ตัวอย่างครูที่สอนโดยใช้หลัก child –center


นี่คือการสอนประวัติศาสตร์ไทยของครูฝรั่งที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ไทย
ผมได้ฟัง ดร.วัฒนา ล่วงลือ ได้พูดถึงการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(child – center) ในตอนหนึ่งของการบรรยายเรื่อง Benchmarking โดยวิทยากรได้เล่าเรื่องที่ฟังแล้วอาจดูตลกดี แต่ก็ให้ข้อคิดเรื่อง การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้พอสมควร โดยท่านเล่าว่า ที่โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งจ้างครูฝรั่งมาสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย โดยที่ครูฝรั่งคนนี้ไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน และอ่านหนังสือไทยก็ไม่ได้ แต่ครูฝรั่งมีวิธีสอนโดยให้นักเรียนไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในภาพรวมมาก่อนว่ามีกียุค หลังจากนักเรียนมานำเสนอว่ามี 4 ยุคใหญ่ๆ คือ สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ แล้วครูก็แบ่งกลุ่มนักเรียนเป็น 4 กลุ่ม ให้ไปศึกษาว่า แต่ละยุคเขากล่าวถึงประเด็นสำคัญอะไรบ้าง แล้วมาแลกเปลี่ยนกันกับกลุ่มอื่นจนได้ประเด็นที่ครบถ้วน ครูจึงกำหนดประเด็นเหล่านั้นเหมือนกับเป็นเมนูให้นักเรียนไปหาเนื้อหามาใส่ในแต่ละยุคให้ครบถ้วน แล้วให้มานำเสนออีกครั้ง แต่เนื่องจากครูฝรั่งไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทย จึงไปเชิญครูคนไทยที่สอนประวัติศาสตร์ไทยอีกคนหนึ่งมาฟังนักเรียนนำเสนอรายงาน แล้วคอยให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดความถูกต้องสมบูรณ์ เนื้อหา จากนั้นครูฝรั่งก็ให้นักเรียนนำข้อเสนอแนะของครูไทยไปปรับปรุงเป็นรายงานมาส่งครู นี่คือการสอนประวัติศาสตร์ไทยของครูฝรั่งที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ไทย...จะถูกหรือผิดตามหลักการ child-center อย่างไรก็โปรดพิจารณาเองก็แล้วกัน
หมายเลขบันทึก: 45367เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2006 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ครูฝรั่งคนนี้ฉลาดที่จะสอน..มากๆ  ผมมักจะยอมรับว่าฝรั่งมีเทคนิคการสอนที่เยี่ยมเสมอ  ฝรั่งให้ครูไทยมาช่วยได้แสดงว่าเขาก็มีใจยอมรับคนอื่นด้วย  นี่แหละครับ Child Centers ที่ทุกคนฝัน  แต่ไปไม่ถึงซักทีเพราะทฤษฎีมีแต่ปฏิบัติไม่เป็น

ขอบคุณที่นำเทคนิคการสอนดี ๆ มาเผยแพร่  แล้วจะนำเทคนิคนี้ไปเล่าต่อให้เพื่อนครูฟัง  และหวังว่าโอกาสหน้าคงจะได้รับรู้เทคนิคการสอนแบบอื่นอีก

ดร.เป้ เปี่ยมบริบูรณ์

การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ( Learner / Student / child - centered Learning & Teaching)

เป็นกระบวนการ ( Process ) มิใช่เนื้อหา ( Contents / Details )

ฉะนั้น ที่ฝรั่งดำเนินการอย่างนั้นน่ะ จึงน่าจะถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ตามท่านธเนศ ขำเกิด เล่าว่า ดร.วัฒนา ล่วงลือ อธิบายให้ฟัง

ฝรั่งได้เรียนรู้เนื้อหาไปพร้อมกับนักเรียนและครูไทย นักเรียนได้เรียนรู้วิธีเรียน ( Learn how to learn ) เรียนโดยการกระทำ

( Learning by Doing ) ตามแนวคิด / หลักการของปรัชญาการศึกษาแบบพิพัฒนนิยม ( Progressivism ) ครูไทยช่วยกำกับกรอบความรู้ / เนื้อหา ป้องกันมิให้ผู้เรียนเข้าใจผิด / คลาดเคลื่อนเชิงประวัติศาสตร์

ดูแล้ว มันช่างต่างกับเรื่องเล่าที่ว่า เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ / วงการศึกษาไทย มีนโยบายและแนวคิดที่จะส่งเสริมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูไทย ( บางคนนะ มิใช่ทุกคน ) ก็เกิดอาการหงุดหงิดขึ้นมา แถมบ่น / เปรยๆว่า เมื่อเห็นเด็กสำคัญกว่าครู ก็ให้มันเรียนกันเองก็แล้วกัน ไม่ต้องไปสอนมัน หลายครั้งก็ส่งเด็กเข้าห้องสมุด ให้งานไปค้นคว้าด้วยตนเอง ยุ่งไหมล่ะครับ คนที่ปวดหัวมากที่สุดก็ครูบรรณรักษ์สิครับ เด็กเข้าไปเล่นไปคุยกันในห้องสมุด ครูผู้สอนอยู่บ้างไม่อยู่บ้างตามอารมณ์ดูก็ออกว่าเป็นการประชดกันชัดๆ แล้วเด็กจะได้อะไร

ผู้เรียนเป็นสำคัญน่าจะหมายความว่า ให้นักเรียนมีบทบาทร่วมกับครูผู้สอนมากขึ้น พอๆกับครู หรือมากกว่าครูก็ยิ่งดี พฤติกรรมสำคัญของครูและนักเรียนที่จะต้องร่วมกัน ๔ อย่างคือ คิดร่วมกัน ตัดสินใจร่วมกัน ปฏิบัติร่วมกัน และรับผิดชอบร่วมกัน

ยังไงๆครูก็ต้องอยู่กับเด็ก ร่วมกิจกรรมกับเด็ก กำกับกระบวนการแสวงหาความรู้ / แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

การศึกษาไทย มักเป็นอย่างนี้

๑) หลักสูตรมีเนื้อหาสาระมากมาย เน้นการจดจำ เรียนแล้วเรียนอีก เหมือนกลัวเด็กโง่

๒) ครูรีบสอน ไม่อยากเสียเวลา เดี๋ยวสอนไม่จบ / กลัวสอนไม่ทัน ก็เลยรีบเทความรู้ใส่กระโหลกเด็ก โดยคิดเอาเองว่าเด็กเข้าใจแล้ว

๓) กลัวสอนแล้วไม่ตรงกับข้อสอบ กลัวเด็กสอบตก

๔) กลัวเด็กหาว่าครูไม่ความรู้ ก็เลยต้องพูด / โชว์กึ๋นตลอดเวลา   ๔) กลัวนักเรียนส่งดัง วุ่นวาย เดี๋ยวจะถูกผู้บริหาร / หัวหน้ามาเจอ และก็อาจโดนเพ่งเล็งว่าคุมเด็กไม่อยู่

๕) ... อื่นๆอีกมากมาย

จะเป็นอย่างนี้อีกนานไหมเนี่ย ...

ครูฝรั่งใช้เทคนิคการตั้งคำถามแล้วให้เด็กไปหาคำตอบ สิ่งนี้คนไทยจะด้อยไปหน่อย เราตั้งคำถามดีๆกันไม่ค่อยเป็น คนทุกคนมีความรู้อยู่ในตัวจะทำอย่างไรที่จะเคาะความรู้ความคิดเหล่านั้นออกมาได้ วิธีหนึ่งที่ใช้ก็คือ "การตั้งคำถาม"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท