การประกันคุณภาพทางการศึกษา


คุณภาพทางการศึกษา

การนำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติไปปฏิบัติ
    การประกันคุณภาพภายในเป็นสิ่งที่สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา และเพื่อให้เป็นไปตามสาระใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ สถานศึกษาควรดำเนินการให้ครอบคุลมแนวทางหลักต่อไปนี้
    1. สถานศึกษาจะต้องดำเนินการประกันคุณภาพภายในเป็นประจำทุกปี โดยควรเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2543
    2. ให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่สถานศึกษาทุกแห่งต้องดำเนินการ อย่างต่อเนื่อง อันประกอบด้วยการวางแผนการดำเนินงาน การประเมินผลและการปรับปรุงการดำเนินงาน โดยสถานศึกษา ต้องจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายและหลักการตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษา และเป้าหมาย/ปรัชญา/ธรรมนูญสถานศึกษา กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจน ติดตามประเมินผล การทำงานของตนเองอย่างต่อเนื่องและนำผลการประเมินมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ของสถานศึกษา
    3. การดำเนินการประกันคุณภาพภายในทุกขั้นตอน ควรเน้นการประสานงานและการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บุคลากรในสถานศึกษา กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง บุคลากรของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนและเขตพื้นที่การศึกษาและภูมิภาค เพื่อให้ สอดคล้องกับหลักการที่ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

แนวคิดและหลักการในการประกันคุณภาพ
    การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง การบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมตามภารกิจปกติของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการโดยตรง ได้แก่ ผู้เรียนและผู้ปกครอง และบริการทางอ้อม ได้แก่ สถานประกอบการ ประชาชน และสังคมโดยรวมว่าการดำเนินงานของสถานศึกษาจะมีประสิทธิภาพ และทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนด การประกันคุณภาพมีแนวคิดอยู่บนพื้นฐานของการ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพและผลผลิตไม่มีคุณภาพในการดำเนินการเพื่อให้มีการประกันคุณภาพ การศึกษาตามความหมายข้างต้น ควรมีการศึกษาขั้นตอนการดำเนินการงานตามแนวคิดหลักต่อไปนี้

แนวคิดเกี่ยวกับการประกันคุณภาพทางการศึกษา
    ระบบการประกันคุณภาพทางการศึกษาที่ได้มีการพัฒนากันอยู่ในขณะนี้ มีแนวคิดเพื่อส่งเสริมและเสนอแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา โดยมีการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. การควบคุมคุณภาพ เป็นการกำหนดมาตรฐานคุณภาพและการพัฒนาสถานศึกษาให้เข้าสู่มาตรฐาน
2. การตรวจสอบคุณภาพเป็นการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
3. การประเมินคุณภาพ เป็นการประเมินคุณภาพของสถานศึกษา โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลในเขตพื้นที่ และหน่วยงานต้นสังกัดในส่วนกลาง ซึ่งถึงแม้จะเป็นบุคคลภายนอก แต่ก็ยังถือว่าเป็นการประเมินภายใน เพราะดำเนินการโดยหน่วยงานที่อยู่ในสายการบริหารของสถานศึกษา ซึ่งจะดำเนินการตรวจเยี่ยมและประเมินสถานศึกษาเป็นระยะ ๆตามที่กำหนดโดยหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาการพัฒนาคุณภาพอันเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนรับการประเมินภายนอก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นองค์การมหาชน

แนวคิดตามหลักการบริหาร
    ตามหลักการบริหารนั้น การประกันคุณภาพภายใน เป็นกระบวนการบริหารจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการ
    หลักการและกระบวนการบริหารดังกล่าว เป็นสิ่งที่ใช้ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ โดยจะต้องมีกระบวนการวางแผน ทำตามแผน ตรวจสอบประเมินผล และพัฒนาปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อให้การทำงานได้ผลและมีคุณภาพดี
    ในภาพธุรกิจ อุตสาหกรรม และบริการก็มีการใช้กระบวนการนี้ในการบริการเพื่อพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการตลอดเวลา ทำให้เป็นที่พอใจของลูกค้า สามารถขายสินค้าได้และมีคุณภาพดี
    สำหรับการศึกษานั้น ไม่เหมือนธุรกิจ เพราะการศึกษาไม่ได้หวังผลกำไรเป็นตัวเงิน แค่ผลที่ได้เป็นคุณภาพในด้านต่าง ๆ ของคน อย่างไรก็ตาม กระบวนการบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาก็สามารถนำแนวคิดและกระบวนการข้างต้นมาใช้ได้ โดยปรับให้เหมาะสมกับกระบวนการพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป็นการพัฒนาคน
    การที่สถานศึกษาจะจัดการศึกษาให้ดีมีคุณภาพ เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพนั้น ก็เปรียบเหมือนกับการสร้างบ้าน โดยคนในบ้านจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าต้องการสร้างบ้านนั้นเพื่อประโยชน์อะไร แล้วจึงออกแบบแปลนให้เหมาะสม ต่อจากนั้น จึงลงมือวางรากฐานและดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลน ในระหว่างการก่อสร้าง ก็จะต้องตรวจสอบว่าตรงกับแบบแปลนหรือไม่ วัสดุที่ใช้เป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่ มีความมั่นคงเพียงใด ระบบน้ำไฟเป็นอย่างไร ถ้าพบสิ่งใดที่เป็นข้อบกพร่อง ก็ปรับปรุงแก้ไขได้ในทุกขั้นตอน ซึ่งจะทำให้บ้านที่ก่อสร้างขึ้นมา มีความเข็งแรง สวยงาม มั่นคง ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ
    กระบวนการพัฒนาคนในสถานศึกษาก็เหมือนกับการสร้างบ้าน เพียงแต่การสร้างบ้านนั้นต้องให้สถาปนิก ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาดำเนินการ และเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็เสร็จแล้ว ไม่ต้องทำต่อ แต่กระบวนการสร้างคนนั้น ผู้ที่เป็นสถาปนิก คือ ครูและผู้บริหาร ซึ่งเป็นบุคลากรภายใน จะต้องร่วมกันพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพดีและจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุด ผู้บริหารและครูในสถานศึกษามีการร่วมกันกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าต้องการพัฒนาเด็กให้มีคุณสมบัติเป็นอย่างไร และถ้าจะให้เด็กมีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ก็ต้องช่วยกันคิด และช่วยกันวางแผน (Plan) ว่าจะต้องทำอย่างไร แล้วช่วยกันทำ (Do) ช่วยกันตรวจสอบ (Check) และปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง (Action) เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยร่วมกันทำงานเป็นทีม
    การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา จึงเป็นกระบวนการที่บุคลากรทุกฝ่ายในสถานศึกษาร่วมกันวางแผน กำหนดเป้าหมายและวิธีการ ลงมือทำตามแผนในทุกขั้นตอน มีการบันทึกข้อมูลเพื่อร่วมกันตรวจสอบผลงาน หาจุดเด่น จุดที่ต้องปรับปรุงแล้วร่วมกันปรับปรุงแผนงานนั้น ๆ โดยมุ่งหวังให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานศึกษาที่เน้นคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ
    แนวคิดการทำงานที่เป็นระบบเช่นนี้จะช่วยสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ภายในสถานศึกษา เกิดความรู้สึกว่าเป็นงานปกติ เป็นการมองตน และประเมินตนเอง ซึ่งจะทำให้สถานศึกษามีฐานข้อมูลที่มั่นคงเป็นจริง พร้อมเสมอต่อการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก

ความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดของระบบการประกันคุณภาพและแนวคิดตามหลักการบริหาร
    ถ้าพิจารณาแนวคิดเกี่ยวกับระบบการประกันคุณภาพที่ประกอบด้วยการควบคุมและการตรวจสอบคุณภาพ กับหลักการบริหารที่เป็นระบบครบวงจร (PDCA) ซึ่งประกอบด้วยการร่วมกันวางแผน (P) ร่วมกันปฏิบัติตามแผน (D) ร่วมกันตรวจสอบ (C) และร่วมกันปรับปรุง (A) จะเห็นว่ามีความสอดคล้องกัน ดังนี้

    จากแผนภาพข้างต้น การควบคุมคุณภาพ และการตรวจสอบคุณภาพก็คือกระบวนการบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพตามหลักการบริหารนั้นเอง โดยการควบคุมคุณภาพ คือ การที่สถานศึกษาต้องร่วมกันวางแผน และดำเนินการตามแผน เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตามเป้าหมายและมาตรฐานการศึกษา ส่วนการตรวจสอบคุณภาพ คือการที่สถานศึกษาต้องร่วมกันตรวจสอบ เพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามเป้าหมายและมาตรฐานการศึกษา เมื่อสถานศึกษามีการตรวจสอบตนเองแล้ว หน่วยงานในเขตพื้นที่และต้นสังกัดก็เข้ามาช่วยติดตาม และประเมินคุณภาพเพื่อให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาปรับปรุงสถานศึกษา ซึ่งจะทำให้สถานศึกษามีความอุ่นใจ และเกิดความตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพอยู่เสมอ

หลักการสำคัญของการประกันคุณภาพภายใน
    หลักการสำคัญของการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ตามแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้น ได้แก่
    1. จุดมุ่งหมายของการประกันคุณภาพภายใน คือ การที่สถานศึกษาร่วมกันพัฒนาปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา ไม่ใช่การจับผิดหรือทำให้บุคลากรเสียหน้า โดยเป้าหมายที่สำคัญอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
    2. การที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามข้อ 1 ต้องทำให้ การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการและการทำงานของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา ไม่ใช่เป็นกระบวนการที่แยกส่วนมาจากการดำเนินงานตามปกติของสถานศึกษา โดยสถานศึกษาจะต้องวางแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายชัดเขน ทำตามแผน ตรวจสอบประเมินผล และพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบมีความโปร่งใสและมีจิตสำนึกในการพัฒนาคุณภาพการทำงาน
    3. การประกันคุณภาพเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู-อาจารย์ และบุคลากรอื่น ๆ ในสถานศึกษา โดยในการดำเนินงานจะต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เรียน ชุมชน เขตพื้นที่ หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย วางแผน ติดตามประเมินผล พัฒนาปรับปรุง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันผลักดันให้สถานศึกษามีคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพเพื่อให้มีผู้เรียนได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ เป็นไปตามความต้องการของผู้ปกครอง สังคม และประเทศชาติ

ขั้นตอนการดำเนินการประกันคุณภาพภายใน
    ระบบการประกันคุณภาพภายในเป็นเรื่องเดียวกับกระบวนการบริหารงานอย่างมีคุณภาพหรือวงจร PDCA ที่ผู้บริหารทราบกันดีอยู่แล้ว การประกันคุณภาพจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และจะต้องไม่แปลกแยกจากการทำงานตามปกติของสถานศึกษา แต่จะเป็นระบบที่ผสมผสานอยู่ในกระบวนการบริหารและการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้นเอง
    ในการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารและการทำงานนั้น จะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการวิจัยในสถานศึกษานำร่อง ได้แก่ ผู้บริหารจะต้องมีความตระหนัก เข้ามามีส่วนส่งเสริม สนับสนุน และร่วมคิดร่วมทำ รวมทั้งจะต้องมีการทำงานเป็นทีม โดยบุคคลกรทุกคนในสถานศึกษาต้องได้รับการเตรียมความพร้อมให้มองเห็นคุณค่า และมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในและดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกัยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา โดยมีการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการประกันคุณภาพภายในอย่างเป็นระบบ
    ในการดำเนินการประกันคุณภาพภายในโดยคำนึงถึงเงื่อนไขข้างต้น ควรมีการเตรียมการเพื่อสร้างความพร้อมให้แก่บุคลากรและจัดให้มีกลไกในการดำเนินงานในเรื่องนี้หลังจากนั้น บุคลากรทุกคนในสถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องจึงร่วมกันวางแผน ร่วมกันปฏิบัติ ร่วมกันตรวจสอบ และร่วมกันปรับปรุง โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด ดังที่เสนอในแผนภูมิที่ 1 และมีแนวทางการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน ดังต่อไปนี้

แผนภูมิที่ 1 ขั้นตอนการดำเนินการประกันคุณภาพภายใน

บทบาทของผู้เกี่ยวข้อง
     เนื่องจากการประกันคุณภาพภายในมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ให้เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคม ในขณะเดียวกัน สถานศึกษาที่มีคุณภาพ ก็จะทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคมด้วยเหตุนี้ การประกันคุณภาพภายในจึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้อง ควรเข้ามามีบทบาทร่วมกัน มิใช่เป็นเรื่องของบุคลากรในสถานศึกษาเพียงฝ่ายเดียว ถึงแม้ว่าบุคลากรในสถานศึกษาควรจะเป็นแกนหลัก และมีหน้าที่โดยตรงในการประกันคุณภาพภายในก็ตาม
    สำหรับบทบาทของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งร่วมทั้งผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง อันได้แก่ บุคลากรของสถานศึกษา และบุคคลอื่นที่ควรเข้ามามีส่วนร่วม สรุปได้ดังนี้

บทบาทเดิม
    ผู้บริหาร และครู ในสถานศึกษาส่วนใหญ่มักจะจัดการศึกษาโดยไม่เน้นการประกันคุณภาพภายใน สถานศึกษาบางแห่งอาจจะจัดการเรียนการสอนโดยไม่ค่อยมีการวางแผน บางแห่งอาจจะมีการวางแผน แต่ไม่มีการตรวจสอบประเมินผล และไม่ได้นำผลการประเมินมาพัฒนาปรับปรุงเท่าที่ควร นอกจากนั้น ก็ยังเป็นการจัดการเรียนการสอนโดยครูเป็นหลัก ในขณะที่ผู้บริหารไม่ได้เข้ามาช่วยจัดการและส่งเสริมสนับสนุน ให้เกิดกระบวนการการประกันคุณภาพ รวมทั้งไม่ได้บุคคลและองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมเท่าที่ควร

บทบาทที่พึงประสงค์
    ผู้บริหาร ครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง ชุมชน เขตพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อื่น ๆ ควรเข้ามามีบทบาทร่วมกันในการประกันคุณภาพภายใน ดังนี้
    ผู้บริหาร มีบทบาทในการบริหารจัดการ ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา แนะนำ ดูแลให้มีการประกันคุณภาพภายในที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม โดยผู้บริหารควรจะเป็นแกนนำในการจัดทำแผน รวมทั้งกำกับ ติดตาม ให้มีการดำเนินงานตามแผนการนำผลจากการประเมินตนเองมาใช้ในการปรับปรุงสถานศึกษา และการรายงานผลให้สาธารณชนรับทราบ
    ครูและบุคลากรในสถานศึกษา มีบทบาทร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินตนเองในการจัดการเรียนการสอน และการทำงานที่มีการวางแผนและเป้าหมายที่ชัดเจน สอดคล้องกับแผนพัฒนาสถานศึกษา และจุดมุ่งหมาย หลักการ หรือมาตรฐานการศึกษา ที่เน้นคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ
    กรรมการสถานศึกษา เข้ามามีบทบาทในการกำกับส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาและการประกันคุณภาพของผู้บริหารและครู ตามหน้าที่ที่กำหนดในมาตรา 40 ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ
    ผู้เรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง มีบทบาทโดยเข้ามามีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพและการจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดยให้ข้อคิดเห็น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียน และให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา รวมทั้งคอยติดตามผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา และมี ส่วนร่วมในการนำผลการประเมินไปพัฒนาปรับปรุงผู้เรียนที่บ้าน
    ชุมชน มีบทบาทโดยเข้ามามีส่วนร่วมคิด/ร่วมทำ ร่วมให้และใช้ข้อมูล เพื่อการกำหนดเป้าหมาย จัดทำแผนพัฒนา ตรวจสอบ ประเมินผลไปพัฒนาปรับปรุงสถานศึกษา
    เขตพื้นที่ และหน่วยงานที่กำกับดูแล มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ และการสนับสนุนทรัพยากร รวมทั้งกำกับ ติดตามให้สถานศึกษาพัฒนาคุณภาพให้เป็นไปตามแผนพัฒนาสถานศึกษา และมาตรฐานการศึกษา
    สื่อมวลชน มีบทบาทในการประชาสัมพันธ์ สนับสนุนการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา และเผยแพร่ข้อมูลในเชิงสร้างสรรค์ เช่น รายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการประกันคุณภาพภายใน

ผลที่ผู้มีส่วนร่วมจะได้รับ
     ผู้เรียนและผู้ปกครองมีหลักประกันและความมั่นใจว่าสถานศึกษาจะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
     ครูได้ทำงานอย่างมืออาชีพ มีการทำงานที่เป็นระบบ โปร่งใส มีความรับผิดชอบตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเน้นคุณภาพ ได้พัฒนาตนเองและผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองและชุมชน
     ผู้บริหารได้ใช้ภาวะผู้นำและความรู้ ความสามารถ ในการบริหารงานอย่างเป็นระบบและมีความโปร่งใส เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับและนิยมชมชอบชองผู้ปกครองและชุมชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
     กรรมการสถานศึกษา ได้ทำงานตามบทบาทหน้าที่อย่างเหมาะสม เป็นผู้ที่ทำประโยชน์และมีส่วนพัฒนาสถานศึกษาและคุณภาพทางการศึกษาให้แก่เยาวชนและชุมชนร่วมกับผู้บริหารและครู สมควรที่ได้รับความไว้วางใจให้มาเป็นกรรมการสถานศึกษา
     หน่วยงานที่กำกับดูแล ได้สถานศึกษาที่มีคุณภาพและศักยภาพในการพัฒนาตนเอง ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระในการกำกับ ดูแลสถานศึกษา และก่อให้เกิดความมั่นใจคุณภาพของทางการศึกษาและคุณภาพของสถานศึกษา
     ชุมชนและสังคมประเทศชาติ ได้เยาวชนและคนที่ดี มีคุณภาพและศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาองค์กร ชุมชน และสังคมประเทศชาติต่อไป

ลักษณะสำคัญของสถานศึกษาที่มีคุณภาพ

1. วิสัยทัศน์ผู้นำ
    ผู้นำสถานศึกษาจะต้องกำหนดทิศทางและเน้นนักเรียนเป็นสำคัญสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ และมีทิศทางดำเนินงานที่ชัดเจนมีความคาดหวัง สูง ความคาดหวัง ค่านิยม และทิศทางจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ผู้นำจะต้องมีส่วนในการพัฒนาระบบยุทธศาสตร์และวิชาการที่จะนำไปสู่ความเป็นเลิศทางการศึกษาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ สร้างความรู้ และประสิทธิภาพของสถานศึกษา ยุทธศาสตร์ และค่านิยมของผู้นำควรช่วยในการทำกิจกรรม และการตัดสินใจต่าง ๆ ของสถานศึกษา ผู้นำสถานศึกษา ควรจะต้องกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกคนทุกฝ่าย ในสถานศึกษาและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา การเรียนรู้ นวตกรรม และการสร้างสรรค์ ของทุกคนทุกฝ่าย ผู้นำควรทำหน้าที่เป็นแบบอย่างการให้กำลังใจ สร้างภาวะผู้นำ การมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์ภายในสถานศึกษาให้ทุกคนในองค์กรร่วมกันวางแผน การสื่อสาร การพัฒนาผู้นำ และทบทวนบทบาทของสถานศึกษาผู้นำจะต้องมีบทบาทสำคัญอีกมากในการพัฒนาการศึกษา เช่น การสนับสนุนให้เกิดสิ่งแวดล้อม ทางการเรียนรู้ในสถานศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องมีการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนผู้นำท้องถิ่นและนักธุรกิจเอกชน เพื่อสนับสนุนให้สำเร็จตามเป้าหมาย
2. การเน้นผู้เรียนเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา
    การบริหารการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้ที่สนองความต้องการของผู้เรียน ซึ่งต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและความรับผิดชอบของพลเมืองในชีวิต

หลักการสำคัญของการบริหารจัดการที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในการพัฒนา ได้แก่

  • จัดหาสนับสนุนปัจจัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งจำเป็นต้องมีหลายเทคนิค อุปกรณ์และประสบการณ์ในการสร้างความสนใจของผู้เรียน เทคนิค อุปกรณ์ ประสบการณ์ อาจจะได้มาจากแหล่งภายนอก เช่น ชุมชน องค์กรต่าง ๆ และธุรกิจเอกชน
  • กำหนด ความคาดหวังและมาตรฐานสูงสุดของนักเรียนทุกคน
  • เชื่อว่านักเรียนทุกคนจะเรียนรู้ด้วยหลายวิธีระยะเวลาที่แตกต่างกันและแตกต่างในแต่ละรายวิชา และการเรียนรู้มีผลจากการให้การสนับสนุน การแนะแนว และบรรยากาศในการเรียนรู้ รวมถึงสถานศึกษาที่เป็นการสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรค์ต่อการเรียน
  • สถานศึกษาเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจำเป็นต้องมีวิธีการที่สนับสนุนที่หลากหลาย และสนองความต้องการของแต่ละบุคคล
  • มีการใช้การประเมินระหว่างทาง (Formative Assessment) ในการจัดการเรียนรู้ ตามกระบวนการเรียนรู้และสนับสนุน ประสบการณ์ การเรียนรู้ เพื่อให้สนองความต้องการและวิธีการเรียนรู้เป็นรายบุคคล
  • มีการใช้การประเมิน สรุปผล (Summative Assessment) ในการวัดความก้าวหน้าในในสิ่งที่นักเรียนควรรู้และทำได้
  • ช่วยนักเรียนและรวบรวมข้อมูลในการประเมินตนเองในการตรวจสอบความก้าวหน้าและความสำเร็จ ซึ่งเป็นการถ่ายฌอนที่สำคัญระหว่างโรงเรียน และระหว่างโรงเรียนกับการทำงาน

3. การเรียนรู้ของบุคลากรในสถานศึกษาให้เรียนรู้และเป็นสังคมการเรียนรู้
    การเรียนรู้ขององค์กรและบุคคลเป็นเป้าหมายสำคัญของผุ้นำที่มีวิสัยทัศน์
    การเรียนรู้ในสถานศึกษา หมายถึง การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของสถานศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการและวิธีการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเรียนรู้และเกิดตามที่สถานศึกษาปฏิบัติ คือการเรียนรุ้จะเกิดได้ ดังนี้

  1.  
    1. เป็นการปฏิบัติงานประจำตามปกติของคณะบุคลากรทุกคนและนักเรียน
    2. การเรียนรู้เกิดขึ้นทุกระยะ ทุกคนในสถานศึกษา
    3. เป็นผลจากการแก้ปัญหาของสถานศึกษา
    4. เป็นการมีส่วนร่วมตลอดสถานศึกษา
    5. ได้รับการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แหล่งเรียนรู้รวมถึงความรู้ ความคิดของบุคลากร ความสำคัญขององค์กรอื่น ๆ งานวิจัยทางด้านการเรียนรู้

    การพัฒนาการศึกษาควรเน้นที่ความก้าวหน้า การศึกษาที่มีประสิทธิภาพ หลักสูตรและสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ชัดเจนและคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและควรประกอบด้วยวิธีประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน ซึ่งประกอบด้วย กาประเมินผลอย่างมียุทธศาสตร์
    ยุทธศาสตร์การประเมิน ต้องเน้นที่ข้อทูลที่มีตัวบ่งชี้ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นหรือไม่ และข้อมูลที่ป้องกันปัญหา ถ้าการเรียนรู้มีอุปสรรคและไม่กำหนดชัดเจน ความสำเร็จของบุคลากรและหน่วยงานขึ้นอยู่กับการมีโอกาสในการเรียนรู้และฝึกทักษะใหม่ ๆ ของบุคลากร
    สถานศึกษาจะลงทุนพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา การฝึกอบรมและโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องซึ่งหมายถึงการก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การบริหารด้วยเงินเดือน จำเป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะที่ดี โปรมแกรมการศึกษาและการฝึกอบรม จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ และการสื่อสารผ่านดาวเทียม

การเรียนรู้ส่วนบุคคลอาจมีผลต่อ

1. เพิ่มความพึงพอใจและความหลากหลายและบุคลากร
2. โอกาสในการเรียนรู้ขององค์กร
3. พัฒนาสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรม
4. ตอบสนองที่รวดเร็ว

4. การสร้างความสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานในทุกหน่วยทุกงาน
    ความสำเร็จของสถานศึกษาซึ่งอยู่กับการพัฒนาความรู้ ทักษะความสร้างสรรค์ และแรงจูงใจของคณะบุคลากรและผู้เกี่ยวข้องของคณะบุคลากรและผู้เกี่ยวข้องของสถานศึกษา การก่อให้เกิดความพึงพอใจมีการพัฒนาและมีความสุข
    การพัฒนา หมายถึง ความสำเร็จให้มีระบบ การเรียนของนักเรียนรวมถึงการประเมินผลไม่ได้หมายถึง การกำหนดขอบข่ายความรู้อย่างเดียว เน้นการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การพัฒนาการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาหลักสูตรและโปรมแกรมต่าง ๆ การมีส่วนร่วมได้เน้นนักเรียนเป็นสำคัญและหลากหลาย ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นกลุ่ม และรายบุคคลเพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการเรียนรู้เป็นสำคัญ
    การพัฒนาบุคลากร หมายถึง การฝึกอบรม การสับเปลี่ยนครูและพัฒนาทักษะ การฝึกอบรมการให้การศึกษา การพัฒนาและการทำงานจำเป็นต้องดำเนินการอย่างดี และหลากหลายและยืดหยุ่น
เพื่อผลงานได้พัฒนาเต็มที่

1. ผู้นำแสดงความผูกพันต่อบุคลากรและองค์กร
2. มีโอกาสได้รับการตอบแทนที่มีระบบ
3. มีโอกาสได้พัฒนาและก้าวหน้าในองค์กร
4. มีส่วนร่วมในการให้ความรู้องค์กร เพื่อบุคลากรจะได้บริหารนักเรียนและผู้เกี่ยวข้องให้บรรลุเป้าหมาย
5. สภาพสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ ควรมีผู้เกี่ยวข้องทั้งภายใน และภายนอกเพื่อประเมินความสำเร็จตามเป้าหมายทุกด้าน

    ผู้เกี่ยวข้องภายใน หมายถึง บุคลากรภายในองค์กรและกลุ่มสหสัมพันธ์ต่าง ๆ ควรมีข้อตกลงในการพัฒนาบุคลากรทุกฝ่ายเพื่อให้มีทีมงานที่มีประสิทธิภาพ บุคลากรภายในอาจจะสร้างเครือข่าย ในการสร้างความรับผิดชอบและการยืดหยุ่นมากขึ้น
     ผู้เกี่ยวข้องภายนอก หมายถึง ชุมชน โรงเรียน หน่วยงานธุรกิจ ผู้เกี่ยวข้อง ควรพยายามเป้าหมายระยะยาวเพื่อกำหนดการลงทุนและความน่าเชื่อถือ กำหนดวิธีการสู่ความสำเร็จ การประเมิน
ความก้าวหน้าและวิธีการพัฒนาต่าง ๆ
    ความรวดเร็ว คล่องแคล่ว ว่องไว ในการดำเนินการเป็นลักษณะที่สำคัญขององค์กร ปัจจัยเรื่องเวลาจึงมีส่วนสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กร
    ควรมีแผน ทองอนาคต ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
    จัดการเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการพัฒนาองค์กร การวัดโดยใช้ข้อมูลที่เป็นจริง ผู้นำองค์กรเป็นการดเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มผลการประเมินเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

หมายเลขบันทึก: 451025เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2011 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท