ชีวิตที่พอเพียง : 91-3. ตักตวงความสุขจากผลของงานในอดีต


การได้มาทำงานเป็น ผอ. สกว. ระหว่างปี ๒๕๓๖ - ๒๕๔๔ ถือเป็นมงคลชีวิตของผม เพราะทำให้ผมได้มีแวดวงอยู่ในกลุ่มนักวิจัยระดับยอดของประเทศ ซึ่งผมไม่เคยคิดฝันว่าผมจะมีโอกาสเข้าสมาคมด้วยอย่างใกล้ชิดอย่างนี้ และได้รับการยอมรับสูงอย่างนี้

ชีวิตที่พอเพียง  : 91-3. ตักตวงความสุขจากผลของงานในอดีต

        คืนวันที่ ๑๘ สค. ของทุกปี มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดงานเลี้ยงเป็นเกียรติและแสดงความยินดีต่อนักวิทยศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี     ซึ่งในปี ๔๙ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นได้แก่ ศ. ดร. ปิยสาร ประเสริฐ ธรรม แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ     ได้รับรางวัลร่วมกับ ศ. ดร. สมชาย วงศ์วิเศษ แห่ง มจธ.     ผมมีความสุขเพราะกล่าวได้ว่าผลงานของทั้งสองท่านมีแรงส่งจากการให้ทุนวิจัยของ สกว. อยู่ด้วย     และทุนที่ท่านทั้งสองนั้น ผมมีส่วนสำคัญในการคิดริเริ่มขึ้น     คือทุนเมธีวิจัยอาวุโสสำหรับ ดร. ปิยสาร   และทุนเมธีวิจัยรุ่นที่ ๒ สำหรับ ดร. สมชาย     และขณะนี้ทั้งสองท่านได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส

       ทุนทั้งสองเกิดขึ้นในปี ๒๕๓๗ หลังเปิด สกว. ได้หนึ่งปี     และหลังจากมีเสียงตำหนิว่า สกว. กระสุนด้าน มีเงินแต่ไม่มีโครงการ     และผมเครียดจนนอนเตะเมียตอนกลางคืน  เพราะฝันร้าย      เรื่องนอนเตะเมียและฝันร้ายค่อยเล่าวันหลังนะครับ วันนี้เล่าเรื่องฝันดีก่อน     พอประกาศให้ทุนทั้งสองออก ก็เกิด "talk of the town" ว่าเตรียมยื่นขอทุนนี้หรือยัง     เพราะการกล้ายื่นขอและได้รับทุนนี้กำลังจะเป็นมาตรวัด "ความแน่" ของนักวิจัยพื้นฐาน     ที่จริงทุนเมธีวิจัยอาวุโสไม่มีการยื่นขอ  สกว. เที่ยวควานหาตัวอ้อนวอนให้ยื่นโครงการตามเงื่อนไขของทุน     ส่วนทุนเมธีวิจัยยื่นขอได้  และเงื่อนไขและผลประโยชน์มันบอกทางอ้อมว่า    ถ้าคุณอยากดำเนินชีวิตนักวิจัยสายนานาชาติ และมีความสามารถมากพอ ก็เชิญทางนี้     คือทุนทั้งสองประเภทติดฉลากเกียรติยศหอมอบอวลทีเดียว

        เป็นทุนวิจัยพื้นฐานระดับ อีลีต (elite) นั่นเอง  

        การริเริ่มใหม่ๆ เป็นความท้าทายคนจัดการอย่างแรง     ไอเดียดี แต่พอปฏิบัติเจ๊งไม่เป็นท่าเห็นเกลื่อนไป     พวกเราที่ สกว. เกร็งกันน่าดู     เราต้องสร้างแรงส่ง (การจัดการ - management) เพื่อการันตีความสำเร็จของทุนทั้งสองกันอย่างขมีขมัน     และเคล็ดลับคือ เราขอแรงคนนอกที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองในด้านการวิจัยแบบที่ปิดตัวท่าน     ท่านจึงทำงานแบบปิดทองหลังพระ     ตอนนี้ขอนำมาเปิดเผยด้วยความขอบพระคุณอย่างซึ้งนะครับ  ท่านคือ  ศ. ดร. สุรินทร์ เศรษฐมานิต อดีต รมช. วิทยาศาสตร์ ผู้สมถะ เป็นประธานกรรมการชุดนี้อยู่หลายปี    

        เรามีวิธีทำงานที่มีข้อมูลเพียบ     กรรมการทำหน้าที่สำคัญที่สุดคือช่วยใช้วิจารณญาณเชิงอัตวิสัย (subjective) ว่าข้อสรุปของทีมงาน สกว. รอบคอบดีหรือยัง    และในขณะเดียวกัน ทีมงานภายใน สกว. ก็ระวังตัวแจไม่ให้มลภาวะด้านอคติ (แปลว่าเล่นพวกน่ะครับ) เข้ามาแปดเปื้อน   ไม่ว่าจะผ่านพวกเราภายใน สกว. เอง หรือจากคณะกรรมการ     ผมจะไม่เล่ารายละเอียดของการจัดการเพราะเขียนไว้แล้วในหนังสือ "การจัดการงานวิจัย : แนวคิดจากประสบการณ์"  และ "เส้นทางสร้างสรรค์ สกว. ประสบการณ์ลองผิดลองถูกในการบริหารองค์กรอิสระ"     หนังสือทั้งสองเล่มนี้มีขายที่ สกว. 

        ที่จริงเราจินตนาการเรื่องทุนทั้งสองไว้หรูกว่าที่เห็นอย่างมาก     เราฝันว่าจะมีการขยับทุนในระยะ (phase) ที่สอง     ให้สูงยิ่งขึ้นทั้งเกียรติ  ค่าตอบแทน  และเงื่อนไขความสำเร็จหรือผลงาน     แต่โชคไม่เข้าข้างเรา     ปี ๒๕๔๐ เศรษฐกิจล่ม  เรากลับต้องลดค่าตอบแทนเมธีวิจัยอาวุโสและเงินเดือนของพวกเราเองใน สกว. อยู่ ๑ ปี     และ phase 2 ของทุนเมธีวิจัยอาวุโสก็ไม่เกิดจนบัดนี้

       แต่การดำเนินการของทุนทั้งสองก็ก่อผลดีต่อวงการวิจัยของบ้านเมืองเราอย่างมากมาย     และให้บทเรียนแก่ผมอย่างมากมายด้วย      เพราะของดีสำหรับสังคมภาพรวม และนักวิจัยระดับยอดชื่นชม นั้น     เมื่อมองจากมุมของคนบางกลุ่มก็เป็นสิ่งที่อัปลักษณ์      จึงมีทั้งกระแสหนุนและกระแสต้านทุนวิจัยแบบนี้ในสังคมไทย     มีคำพูดว่า publication กินไม่ได้    มีคำพูดว่าทุนนี้หนุนแต่คนส่วนน้อย  ไม่มีประโยชน์ต่อนักวิชาการส่วนใหญ่  ฯลฯ     ผมได้เห็นแก่นแท้ของคนที่เปลือกนอกดูดี    และทำให้ผมนึกถึงโคลงโลกนิติ์ 
                      "ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้      มีพรรณ
                       ภายนอกแดงดูฉัน      ชาดบ้าย
                       ภายในย่อมแมลงวัน   หนอนบ่อน
                       เฉกดั่งคนใจร้าย          นอกนั้นดูงาม"

         แต่จริงๆ แล้วคนเรามีหลายมิตินะครับ     คนเหล่านี้ในบางมิติก็ถือได้ว่าเป็นคนที่ประเสริฐ     มีคุณประโยชน์มากต่อสังคม     และผมก็คอยถามตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่า     ผมมีภาพเป็นผู้ร้ายของสังคมในมิติไหนบ้างหรือไม่ 

        อ้าว! เขียน บล็อก ต้องเขียนเชิงบวกนะครับ    ห้ามปรับทุกข์มากเกิน    ต้องปล่อยสุขเยอะๆ     ก็ดังที่เกริ่นนำนั่นแหละครับ    คืนวันที่ ๑๘ ของทุกปี ผมจะมีความสุขมาก  แม้บางปีจะไปร่วมงานไม่ได้     เป็นผลของการสะสมทุนทางสังคมไว้ในระหว่างการดำเนินชีวิต

         การได้มาทำงานเป็น ผอ. สกว. ระหว่างปี ๒๕๓๖ - ๒๕๔๔ ถือเป็นมงคลชีวิตของผม     เพราะทำให้ผมได้มีแวดวงอยู่ในกลุ่มนักวิจัยระดับยอดของประเทศ     ซึ่งผมไม่เคยคิดฝันว่าผมจะมีโอกาสเข้าสมาคมด้วยอย่างใกล้ชิดอย่างนี้     และได้รับการยอมรับสูงอย่างนี้

วิจารณ์ พานิช
๑๙ สค. ๔๙ 

หมายเลขบันทึก: 45457เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2006 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท