“กบนอกกะลา” กับมายาภาพของระบบอาหารโลก


ปัญหาของสื่อเวลานำความรู้มาเสนอ (ไม่เฉพาะรายการนี้) ก็คือ เรามักจะคิดว่ามันเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ ปราศจากอคติ เราไม่ได้ตั้งคำถามกับที่มาที่ไปของความรู้ และอำนาจครอบงำของความรู้เหล่านี้ที่มีต่อตัวเรา ชุมชน สังคมวัฒนธรรม และระบบนิเวศ
ผมเคยดูรายการ “กบนอกกะลา” รายการสารคดีเกี่ยวกับที่มาที่ไปของอาหารต่างๆที่นำเสนอทางช่อง 9 ไม่กี่ครั้ง และคิดว่าหลายๆคนคงมีโอกาสติดตามดูบ้าง ก็ถือว่าเป็นรายการสารคดีที่มีสาระและการนำเสนอที่ชวนติดตามดีทีเดียว ทางผู้จัดทำรายการเองก็มีเจตนานำเสนอเบื้องลึกของอาหารแต่ละอย่าง ว่ามันมีเส้นทางยาวไกลแค่ไหน ผ่านอะไรมาบ้าง กว่าจะกลายมาเป็นเมนูบนโต๊ะอาหารของพวกเรา.............................................. ในฐานะที่ผมเอง ก็เป็นแฟนรายการของทางบริษัททีวีบูรพา ไม่ว่าจะเป็น “คนค้นฅน” “หลุมดำ” ทางทีวีบูรพาซึ่งผู้อำนวยการรายการเหล่านี้ได้เป็นอย่างดียิ่ง ทำให้ประเด็นเรื่องราวเล็กๆเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง บางเรื่องถูกหยิบยกเป็นประเด็นสาธารณะ มีการนำไปสู่การปรับปรุงโครงสร้าง กฏระเบียบต่างๆ แต่สำหรับรายการ “กบนอกกะลา” แล้ว ผมกลับรู้สึกอึดอัด และไม่รู้ว่าจะมีใครรู้สึกเหมือนผมหรือไม่ เลยนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน.......................................................... ก่อนอื่น ต้องขอบอกก่อนว่า ผมดูรายการนี้ไม่กี่ครั้ง ก็อาจจะมีข้อมูลไม่ครบ ก็เลยจะขอนำเอาเรื่องราวเฉพาะตอนที่ตนเองเคยได้ดูมาสักตอนหนึ่ง มาเป็นกรณีศึกษานะครับ เป็นเรื่อง ไข่ไก่ บางคนอาจจะจำได้ เพราะเพิ่งลงจอไปไม่นาน......................................................... ที่มาที่ไปของไข่ไก่ที่ทางรายการนำเสนอนั้น เป็นอุตสาหกรรมไข่ไก่ครับ ขึ้นชื่อว่าอุตสาหกรรมก็คือผลิตไข่กันในโรงงานระบบปิด ผลิตกันวันละเป็นแสนฟอง มีไก่อยู่ในกรงตับนับหมื่นตัว มีระบบมาตรฐานอะไรต่อมิอะไรที่มาควบคุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขนส่ง ดูแล้วก็น่าตื่นตะลึง ว่า โอ้โห! ไข่แต่ละใบกว่ามันจะมาถึงมือเรา (และคนที่เรารัก) มันมีขั้นตอนและต้นทุนเพียบ จะกินไข่ก็เลยได้ความรู้มากขึ้น อันนี้ก็ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย................................................................... ความรู้ที่ทางรายการป้อนแก่ผู้อ่านก็ไม่เลวหรอกครับ แต่ปัญหาของสื่อเวลานำความรู้มาเสนอ (ไม่เฉพาะรายการนี้) ก็คือ เรามักจะคิดว่ามันเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ ปราศจากอคติ เราไม่ได้ตั้งคำถามกับที่มาที่ไปของความรู้ และอำนาจครอบงำของความรู้เหล่านี้ที่มีต่อตัวเรา ชุมชน สังคมวัฒนธรรม และระบบนิเวศ............................................................................... ยกตัวอย่าง ความรู้ที่ถูกนำเสนอในเรื่อง อุตสาหกรรมไข่ นัยยะของความหมายแฝงเร้นที่ถูกนำเสนอก็คือ ทำให้ผู้ชมเกิดความเชื่อมั่นในระบบอุตสาหกรรม เกิดความนิยมในมาตรฐานการผลิตไข่จากโรงงาน และชื่นชมในกระบวนการผลิตแบบสมัยใหม่ เข้าทำนอง ฝีมือคนไทยก้าวไกลทัดเทียมอารยะประเทศ อย่างอเมริกา ยุโรป............................................................................. ปัญหาก็คือ เราตั้งคำถามกับต้นทุนทางระบบนิเวศ ระบบสังคมท้องถิ่น ระบบจริยธรรมที่เราต้องจ่ายไปเพื่อแลกกับการผลิตแบบ mass production เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ........................................................................ ด้านสุขภาพ ในขณะที่เราถูกหลอกล่อโดยบริษัทข้ามชาติร่วมกับนายทุน สร้างสื่อโฆษณาสอนให้เราเชื่อในมาตรฐานสากล โดยหารู้ไม่ว่า มาตรฐานสากลในที่นี้ หมายถึง การใช้สารเคมีจำนวนมหาศาล การตัดแต่งพันธุกรรม การประหยัดต้นทุนสูงสุด เรารู้บ้างไหมว่า แม่ไก่พันธุ์ไข่เหล่านี้ถูกเลี้ยงโดยสารเคมีมากมาย จากอาหารดัดแปลง จากฮอร์โมน จากยากำจัดเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งตกค้างอยู่ในไข่อย่างไม่ต้องสงสัย (แต่วิชาการบ้านเรารวมทั้งกฎหมายยังเอื้อมมาจัดการไม่ถึง) จนกระทั่งถ่ายทอดมาถึงตัวคน (และคนที่คุณรัก) สะสมเป็นสารปนเปื้อนในร่างกายมากขึ้นๆ.................................................................... ด้านสิ่งแวดล้อม มูลไก่ ซากไก่ (ที่มีกากของสารเคมีหลากชนิด กระจายลงสู่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร) ทุกวันนี้ คุณเชื่อมั่นว่ารัฐจริงใจต่อการควบคุมกำจัดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมได้แค่ไหน ไหนจะขยะจากบรรจุภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ที่ยากต่อการย่อยสลายอื่นๆ อีกทั้ง การขนส่งวัตถุดิบและสินค้าเป็นระยะทางเป็นร้อยๆกิโลนี่ก็พล่าผลาญพลังงานธรรมชาติ สร้างภาวะโลกร้อน และต้องถางป่าถมคลองเพื่อสร้างถนนและลานจอดรถมารองรับการขนส่งแบบนี้ให้เพิ่มขึ้นอีกเท่าไร ...................................................................... ในด้านสังคม อุตสาหกรรมไข่เหล่านี้ ส่งผลต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กในท้องถิ่นอย่างไร พวกเขาถูกสนใจจากรัฐและผู้บริโภค รวมทั้งสื่อมวลชนมากน้อยแค่ไหน ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการจ้างงาน (อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง) ในท้องถิ่นเท่าไร เมื่อผู้ผลิตไข่ไก่ของท้องถิ่นถูกกระทบกระแทกจากบริษัทใหญ่ๆเหล่านี้ ในกลไกตลาดเสรี พวกเขาและครอบครัวจะหาที่พึ่งที่ไหน สังคมท้องถิ่น พ่อ แม่ ลูก กลายเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูกให้กับคนแปลกหน้า เวลาให้ความอบอุ่น ปรึกษาหารือกันในหมู่ครอบครัว เครือญาติ และชุมชนก็หดตัวลง เช่นนี้แล้ว สังคมท้องถิ่นจะเข้มแข็งขึ้นได้แค่ไหน? .................................................................................. มิพักต้องตั้งคำถามในเชิงศีลธรรมต่อการนำไก่มาบีบบังคับให้มันออกไข่ เหมือนเราเป็นแมลงสังคมชนิดหนึ่ง ที่เร่งให้ผู้หญิงที่เป็น “เหยื่อ” ออกไป “รับแขก” จนป่วยไข้ทรมาน และตาย ไก่นับหมื่นที่ถูกขังรวมอยู่ในกรงตับแคบๆที่การเหยียบกันตายเกิดขึ้นทุกวัน วันละเป็นร้อย ส่วนหนึ่งถูกนำไปขายต่อ ส่วนหนึ่งนำไปทำเป็นอาหารสัตว์เพื่อเข้าสู่สายพานการผลิตต่อไป ................................................................................. เราต่างชิงชังเดนมนุษย์ในอุตสาหกรรมทางเพศเหล่านี้ แต่เรากลับใช้วิธีคิดแบบเดียวกันในอุตสาหกรรมสัตว์ ผมตั้งคำถามว่า เรา “ชาวพุทธ” ดูแล้วไม่รู้สึกสลดใจอะไรบ้างหรือ ที่เรามีส่วนต่อบาปเหล่านี้ ถ้าจำไม่ผิด แว่บหนึ่ง ผมเห็นแววตาโศกสลดของพิธีกรรายการเมื่อเธอพูดถึงว่า ไก่เหล่านี้ เมื่ออายุมากขึ้นจนให้ปริมาณไข่ลดลง หน้าที่ของมันคือ ต้องตายก่อนแก่ทุกตัว.............................................................................. ในเชิงลึกแล้ว การนำเสนอความรู้เรื่องอุตสาหกรรมไข่อย่างนี้ มันเป็นการตอกย้ำให้เกิดรสนิยมการบริโภคไข่ ที่เน้นความเป็นอุตสาหกรรม (และผู้ได้ประโยชน์หลักคือนายทุนอุตสาหกรรม)โดยหลงเชื่อว่าได้ “มาตรฐาน” ทั้งในแง่ของคุณค่าและความสะอาด ทั้งยังละเลยความรับผิดชอบต่อนิเวศสิ่งแวดล้อม ระบบชุมชนท้องถิ่น และจริยธรรมอันพึงมีต่อสัตว์ที่เราบริโภค ใช่หรือไม่? ............................................................................. และผมเชื่อว่า ผลท้ายสุด มันก็จะย้อนกลับมาทำลายตัวมนุษย์เอง เพียงแต่ว่ามนุษย์ที่จะถูกทำลายก่อนเพื่อน ก็คือ มนุษย์ที่จนกว่า ด้อยโอกาสทางสังคมกว่า ซึ่งนี่มันไม่แฟร์กับพวกเขาเลย................................................................................ โดยสรุป รายการ “กบนอกกะลา” ก็เป็นรายการที่ดีนะครับ แต่ยังดีไม่พอ เพราะมองไม่เห็นกะลาอีกหลายอันที่ครอบขึ้นไปเป็นชั้นๆ อันนี้ คงไม่ใช่หน้าที่ของสื่อหรือผู้จัดรายการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพันธกิจทางสังคม ที่เราๆท่านๆต้องช่วยกันตีแผ่ สื่อสารให้สังคมรับทราบ เพราะงานสื่อสารมวลชนมิใช่ถูกผูกขาดโดยสื่อ (อย่างที่เราๆท่านๆถูกหลอกให้เชื่อว่า เรื่องสื่อ ต้องมาจากสื่อเท่านั้น) เราทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนได้ และเราควรต้องทำอะไรสักอย่าง หาใช่เพียงเพื่อคนที่เรารัก และลูกหลานของเราในวันข้างหน้า แต่เพื่อยกระดับคุณค่าทางศีลธรรมในสังคมมวลมนุษย์ให้สูงขึ้น.............................................................................................. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเห็นว่า เรายังมีทางเลือกอยู่บ้าง โดยการหันมาสร้างความเข้มแข็งให้กับการผลิตและการบริโภคอาหารท้องถิ่น ซึ่งถ้ามีโอกาส ผมจะได้นำมาแลกเปลี่ยนต่อไปนะครับ
หมายเลขบันทึก: 45331เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2006 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอแก้ไขนิดนึงค่ะ

รายการกบนอกกะลาไม่ได้เป็นรายการที่นำเสนอเรื่องอาหารการกินเพียงอย่างเดียวนะคะ แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบก็ว่าได้ โดยจุดประสงค์ก็เพื่อต้องการจุดประกายทางปัญญาในเรื่องใกล้ตัวที่เรามองข้าม ว่ามันมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับเรื่องใหญ่ๆ ในสังคมหรือโลกใบนี้อย่างไรบ้าง

ส่วนประเด็นที่คุณยอดดอยตั้งคำถามนั้น เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่รายการนี้เคยถูกตั้งคำถามมาหลายครั้งค่ะ ถึงความหมิ่นเหม่ระหว่างผลประโยชน์ของตัวรายการ (เช่น สปอนเซอร์) กับประเด็นสาระความรู้ที่ต้องการนำเสนอ ยกตัวอย่างตอนหนึ่งซึ่งค่อนข้างนานมาแล้ว ก็คือ เรื่องปลากระป๋อง นั่นก็เป็นเคสหนึ่งที่สร้างข้อถกเถียงมากพอดู (เผอิญดิฉันไม่ได้ดูตอนไข่ไก่ แต่เข้าใจเอาเองว่า อุตสาหกรรมไข่ระบบปิดที่ออกอากาศในรายการ คงไม่พ้นบริษัทซีพีเป็นแน่)

กะลาหลายชั้นที่คุณยอดดอยตั้งข้อสังเกต ดิฉันจึงไม่ค่อยอยากเชื่อว่า เป็นเพราะคนทำงานขาดความรู้ความลึกซึ้งในข้อมูลเพียงเท่านั้น (กระทั่งไม่รู้เลยว่า ความรู้คืออำนาจ ที่ขึ้นอยู่กับใครจะเป็นคนสถาปนาอำนาจความรู้นั้นขึ้น) แต่มันยังมีปัจจัยเกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจอีกหลายประการ รวมไปถึงกระบวนการการผลิตชิ้นงานที่ต้องทำให้เรื่องมัน 'ขายได้' ในระดับ Mass อีกด้วย 

พูดอย่างนี้ เพราะโดยส่วนหนึ่ง ดิฉันเองก็เคยทำงานเป็นสื่อมวลชนมาก่อน ทำให้พอเข้าใจได้ถึงข้อจำกัดหลายๆ ด้าน เมื่อต้องผสานกับความคาดหวังของผู้ชมรายการ ในขณะที่เราเองก็ไม่อาจปฏิเสธการหาที่อยู่ที่ยืนเพื่อความมั่นคงในสถานการณ์ความเป็นจริงได้

ถึงอย่างไร ดิฉันก็เข้าใจว่า คุณยอดดอยคงไม่ได้ต้องการติงรายการนี้เพียงรายการเดียว แต่คงมองไปถึงภาพรวมของทั้งระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่เฉพาะแต่ในสื่อด้วยซ้ำ หากเพราะสื่อเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของสังคม ที่ปรากฏอยู่หน้าจอโทรทัศน์แบบโต้งๆ ก็เลยสามารถด่าได้ถูกตัวและดังหน่อยเท่านั้น

ซึ่งโดยส่วนตัว ดิฉันเองไม่ได้วาดหวังว่า จะมีรายการหนึ่งรายการใดที่ให้ความรู้แบบสมบูรณ์รอบด้าน แต่ดิฉันเห็นว่า อย่างน้อยๆ สิ่งหนึ่งที่รายการกบนอกกะลาให้ ก็คือ การกระตุ้นให้คนได้คิด ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่งที่น่าชื่นชมแล้ว

  • ขอบพระคุณอย่างยิ่งเลยครับคุณยอดดอย
  • เพราะชอบรายการนี้มาก ๆ ครับ
  • โดยเฉพาะตอนไข่ไก่ ไก่ไข่
  • ตอนนั้นเสียดายมาก ๆ ครับที่พลาดดูตอนที่สอง ได้มาอ่านบันทึกของคุณยอดดอยแล้วเติมเต็มตอนที่ 2 ได้อย่างดียิ่งเลยครับ

เราถูกทำให้เข้าใจว่า ระบบโรงงานจากมาตรฐานต่างชาติ ดีเยี่ยมไร้ที่ติเสมอ จนลืมมองว่า ภายในกำแพงมีการดูดซับใช้ทรัพยากรของภายนอกกำแพงที่เป็นสมบัติของศตวรรษหน้าไปจนเกือบหมดไม่ว่า ระบบน้ำ ระบบดิน ง่ายๆ เขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ชาวบ้านต้องซื้อน้ำดื่มน้ำใช้ จากเดิมที่เคยใช้น้ำบ่อได้

เมื่อวานดูข่าวแว๊บๆ ว่าต่อไปสัตว์บริโภคจะต้องเป็นสัตว์ที่ฝังชิบถึงจะรับรองมาตรฐานความปลอดภัย...ซึ่งน่าจะแน่นอนว่า เป็นระบบทุนนิยมที่เข้ามาทำลายพันธุ์สัตว์พื้นเมืองตามธรรมชาติ

นับเป็นระบบการค้าบนช่องโหว่ของความกลัวตายจากสารพิษของคน..ที่ผูกขาดและอย่างแยบยล

 

นึกถึงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคของเรา ยังไงก็คงสู้ระบบทุนพวกนี้ไม่ได้ ผู้บริโภคก็คงต้องดูแลตัวเองต่อไป  คิดว่าสื่ออาจจะนำเสนอแต่ถูกเซนต์เซอร์ก็เป็นได้นะคะเพราะจะกระทบความเชื่อมั่น/ความนิยมซึ่งเป็นเบื้องหลังที่กลุ่มทุนต้องการนำเสนอ

ขอบคุณทุกความเห็น และขอบคุณสื่อมวลชนที่ผมพาดพิงด้วย ที่อย่างน้อยสื่อเองเมื่อถูกนำไปตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็มีส่วนกระตุ้นการเติบโตทางปัญญา และน่าจะยกระดับไปสู่การขบคิดในวงกว้างต่อไป เห็นด้วยกับคุณ phanida นะครับที่รายการกบนอกกะลานี้ ได้ทำหน้าที่ในแง่กระตุ้นให้คนคิดต่อได้ไม่น้อย แต่ในฐานะผู้บริโภคสื่อก็อยากจะเห็นการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จะทำได้หรือไม่นั้น ก็จะคอยเอาใจครับ
จริงครับเดี๋ยวนี้อะไรก็เป็นระบบทุนนิยมไปหมดแล้วครับ การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ผ่านสื่อต่าง ๆ นั้นถูกครอบงำโดยที่ผู้รับสารนั้นไม่ได้ทันตั้งตัว เช่น กรณีไขไก่ อาจจะว่า เป็นการใช้ระบบทุนเพื่อโฆษณามาตราฐานของไขไก่ของระบบโรงงานที่ผ่านการตรวจสอบผ่านการค่าเชื้อ เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่า ไขไก่ของโรงงานนั้นมีมาตราฐานระดับสากล ประจวบเหมาะกับช่วงนี้ไข้หวัดนกระบาด อาจจะว่า เป็นช่วงที่คนอื่นเข้าทุกข์อยู่ แต่เป็นช่วงเงินช่วงทองสำหรับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็เป็นได้ โดยผ่านทาง รายการทีวี ดี ๆ ที่นำเสนอแต่สารคดีเพื่อใช้เป็นฉากบังหน้า

ในหลวงเคยตรัสไว้ว่า "ข่าวทุกชนิด ล้วนบิดเบือนมาแล้วทั้งสิ้น"

เวลาดูรายการต่างๆทางโทรทัศน์ ก็คงต้องดูอย่างมีสติ และหมั่นตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้ต้องทำร่วมกันเยอะๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท