ธรรมะในสถานศึกษา : ภาพสะท้อนเล็กๆ ว่าด้วยการต่อยอดจาก "หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน"


เป็นกิจกรรมขยายผลจาก “หนึ่งคณะ..หมู่บ้าน” (มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน) เพราะนี่คือเครื่องมือ หรือกลไกในการสร้าง “สะพานใจ” ไปสู่กันและกัน เป็นการเปิดพื้นที่ในมหาวิทยาลัยให้ชุมชนได้เข้ามาแตะต้องสัมผัส เพื่อยืนยันว่า “ที่ตรงนี้ (มหาวิทยาลัย) ยังเป็นสถานที่ของชาวบ้าน” อยู่เหมือนเดิม...

ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เป็นปีแรกที่ผมและทีมงานได้ขับเคลื่อนเรื่อง “ธรรมะในสถานศึกษา” อย่างจริงจัง โดยผู้ที่รับมอบภารกิจยุคบุกเบิกไปทำก็คือคุณณัฐภูมินทร์ ภูครองผา

กิจกรรมที่ว่านั้นประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ คือการนิมนต์พระนักเทศน์มาบรรยายธรรมะให้นิสิตฟังเทอมละ 1 ครั้ง และอีกกิจกรรมหนึ่งก็คือ “ค่ายธรรมะในสถานศึกษา” ซึ่งเน้นการนำนิสิตออกไปกินนอนปฏิบัติธรรมนอกสถานที่ ผสมผสานกับการเรียนรู้เรื่องราวแห่งชุมชนไปพร้อมๆ กัน



ถัดมาปีนี้ เรายังคงจัดวางกลยุทธไว้เช่นเคย มีทั้งการบรรยายธรรมะในมหาวิทยาลัยและการนำเอานิสิตออกไปปฏิบัติธรรมนอกสถานที่ โดยการมอบหมายให้คุณเยาวภาฯ เป็นผู้รับช่วงต่อจากคุณณัฐภูมินทร์ฯ

ในปีนี้โดยส่วนตัวแล้วนั้น ผมต้องการเปิดประเด็นให้นิสิตได้ทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทดแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด โดยมีกิจกรรมรองรับหลากหลาย อาทิ การพยายามเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มนิสิตอื่นๆ อาทิการร่วม“สวดอิติปิโต ๑๐๘” การสวด”สรภัญญะ” บนศาลาวัดใน “วันพระ..วันเจ้า” ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย...

ด้วยวิธีคิดในกรอบกว้างๆ เช่นนั้น ผมจึงไม่ลังเลที่จะมอบหมายผู้รับผิดชอบให้เชิญชวนผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมฟังเทศน์ด้วยกัน โดยเริ่มต้นง่ายๆ จากการประสานผ่าน “เครือข่ายแกนนำชุมชน” ที่เคยทำงานร่วมกัน ซึ่งถือว่าเข้าถูกช่องเป็นอย่างมาก แกนนำที่ว่านั้นก็สื่อสารรวดเดียวไปยังหมู่บ้านต่างๆ ช่วยให้ข่าวสารเดินทางไปอย่างง่ายดายและรวดเร็ว..




การขับเคลื่อนจากเครือข่ายเช่นนั้น ถือเป็นการหยิบจับ “ทุนทางสังคม” มาใช้ได้อย่างถูกจังหวะ เครือข่ายที่ว่านี้เป็นเครือข่ายที่เกิดจากการทำงานร่วมกันจากเวที “หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน” ซึ่งเรียกได้ว่า “มองตารู้ใจ...ถึงไหนถึงกัน” อะไรๆ ก็ไม่ยุ่งยาก ไม่ยึดติดระบบเสียทั้งหมด เป็นการ “เอาใจนำพาเอาศรัทธานำทาง” เข้าว่าล้วนๆ ดังจะเห็นได้จากในบางหมู่บ้าน เหล่าบรรดาแกนนำขันอาสาจัดหาพาหนะมารับส่งกันเอง โดยไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายใดๆ แม้แต่บาทเดียว ส่วนที่เหลือนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่จะจัดหารถราไปรับไปส่ง ...

กรณีดังกล่าวนี้ ผมถือเป็นกิจกรรมขยายผลจาก “หนึ่งคณะ..หมู่บ้าน” (มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน) เพราะนี่คือเครื่องมือ หรือกลไกในการสร้าง “สะพานใจ” ไปสู่กันและกัน เป็นการเปิดพื้นที่ในมหาวิทยาลัยให้ชุมชนได้เข้ามาแตะต้องสัมผัส เพื่อยืนยันว่า “ที่ตรงนี้ (มหาวิทยาลัย) ยังเป็นสถานที่ของชาวบ้าน” อยู่เหมือนเดิม...

และที่สำคัญก็คือ ผมตั้งใจอย่างแรงกล้าว่าในช่วงเข้าพรรษานี้ จะพานิสิตจำนวนหนึ่งออกไป “กินนอนปฏิบัติธรรม” ในวัดแถวๆ รอบมหาวิทยาลัย เป็นการนำพานิสิตออกไปเรียนรู้ชุมชน เสริมแรงใจกันและกัน มีอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน เป็นการเติมเต็มพลังชีวิตกันและกันไปในตัว



ครับ, นั่นคือสิ่งที่ผมวาดหวังและเฝ้าหวังว่ามันคงจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ เพียงแต่ไม่อยากทำตัวถึงขั้น “สั่งการ” ให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง แต่อยากให้เจ้าหน้าที่และนิสิตรู้สึก “มีใจ” ที่จะเรียนรู้ในเรื่องราวดังกล่าว เพราะเรื่องราวที่ว่านั้นผมมองว่ามันเป็นกระบวนการที่ทรงพลังในการเรียนรู้อันหลากหลายมิติที่ต้องอาศัยการใช้ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” จริงๆ ไม่ใช่แค่ทำตามนโยบายหรือตัวชี้วัดใดๆ

อีกทั้งการระบุชัดว่าต้องจัดกิจกรรมในอาคารพัฒนานิสิตนั้น ก็เป็นเรื่อง “จงใจ” ล้วนๆ ซึ่งผมมุ่งมั่นที่จะใช้กิจกรรมดังกล่าวประชาสัมพันธ์ให้นิสิตและชาวบ้านได้รู้ว่า “บ้านหลังใหม่” อยู่ตรงนี้ มีปัญหา หรือมีธุระใดๆ จะได้มาติดต่อได้ถูกที่ถูกทางนั่นแหละ

สำหรับครั้งนี้ ทีมงานได้กราบนิมนต์พระอาจารย์สมพงษ์ รัตนวังโส (วัดสร้อยทอง) หนึ่งในคณะธรรมะเดลิเวอรี่ ของพระมหาสมปอง ตาลปุตโต มาเป็นพระวิทยากร เพื่อแสดงธรรมเทศนา ในหัวข้อ “คุณธรรม จริยธรรมในการดำรงชีวิต” โดยมีกรอบแนวคิดหลักๆ ที่สัมพันธ์กับการขับเคลื่อนเรื่อง "คุณธรรมจริยธรรม และอัตลักษณ์" ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ถัดจากนี้ ทีมงานก็กำลังเตรียมการนำนิสิตหลายร้อยคนเข้าสู่กิจกรรม “ค่ายธรรมะในสถานศึกษา” ซึ่งจะจัดขึ้นหลังวันแม่แห่งชาติ เป็นกิจกรรมที่เข้มข้นกว่าเดิม เน้นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการหลากรูปแบบ เพื่อให้การเรียนรู้เป็นสีสัน มีชีวิตชีวา สนุกสนานตามกรอบของการ “บันเทิง...เริงปัญญา”

และที่ลืมไม่ได้ก็คือ การ “ถอดบทเรียน” หลังกิจกรรมยุติลง ทั้งจากผู้ดำเนินงานและผู้เข้าร่วมงาน เพื่อจัดเก็บเป็น “คลังความรู้” และ “จดหมายเหตุ” ขององค์กร ไปพร้อมๆ กัน

ครับ, ทุกอย่างยังเหมือนอยู่ในระยะเริ่มต้น คล้ายโยนหินถามทางเพื่อค้นหารูปแบบที่เหมาะสมในการที่จะสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้แบบมีพลังและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง



ผมไม่เคยลังเลที่จะลงมือทำในสิ่งที่ตนเองคิดและเชื่อ...
แต่ถึงกระนั้น ก็ยังต้องบอกกับตัวเองว่าให้ “รอ” ใครต่อใครด้วยเหมือนกัน

เพราะเมื่อผมพ้นไปจากตำแหน่งและภารกิจเหล่านี้แล้ว มันคือบทพิสูจน์ว่าสิ่งเหล่านี้ว่าจะเข้มแข็ง และเข้มข้นพอที่จะยืนหยัดและเดินทางต่อไปหรือไม่ ?

ครับ, ผมยังต้อง “รอ” ! และ “รอ” ไปอีกสักระยะ

...
ภาพ : งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ
กองกิจการนิสิต มมส

๒๘ กรกฎาคม ๕๔
อาคารพัฒนานิสิต มมส



หมายเลขบันทึก: 452333เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2011 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2015 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

...การ..รอ...คือ ความอดทน..ชนิดหนึ่ง...เมื่อรอได้..เวลา..จะหายไป...(และ..ตรงนั้น..อาจจะเป็น..กำไร"ชีวิต"..ที่กำ..ไว้ไม่ได้)..จึงกลายเป็น นาน เกิน รอ..(เลย..จบด้วยการ..รอไม่ได้..อ้ะะๆๆๆ)....ถ้าหาก คุณ..รอได้..."ยายธี..ขอให้..ดอกไม้และ..กำลังใจเจ้าค่ะ..คุณ แผ่นดิน..ที่รัก..)....กับสิ่งที่คุณกำลังทำๆอยู่..ยายธี..จ้า...

เมื่อวันที่๒๕-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาได้ไปร่วมเป็นวิทยากร กับทีมดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ในงานเวอร์ช็อปเครือข่ายครูนครสวรรค์พัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐานอย่างบูรณาการ ณ โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว นครสวรรค์

อาตมาได้ถือโอกาสแนะนำคุณครูกลุ่มหนึ่งที่พื้นเพไม่ใช่คนหนองบัว แต่อยู่หนองบัวมานานแล้ว เกินสิบปี โดยคุณครูเล่าว่ายังไม่ค่อยรู้เรื่องชุมชนเท่าไหร่เลย

เมื่อทราบข้อมูลจากคุณครูมาอย่างนี้ เลยเสนอให้คุณครูลองไปทำดูสักเรื่อง โดยบอกคุณครูไปว่าช่วงนี้เป็นฤดูเข้าพรรษา ในวันพระวันศีลจะมีคนเฒ่าคนแก่ มาทำบุญกันมากมาย และส่วนหนึ่งก็ใช้โอกาสนี้ถือศีลแปด โดยพักค้างคืนเพื่อปฏิบัติธรรมที่วัดหนึ่งคืนด้วย

คนเหล่านี้ เป็นทายกวัด เป็นผู้นำชุมชนมาก่อน เป็นคนเก่าที่รู้เรื่องชุมชนในหลายแง่มุมทั้งด้านสังคมความเป็นมา เรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน บริบทชุมชนในยุคเก่า อย่างรอบด้าน

และผู้รู้เหล่านี้ ก็มารวมตัวกันที่วัดในพระ นอนพักค้างคืนด้วย ถ้าคุณครูมีจิตอาสาจะไปพูดคุย สอบถามเรื่องราวแต่หนหลัง จดบันทึก นำมาเผยแพร่ คิดว่าได้ประโยชน์มาก

ถ้านอกพรรษา จะพบท่านเหล่านี้ได้ยากพอสมควร ไปพบท่านได้แต่ใช้เวลามากกว่าจะพบได้ครบถ้วนเหมือนฤดูนี้ เพราะฉะนั้นช่วงนี้ดีที่สุด คนทุกสาขาอาชีพมารวมตัวกัน ทุกเรื่องราวจะมีอยู่ที่นี่ ไปแล้วสามารถเก็บบันทึกข้อมูลความรู้มากมาย

ดีมากเลยที่นำนิสิตออกไปพบปะผู้คนในชุมชน

"... หัวใจร่มรื่น ..." ครับ ;)...

มาร่วมชื่นชมและให้กำลังใจค่ะ เห็นจากภาพแล้วประทับใจค่ะ

*** งดงามตามวิถี...ความสุขหาได้ง่ายๆ

*** “บันเทิง...เริงปัญญา” จริงๆค่ะ

สวัสดีค่ะ

ปลื้ม สนเท่ห๋ ชื่นชมมากๆค่ะ

นานนักที่จะเห็นระดับอุดมศึกษาพาชุมชนเข้าม.

แถมเข้าไปด้วยธรรมะ

น้อยนักที่จะทำ

ดีใจที่ส่งหลานสาวมาเรียนที่นี่

เขาจะได้ซึมซับ กระบวนความดี ติดไปด้วยนอกจากความรู้

ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

  • สวัสดีครับ อ.แผ่นดิน
  • เป็นกิจกรรมดีๆ ที่น่าชื่นชมครับ
  • ธรรมะไม่กลับมา โลกกาจะวุ่นวาย
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ยายธี

เมื่อการ "รอ" สิ้นสุดลง เราจะรู้เลยว่าผลลัพธ์แห่งการรอนั้น มีทั้งสมหวัง และไม่สมหวัง
แต่สัจธรรมแห่งการรอนั้นย่อมสอนให้เรารู้ว่า "ชีวิต คือ การเรียนรู้" ...(กระมังครับ)

สวัสดีค่ะ

  • ชื่นชอบกิจกรรมนี้มากค่ะ ที่สามารถนำชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปสำหรับ"นักกิจกรรมพัฒนา"อย่าง อ.พนัส
  • ในบันทึกนี้มึคำคมมากมายที่สะดุดใจ....อ่านแล้วผ่านเลยไม่ได้..ให้แนวคิดมากค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะ 

กราบนมัสการ พระคุณเจ้าฯ พระมหาแล อาสโย ขำสุข

ผมเองมีมุมมองคล้ายกันครับ  เช่นในยามที่นิสิตไปออกค่ายตามหมู่บ้านต่างๆ ผมมักจะกำหนดเป็นแนวคิดหลักที่ต้องให้นิสิตจัดแบ่งเวรประจำวันในการไปทำบุญตักบาตรที่วัดในทุกๆ เช้า  โดยพยายามสร้างแรงจูงใจให้นิสิตชาวค่ายได้รู้ว่าบนศาลาวัดนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งถือว่าเป็นขุมคลังปัญญาของชุมชนนั้นก็มักไปรวมตัวกันที่นั่น  และนั่นก็ยังรวมถึงคนหลากวัยก็ย่อมอยู่บนศาลาวัดเช่นกัน

ประเด็นดังกล่าว เป็นการเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้เข้าไปสัมผัสเรื่องราวชุมชนผ่านคนหลากวัยในบนศาลาวัด บางทีในห้วงเช้านั้นอาจสามารถเรียนรู้ครบมิติ "บวร" เลยก็เป็นได้

กราบนมัสการ..

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

คนเหนือ,ชาวภาคเหนือพูดบ่อยๆ ว่า "ใจร่มๆ" ...ฟังแรกๆ ไม่ค่อยเข้าใจนัก แต่ทุกวันนี้หลังจากไปเชียงใหม่บ่อยๆ ก็คุ้นชินวัฒนธรรมทางภาษามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ว่าแต่ จะมีโอกาสได้ไป มรภ.เชียงใหม่อีกหรือเปล่านะ !

สวัสดีครับ พี่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ถ้าทุกอย่างเป็นไปดั่งที่ตั้งใจ  เมื่อนิสิตตบเท้าเข้าหมู่บ้านร่วมสวดมนต์เย็นกับผู้เฒ่าผู้แก่ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา  รวมถึงการถือศีลนอนวัดไปในตัว ก็น่าจะเป็นกระบวนการที่ดีในการเสริมสร้างการเรียนรู้แบบฝังตัว  ซึ่งถือเป็น "นวัตกรรม" ได้เหมือนกันกระมังครับ

  • สวัสดีครับ
  • กิจกรรมดีที่ช่วยสร้างความสุขให้กับหลายกลุ่มคน
  • ดูจากภาพแล้วมีความชื่นจิตชื่นใจมากเลยนะครับ
  • โครงการนี้เข้าข่าย "บวร" (บ้าน วัด โรงเรียน)หรือเปล่าครับ?
  • แต่ไม่น่าจะเป็นโรงเรียน เพราะเป็นมหาวิทยาลัย จึงต้องเป็น "บวม" (บ้าน วัด มหาวิทยาลัย) 555 ขำ ๆหน่อยนะครับ
  • ขอบพระคุณที่นำกิจกรรมดี ๆ มาให้ชมครับ

สวัสดีครับ คุณวศิน ชูมณี

ใช่ครับ โครงการนี้เข้าข่าย "บวม" บ้าน>วัด>มหาวิทยาลัย 55
และที่ชัดชัดอีกประการก็คือ การต่อยอดจากกิจกรรม "หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้านนั่นแหละ"
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม นะครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท