ของกินถิ่นแม่กลอง : อร่อยยิ่งเมื่อรู้ความ


อิ่ม พอแล้ว...อ้าว !!! สาเกเหรอ...ชิม ๆ ไม่เยอะ 1/2 ถ้วย (เกือบเท่าถ้วยแกง) ปลาทูวางไข่ที่ภาคใต้นะ ว่ายขึ้นเหนือ อ้า-หุบ อ้า-หุบ กินแพลงตอนมาเรื่อย ๆ ...อร่อยที่สุดที่แม่กลอง

น้องหมีนักเดินทางมีจิตใจฝักใฝ่อะไรน้อ  จึงชื่นชอบสายน้ำนักหนา  น้ำเดียวก็ไม่คุ้มค่า  มาทีต้อง  3  น้ำ  น้ำจืด  น้ำกร่อย  น้ำเค็ม...สายน้ำแม่กลองปะทะทะเลเค็ม

อาหารเช้าวันแรก  เลือกร้านในตลาดแม่กลอง  ตามคำเรียกร้องว่า...โต๊ะสวย  หินอ่อนขาไม้ลายมือประณีต  เก้าอี้โบราณ  (ประมาณอายุคนกิน)  ข้าวมันไก่สูตรดั้งเดิม  แหล่งตั้งถิ่นฐานคนจีนเก่าแก่  แต่ที่สั่งโจ๊กจากฝั่งตรงข้ามมาเพิ่ม...เพราะเชฟหล่อ แฮ่ม !!!

ต่างจากวันที่ 2  อาหารเช้าในสวน  หอมกรุ่นใต้ต้นจำปี  บุหงาส่าหรี่เคียงข้าง  ลำแสงละมุนลอดผ่านใบมะพร้าว  กระทบสนามหญ้าเขียวสด  เนียนนุ่ม....เย็นชื้นจักกะจี๋เท้า

น้องหมีแบกเป้ท่องเที่ยว  ไม่หิว...แต่ชอบชิม  ขนมครกพื้นบ้าน  หน้าตาธรรมดาแต่อร่อย  กลั้วคอด้วยน้ำมะตูมเย็นเจี๊ยบ  ขนมใส่ไส้  2  แบบ  ห่อในใบตองและใบจาก  พืชพื้นบ้าน  เหนียว  ทนทาน  วัสดุพื้นถิ่นสำคัญในการทำขนมหลายชนิด

อิ่มราดหน้าทะเล  พอแล้ว...อ้าว !!! สาเกเหรอ...บ้านเราไม่มี  ชิม ๆ ไม่เยอะ 1/2 ถ้วยเอง  หอมน้ำตาลมะพร้าว  ว่าแต่..เกือบเท่าถ้วยแกง  ต้นสาเกเป็นยังไง  ไม้ยืนต้น  ใบหยัก ๆ หน้าบ้านก็มี  เดี๋ยวค่อยไปดู  พืชพื้นบ้าน  อาหารพื้นถิ่น 

น้ำตาลก้อนคุณภาพดี  มีที่มา  กว่าจะตื่นตีสองตีสาม  ปีนพะองขึ้นไปบนต้นมะพร้าว  เก็บกระบอกมาเคี่ยวเป็นน้ำตาลมะพร้าว  สายหน่อยจึงได้พัก  ให้คนสูงอายุกว่าเคี่ยวน้ำตาลไปเรื่อย ๆ ทำเป็นก้อนบ้าง  เก็บใส่ปี๊บบ้าง...พร้อมขาย  วัยแรงงานก็เข้าสวน  เก็บใบแห้งทิ้ง  ขจัดสิ่งรกรุงรัง  มะพร้าวไม่ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงใด ๆ  เพียงยกร่องให้พ้นน้ำ  ตะกอนดินดำธรรมชาติที่มากับน้ำขึ้น คือ ปุ๋ยวิเศษที่ไม่ต้องซื้อหาเมื่อน้ำลง  วิธียกร่อง  เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมมา  ให้แม่กลองเป็นถิ่นวิมาน  ตื่นเช้าเทวดาบินไปเก็บสินทรัพย์  แปรรูปฝังเงินในไหใต้ดิน....คนสมัยก่อน  รวยซึม

ปู  ปลา  กุ้ง  หอย  หมึก  ด้วยวิธีประมงพื้นบ้าน  มีอาหารทะเลกินตลอดปี  สมกับเป็นวิมาน

ปลาทูวางไข่ที่อ่าวบ้านดอน  ภาคใต้  ตัวเล็กตัวน้อยว่ายทวนน้ำ  อ้า - หุบ  อ้า - หุบปากกินแพลงตอนมาเรื่อย ๆ  เริ่มเต็มวัยสมบูรณ์เมื่อถึงปราณบุรี  ประจวบคีรีขันธ์  สมบูรณ์เพศเต็มที่เมื่อถึงแม่กลอง...นี่คือ คำเฉลย  ทำไมปลาทู  หน้างอ  คอหัก ที่นี่  เนื้อแน่น  มัน   อร่อยมาก  หากไข่เต็มท้องแล้ว  หนังบางใส...ความอร่อยถอยไป  เพราะอาหารจากแม่ปลาทูถูกแบ่งปันให้ไข่ในท้อง   ความสำคัญอยู่ที่วิธีการจับปลาทูละมุนละไม...โดยละม่อม  จับด้วยการประมงพื้นบ้าน เช่น โป๊ะ  ขนาด  10  สนามฟุตบอล  เข้ามาในโป๊ะแล้วยังไม่รู้ตัวเลย....ปลาทูจึงไม่เครียด

สังเกตผักสีเขียวเข้มสุด  หั่นฝอย ๆ   ชะคราม  ลวก - ล้างน้ำเย็น  3  รอบ  จึงได้กินสวย ๆ  แบบนี้  น้องหมีไม่อยากลอง  ต่อเมื่อฟังคำบรรยายจาก อ.ปรีชา  เจ้าของแสงจันทร์รีสอร์ท  จึงช้าไม่ได้...เกลี้ยงจานทันใด

แกงส้มปลาริวกิว  ปลากะพงยำมะม่วง  เด็ดสุดกุ้งแม่น้ำทอดกรอบ  งมเองโดยคนแม่กลองเจ้าของบ้านฝ่ายชาย  ปรุงโดยเจ้าของบ้านฝ่ายหญิง  วัตถุดิบสดใหม่  คนทำด้วยใจและความชำนาญ  กลเม็ดเคล็ดเพียบ....อร่อยจนพุงกาง  ต้องเดินย่อยในสวน  3  รอบ

ตื่นวันใหม่  ย้ายไปกินเที่ยงริมคลอง  ผัดไทยกุ้งสด  ห่อในใบตอง....ธรรมชาติย่อยสลายง่าย  ลดขยะจากน้ำมือเรา  น้องหมีจึงมีความสุขมากมาย  ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์...ปฏิบัติจริง

ยังมีตอนอื่นให้ติดตาม...โปรดรอด้วยใจสบาย

ราตรีสวัสดิ์ครับผม

หมายเลขบันทึก: 451322เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2011 03:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เช้านี้อยากกินผัดไทยห่อใบตองจังเลย...

ขอบคุณน่ะค่ะ

หมอครับ มาปากพะยูนจะพาไปกินแกงส้มปลากระพงสามน้ำ

แวะมากินมาเที่ยวด้วยคนค่ะ น่ากินทั้งนั้นเลยนะคะ

ป๊าดดดด...

สมกับฉายา.."สุนทรีย์..ชิมิ..ชิมิ" จริงๆ

ศิษย์น้องขอคารวะ

เพิ่งประจักษ์แล้วว่า

การให้น้องหมีพาเที่ยว

มันน่ารัก..น่ากอดจิงๆ

แต่ก็แอบเล็ง..

คราวนี้จะเห็นหน้าเราบ่อนอ..

สวัสดีค่ะคุณหมอ

น่าทานทุกเมนูค่ะ น่าไปเที่ยวนะค่ะ ชิมอาหารอร่อยๆ

ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

ขอบคุณค่ะ...คุณหนูรี

ผัดไทย...กุ้งตัวใหญ่มาก สด เนื้อแน่น

อิสานต้องบอกว่า....แซ่บอีหลี

ถือว่าเป็นคำชวนแล้วนะคะ...ท่านลุงบัง

ว่าแต่...เมื่อไหร่ชะตาจะลิขิตให้ได้ไปถึงปากพะยูนละเนี่ย

มิใช่ท่านลุงบังจะมาถึงสระใครก่อนละมั้งคะ

จะพาไปกินเมี่ยงสมุนไพรปลาเผาน้ำจิ้มรสเด็ด 3 แบบ

รับรองจะติดใจ

สวัสดีค่ะ คุณอาร์ม

ใกล้กรุงเทพ ภูมิประเทศ ทรัพยากรยังมากอยู่

แต่หากจำนวนคนใช้มากกว่าที่ธรรมชาติจะฟื้นตัวทัน

หรือใช้โดยไม่คิดเผื่อคนรุ่นหลัง...ก็จะกินอยู่ลำบากกว่าคนโบราณ

เช่น แต่ก่อนแถวนี้เขาไม่กินปลาหมอเทศกัน..ไม่อร่อย

แต่เดี๋ยวนี้คนมากขึ้น มีอะไรกินได้ก็ต้องกิน

ปลาหมอเทศแดดเดียวจึงกลายเป็นอาหารส่งออกนอกตำบลเป็นล่ำเป็นสัน

ของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์แพรกหนามแดง

ไปแม่กลองหลายครั้ง...ครั้งนี้ ยิ่งรู้ลึก ยิ่งสนุกขึ้น

สวัสดีนะคะ คุณน้องหัวแหลม แนมลึก

ขออภัย เลือกรูปตามเนื้อหา

เป็นกลยุทธ์ให้คอยมาแอบเล็งคราวหน้า ๆ อีกไง

ไม่เป็นไรน่า...ไม่เห็นหน้า

เห็นแค่เสื้อลายสกอตขาวน้ำเงิน...ก็รู้ใจแล้วล่ะ

ยังแค้นเคื่องนะเนี่ย...ที่มีคนทำให้หลับไม่ลง

จากแม่กลองถึงขอนแก่น

ฮึ่ม....น้ำตาเล็ด น้ำลายกระเซ็น ขากรรไกรเกือบค้าง

จะหัวเราะอะไรนักหนาเนี่ย

สวัสดีค่ะ พี่อุ้ม

ตอนที่พี่ฝน พี่ ๆ น้องทันตแพทย์และเพื่อนนักวิชาการที่ทำงานเครือข่ายสุขภาพด้วยกัน

ชวนไปแม่กลองอีก

ก็เราเพิ่งไปมา 7 เดือนที่แล้ว จะมีอะไรให้น่าสนใจอีก

พี่ฝนหนองบัวลำภูบอกว่า

คราวนี้ไม่ได้ไปทำงาน ไปเที่ยวกัน

ท่องเที่ยวแบบมีสาระ

จึงเป็น 50 ชั่วโมงที่พวกเราได้อยู่ด้วยกัน

แบบนักท่องเที่ยว...ทำตัวตามสบาย

แต่ได้สาระมากมาย...จากคนที่วิถีแม่กลองซึมซาบในเลือดเนื้อตัวตน

โปรดรออ่านตอนต่อไปนะคะ

หมอครับ เมี่ยงคำ งานศพหนานเกียรติ น่าตาน่าอรอย แต่ทานไม่ได้เพราะเขาใส่แคปหมู

ขอไม่ใส่ของหมูๆน่ะครับหมอ

  • ขอบคุณคุณหมอมากครับ
  • ชอบกินน้ำพรกปลาสอง
  • มีหน้างอคอหักด้วย
  • ฮ่าๆๆ
  • มาบอกว่า
  • ขอบคุณคุณหมอธิรัมภามากครับ
  • ที่คุณหมอปรับบริบทกิจกรรมให้สอดคล้องคนในโรงพยาบาล
  • เรื่องของพื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญครับ
  • เมื่อกล้าพูด ก็จะมีสิ่งดีๆออกมามาก
  • เมื่อมีสิ่งดีๆและฟังเป็นก็จะเป็นกำลังใจในคนอื่นทำสิ่งดีๆต่อไปครับ

ขนาดไปด้วยกัน อ่านแล้วยังสนุกเลย เก็บได้ทุกเม็ด และสุนทรีย์เหมือนฉายา

เก็บเอาไปทำรายงานส่งแหล่งทุนได้นะเนี่ย

ท่านลุงบังคะ

  • รับรองจะแยกให้....ไม่เกี่ยวกับของหมู ๆ ซักนิด
  • รอให้มาถึงสระใครจริง ๆ นะคะ

อ.ขจิตคะ

  • ใช้ภาษาอังกฤษก็ให้ถูกต้อง.....อย่าเขียนไทยคำ  อังกฤษคำเหรอคะ
  • เรียกง่ายดีเหมือนกันนะคะ..ปลาสอง
  • เช้าเปิดมาทำงาน...บรรยากาศดีมากเลยค่ะ
  • ความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน  ยังอบอวล  ชื่นมื่น 
  • ที่ต้องต่อเนื่องก็คือ  สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คงอยู่นาน ๆ และปลอดภัยที่จะคุยกันเรื่องงาน  ในบรรยากาศความสุขแบบครอบครัว  เป็นพี่เป็นน้องกัน
  • ให้เรื่องดี ๆ ผุดขึ้นในใจที่ดี ๆ แผ่ขยายการทำความดี...เพื่อคนไข้  เพื่อพี่น้องชาวอำเภอสระใคร  เพื่อคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรานี่ละคะ
  • จึงต้องฝึกทักษะตัวเองต่อไปไงคะ...แอบหาความรู้ไปเรื่อย ๆ
  • แล้วเราก็จะมีความสุขยั่งยืนนาน...อันนี้วกกลับมาหาตัว
  • ขอบพระคุณอาจารย์ตลอดไปนะคะ

พี่ฝนคะ

  • เกรงว่าหากเขียนเฉพาะแง่มุมของกิน  คราวหน้าพี่ฝนจะเขียนขอทุนลำบากนะคะ
  • เอางี้...ภูมิประเทศ  ภูมิอากาศ  กายภาพ  มีส่วนกำหนดวิถีชีวิต  ซึ่งการกินเป็นพื้นฐานการอยู่รอดของชีวิต  จนถึงเริ่มปรุงแต่ง  ให้คุณค่า  ให้ความหมาย  ประดิษฐ์คิดค้น  สืบทอดส่งต่อ  กลายเป็นวัฒนธรรมการกิน
  • วัฒนธรรมการกินถิ่นใครก็ถิ่นเรา
  • เข้าใจเรื่องกินอย่างเชื่อมโยงกับสิ่งอื่น ๆ  เท่าที่เราจะสามารถทำความเข้าใจได้  ก็เห็นความสัมพันธ์เท่าที่เราเข้าใจ
  • ด้วยเหตุดังนั้น  ถ้าเราอยากเข้าใจลึก  เราก็ต้อง...กินเยอะ ๆ
  • ว้า !!! แวะเข้าซอยอีกแล้ว
  • หมายว่า....กลับมาบ้านเรา  จะศึกษาเรื่องกินก่อนก็ได้  หรือหยิบเรื่องที่ตนสนใจนั่นแหละเป็นตัวเริ่ม
  • แต่ความสำคัญอยู่ที่....การมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยง
  • อย่างถ้าอ้อเขียน..ตอนพี่มะโหนก  ก็อาจจะเป็น เรื่อง ไม้ไผ่  บ้านทรงเห็ด  เรือนเครื่องผูก 
  • หรือกลุ่มสัจจะออมทรัพย์แพรกหนามแดง  แต่ก่อนไม่มีใครกินปลาหมอเทศ  เพราะปู  ปลา  กุ้ง  หอยมีมากมายล้นทะเล  แต่ทำไมเดี๋ยวนี้  ปลาหมอแดดเดียวกลายเป็นสินค้าขายดี  แล้วก่อนที่จะเป็นผู้นำกลุ่ม  พี่ปัญญาเคยรู้จัก  ทำกิจกรรมอะไร  เชื่อมโยงกับใครบ้าง
  • ร่ายมาซะยาว...สรุปว่า  การมี "คลังความรู้"  อยู่กับตัว  รู้ทั้งลึกในเชิงความรู้ปฏิบัติที่มาจากชาวบ้านพื้นถิ่น  และผสานกลมกลืนความรู้แบบวิทยาการฝั่งตะวันตก  เมื่อจะเชื่อมโยงและขับเคลื่อนเรื่องใด ๆ ก็จะสามารถทำได้อย่างมีข้อมูลที่ถูกต้องยืนยัน    ที่สำคัญ คือ การรู้จักผู้คน  การรู้ว่าใครเป็นผู้นำ  รู้จริงทำเก่งในเรื่องใด  ศักยภาพการเชื่อมร้อยใจผู้นำกลุ่มแต่ละกลุ่มเข้าด้วยกัน  การจัดการความขัดแย้ง เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนการจัดการน้ำไปในทิศที่ชาวแม่กลองต้องการ  เพื่อคนแม่กลองส่วนใหญ่  เป็นหัวข้อท้าย ๆ ที่จะเขียนถึง อ.สุรจิต  ชิรเวทย์  สมาชิกวุฒิสภา
  • ตอนสุดท้าย  ค่อยจะเห็นภาพว่า....เครือข่ายก่อร่างสานสายสัมพันธ์มาอย่างไร
  • สามเดือนจะเขียนจบไหมเนี่ย..

 

  • ทีนี้  กลับมาดูตัวเรา  เราก็ต้องศึกษาบ้านเรา  ตั้งแต่ภูมิประเทศ  กายภาพ  สิ่งแวดล้อม  การเลือกที่ตั้งถิ่นฐานหมู่บ้าน การสร้างบ้าน  การเลือกพื้นที่หักร้างถางป่า "ซ่าว" เพื่อทำนา
  • พอถึงเรื่องทำนา  ก็จะเป็นประเด็นอาชีพ  การทำมาหากิน  ซึ่งก็ถูกกำหนดจากกายภาพ  ทรัพยากรที่มีเป็นเบื้องต้น  ก่อนจะสั่งสมเป็นภูมิปัญญาของถิ่นเรา ฯลฯ
  • เข้าใจรากฐานที่มา  ภูมิปัญญาของบ้านเราก่อน  รู้จักผู้คนที่เราจะเข้าไปหา  ชวนกันมาทำความดี...เปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ชาวบ้านอยากเปลี่ยน
  • มหากาพย์นี้...ทำจนเกษียณยังได้เลย

ขอบคุณที่ไปแวะที่บันทึกและให้กำลังใจกันค่ะ

แม่กลองไปครั้งใดอิ่มอร่อยพุงกาง เบิกบานกับความอุดมสมบูรณ์และการมีสุนทรีย์ในการกินของคนธรรมดาๆค่ะ

เห็นด้วยมากๆเลยค่ะว่าเรื่องกิน จะทำให้เราเข้าใจชีวิตในหลายๆด้าน เริ่มตั้งแต่ ภูมิศาาสตร์ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม รสนิยม นิสัยใจคอของผู้คน ตัวเองก็ชอบเที่ยวแบบได้กินของท้องถิ่นค่ะ

สวัสดีค่ะ  อ.Ico48 คุณนายดอกเตอร์

ใช่ค่ะ...คนแม่กลองเขาใช้ชีวิตสุนทรีย์กันจริง ๆ 

ดั้งเดิมที่เป็นชาวเล  ชาวสวนอิสระ  เรียบเรื่อย  มีกิจกรรมทำมาหากินทั้งปี

ช่วงไหนควรทำอะไร  ช่วงไหนลมแรงควรพักเรือ...ซ่อมแซม

ผ่านการคัดสรรอย่างดีแล้วว่า...เข้ากันเหมาะเจาะกับธรรมชาติ

เมื่อเคารพเชื่อฟังธรรมชาติ...ไม่ต่อต้าน  ไม่ฝ่าฝืน 

ก็ใช้ชีวิตธรรมดา ๆ สอดคล้อง  กลมกลืน...มีความสุขตามอัตภาพ (แบบรวยซึม)

แต่หากอยากยกตนขึ้นเหนือธรรมชาติ....แบบรวยทางลัด  รีบตักตวงใช้ทรัพยากรเปลือง

อันนั้นต้องผ่านบททดสอบ  ที่มีชีวิตลูกหลานอนุชนรุ่นหลังเป็นเดิมพัน

คิดว่าจะเอาชนะธรรมชาติได้หรือ....คน

 

ยังไงเที่ยวนี้ก็กินแบบพอเพียงนะคะอาจารย์

กินจากการประมงพื้นบ้าน...เรือเล็ก  อุปกรณ์จับปลาแบบไม่ย่ำยีท้องทะเล

กินด้วยรสมือกัลยาณมิตร...อร่อยเด็ดด้วยเรื่องราวประกอบ

ฮูย....คิดถึงน้ำลายยังซึมออกใต้ลิ้นนะคะเนี่ย...อึ๊ก

 

ขอบคุณอาจารย์มาก ๆ นะคะที่แวะมา

วันหลังหนูจะพยายามถ่ายภาพกระรอกบ้านหนูให้ได้

แต่ว่า...ก็คงยาก  เคยพยายามแล้ว

สงสัยไม่เชื่องเหมือนกระรอกอยุธยา

อร่อยทุกอย่างเลยล่ะค่ะ

เสียดายยังไม่มีโอกาสไปถึงแม่ฮ่องสอน

พี่เพิ่งประชุมจังหวัดน่าอยู่ ที่ อบจ.เป็นเจ้าภาพ มี สสส.สำนัก 3 ที่ทำเกี่ยวกับชุมชนมาช่วยพัฒนาโครงการ ประชุมวันครึ่ง เชิญคนจริงที่ทำประเด็นที่พวกพี่คัดเลือก ไม่ว่าจะป็นด้านสังคม เราตกลงทำประเด็นครอบครัว เด็กและเยาวชน (พี่กับแป้นเป็นแกน มี อ.โกวิท เป็นที่ปรึกษา WS เมื่อวาน วิทยากรกลุ่มคงปวดหัวกับความเป็นตัวของตัวเองของพวกพี่ คือเขามาเตือนให้รีบทำเดี๋ยวทำไม่เสร็จ แต่พี่บอกว่าทำเรื่องแบบนี้จะรีบๆทำได้ไง กลุ่มต้องทำความเข้าใจไปพร้อมๆกัน เราเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมมากกว่าผลลัพธ์ที่ทำให้งานแค่เสร็จๆไป แล้วพี่ก็หันไปบอกกับกลุ่มว่า งานเรื่องครอบครัวและเด็กนี้เราต้องทำทั้งชีวิต ไม่ต้องรีบถ้าไม่เข้าใจ) นอกจากประเด็นเรื่องครอบครัว ก็มีประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีตัวจริงของคนทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ และป่าเข้ามาคุยกัน มีเรื่องสวัดิการชุมชน(เรื่องผู้สูงอายุและผู้พิการ) เศรษฐกิจชุมชน และเรื่องวัฒนธรรม เรื่องวัฒนธรรมนี้ พี่ได้ความคิดมาจาก อ.สุรจิตชิรเวทย์ อ้อ และอ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์. พี่ได้เกริ่นกับที่ประชุมแกนนำว่า เราต้องรู้จักภูมินิเวศของคนหนองบัวลำภู รุ้จักวัฒนธรรมของคนหนองบัว (ตอนนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักเลยล่ะ) ก็อย่างที่อ้อ เล่าให้ฟังว่า อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ก็เริ่มกลับไปทำที่บ้านเกิดอาจารย์ ถ้าเริ่มจากเรื่องที่แต่ละคนมีที่ยืน จึงจะเป็นการมีส่วนร่วมแบบเสมอหน้ากัน

นอกจากเรื่องวัฒนธรรมแล้ว สิ่งที่พี่ต้องทำต่อก็คือ ต้องเชื่อมกับองค์กรภาครัฐให้ได้ (พูดยังกับตัวเองไม่ใช่คนภาครัฐ แต่บางทีแนวคิดการพัฒนาถ้าไม่เหมือนกันก็คุยกันยากนะ ยากกว่าคุยกับชาวบ้านอีก เพราะชาวบ้านเขาไม่มีกรอบมากมายมาจำกัด แต่พี่ต้องเรืิ่มซะทีแล้วล่ะ เริ่มจากใน สสจ.นี่ล่ะ เอาซักตั้ง ต้องเปิดใจตัวเองก่อนล่ะว่า ทุกคนแม้ต่างทำแต่ก็เพื่อประโยชน์กับประชาชนทั้งนั้น ประโยคนี้เพ่ิงได้ยินมาจาก ผอ.รพสต.ท่านหนึ่งที่มาอบรม ผอ.รพสต.ที่เขตจัดวันที่ 1-2 ก.ย. ที่ผ่านมา

เข้ามาแลกเปลี่ยนเท่านี้ก่อน

ขอบคุณค่ะพี่ฝน

ศักยภาพทีมพี่ฝนทำภาพใหญ่...จังหวัด เริ่มหลายประเด็น...เชื่อมโยง

ตอนนี้ทีมสระใครก็รอให้ช่วงน้ำท่วม และตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ว่าน้ำจะท่วมผ่านไป

4 หมู่บ้านที่เริ่มศึกษาชุมชนแบบมีส่วนร่วมไว้

เตรียมนัดหมายจัดเวที คืนข้อมูล วิเคราะห์ศักยภาพชุมชน

หาประเด็นที่จะร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านต่อไป

แบบช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไปนี่ล่ะค่ะ

ขอบคุณสำหรับคำชมนะครับผม

จริงเหรอ....เชฟหล่อ จริง ๆ เหรอ

ลองบรรยายเครื่องแต่งตัวขณะทำโจ๊กซิคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท