พราหมณ์ : พราหมณ์ในพระราชสำนักในปัจจุบัน


          พราหมณ์ในอินเดียที่กล่าวในข้างต้นนั้นต่างกับพราหมณ์ในประเทศไทยหลายประการ  เช่นไม่เข้มงวดในระบบวรรณะ ไม่ได้วางตนว่าอยู่ในวรรณะสูงกว่าแต่อย่างใด เป็นต้น โดยเฉพาะพราหมณ์ในราชสำนักไทยมีหน้าที่ถวายงานแด่พระมหากษัตริย์ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม รวมถึงสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนเป็นหลัก   

          สุพาภรณ์ แก้วไผ่ (๒๕๔๙ :  ๒๔ – ๒๕) ได้ศึกษาถึงคุณสมบัติของพราหมณ์ในพระราชสำนักในประเทศไทย ได้สรุปถึงคุณสมบัติสำคัญ ๓ ประการดังนี้

               ๑.       มีเชื่อสายเป็นพราหมณ์ การสืบเชื่อสายของกลุ่มพราหมณ์ในราชสำนักมีข้อกำหนดผ่อนปลนกว่าพราหมณ์ในอินเดียที่กำหนดว่า ผู้ที่จะบวชเป็นพราหมณ์จะต้องสืบสายเลือดจากบิดาและมารดาอยู่ในวรรณะพราหมณ์เท่านั้น สำหรับประเทศไทยเนื่องจากมีจำนวนพราหมณ์ค่อนข้างจำกัด จึงกำหนดเพียงแค่มีบิดาหรือมารดาข้างใดข้างหนึ่งมีเชื่อสายพราหมณ์ หรือทั้งสองฝ่ายก็ได้คือ เชื่อสายทางบิดา ได้แก่ ชายที่มีปู่ทวด ปู พ่อ ลุง อา พี่หรือน้องชายเป็นพราหมณ์มาก่อน และเชื้อสายทางมารดา ได้แก่ ชายที่มีคาทวด ตา ลุง น้า พี่ชายหรือน้องชายเป็นพราหมณ์มาก่อน ผู้ทีจะขอบวชเป็นพราหมณ์ต้องแสดงหลักฐานการสืบเชื่อสายให้ชัดเจน เช่นมีหนังสือรับรองว่ามีญาติเป็นพราหมณ์มาก่อน

               ๒.     ได้รับความเห็นชอบจากพราหมณ์ โดยมีประทานครูพราหมณ์เป็นผู้คัดเลือก โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ๔ ข้อคือคือ (๑) ต้องมีชาติวุฒิมีเชื่อสายพราหมณ์โดยกำเนิด (๒) วัยวุฒิต้องเหมาะสมสำหรับการบวช แต่ไม่กำหนดตายตัวว่าอายุเท่าใด จะพิจารณาความเหมาะสมเป็นเกณฑ์ คุณวุฒิ (๓) ต้องมีคุณวุฒิถึงพร้อมคือมีความประพฤติดี ไม่มีประวัติเสียหายมาก่อน (๔) ถึงพร้อมด้วยปัญญาวุฒิ พิจารณาในความรู้ความสามารถในการอ่าน เขียน สวด และศึกษาในคัมภีร์พระเวท

               ๓.      เป็นผู้มีความยินดีสมัครใจ

          เมื่อมีคูณสมบัติตามที่กำหนด พราหมณ์ผู้ใหญ่จะมอบสายสิญจน์รับพราหมณ์ใหม่ หรือทวิชาติ ซึ่งหมายถึงการเกิดครั้งที่ ๒ ซึ่งการบวชพราหมณ์ไม่ได้มีกฎปฏิบัติจำนวนมากเหมือนกับการบวชพระ โดยถือศีล ๕ เป็นศีลปฏิบัติ สามารถแต่งกายสุภาพเหมือนผู้ชายทั่วไปในเวลาปกติ และสวมเครื่องแบบเป็นเสื้อราชปะแตน (ราชประทาน) และโจงกระเบนสีขาวในยามประกอบพิธีกรรม รวมถึงสามารถมีภรรยาเพื่อมีทายาทสืบตระกูลพราหมณ์ต่อไปได้ กระนั้นก็ยังมีข้อห้ามบางประการที่พราหมณ์ไม่สามารถทำได้ อาทิ ห้ามรับประทานเนื้อวัว ปลาไหล และงูต่างๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบริวารของเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และห้ามตัดแต่งผม ต้องไว้ผมยาวแล้วมุ่นเป็นมวยไว้ที่ท้ายทอย เพราะตามหลักศาสนาเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของเทวดา เมื่อเป็นพราหมณ์แล้วมีหน้าที่สำคัญดังนี้ ต้องได้รับการศึกษาขั้นสูง ให้การศึกษาแก่ผู้อื่นต่อไป  ทำพิธีตามลัทธิเพื่อตนเองและผู้อื่น ทำบุญให้ทาน และรับบุญรับทานจากผู้มีจิตศรัทธา

          หน้าที่ของพราหมณ์ในราชสำนักนั้นมีข้อแตกต่างออกไปในแต่ละยุคสมัย กล่าวโดยสรุปแล้วสามารถจำแนกได้ดังนี้ เป็นให้กับพระมหากษัตริย์ ถวายการใช้ศาสตราวุธ และเวทย์มนต์ต่าง ๆ เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ถวายคำแนะนำในเรื่องการบริหารบ้านเมือง ทำนายดวงชะตาและเหตุการณ์บ้านเมือง ประกอบพิธียัญญะเพื่อพระมหากษัตริย์ อำนวยความสวัสดีในการรบ เป็นผู้พิพากษา ตัดสินคดีความ และเป็นราชทูต

 

ประเภทของพราหมณ์ในราชสำนัก


 

          พราหมณ์ในพระราชสำนักมีการแบ่งประเภทตามความชำนาญในด้านต่าง ๆ ตามความรู้ในคัมภีร์พระเวทตามศาสนาพราหมณ์ดังนี้ (อ้างใน สุพาภรณ์ แก้วไผ่ : ๒๕๔๙ : ๒๗)

               ๑.       พราหมณ์โหรดา เป็นพราหมณ์ที่มีความชำนาญในคัมภีร์ฤคเวท ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทำนายทายทักเรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงโชค ลาง และฤกษ์งามยามดี

               ๒.     พราหมณ์อรรถวรรยุ เชี่ยวชาญคำภีร์ยชุรเววท

               ๓.      พราหมณ์อุทาคาดา เชี่ยวชาญคัมภีร์สามเวท ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสดุดีสังเวย และเครื่องดนตรีสำคัญในพระราชพิธี

               ๔.      พราหมณ์พรหมหมัน เชี่ยวชาญคัมภีร์อาถรรพเวท

          พราหมณ์ในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยามีการแบ่งประเภทของพราหมณ์ตามความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถแบ่งได้ดังนี้ (อ้างใน สุพาภรณ์ แก้วไผ่ : ๒๕๔๙ : ๒๘)

               ๑.       พราหมณ์โหรดาจารย์ ทำหน้าที่บูชา และทำนายโชคลาง ฤกษ์ เป็นต้น

               ๒.     พราหมณ์อุทาคาดา ทำหน้าที่สวดและขับดุษฎีสังเวย หรือสวดคาถาในพระราชพิธี

               ๓.      พราหมณ์อรรถธวรรยุ   ทำหน้าที่ประกอบพิธี

               ๔.      พราหมณ์พรหมา คือผู้เชี่ยวชาญในการประกอบพิธีกรรม และคำสอนของศาสนา

          โดยแบ่งหน้าที่ในราชสำนักดังนี้

               -    พราหมณ์ในศาล

               -    พราหมณ์ผู้ประกอบพระราชพิธี

               -    พราหมณ์ในกรมคชบาล

          พราหมณ์ในราชสำนักกรุงรัตนโกสินตอนต้นแบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ (บำรุง คำเอก, ๒๕๕๐ :  ๔๑)

               ๑.       พราหมณ์พระราชพิธี ทำหน้าที่สืบทอดธำรงรักษาและประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในราชสำนัก คือพวกที่มาจากนครศรีธรรมราช

               ๒.     พราหมณ์โหดราจารย์ หรือพราหมณ์ปุโรหิต ทำหน้าที่เป็นโหรประจำราชสำนักถวายฤกษ์ยามที่ดีในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ รวมทั้งถวายคำทำนายทางโหราศาสตร์

               ๓.      พราหมณ์พฤฒิบาศ คือพราหมณ์ที่ทำหน้าที่ดูแลกรมช้าง และพิธีกรรมเกี่ยวกับการคล้องช้าง มาจากเมืองเขมร

           ในปัจจุบันพราหมณ์ที่รับราชการในกองพระราชพิธีสำนักพระราชวังมีดังนี้

               ๑.      พระมหาราชครูอัษฎาจารย์ ประธานพราหมณ์

               ๒.      พระราชครูวามเทพมุนี ชวิน รังสิพราหมณกุล หัวหน้าพราหมณ์

               ๓.      พระราชครูศิวาจารย์

               ๔.      พระราชครูสตานันทมุนี

               ๕.      พราหมณ์เยิ้ม วุฒิพราหมณ์

               ๖.       พราหมณ์ขจร นาคะเวทิน

               ๗.      พราหมณ์ภพสาม สยมภพ

               ๘.      พราหมณ์ยศ โกมลเวทิน

               ๙.       พราหมณ์ศีล รังสิพราหมณกุล

               ๑๐.   พราหมณ์สมบัติ รัตนพราหมณ์

               ๑๑.   พราหมณ์ศีษณพันธุ์ รังสิพราหมณกุล

          หน้าที่ของพราหมณ์ในราชสำนักคือการรักษาวัฒนธรรมในการประกอบพระราชพิธีถวายตามโอกาสต่าง ๆ โดยงานพระราชพิธีจะแบ่งออกเป็น ๒ รูปแบบ คือ งานประจำปี ได้แก่ งานเฉลิมพระชนมพรรษา วันฉัตรมงคล วันพืชมงคล การเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต เป็นต้น และงานตามวาระ อาทิ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี  พระราชพิธีถวายเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น แต่จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมส่งผลให้พิธีกรรมของพราหมณ์ในราชสำนักเปลี่ยนไป ปัจจุบันมีตระกูลพราหมณ์ที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายงานพระราชพิธี หรือที่เรียกกันว่า พราหมณ์หลวง ซึ่งสืบสายมาจากบรรพบุรุษทั้งสิ้น ๗ ตระกูล ได้แก่ สยมภพ โกมลเวทิน นาคะเวทิน วุฒิพราหมณ์ ภวังคนันท์ รัตนพราหมณ์ และรังสิพราหมณกุล

          ในปัจจุบันการทำหน้าที่ของพราหมณ์ในราชสำนักขยายขอบเขตไปสู่สังคมที่กว้างขึ้น ไม่จำกัดอยู่แต่ในราชสำนักเท่านั้น เช่นงานที่ถูกเชิญมาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น วางศิลาฤกษ์ ยกเสาเอก งานวันเกิด งานตัดจุก ตั้งศาลพระภูมิ ซึ่งจะมีเงินทักษิณามอบให้พราหมณ์ตามศรัทธา เทวสถานโบสถ์พราหมณ์มีบทบาทในการตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มคนในสังคม โดยเฉพาะการตอบสนองทางด้านจิตใจให้กับผู้คนในสังคมเมืองในยุคแห่งการแข่งขันเข้มข้น เป็นการปรับบทบาทของพราหมณ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมในยุคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (อ้างใน สุภาภรณ์ แก้วไผ่, ๒๕๔๙ : ๑๕) 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

อ้างอิง

บำรุง คำเอก. ายงานการวิจัยเรื่องอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น.ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดีได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและการพัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.

สุพาภรณ์ ไผ่แก้ว.  “สถานะและบทบาทของพราหมณ์ในราชสำนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒).” สารนิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิตย์(ประวัติศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๙.

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ http://www.devasthan.org/

คำสำคัญ (Tags): #พราหมณ์
หมายเลขบันทึก: 452247เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท