*โครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษาภาคเหนือ


โครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษาภาคเหนือ ครั้งที่ 21 ณ วิทยาลัยเทคนิคแพร่

ครั้งที่ 21  จัดประกวดแข่งขันเสร็จเรียบร้อยแล้วที่ วิทยาลัยเทคนิคแพร่ ร่วมเป็นเจ้าภาพกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาภาคเหนือ งานนี้ต้องยกประโยชน์ทั้งหมดให้กับเจ้าของบ้านและสถานที่  ซึ่งจัดเตรียมพร้อมเริ่มตั้งแต่การลงทะเบียนในวันแรก จัดแบ่งเอกสารระดับ ปวช. ปวส. ให้นักเรียนนักศึกษานำไฟล์ข้อมูลในการนำเสนอบนเวทีไปลงไว้ในเครื่อง เพื่อพร้อมนำเสนอในวันรุ่งขึ้น  การจัดผังแสดงผลงานของระดับ ปวช. และปวส. ไว้ชัดเจน ทั้งนี้ ต้องขอขอบพระคุณเจ้าภาพอีกเช่นกันที่มองเห็นว่า การจัดแสดงงานนั้น ควรจัดเป็นหมวดหมู่ เช่น รายการที่เป็นอาหาร หรือชิ้นงานที่ต้องการความสะอาด ก็แยกจากพวกสารเคมี  ปุ๋ย ดิน   อุปกรณ์เครื่องมือขนาดใหญ่ก็จัดไว้ในพวกเดียวกัน 

 




พิธีเปิด
ได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มาเป็นประธาน และผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคแพร่ ผอ.บุญธรรม เกี๊ยวฝั้น กล่าวรายงาน  สิ่งที่น่าประทับใจคือ ผู้บริหารสถานศึกษาของทุกแห่งในอาชีวศึกษาจังหวัดมาร่วมงานในพิธีเปิด ซึ่งระยะหลังจะพบภาพแบบนี้น้อยลงทุกวัน  รวมถึงพิธีการก็กระชับและครบตามขั้นตอน อันเนื่องมาจาก จำนวนโครงงานฯ สำหรับปีนี้ ในระดับ ปวช. มีถึง 86 โครงงาน ปวส. มี 60 โครงงาน แต่ระยะเวลาการให้คะแนนของคณะกรรมการตรวจโครงงานฯ มีเพียง 1 วันครึ่ง

 

Photobucket

 

กรรมการตัดสิน ประกอบไปด้วยศึกษานิเทศก์และคณะครูสอนวิทยาศาสตร์จากสถานศึกษาต่าง ๆ โดยพยายามจะพิจารณาให้ครบทุกประเภทสถานศึกษา ยกเว้นสำหรับวิทยาลัยการอาชีพ  วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งยังมีข้อจำกัดคือ ประสบการณ์ผ่านการตัดสิน แต่ในครั้งต่อไป ก็มีการพูดคุยกันเผื่อไว้สำหรับกลุ่มคนหนุ่มสาวไฟแรงเหล่านี้
 

ครูผู้ควบคุมโครงงาน   ภาคเหนือ โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาภาคเหนือ ก่อนจะมีการแข่งขันการประกวดโครงงาน จะพยายามจัดประชุมสร้างความเข้าใจให้กับครูผู้สอนวิทยาศาสตร์หรือผู้ที่จะส่งผลงานเข้าประกวดทุกครั้ง  จะกำหนดหัวข้อ ให้ความรู้ในเรื่อง การเลือกงานเข้าประกวด  การเขียนเอกสาร  การนำเสนอ เกณฑ์การให้คะแนนตัดสิน และมีกิจกรรมกลุ่มให้ครูวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากันในกลุ่ม  การประชุมฯ กระตุ้นเตือนก่อน ครั้งนี้ มองว่า มีครูวิทยาศาสตร์หน้าใหม่และเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวมากขึ้น

 

Photobucket

 


โครงงานวิทยาศาสตร์  จำนวนของโครงงานมีมากกว่า ทุกปีที่ผ่านมา พยายามเข้าข้างงานวิชาการของอาชีวศึกษาแบบสุด ๆ ว่า ทั้งครูและนักเรียนนักศึกษา คงจะมีความตั้งใจมากขึ้นหรือเห็นถึงความจำเป็นที่นักเรียนนักศึกษาจะได้ฝึกลงมือปฏิบัติโดยมีฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะเหมาะกับสาขาวิชาและสาขางานสายอาชีพ และอีกแรงผลักดันก็ในเรื่องของการประกันคุณภาพการศึกษา เพราะจำนวนชิ้นงาน จะต้องนำไปพิจารณาประกอบด้วยเช่นกัน  อย่างไรก็ตามแม้ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เพราะงานส่วนใหญ่กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านจากสนามอื่น แล้วนำมาส่งประกวดในสนามนี้  ซึ่งเราก็ไม่ได้มีข้อห้ามแต่ประการใด แต่สิ่งหนึ่งที่พบก็คือ  สิ่งประดิษฐ์ฯ เหล่านี้ครูผู้ควบคุมการฝึกลืมแนะนำนักเรียนนักศึกษาหรือขาดการบันทึกการทดลองทดสอบในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่จะต้องสามารถวัดขนาด ปริมาตร  ความเข้มข้น คุณภาพของสี ค่าความเป็นกรดด่าง แรงทด ฯลฯ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้  ดังนั้น โครงงานดี ๆ ในความรู้สึกของเจ้าของโครงงานจึงถูกมองข้ามไป

 

ผลการตัดสิน   การประกวดโครงงานฯ ทุกครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นไปแล้ว คงจะทำให้ทุกคนสมหวังหมดไม่ได้ อย่าลืมว่า อย่างที่บอกไว้คือ งานส่วนใหญ่จะดี แต่เมื่อจำนวนโครงงานมาก ชิ้นงานที่ดีมีมาก ค่าของคะแนนก็ใกล้เคียงกัน จึงเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่จะต้องใช้เหตุและผลจากข้อข้างต้นเลือกชิ้นงานแล้ว ยังต้องคำนึงถึงโครงงานนั้นเมื่อเข้าไปประกวดในระดับชาติแล้ว ควรจะผ่านเข้ารอบให้ลึกที่สุด 

 

 

Photobucket


นักเรียนนักศึกษา  สำหรับปีนี้ ผู้เขียนได้ฟังการนำเสนอของนักศึกษาระดับ ปวส.  มองว่า ส่วนใหญ่บุคลิกภาพนักศึกษาซึ่งทำหน้าที่นำเสนอ พูดจาได้ชัดเจน กล้าแสดงออก  กระชับเนื้อหาในการนำเสนอ ควบคุมเวลาไม่สั้นหรือเกินเวลา เพราะเกณฑ์กำหนดไว้คือ 8-10 นาที  สิ่งที่ช่วยให้นักศึกษาควบคุมเวลาได้ดี ก็ต้องชมเจ้าภาพอีกหน เพราะในห้องนำเสนอ มีจอคอมพิวเตอร์ตั้งเวลานับถอยหลังให้นักศึกษาได้เห็นชัด โดยคณะกรรมการไม่ต้องมานั่งคอยเหลือบดูนาฬิกาที่จับเวลาแล้วแจ้งให้นักศึกษาทราบอีกที คือได้ตั้งใจฟังจริง ๆ  ภาพนักศึกษานั่งหลบหน้าจอ  ตัวงอหลังโกง  เสียงอยู่ในลำคอ นั่งอ่านหน้าจอทุกคำ ใช้โปรแกรมนำเสนอไม่เป็น ลดลง



เอกสารรูปเล่ม  เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบเสมอ การพิมพ์ผิดในเนื้อหา  ทฤษฎี  สัดส่วนการทดลองและสรุปผล ก็เป็นอีกส่วนประกอบส่งผลให้โครงงาน ไม่ได้รับพิจารณาหรือจำนวนคะแนนลดลง  ในที่นี้ยังไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดหัวข้ออื่นในเล่ม เช่น หัวข้อต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีครบและตั้งให้ถูกต้อง ซึ่งวิทยากรได้ย้ำและเตือนครูผู้ควบคุมโครงงานฯ เสมอในวันประชุมฯ ก่อนจะจัดงานประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์

 

การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ฯ  เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ได้ดำเนินการต่อเนื่องกันมานาน และเป็นกิจกรรมเกี่ยวข้องกับงานวิชาการ ที่อาชีวศึกษามักจะหลงลืมและให้ความสำคัญได้ไม่เท่าเทียมกับงานบริการชุมชน หรือสารพัดโครงการพิเศษตามนโยบายเร่งด่วนทั้งหลาย การดำเนินกิจกรรมนั้นเริ่มต้นจากรายวิชาวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนนักศึกษาได้มีพื้นฐานความรู้ สามารถบูรณาการกับรายวิชาอื่น แล้วนำมาทดลองทดสอบ ค้นหาความจริงพิสูจน์ได้ ประดิษฐ์เป็นชิ้นงานขึ้นมา ต่อยอดความรู้เดิม พัฒนาความรู้จากสิ่งของจับต้องหรือไม่ได้ รวมถึงการบริการต่าง ๆ  ถูกคัดกรองหรือเลือกในระดับสถานศึกษา  ผ่านการประกวดในระดับ อศจ. (ถ้าบางปีจัด) แล้วมาสู่เวทีในระดับภาคและระดับชาติโดยมีองค์กรสนับสนุน  คราวนี้ ลองมาพิจารณาย้อนมองโครงการต่าง ๆ ของอาชีวศึกษาซึ่งเทียบเคียงกับโครงงานลักษณะนี้  หากนับจำนวนจะได้สักกี่โครงการกันแน่

 

ขอขอบพระคุณ:
คณะผู้บริหาร ครูและบุคลากรของวิทยาลัยเทคนิคแพร่และอศจ.แพร่
คณะกรรมการตัดสินการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์
คณะครูผู้ควบคุมโครงงานประกวด
ตัวแทนจากสำนักวิจัยและพัฒนาอาชีวศึกษา
นักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์

 

*นางสาวพิมพร  ศะริจันทร์  ศึกษานิเทศก์  เขียนวันที่  4 สิงหาคม  2554
จากการร่วมเป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวดและคณะกรรมการตัดสินโครงงานฯ
วันที่ 26-27 กรกฎาคม 2554  ณ วิทยาลัยเทคนิคแพร่  จังหวัดแพร่
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัด  อีเมล [email protected]
การนำข้อความหรือรูปภาพไปตีพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 452319เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2011 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท