต้องมีการประชุมเพื่อทบทวนนโยบาย,วัตถุประสงค์และกลยุทธ์ อย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย,   วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างไรหรือไม่
 
4.   การบริหารข้ามสายงาน (Cross Functional Management)
                จุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงระบบงานที่มีความเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ ฝ่าย เช่น  ระบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันทั้งฝ่ายการตลาด ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายผลิต ฝ่ายควบคุมคุณภาพฯลฯ       ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ของระบบการบริหารข้ามสายงานนั้น  มักจะเป็นปัญหาอันเนื่องมาจากผู้บริหารระดับสูง เช่น ผู้บริหารระดับฝ่ายต่างคนต่างทำงานไม่มีการประชุมตัดสินใจร่วมกันในประเด็นที่สำคัญ หรือเกี่ยงความรับผิดชอบเนื่องจากไม่มีระบบงานที่ชัดเจน
                แนวทางการปรับปรุงระบบการบริหารข้ามสายงาน    มีดังนี้
                (1) แต่งตั้ง Cross Functional Management Committee  โดยประธานควรเป็นกรรมการผู้จัดการ
                (2)   การดำเนินงานของคณะกรรมการ
                       (2.1)  รับผิดชอบการจัดทำ  Flow  Chart  ของระบบบริหารข้ามสายงานให้ชัดเจนทุกระบบ
                       (2.2)    ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ระบบงานตาม  Flow  Chart  ที่กำหนด
                       (2.3)    ร่วมกันเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงระบบ
                       (2.4)    ดำเนินการและติดตามประสิทธิผลของการปรับปรุง
 
5.   กิจกรรมกลุ่มย่อย (Small Group Activity)
                การจัดให้มีกิจกรรมกลุ่มย่อย เช่น กิจกรรม 5ส,  กิจกรรมกลุ่มคุณภาพ QCC  นั้น   มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พนักงานระดับปฏิบัติทุกคนได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานอย่างหนึ่งของ TQM  และในการดำรงรักษากิจกรรมกลุ่มย่อยไม่ให้สูญสลายไป  ผู้บริหารควรจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริม TQM เพื่อฝึกอบรม สร้างแรงจูงใจและผลักดันให้พนักงานร่วมกันทำกิจกรรมกลุ่มย่อยอย่างสม่ำเสมอ
 
6.   ตรวจวินิจฉัยโดยผู้บริหารระดับสูงสุด ( Top Management Diagnosis)
                จุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงสุดตรวจสอบว่า  นโยบายการบริหารที่กำหนดไว้ได้ถูกนำไปกระจายและปฏิบัติโดยหน่วยงานต่างๆหรือไม่อย่างไร และถูกต้องตามแนวทางของ TQM หรือไม่   ซึ่งผู้บริหารระดับสูงสุดควรทำการตรวจวินิจฉัยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ   พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่หน่วยงานต่างๆ หากการดำเนินการผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
 
แนวทางการส่งเสริม TQM  ภายในองค์กร
                1.  ผู้บริหารระดับสูงต้องมีศรัทธาและมีความเชื่อมั่นว่า TQM  จะสามารถช่วยปรับปรุงพัฒนาองค์กรได้อย่างยั่งยืน
                2.  นำ TQM มาเป็นนโยบายในการบริหารธุรกิจ และประกาศให้พนักงานทุกคนได้รับรู้
                3.  จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริม TQM  เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันการดำเนินงานต่าง ๆ ในกิจกรรม TQM   ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
                4.  จัดตั้ง TQM  Steering   Committee   โดยมีกรรมการผู้จัดการเป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบาย, ผลักดันการดำเนินการ, ติดตามผลและแก้ปัญหาหลัก ๆ ในการทำกิจกรรม TQM
                5.  หาที่ปรึกษา (Consultant)  หากคิดว่าจำเป็น
                6.  กำหนด  Road Map ของการทำ TQM  และแผนงานหลัก
                7.  ดำเนินการฝึกอบรมตามแผนงานที่กำหนด
                8.  ดำเนินการลงมือปฏิบัติในกิจกรรมต่าง ๆ ของ TQM
                9.  ผู้บริหาระดับกลางตรวจสอบการปฏิบัติและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
                10.ผู้บริหารระดับสูงตรวจวินิจฉัย (Diagnosis)  ผลการดำเนินงาน TQM เป็นระยะๆ
                11.ประเมินผลงานประจำปี
หมายเลขบันทึก: 454714เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2011 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท