กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๒๘) : การ "เผยตน" ของฟลุ๊ค


 

ฟลุ๊คเป็นนักเรียนที่ย้ายมาอยู่เพลินพัฒนาเมื่อต้นปีการศึกษานี้  คุณแม่ของฟลุ๊คเล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนเดิมฟลุ๊คสอบตกแทบทุกวิชา และมีปัญหาด้านพฤติกรรม  ชอบทำสิ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ครูบอก เข้ากลุ่มกับเพื่อนที่เกเร  ไม่ส่งงาน โวยวายกับแม่ ทำให้คุณแม่ตัดสินใจให้ฟลุ๊คย้ายโรงเรียนเมื่อเรียนจบชั้นประถม ๑

 

เมื่อมาเรียนที่นี่ในภาคเรียนแรก ในช่วงต้นฟลุ๊คเข้ากับเพื่อนๆ ไม่ค่อยได้  และมีนักเรียนคนหนึ่งมาบอกว่า “เพื่อนว่าฟลุ๊คเป็นคนไร้ค่า ไม่มีตัวตนในห้อง” จึงเรียกฟลุ๊คเข้ามาถาม ฟลุ๊คก็บอกว่า “จริง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับคำที่เพื่อนว่า เพราะตอนที่อยู่โรงเรียนเก่ายิ่งกว่านี้อีก”

 

สัปดาห์สุดท้ายของภาคฉันทะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนจะต้องลงมือทำโครงงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” หรือการประมวลความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดตลอดทั้งเทอม แล้วมานำเสนอในรูปแบบของการเผยตน ต่อเพื่อนๆ และคุณครู

 

ดังนั้น ในสัปดาห์ที่ ๙ หลังจากที่เด็กๆ ได้ประมวลความรู้ทุกวิชามาตลอดสัปดาห์  ครูประจำชั้นก็เริ่มพูดคุยกับเด็กๆ ว่าให้ลองใคร่ครวญดูว่าในภาคเรียนนี้ใครทำอะไรได้ดี เมื่อพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจเสร็จแล้วก็สังเกตเห็นว่ามีนักเรียนหลายคนคิดออกแล้ว  จึงถามไปรอบๆ วงว่า  ใครอยากนำเสนออะไร  เด็กๆ ก็เริ่มบอกเรื่องที่ตนเองสนใจออกมา  และอยากนำเสนอให้เพื่อนและครูได้รับรู้

 

ฟลุ๊คซึ่งตั้งใจฟังอยู่ตลอด  ก็ยกมือขึ้นถามว่า “ไม่นำเสนอได้ไหมครับ”  ครูตอบว่า “ไม่ได้ค่ะ”  พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า งานนี้เป็นงานที่ทุกคนต้องทำพร้อมทั้งบอกว่า  ถ้าตอนนี้ยังคิดไม่ออกก็ไม่เป็นไร ให้กลับไปคิดต่อที่บ้านในช่วงวันหยุดยาว  ฟลุ๊คก็ยกมือขึ้นมาแล้วถามอีกครั้งว่า ถ้า ๔ วันแล้ว ยังคิดไม่ออก ไม่นำเสนอแต่นั่งฟังเฉยๆ ได้ไหมครับ” ครูแคทก็ตอบไปเช่นเดิมว่า “ไม่ได้ค่ะ”

 

ในช่วงท้ายของการพูดคุย ครูสรุปว่าวันหยุดต้องทำอะไรบ้าง และในสัปดาห์หน้าเด็กๆ จะต้องเตรียมอะไรมาบ้าง   ฟลุ๊คยกมือขึ้นถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า“ถ้าคิดไม่ออกจริง ๆ จะนั่งฟังเฉยๆ ได้ไหมครับ” ครูก็ยังยืนยันไปเช่นเดิม พร้อมกับบอกว่า “ถ้าสัปดาห์หน้ายังคิดไม่ออกจริงๆ ให้ฟลุ๊คมาหาครู แล้วเราจะช่วยกันคิดว่าหนูจะนำเสนออะไรดี”

 

แม้ว่าฟลุ๊คจะแสดงท่าทีออกมาชัดเจนว่าไม่อยากนำเสนอจริง ๆ แต่คำตอบของฟลุ๊คก็ทำให้ครูอดดีใจไม่ได้ว่าการที่ฟลุ๊คยืนยันคำเดิมถึง ๓ ครั้งแสดงให้เห็นว่า ฟลุ๊ครู้จักการประเมินศักยภาพของตนเอง และพยายามหาทางออกให้ตัวเองว่าถ้าไม่มีอะไรจะพูดเขาจะทำอย่างไร    

 

เช้าวันอังคารหลังจากหยุดยาว ๔ วัน  คุณแม่ของน้องฟลุ๊ค SMS มาบอกแต่เช้าว่า “น้องเป็นกังวลและเครียดกับการนำเสนอมาก เพราะ กลัวเพื่อนล้อ ขอให้คุณครูช่วยดูแลด้วย” 

 

เมื่อถึงเวลาโฮมรูมจึงเข้าไปคุยกับเด็กๆ ถามถึงเรื่องที่จะนำเสนอและการเตรียมตัวของแต่ละคน  และถามว่าใครพร้อม ใครไม่พร้อม  และได้คำถามสุดท้ายเพื่อฟลุ๊คก็คือ “มีใครเป็นกังวลอะไรไหมคะ” ตามความคาดหมาย ฟลุ๊คยกมือขึ้นพร้อมกับบอกครูว่า “หนูไม่กล้านำเสนอ หนูอาย” ครูแคทจึงให้เพื่อนๆ ช่วยกันบอกว่าทำอย่างไรจึงไม่อาย เพื่อนๆ ต่างยกมือบอกเคล็ดลับของตัวเองให้กับฟลุ๊ค บรรยากาศตอนนั้นผ่อนคลาย ครูสัมผัสได้ว่าทุกคนมีใจอยากจะช่วยฟลุ๊คอย่างจริงใจ ทำให้ฟลุ๊คคลายกังวลลงไปได้

 

วันอังคารเด็กๆ ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเพิ่มเติมเพราะมีสอบหลายวิชา  ดังนั้นจึงมีเวลาเตรียมตัวเพียงวันเดียวก่อนการนำเสนอในวันพฤหัสบดี 

 

เช้าวันพุธเด็กซักซ้อมตามที่เตรียมมาคนละ ๑ รอบ  ในขณะที่กำลังดูเตรียมงานครูแคทเกิดความคิดขึ้นมาว่าอยากจะมีพิธีกรเป็นคนคอยจัดคิวในการนำเสนอ  จึงชวนเด็กๆ คุยว่าใครจะช่วยครูได้บ้าง  คุณสมบัติของพิธีกรมี ๔ ข้อ คือ

  • จำบทในการนำเสนอของตัวเองได้แล้ว
  • มีไหวพริบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
  • มีความมั่นใจในตนเอง
  • กล้าแสดงออก

 

และบอกเด็กๆ ไปว่า “แม้ว่าครูจะต้องการคนที่มีคุณสมบัติดังนี้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกข้อก็ได้ แต่ต้องพร้อมที่จะฝึกฝน”

 

มีนักเรียนที่ยกมือเสนอชื่อตัวเอง ๖ คน  หนึ่งในนั้นมีฟลุ๊ครวมอยู่ด้วย  เมื่อมีผู้ที่เสนอชื่อตนเองเกินกว่าที่ต้องการจึงถึงเวลาที่เพื่อนๆ ต้องมาช่วยกันตัดสิน  และเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่เพื่อนๆ เลือกฟลุ๊ค  มติครั้งนี้เท่ากับเป็นการลบสิ่งที่อยู่ในใจเพื่อนๆ ออกไปว่าไม่มีใครยอมรับฟลุ๊ค

 

ตอนพักเที่ยงฟลุ๊คเดินเข้ามาบอกว่า “ครูแคทรู้ไหมว่าหนูจะใช้วิธีไหน” (หมายถึงวิธีที่จะไม่ให้อาย) ครูแคทย้อนถามไปว่า “นั่นสิคะ ครูก็อยากรู้อยู่พอดีว่า หนูจะใช้วิธีไหน” ฟลุ๊ค ตอบว่า “หนูคิดว่าไม่มีใครอยู่ที่นี่เลย” ครูแคทก็บอกฟลุ๊คไปว่า “ใช้ได้ผลดีด้วยนะ” แล้วฟลุ๊คก็บอกอีกว่า “ครูแคท ถ้าหนูจะเปลี่ยนตัวกับมัทได้ไหม” ครูแคทตอบว่า “ครูเชื่อว่าหนูทำได้ และเพื่อนๆ เลือกหนูแล้ว”

 

บ่ายวันนั้นการซ้อมของเด็กๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พิธีกรทั้ง ๒ คนที่เพื่อนเลือกก็ทำหน้าที่ได้ดีเกินความคาดหมาย

 

เมื่อวันจริงมาถึง ฟลุ๊คก็ทำหน้าที่พิธีกรได้ดี ไม่มีท่าทีเขินอายเลย การพูดคุยและการให้โอกาสของเพื่อนๆ  ช่วยให้เขาได้ข้ามผ่านความกลัวของตัวเองไปได้  ในเวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์ฟลุ๊คก็ได้ “เผยตน” ออกมาในมุมที่พาให้ทุกคนได้ชื่นใจ... 

 

 

หมายเลขบันทึก: 452316เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2011 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นี่คือตัวอย่างที่สุดยอด ของการจัดให้เกิดการเรียนรู้แบบ transformative learning

วิจารณ์

ขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์

ครูแคท

...หากว่า มีเด็กคนนึงที่ไม่เหมือนน้องฟลุ๊ค คือ ไม่กล้าแม้จะบอกความกังวลของตนเอง จนกระทั่งถึงเวลาที่ต้องนำเสนอและทำไม่ได้ ... ในกรณีเช่นนี้คุณครูแคทฯ มีวิธีที่จะทราบได้ในระหว่างทาง หรือ จะทราบพร้อมกันกับทุกคนเมื่อเค้านำเสนอไม่ได้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณแม่ลูก2

ขอตอบคำถามนี้ด้วยคนนะคะ... การที่เด็กที่ไม่กล้าจะบอกความกังวลของตนเองออกมา ไม่ได้จำกัดความไม่กล้าเอาไว้กับการนำเสนอเท่านั้นนะคะ แต่ยังไม่กล้า หรือไม่รู้จักความรู้สึกของตัวเองในเรื่องอื่นๆ ด้วย

หากว่าอยากจะรู้จักเขาเป็นอย่างไรให้ลองสังเกตว่าเขาสามารถที่จะเปิดเผย หรือแสดงความรู้สึกใดๆ ออกมาอย่างอิสระได้ไหม ในครั้งแรกๆ เขาอาจจะต้องการคำถามจากผู้ใหญ่ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ เหตุการณ์นี้ เพื่อให้เขาหลั่งไหลความรู้สึกที่อยู่ในใจของเขาออกมา

แต่ผู้ใหญ่ต้องพร้อมรับฟังความรู้สึกของเขาแบบที่มีใจเปิดกว้าง และไม่ตัดสินถูกผิด เพื่อเขาจะได้กล้าพูดในสิ่งที่คิด และรู้สึกออกมา ดังเช่นบรรยากาศในห้องครูแคทวันนั้น ที่ช่วยให้เด็กทุกคนพร้อมจะสื่อสารออกมาจากใจ และในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะรับฟังผู้อื่น

การทำ "โครงงานชื่นใจ...ได้เรียนรู้" เป็นพื้นที่ของการการประมวลความรู้ และความรู้สึกของผู้เรียนอย่างเข้มข้น และเป็นเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ที่ต้องต่อยอดจากฐานที่สร้างมาก่อนหน้านี้อีกมากมายค่ะ

ขอบคุณสำหรับคำถามดีๆ นะคะ :)

สวัสดีค่ะคุณแม่ลูก2

ขอบคุณสำหรับคำถามนะคะ ขอเพิ่มเติมจากที่ครูใหม่ตอบไปแล้วนะคะ

กรณีที่มักจะพบบ่อย คือเด็กไม่รู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะบอกความรู้สึกที่แท้จริง

ดังนั้นการสร้างสภาวะนั้นให้เกิดขึ้นในชั้นเรียนจึงเป็นหน้าที่ของครู ซึ่งต้องสร้างกันตั้งแต่แรกเจอเลยทีเดียว

ส่วนการนำเสนอในรูปแบบโครงงานชื่นใจนี้ ครูที่ดูแลจะสามารถสังเกตเห็นเด็กได้ก่อน

ตั้งแต่ขั้นตอนการพูดคุย ไปจนถึงการซ้อม แต่ก็มีบ้างที่เด็กบางคนทำได้ดีมาตลอด

แต่เมื่อถึงวันจริงกลับทำไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ก็ต้องอาศัยกำลังใจและการให้อภัยจากผู้ใหญ่

ไม่ซำ้เติม เพราะลึกๆแล้วทุกคนอยากประสบความสำเร็จทั้งน้้นไม่เว้นแม้แต่เด็ก

"เด็กไม่กลัวที่จะพูด แต่เด็กกลัวว่าพูดแล้วจะไม่มีคนฟังค่ะ"

ขอบคุณอีกครั้งนะคะคุณแม่

ครูแคท

...จริง ๆ แล้ว มีที่มาแห่งคำถามนะคะ (แต่ดูจะเป็นเรื่องส่วนตนเกินไป)

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะสำหรับคำตอบ ที่สะท้อนให้เห็นการพยายามสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของคุณครู

ซึ่งตรงกับทฤษฏีในตำราเลี้ยงดูเด็กหลายเล่ม "..สภาพแวดล้อมมีส่วนที่เหนือกว่ากรรมพันธุ์..."

คงต้องใช้พลัง 2 ด้านทั้งที่บ้านและ รร. ในการร่วมสร้าง ... ติดตามต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท