๑๘๓.เพียงสละเวลาสักนิด ร่วมเสนอความคิดดี ๆ กับงานปอยฮอมผญาพยาว(ผ้าป่าความคิด)


ผ้าป่าความคิดนี้ แม้ท่านจะเป็นคนพะเยาหรือไม่ก็ตาม? ก็สามารถส่งความคิดดี ๆ มาเพื่อร่วมพัฒนาสังคมอุดมปัญญาให้เกิดขึ้นแก่จังหวัดเล็ก ๆ แห่งนี้ได้ไม่ยาก เพียงท่านมีจิตคิดจะร่วมแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ ก็นับว่าเกิดผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ในใจของท่านแล้ว...สาธุ

 

     วันนี้ คุณชัยวัฒน์  จันทิมา หนุ่มเมืองพะเยาที่มากความสามารถแห่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "พะเยารัฐ" ได้ส่งกำหนดการ "งานปอยฮอมผญาพยาว ก้าวสู่ ๙๑๙ ปีเมืองพะเยา"  มาให้ตรวจสอบ

 

     ผู้เขียนเห็นแล้วเป็นเรื่องที่ดีและงดงามมาก ที่คนพะเยารุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งได้พยายามสร้างสรรค์งานกิจกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ประกอบกับที่สามารถทำสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมได้ อันเป็นเทคนิคที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประกอบกับไม่ต้องเสียเงิน เพียงแต่จะเสียเวลาคิด เขียน และส่งกลับเท่านั้น จึงขอนำส่วนที่เรียกว่า "ใบบุญแสดงข้อคิดเห็นการพัฒนาจังหวัดพะเยา" มาให้ชาว gotoknow.org ได้ร่วมสร้างบุญบารมีอันยิ่งใหญ่ด้วยการเติมใจให้สังคมพะเยา ดังนี้

 

ข้าพเจ้า...................................

     ขอตั้งจิตอธิษฐานแด่องค์พระเจ้าตนหลวง ขอบริจาคความคิดเรื่องการพัฒนาจังหวัดพะเยา  ดังนี้

.................................................................................................................

.................................................................................................................

.................................................................................................................

.................................................................................................................

.................................................................................................................

 

     และในวโรกาสที่เมืองพะเยาจะมีอายุครบรอบ ๙๑๙ ปี ข้าพเจ้าขอเสนอให้มีกิจกรรมการจัดงาน ดังนี้

.................................................................................................................

.................................................................................................................

.................................................................................................................

.................................................................................................................

.................................................................................................................

   

  ความคิดเห็นของท่าน ทางคณะผู้จัดงานจะรวบรวมเพื่อทอดถวายแด่องค์พระเจ้าตนหลวง ในวันเสาร์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๔  และมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เพื่อนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาจังหวัดต่อไป  นอกจากนี้ ท่านสามารถรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นตลอดทั้งวัน ผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย จังหวัดพะเยาและเครือข่ายวิทยุชุมชน ในวันที่ ๒๗-๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

 

     ผ้าป่าความคิดนี้ แม้ท่านจะเป็นคนพะเยาหรือไม่ก็ตาม? ก็สามารถส่งความคิดดี ๆ มาเพื่อร่วมพัฒนาสังคมอุดมปัญญาให้เกิดขึ้นแก่จังหวัดเล็ก ๆ แห่งนี้ได้ไม่ยาก เพียงท่านมีจิตคิดจะร่วมแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ ก็นับว่าเกิดผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ในใจของท่านแล้ว...สาธุ

    ร่วมเสนอความคิดดีๆได้ที่ www.phayaoforum.com/phayao919

หมายเลขบันทึก: 453677เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2011 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

กราบนมัสการท่านพระครูโสภณปริยัติสุธีด้วยความเคารพยิ่งครับ
  

ชอบกิจกรรมเล็กๆนี้มากอย่างยิ่งเลยครับ เป็นความสร้างสรรค์เล็กๆของการสร้างความแยบคาย ที่แปรปัญญาในการทำบุญกับการมีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์สุขภาวะของสังคมส่วนรวมให้เป็นเรื่องเดียวกัน สร้างความเป็นปัจจุบันและความร่วมสมัยของวัฒนธรรมการทำบุญกุศล ให้กลมกลืนเกื้อหนุนกันและกัน ระหว่างบทบาทของรัฐ ชุมชน วัด ภาคประชาชน ภาควิชาการและสื่อท้องถิ่น ที่ให้ความคิดและน่าสนุกดีจริงๆครับ อีกทั้งเป็นการเล่นทางปัญญา ที่มีความศานติ แยบคาย งดงาม ในการสู้กับกระแสหลักของสังคมที่มักเน้นความเป็นวัตถุและการมุ่งประโยชน์เพียงด้านที่เข้าถึงได้ด้วยคนส่วนน้อย เลยต้องขอประเดิม มีส่วนร่วมทำบุญทอดผ้าป่าความคิดนี้ด้วยครับ

ข้าพเจ้า นายวิรัตน์ คำศรีจันทร์ 

     ขอตั้งจิตอธิษฐานแด่องค์พระเจ้าตนหลวง ขอบริจาคความคิดเรื่องการพัฒนาจังหวัดพะเยา  ดังนี้

๑. สร้างสังคมการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมท้องถิ่น มีนโนโยบาย กลไก และมาตราการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการสนับสนุนส่งเสริมการก่อตั้งเครือข่ายวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ของภาคประชาชน และเครือข่ายความร่วมมือกันอย่างเป็นสหวิทยาการ เครือข่ายสถาบันการศึกษา โรงเรียน สถานศึกษา วัด สื่อพื้นบ้าน สื่อท้องถิ่น องค์กรท้องถิ่น การเมืองท้องถิ่น  ประชาคมจังหวัด ประชาคมเพื่อการเคลื่อนไหวสังคมแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์สุขภาวะสาธารณะ  รวมทั้งบทบาทการมีส่วนร่วมของเครือข่ายการพัฒนาภาคเอกชน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับเครือข่าย ที่ให้ความสนใจต่อประเด็นสังคมไทย สังคมโลก และสังคมในอนุภูมิภาค ในบริบทความเปลี่ยนแปลงและในบริบทการพัฒนาใหม่ๆที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เช่น การพัฒนาระบบการคมนาคมในบริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อถึงกันกับกลุ่มประเทศอินโดจีนและตอนใต้ของจีน ซึ่งจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ส่งผลสืบเนื่องให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ที่จำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมของพลเมือง เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า 

๒.พัฒนาเครือข่ายเพื่อพัฒนาการศึกษา สื่อ ศิลปะและวัฒนธรรม อิงถิ่นฐานและอิงเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตของสังคมท้องถิ่นเมืองพะเยา ส่งเสริมการรวมตัวกันอย่างหลากหลายของภาคประชาชนและในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อเกิดหน่วยการเรียนรู้และหน่วยปฏิบัติการเพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยความรู้และกอปรไปด้วยการเรียนรู้อย่างทั่วถึง เชื่อมโยงกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในมิติอื่นๆของสังคมในแนวทางเลือก ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในขอบเขตที่กว้างขวาง ยืดหยุ่น เอื้อต่อการพัฒนาการจัดการตนเองและการอยู่ร่วมกันของพลเมืองไทยและสังคมของประเทศเพื่อบ้าน ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมทางจิตใจ วัฒนธรรมที่เชิดชูความสุขและความมีคุณค่าด้านในของมนุษย์ เป็นตัวนำเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านอื่นๆอย่างบูรณาการ

๓. พัฒนาระบบการศึกษาทางเลือกและการศึกษาตลอดชีวิต ส่งเสริมการพัฒนาภาคศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ วัดและแหล่งสาธารณะเพื่อการเรียนรู้พัฒนารสนิยมชีวิตและคุณค่างใหม่ทางสังคม เพื่อสังคมไทยและสังคมภูมิภาค การท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้ การจัดการทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมและกระตุ้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมิติอื่นๆที่มุ่งเพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคม

     และในวาระที่เมืองพะเยาจะมีอายุครบรอบ ๙๑๙ ปี ข้าพเจ้าขอเสนอให้มีกิจกรรมการจัดงาน ดังนี้

๑. จัดประชุมวิชาการสาธารณะ ผสมผสานรูปแบบการประชุม การนำเสนองานวิจัย การจัดแสดงผลงานและความสร้างสรรค์ของทุกภาคส่วนในสังคม การวิจัยและการสร้างภูมิปัญญาของชาวบ้าน ปัญญาชนและปราชญ์ท้องถิ่น เน้นการมีประเด็นร่วมแต่มีความหลากหลายของหัวข้อ มีพื้นที่ให้ชาวบ้านและคนภายนอกทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวาง 

๒. เคลื่อนไหวหน่วยวิชาการชุมชนและเครือข่ายพัฒนาการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดเวทียุทธศาสตร์พัฒนาเครือข่ายหรือประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาเครือข่ายสร้างความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรม องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเครือข่ายโรงเรียนและสถานศึกษา ครอบคลุมทั้งจังหวัด

๓. พัฒนาความเข้มแข็งและความยั่งยืนของทุนทางสังคมด้านสร้างความรู้ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดเวทีถอดบทเรียนและยกระดับเชิงยุทธศาสตร์เครือข่ายเพื่อพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบในอนาคต ของกลุ่มผู้ทำงานเชิงพื้นที่ทางด้านการศึกษา การพัฒนาการเรียนรู้ และการพัฒนาในแนวทางเลือก

๔. ทำประสบการ์ความริเริ่มให้เป็นแหล่งสะสมทางปัญญาให้เป็นระบบ จัดทำสื่อ สิ่งตีพิมพ์ สื่อออนไลน์ และแหล่งศึกษาค้นคว้าอันหลากหลาย เอื้อต่อการเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง เพื่อเผยแพร่กิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการขึ้นใน ๑-๓ เพื่อสนับสนุนการขยายผลการปฏิบัติในอนาคต และเป็นที่ระลึกวาระ ๙๑๙ ปีของเมืองพะเยา

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

ในวาระที่เมืองพะเยาจะมีอายุครบรอบ ๙๑๙ ปี ข้าพเจ้าขอเสนอให้มีกิจกรรมการจัดงานอีกดังนี้

๔. ๙๑๙ พะเยาก้าวหนึ่งก้าวสู่อนาคต : เรียนรู้และสร้างอนุชนสืบสานภูมิปัญญาถิ่นฐานเมืองพะเยาสู่สังคมสุขภาวะพอเพียง

สร้างคนรุ่นอนาคตให้ได้ความสนุกของสาธารณะ โดยจัดประกวดงานศิลปะและสื่อการเรียนรู้เมืองพะเยาด้วยหนังสือพิมพ์กำแพง ของโรงเรียน ชุมชน และกลุ่มประชาคมท้องถิ่นเมืองพะเยา ร่วมกันส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องราวเมืองพะเยาและพัฒนาวิธีถ่ายทอดออกมาเป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีความสร้างสรรค์ คือ งานศิลปะ และการเขียนองค์ความรู้และเรื่องราวของท้องถิ่นในทุกแง่มุมตามความสนใจ

(๑) งานศิลปะ ขอการสนับสนุนหน่วยงานต่างๆในการจัดประกวดงานถ่ายภาพ งานศิลปหัตถกรรม และงานสร้างสรรค์ศิลปะจิตรกรรม ที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณและเรื่องราวความเป็นเมืองพะเยาโดยวิธีการทางศิลปะและงานสร้างสรรค์ โดยเน้นงานศิลปะและความสร้างสรรค์ของเด็กนักเรียนและเยาวชน

(๒) หนังสือพิมพ์กำแพง ประกวดการศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองพะเยา แล้วเขียนเรียบเรียงถ่ายทอด นำมาทำเป็นสื่อหนังสือพิมพ์กำแพง โดยกระดานบอร์ด หรือทำเป็นสื่อแบบติดตั้งกลางแจ้ง ที่ต้องใช้การทำด้วยมือมากกว่าร้อยละ ๕๐ ของเทคนิคที่ใช้ทำชิ้นงาน จากนั้นนำไปจัดแสดง ร่วมกับการมีกิจกรรมอื่นๆซึ่งทำเป็นเทศกาลของจังหวัด

เด็กๆ กลุ่มการรวมตัวกันของประชาชน ชุมชน ชาวบ้าน โรงเรนียน และกลุ่มศรัทธาต่างๆ ที่ได้รับรางวัลหรือส่งผลงานเข้าร่วม จะได้รับเชิญนั่งสนทนาในสื่อและช่วยกันเผยแพร่ให้เห็นตัวตนของคนพะเยาอย่างกว้างขวาง หลากหลาย

กิจกรรมดังกล่าว จะทำให้เกิดความตื่นรู้ ตื่นตัว ทั่วทั้งเมืองพะเยา และสามารถเป็นโอกาสสื่อสาร สร้างการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

คนต่างศาสนิก ขอตั้งจิตนบ ทำความดีสนับสนุนผ้าป่าความคิด

เจริญพรขอบคุณท่านอาจารย์วิรัตน์ ความคิดของท่านอาจารย์ที่ได้ร่วมสร้างบุญ มหากุศลในครั้งนี้

อาตมาจะนำไปร่วมผ้าป่า เพื่อให้ทีมงานได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป สาธุ

ท่านอาจารย์ตามกำหนดเดิม ที่ประชุม ณ ศาลากลางจังหวัด ได้กำหนดไว้ว่า

วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๕๔ เป็นกิจกรรมของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย แต่ที่เน้นคือกลุ่มผู้ใหญ่ เป็นกิจกรรมด้านปัญญา

ส่วนวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๕๔ เป็นกิจกรรมของเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเน้นกิจกรรมร่วมด้านพิธีกรรมทางศาสนามากกว่า

เจริญพรขอบคุณโยม วอญ่า-ผู้เฒ่า ทุกศาสนาเมื่อรวมกันแล้วก็เป็นศาสนาสากล

ทุกศาสนาต่างกันแค่ชื่อ แต่เนื้อหาทุกศาสนาล้วนส่งเสริมความดีงาม และสันติภาพเหมือนกัน

อย่าลืม ส่งผ้าป่าความคิดดี ๆ มาร่วมสร้างสรรค์สังคมพะเยาด้วยนะ สาธุ

อ่านแล้วรู้สึกชื่นใจครับ ได้ความคิดดีๆ ได้จิตอันบริสุทธิ์ ได้เห็นความหวังตั้งใจของสังคม

ผมกำลังเปิดช่องทางสื่อสารไว้อีกที่หนึ่ง ไม่รู้จะดีไหม แต่เผือจะได้รวบรวมเรื่องผ้าป่าความคิดไว้ ในระยะยาว

อยากให้ทุกท่านร่วมสร้างร่วมขับเคลื่อนด้วยกัน ที่ www.phayaoforum.com/phayao919

ขอบคุณพระอาจารย์มากครับ

ชัยวัฒน์

กราบนมัสการท่านพระครูโสภณปริยัติสุธีครับ

ต้องกราบอภัยอย่างยิ่งครับที่ไม่ได้หมายเหตุไปด้วยว่าเป็นการร่วมทอดผ้าป่าความคิดเพื่อเป็นแนวส่งเสริมการทำงานที่ต่อเนื่องในช่วง ๙๑๙ ปีของเมืองพะเยานับแต่ปลายเดือนสิงหาคมนี้ไปจนถึงวาระ ๙๑๙ ปีจริงๆซึ่งผมไม่แน่ใจว่าได้เห็นที่ไหนสักแห่งในบันทึกของพระคุณเจ้าว่าจะเป็นในปีหน้าหรืออีกไม่กี่ปีที่จะถึงนี้น่ะครับ อีกทั้งเป็นความคิดเพียงบางด้านคือด้านการทำงานความรู้กับการสร้างคนพื่อสบทบเข้ากับด้านอื่นๆ

จำเพาะกิจกรรมเพื่อการเริ่มต้นในวันที่ ๒๗-๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔ นี้ หากแนวทางที่กระผมได้นำเสนอนี้พอจะเอื้อต่อการทำงานที่เครือข่ายของพื้นที่พอจะมีทุนเดิมและมีกิจกรรมต่างๆที่สอดคล้องกัน ก็อาจจะสามารถย่อยแนวคิดมาเป็นกิจกรรมเล็กๆให้พอเหมาะ เพื่อทำพอได้เปิดประเด็น ให้มีความเบ็ดเสร็จงดงามอยู่ในตัวเองภายใต้ข้อจำกัดที่จะทำได้ ขณะเดียวกัน ก็ใช้เป็นจุดเริ่มต้นอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่เชื่อมโยงไปสู่การทำกิจกรรมอีกหลากหลายให้ต่อเนื่องและเสริมกัน กระทั่งนำไปสู่การจัดกิจกรรมและเวทีเคลื่อนไหวสังคมท้องถิ่นพะเยาในโอกาสต่างๆเท่าที่ทำได้ต่อไปในอนาคต 

หากจะเริ่มทำเล็กๆเบาๆในวันที่ ๒๗-๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔ นี้ ในวันที่ ๒๗ ที่เป็นการเสวนากันเวทีย่อยต่างๆนั้นก็เหมาะสมมากเลยละครับ หากจะนำเอาแง่มุมเหล่านี้ไปขับเคลื่อนด้วย ก็อาจจะอยู่ในรูปการทำให้เป็นประเด็นย่อยอีกประเด็กหนึ่งเพื่อช่วยกันเสวนา ระดมความคิด และมองไปยังอนาคตว่าจะทำสิ่งต่างๆที่มุ่งทำกันอยู่แล้ว ให้มีความแหลมคมและได้ประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อวาระทางสังคมดีๆหลายๆด้าน ได้อย่างไร

ในส่วนของวันที่ ๒๘ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำหรับเด็กเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งค่อนไปในทางพิธีกรรมทางศาสนานั้น หากจะจัดสรรเวลาทำกิจกรรมให้กับเด็กๆบางกลุ่มได้อีก โดยมีเวลาสักครึ่งวัน ก็ขอเสนอให้เป็นเวทีเด็กเรียนรู้และวาดภาพเมืองพะเยาเมืองข้าพเจ้าโตเป็นผู้ใหญ่ในอีก ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า วิธีการและกระบวนการคือ....

กิจกรรมและจุดหมาย : ศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เมืองพะเยาอย่างบูรณาการ

๑. พัฒนาทักษะการอ่าน กระบวนการคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้สังคมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น พัฒนาการเรียนรู้เพื่อใช้ทักษะภาษาอังกฤษกับการเรียนรู้ท้องถิ่น พัฒนาทักษะคณิตศาสตร์และการคิดคำนวณกับเรื่องราวของท้องถิ่น พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีและการจัดการทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ พัฒนาทักษะสังคมและการเรียนรู้ปัจจัยมนุษย์  พัฒนาจิตใจ ความซาบซึ้ง ศิลปะ การสื่อสาร การนำเสนอ การถ่ายทอด ลักษณะผู้นำ และอื่นๆ

๒.พัฒนาเครือข่ายและขยายผลภูมิปัญญาท้องถิ่นและประวัติศาสตร์เมืองพะเยา สู่การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

๓. สร้างความเป็นพลเมืองและเตรียมผู้นำในอนาคตให้แก่เด็กๆและเยาชน ผ่านการพัฒนาทักษะการมีส่วนร่วมในความเป็นส่วนรวมของสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม

๔. เพิ่มพูนประสบการณ์และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่พลเมืองเด็ก

การแบ่งกลุ่มและวัสดุอุปกรณ์

๑. แบ่งกลุ่มเด็กๆออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ ๕-๖ คน ถึง ๑๐-๑๕ คน คละกันจากหลายโรงเรียน หลายหมู่บ้าน รวมทั้งเด็กๆที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็เข้ามารวมกลุ่มได้

๒. ติดกระดาษกับผนังหรือบอร์ด สำหรับเขียนรูปด้วยกันขนาดใหญ่ๆ เตรียมสีเทียนดีๆให้เด็กๆ กลุ่มละชุด

๓.เตรียมหนังสือหรือเอกสารความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภูมิปัญญาเกี่ยวกับเมืองพะเยา สำหรับให้เด็กอ่านและศึกษาด้วยกันในระยะ ๑ ชั่วโมง ไม่ต้องมาก โดยมุ่งเน้นให้เกิดพัฒนาการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ควรมีเนื้อหาและรูปภาพกำลังพอเหมาะ ๓-๕ หน้า หลายๆเรื่อง

กระบวนการ

๑. แบ่งกลุ่ม แจกวัสดุอุปกรณ์ ชี้แจงวัตถุประสงค์ กิจกรรม วิธีมีส่วนร่วม ผลที่ต้องการ ให้แก่เด็กๆ

๒. ให้เวลา ๓๐ นาทีเพื่อดูรูป อ่านหนังสือ เรื่องเมืองพะเยา อาจจะได้กลุ่มละเรื่อง เด็กๆสามารถอ่านช่วยกัน พูดคุย ปรึกษาหารือ และวางแผนต่างๆได้อย่่างอิสระ

๓. ให้เวลา ๑ ชั่วโมงเพื่อช่วยกันวาดภาพโดยจินตนาการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆจากที่ได้อ่านออกมาให้ได้มากที่สุด แต่ให้เป็นการวาดภาพสร้างเมืองพะเยาเมื่อเด็กๆเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยให้มีข้อมูลจากเรื่องที่อ่านปรากฏอยู่ในภาพให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะช่วยกันทำได้

๔. ให้เด็กๆติดรูป จัดแสดงในห้องเพื่อเดินดู นำเสนอ และให้รางวัลความโดดเด่นแต่ละด้าน แต่ละกลุ่มได้รางวัลและรู้เอกลักษณ์ความแตกต่างของตนที่ต่างจากแต่ละกลุ่ม

๕. เผยแพร่ แจกจ่าย สื่อ หนังสือ เกี่ยวกับเมืองพะเยาแก่ทุกคน

ขนาดนี้คงพอจะทำได้ครับ แต่เป็นการระดมความคิด ร่วมทอดผ้าป่าความคิดหรอกนะครับ เรื่องเหล่านี้ได้มีโอกาสทำงานความคิดให้เยอะๆและตุนไว้ก่อนอย่างที่พระคุณเจ้าพยายามทำนี้นั้นงดงามดีอย่างยิ่งแล้วครับ ขออนุโมทนาและสาธุครับ แต่ในความเป็นจริงนั้น อาจจะไม่ต้องทำก็ได้ครับ ตามสบายเลยครับ หรือหากจะทำ ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดหรือรีบร้อน อาศัยทำไปตามเหตุปัจจัยและความพร้อมต่างๆคงจะดีน่ะครับ  

กราบนมัสการด้วยความเคารพยิ่งครับ

นำข้อมูลและตัวอย่างกระบวนการมาฝาก เพื่อร่วมเป็นสื่อให้กำลังใจพระคุณเจ้าและคนพะเยาครับผม

ตัวอย่างการใช้ศิลปะและกระบวนการวาดรูป พัฒนาการเรียนรู้ชุมชน http://www.gotoknow.org/blog/wiratkmsr-art/395459

ปลูกฝังจิตสาธารณะและสร้างวิถีชุมชนผ่านกิจกรรมเรียนรู้ด้วยศิลปะ
http://www.gotoknow.org/blog/wiratkmsr-art/393223
เป็นตัวอย่างจากการทำให้เด็กๆและชุมชน ที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมครับ

ตัวอย่างการใช้สื่อกิจกรรมและสื่อศิลปะทำงานกับเด็กๆและชุมชนครับ
http://www.gotoknow.org/blog/wiratkmsr-art/toc

ตัวอย่างและข้อมูล ที่ gotoknow รวบรวมและทำให้ครับ
๑. สร้างพลังการเรียนรู้ : ศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยีการศึกษา  ดาวน์โหลดไฟล์ PDF  |  เข้าสู่เว็บไซต์ (ขนาดไฟล์ 5.56 MB)  gotoknow.org
๒. ประชาสังคมศึกษา : สร้างสรรค์สังคมด้วยจิตสำนึกสาธารณะและความเป็นพลเมือง ดาวน์โหลดไฟล์ PDF  |  เข้าสู่เว็บไซต์ (ขนาดไฟล์ 5.10 MB) gotoknow.org

ข้าพเจ้า.sr..................................

ขอตั้งจิตอธิษฐานแด่องค์พระเจ้าตนหลวง ขอบริจาคความคิดเรื่องการพัฒนาจังหวัดพะเยา ดังนี้

1) Use iodised salt in school meals to reduce Iodine Deficiency among children for all schools in Phayao and surrounding areas. (Award the vendors who add Iodine in the foods they sell with a '+I' logo and free promotion?)

2) Re-assess possible health and environmental impacts of 'waste disposal sites' (บ่อขยะ); a better engineering solution for rubbish disposal may be promoted by a competition for better engineering designs for disposal sites.

(Perhaps, a school project: How we can make a better rubbish dump.)

และในวโรกาสที่เมืองพะเยาจะมีอายุครบรอบ ๙๑๙ ปี ข้าพเจ้าขอเสนอให้มีกิจกรรมการจัดงาน ดังนี้

More promotion of the 919 years long history; more promotion on where Phayao will be heading in the next 919 years.

เจริญพรคุณชัยวัฒน์ อาตมาได้เพิ่มการติดต่อ

www.phayaoforum.com/phayao919 ไว้แล้ว

ท่านอาจารย์วิรัตน์ ข้อเสนอของอาจารย์ เป็นประโยชน์สำหรับงานนี้มาก

จะได้ส่งต่อความคิดดี ๆ นี้ให้ทีมงานต่อไป

เจริญพรขอบคุณ Sr. ที่ได้ร่วมทำบุญผ้าป่าความคิด

จะได้นำข้อเสนอแนะของท่าน ส่งให้ทีมงานต่อไป สาธุในกุศลจิตที่ส่งมาให้

นมัสการครับ

ขอเสนอข้อควรคิด จากประสบการณ์ และ ข่าวข้างล่าง

ประปาพะเยาพาดูกระบวนการผลิต <nationchannel.com> 19 สค. 2554 21:55 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีชาวประมงพะเยา ระบุว่า น้ำส่วนหนึ่งที่เสีย มาจากการปล่อยน้ำของประปาพะเยา เนื่องจากชาวประมงระบุว่า น้ำบริเวณที่ปล่อยลงท่อที่มาจากประปามีกลิ่น ซึ่งอาจเป็นกลิ่นคอรีน และสารก่อน้ำเสียที่มาจากบ่อพักน้ำก่อนปล่อยลงกว๊าน ทางประปาจึงได้พาผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบกระบวนการผลิตและรับรองว่าไม่ได้เป็นแหล่งที่ทำให้กว๊านพะเยาเน่าเสีย

... ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพะเยา เปิดเผยว่า การประปาพะเยามีกระบวนการผลิตที่สะอาดจนทำให้น้ำในกว๊านพะเยาสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย โดยกระบวนการผลิตมีกว่า10 ขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการแรกในการสูบน้ำดิบขึ้นมาจากกว๊านพะเยา โดยจุดสูบน้ำอยู่บริเวณหลังวัดพระเจ้าตนหลวง จนถึงกกระบวนการกรองตะกอน และใช้เครื่องมือทำลายสารพิษ เช่นสารพิษที่มาจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน จนสู่กระบวนการเติมคอรรีนตามด้วยการวัดค่าความเป็นกรดด่าง และมีการตรวจสอบจากสาธารณสุข จึงรับประกันว่าเป็นน้ำที่สะอาด

ส่วนกรณีที่ระบุว่า น้ำที่ปล่อยลงมาจากการประปาพะเยา มีกลิ่นและฟอง ซึ่งอาจเป็นจุดหนึ่งที่สร้างน้ำเสียให้กับกว๊านพะเยา ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพะเยา ชี้แจงว่า << การประปาพะเยา ไม่ได้เป็นจุดที่ปล่อยน้ำเพียงจุดเดียว ลงท่อสู่กว๊านพะเยา >> เพราะบริเวณรอบข้างประปาเป็นชุมชนใหญ่ ทั้งชุมชนวัดจอมทองและชุมชนเมืองบริเวณข้างเคียง ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่จากชุมชนส่วนใหญ่จะปล่อยสารเคมีมากกว่าด้วยซ้ำ เช่น เศษอาหาร สารฟอสเฟสจากผงซักฟอก เป็นต้น

ทั้งนี้ การประปาปล่อยน้ำลงจากกระบวนการผลิตเพียง 300 ลูกลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมากที่จะก่อให้เกิดน้ำเสีย และให้ความเห็นกรณีน้ำเสียของจังหวัดพะเยาว่า << หน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำเสียต้องมีการควบคุมแหล่งที่จะปล่อยน้ำเสียลงกว๊าน ซึ่งมีหลายปัจจัย เช่น ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ภาคเกษตร >> ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นสาเหตุก่อให้เกิดน้ำเสียทั้งหมด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท