ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารและการจัดการ(1)


ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารและการจัดการ  (๑)

 

          การบริหาร  (Administration)  เป็นกิจกรรมของคนตั้งแต่  ๒  คนขึ้นไป  มีการร่วมมือกันทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  โดยใช้เทคนิค  วิธีการต่าง ๆ  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน 

          คาร์เตอร์  วี  กูด  :  เทคนิค  วิธีการต่าง ๆ  ที่ใช้ในการดำเนินงานในองค์การทางการศึกษา  เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ตั้งไว้

          เฮอร์เบิร์ต  ไรมอน  :  กิจกรรมต่าง ๆ  ที่บุคคลตั้งแต่  ๒  คนขึ้นไปร่วมมือกันดำเนินการ  เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง  หรือหลาย ๆ  อย่างร่วมกัน

          เฮอร์เซย์  บลันชาร์ด  และจอห์นสัน  :  กระบวนการทำงานร่วมกับบุคคลและกลุ่มบุคคล  พร้อมด้วยปัจจัยทางการบริหาร  ได้แก่  เครื่องมือต่าง ๆ  งบประมาณ  เทคโนโลยี  เพื่อนำองค์การสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย

          การจัดการ  (Management)  :  เทคนิควิธีการเฉพาะ  ประกอบด้วยการวางแผน  (Planning)  การจัดองค์การ  (Organizing)  การควบคุมงาน  (Controlling)  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ  :  กลวิธีพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ภารกิจ  (Mission)  ขององค์การใด ๆ  ประสบความสำเร็จ  (Success)  หรือบรรลุวิสัยทัศน์  (Vision)  วัตถุประสงค์  (Objective)  และเป้าหมาย  (Target)  ขององค์การนั้น ๆ

          การบริหารการศึกษา  (Educational Administration)  :  การควบคุม  การจัดการทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับกิจการทางการศึกษา  :  กิจกรรมต่าง ๆ  ที่บุคคลหลาย ๆ  คน  ร่วมมือกันดำเนินการเพื่อพัฒนาให้เด็ก  เยาวชน  ประชาชนหรือสมาชิกของสังคมในทุก ๆ  ด้าน  ให้มีความสามารถ  ทัศนคติ  พฤติกรรม  ค่านิยมหรือคุณธรรม  เป็นสมาชิกที่ดี  (ทางสังคม  การเมือง เศรษฐกิจ)  มีประสิทธิภาพของสังคม  โดยกระบวนการต่าง ๆ  ที่เป็นระเบียบแบบแผนทั้งในระบบ – นอกระบบโรงเรียน

          นพพงษ์  บุญจิตราดุล  :  กิจกรรมต่าง ๆ  ที่บุคคลหลายคนร่วมกันดำเนินการเพื่อพัฒนาสมาชิกของสังคมในทุก ๆ  ด้าน  นับแต่บุคลิกภาพ  ความรู้  ความสามารถ  เจตคติ  พฤติกรรม  คุณธรรม  ให้มีค่านิยมตรงกับความต้องการของสังคม  โดยกระบวนการต่าง ๆ  ที่อาศัยควบคุมสิ่งแวดล้อมให้มีผลต่อบุคคล  อาศัยทรัพยากร  เทคนิคต่าง ๆ  อย่างเหมาะสม  เพื่อให้บุคคลพัฒนาไปตรงตามเป้าหมายของสังคมที่ตนดำเนินชีวิตอยู่

          วิชาชีพชั้นสูง  (Profession)  มีองค์ประกอบ

          ๑.  ให้บริการแก่สังคมโดยไม่ซ้ำซ้อนกับสาขาวิชาอื่น

          ๒.  ให้บริการโดยวิธีการแห่งปัญญา

          ๓.  เป็นอิสระในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ

          ๔.  ผู้ให้บริการหรือสมาชิกของวิชาชีพต้องได้รับการศึกษาระดับสูง

          ๕.  ผู้ใช้วิชาชีพต้องมีความประพฤติดี  มีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

          ๖.  มีสถาบันอาชีพเป็นแหล่งกลางที่จะสร้างสรรค์จรรโลงความมั่นคงแห่งวิชาชีพของสมาชิก

          ทฤษฎีบริหารการศึกษา  :  มาจากศาสตร์สาขาต่าง ๆ  เช่น  สังคมวิทยา  จิตวิทยา  รัฐศาสตร์  เศรษฐศาสตร์  :  เริ่มจัดระบบมีแบบแผนเมื่อราวศตวรรษที่  ๒๐  มีลักษณะ

          ๑.  ไม่ใช่ความจริงโดยเห็นได้โดยง่าย  หรือไม่ต้องพิสูจน์  ต้องอาศัยการศึกษา  ค้นคว้า  วิจับเพิ่มเติม  การวิเคราะห์  มีความสลับซับซ้อน

          ๒.  ไม่ใช่เป็นสามัญสำนึก  (Commonsense)  ในการแสดงพฤติกรรมและการตัดสินใจว่าจะเป็นจริงเสมอไป  ต้องได้รับการฝึกฝน  อบรมทางด้านบริหาร  อาศัยทฤษฎีเพื่อเป็นกรอบ  แนวทางและแนะการปฏิบัติ  :  อำนาจหน้าที่  (Authority)  การหยั่งรู้  (Intuition)  สามัญสำนึกหรือการสังเกต  (Observation)  จะเป็นประโยชน์ในขณะหนึ่งเท่านั้น

          การบริหาร  :  ศาสตร์ที่มีทฤษฎี  องค์ประกอบของความรู้มีกฎมีเกณฑ์จากศาสตร์อื่น ๆ  มาศึกษาค้นคว้าวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อนำผลไปปฏิบัติ  ขึ้นกับความสามารถ  ประสบการณ์  ทักษะของแต่ละบุคคลที่จะทำงานให้บรรลุตามเป้าหมาย  เป็นการประยุกต์ทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม

          จุดประสงค์ของวิทยาศาสตร์  :  ทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่  อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ  เกิดเป็นทฤษฎี  :  นักทฤษฎีองค์การ  พยายามอธิบายพฤติกรรมของตนในองค์การ  (จุดเริ่มของทฤษฎีบริหารการศึกษา)

          เฮอร์เบิร์ตเฟล  :  ทฤษฎี  เป็นกลุ่มของข้อตกลงเบื้องต้น  วิธีการอย่างเป็นเหตุเป็นผล

          Kerlinger  :  ทฤษฎี  เป็นกลุ่มของมโนทัศน์  คำจำกัดความหรือข้อความที่บอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอย่างเป็นระบบเพื่ออธิบาย  คาดคะเนปรากฏการณ์ต่าง ๆ

          ทฤษฎี  :  กลุ่มคำที่มีความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์  ข้อตกลงเบื้องต้น  การลงสรุปความเห็นที่เป็นระบบ  โดยมีจุดประสงค์ที่จะอธิบายหรือคาดการณ์พฤติกรรมในสถานศึกษา  :  ช่วยกระตุ้นและชี้แนะแนวทางการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง

          มโนทัศน์  :  เป็นนามธรรมที่เป็นภาพรวม ๆ  ของสิ่งนั้น  เพื่อช่วยวิเคราะห์ปรากฏการณ์อย่างเป็นระบบ  อธิบายพฤติกรรมที่เป็นจริง  ความคิดรวบยอดเป็นนามธรรม

          ข้อตกลงเบื้องต้น  :  เป็นข้อความที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัยที่สร้างขึ้นเพื่อให้ยอมรับว่าเป็นจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์หรือทดสอบ  บอกว่ามีอะไรบ้าง  ต้องมีเหตุผลที่เหมาะสมหรือประจักษ์พยานยืนยัน  ไม่เกินความเป็นจริง  มีหลักฐาน  หรือผลการวิจัยอื่นยืนยัน

          การลงสรุปความเห็น  (Generalization)  กลุ่มคำหรือข้อความที่แสดงถึงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่าง  ๒  ความคิดรวบยอดหรือมากกว่า  การลงสรุปความเห็นเชื่อมโยงความคิดรวบยอดให้มีความหมายขึ้น  มีหลายชนิด  เช่น  ข้อตกลงเบื้องต้น  สมมติฐาน  (โดยมีหลักเกณฑ์มาสนับสนุนอย่างจำกัด)  กฎเกณฑ์  (มีหลักเกณฑ์มาสนับสนุนอย่างเพียงพอ)  กฎ  (มีหลักเกณฑ์มาสนับสนุนอย่างมากหรือหลายกฎเกณฑ์)

          หน้าที่ทฤษฎี  :  เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ  มีหน้าที่เฉพาะ  คือ  แนะหลักเกณฑ์ในการวิจัย  ช่วยให้เห็นภาพตามความเป็นจริง  ช่วยกำหนดแนวทางในการศึกษาหาความรู้  แนะให้การปฏิบัติช่วยทำให้การตัดสินใจที่ถูกต้อง

          การวิจัย  (Research)  กระบวนการหาความรู้อย่างมีระบบเพื่อการเข้าใจ  คาดการณ์  ควบคุมปัญหานั้น ๆ  มีหลายแบบ  ขึ้นกับจุดมุ่งหมายของแต่ละแขนงวิชา

          เคอร์ลิงเจอร์  :  การวิจัยเป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่ควบคุมหลักเกณฑ์และค้นพบสมมติฐาน  ซึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ธรรมชาติ  สมมติฐานเป็นตัวนำให้การวิจัยเป็นไปอย่างมีหลักเกณฑ์

          สมมติฐาน  (Hypotheses)  เวลาจะหาคำตอบของปัญหาใด  สิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นคำตอบหรือสงสัยว่าจะเป็นคำตอบของปัญหาซึ่งอาจจะเกิดจากหลักการ  ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ  หรือประสบการณ์ส่วนตัว  ข้อความที่คาดการณ์บ่งบอกถึงความสัมพันธ์กันระหว่างตัวแปรอย่างน้อย  ๒  ตัวแปร  เป็นตัวเชื่อมระหว่างทฤษฎีและการวิจัยเพื่อช่วยให้การทดสอบทฤษฎีเป็นความจริง

          การตั้งสมมติฐานควรจะมีหลักการหรือเหตุผลที่เหมาะสมช่วยประกอบเพื่อแสดงว่าทำไมจึงได้ตั้งสมมติฐานในข้อปัญหา  :  ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับปัญหา  (หัวข้อ  :  ตรง/อ้อม,  ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย)  มีส่วนในการกำหนดสมมติฐาน  :  การวิจัยไม่จำเป็นต้องมีสมมติฐานเสมอไป  เช่น  การวิจัยเชิงสำรวจ  (ไม่แน่ใจว่าพบอะไร)  การวิจัยที่ไม่มีทฤษฎีหรือวิจัยเรื่องนั้นมาก่อน  (ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะคาดการณ์ได้)

          การทดสอบสมมติฐาน  :  หากยังไม่ได้รับการทดสอบจะเป็นเพียงการคาดเดาหรือคาดการณ์ในความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อตั้งสมมติฐานแล้ว  :  เริ่มจากพิจารณาว่าอะไรคือผลที่จะเกิดขึ้นถ้าหากสมมติฐานที่ตั้งนั้นเป็นจริง  เลือกหาวิธีการที่จะทดสอบเพื่อดูผลว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่  ทดสอบตามวิธีที่เลือกไว้โดยรวบรวมความจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาตามสมมติฐานที่ตั้งไว้เพื่อปฏิเสธหรือยอมรับสมมติฐานนั้น

          ความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีการปฏิบัติในการบริหารการศึกษา  :  ทฤษฎีแนะแนวทางในการปฏิบัติ  กระบวนการของทฤษฎีช่วยวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดจากการทำงาน  ช่วยแนะผู้ปฏิบัติในการตัดสินใจสั่งการอย่างมีเหตุผล

          กระบวนการแก้ปัญหา  (วิธีการวิจัย)  :  ศึกษาปัญหา  รวบรวมข้อมูล  สรุปลงความเห็นโดยการคาดการณ์ทางแก้ปัญหานั้น ๆ  เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา  ทดสอบแนวทางแก้ปัญหา

          การวิจัยทางการบริหารการศึกษา 

          การวิจัย  :  การเสาะแสวงหาความรู้ใหม่  วิธีการแก้ปัญหาแบบใหม่  คำตอบใหม่  โดยใช้กระบวนการที่เชื่อถือได้หรือกระบวนการที่ยอมรับในศาสตร์นั้น ๆ

          การวิจัยทางการศึกษา  (Educational Research)  :  การเสาะแสวงหาความรู้ – วิธีการแก้ปัญหา – คำตอบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยใช้วิธีการที่ยอมรับในศาสตร์การศึกษา

          การวิจัยการบริหารการศึกษา  (Administration Research)  :  การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการบริหารการศึกษา

          วิจิตร  ศรีสะอ้าน  (๒๕๓๖)  ความหมายการวิจัยทางการบริหารการศึกษา  :  ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกิจกรรมของครู  นักเรียน  ผู้บริหาร  ในการร่วมมือกันจัดการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการศึกษาโดยการใช้กระบวนการ  ทรัพยากรที่เหมาะสม

          แกตเตอร์  (Glatter, 1979, p.16)  ความหมายการวิจัยการบริหารการศึกษา  :  การศึกษาการดำเนินการภายในของสถาบันการศึกษา  สภาพแวดล้อมของสถาบันการศึกษา  องค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลสถาบันการศึกษา

          ฮอลเลอร์  และ  คเนพ  (Haller and Knapp, 1985, p.161)  การวิจัยการบริหารการศึกษา  :  การศึกษาความสัมพันธ์ที่เป็นรูปแบบระหว่างองค์ประกอบที่พบเห็นเป็นประจำ  คือ  เนื้อหาหลักสูตร  ผู้เรียน  ครู  สภาพแวดล้อม  ผู้บริหาร  โดยมีจุดเน้นที่ผลกระทบของความสัมพันธ์ต่อการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียน

          การวิจัยบริหารการศึกษา  :  การวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางการศึกษา ได้แก่  องค์การ  ผู้บริหาร  ครู  นักเรียน  นักศึกษา  การเรียนการสอน  วัสดุอุปกรณ์  สภาพแวดล้อม  โดยมีจุดเน้นที่ภารกิจ  กระบวนการทำงานร่วมกันในอันที่จะทำให้การเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์

          การวิเคราะห์ขอบเขตของการวิจัยทางการบริหารการศึกษา  :  ตามระดับการศึกษาปฐมวัยศึกษา  ประถมศึกษา  มัธยมศึกษา  อาชีวศึกษา  อุดมศึกษา  และพิจารณามิติไปพร้อมกัน  คือ  มิติภาระงาน  (วิชาการ  งบประมาณ  บริหารบุคคล  บริหารทั่วไป)  มิติกระบวนการบริหาร  (การวางแผน  จัดหน่วยงาน  จัดหาบุคคล  อำนวยการ  ประสานงาน  รายงาน  จัดสรรงบประมาณ)

          การกำหนดขอบเขตตามทฤษฎี  :  ฮอยและมิสเกล  (Hoy and Miskel, 1991)  สรุปลักษณะงานบริหารการศึกษากับทฤษฎีหรือหลักการบริหารที่ใช้ทำให้เกิดแนวทางการวิจัยบริหารการศึกษา

ขอบข่าย

ทฤษฎี/ตัวแบบ

โรงเรียนในฐานะเป็นระบบสังคม

ทฤษฎีระบบสังคม

สภาพแวดล้อมภายนอกของโรงเรียน

โลกทัศน์แห่งข่าวสารหรือแห่งการพึ่งพาทรัพยากร

อำนาจ

ทฤษฎีอำนาจของ  Mintzberg

โครงสร้างองค์การในโรงเรียน

ตัวแบบระบบราชการหรือโครงสร้างแบบทางการ

โครงสร้างแบบจักรกล  (mechanistic)

โครงสร้างตามแนวคิดของ  Mintzberg

โครงสร้างแบบสิ่งมีชีวิต  (organic)

ทฤษฎีโครงสร้างโรงเรียนแบบหลวม ๆ

นักวิชาชีพครูในโรงเรียน

ทฤษฎีความขัดแย้งระหว่างนักวิชาชีพครูและองค์การ

แรงจูงใจในโรงเรียน

ทฤษฏีความต้องการของ  Maslow

ทฤษฎีสององค์ประกอบของ  Herzberg

ทฤษฎีความคาดหวัง  หรือทฤษฎีเป้าหมาย

ลักษณะกลุ่มทำงาน

ทฤษฎีบรรยากาศขององค์การ  หรือวัฒนธรรมขององค์การ

ภาวะผู้นำ

ทฤษฎีคุณลักษณะ  หรือพฤติกรรม  หรือภาวการณ์

การตัดสินใจ

ตัวแบบคลาสสิก/บริหาร/สะสม/ถังขยะ/ทฤษฎีความขัดแย้งในการตัดสินใจ

การสื่อสาร

กรอบแนวคิดทางสังคมวิทยา – จิตวิทยา/การสื่อสารแบบทางการ – ไม่เป็นทางการ

ประสิทธิผลขององค์การโรงเรียน

ตัวแบบเป้าหมาย/ทรัพยากรระบบ/ผสม

 

          กลุ่มงานวิจัยบริหารการศึกษา  :  งานวิจัยเกี่ยวกับโรงเรียน  สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน  อำนาจ 

โครงสร้างของโรงเรียน  นักวิชาชีพในโรงเรียน  แรงจูงใจ  กลุ่มการทำงาน  ภาวะผู้นำ  การตัดสินใจ  การสื่อสาร  ประสิทธิผลของโรงเรียน

          ปัญหาการใช้ผลงานวิจัยในการบริหารการศึกษา

๑.  ขาดงานวิจัยเพื่อการกำหนดนโยบายและการแก้ปัญหา  :  งานวิจัยเชิงนโยบายมีน้อยเป็นอุปสรรคต่อการกำหนดนโยบาย  การนำนโยบายไปใช้  การประเมินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ  การดำเนินงานโดยทั่วไปผู้บริหารต้องการข้อมูลที่สอดคล้องกับปัญหาแต่ละเรื่องและแต่ละแห่งแตกต่างกัน  ต้องการการศึกษาวิเคราะห์เป็นการเฉพาะ  มีความสำคัญในสถาบันอุดมศึกษา  การวิจัยสถาบันเพื่อจัดหาข้อมูลสำหรับใช้ในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา  แต่ความสนใจในการทำและการใช้มีน้อยมาก

          ๒.  การผลิตไม่ทันการใช้  :  งานวิจัยคือข้อมูลสำหรับการแก้ปัญหาและการตัดสินใจจะไม่เป็นประโยชน์ถ้าไม่แล้วเสร็จทันเวลาการตัดสินใจ

          ๓.  ขาดการจัดระบบ  จัดเก็บหรือข้อมูลสารสนเทศอย่างเป็นระบบ  :  ข้อมูลเป็นตัวป้อน  (Input)  สำคัญสำหรับการกำหนดนโยบาย  วางแผน  แก้ปัญหา  ตัดสินใจ  การดำเนินงานด้านต่าง ๆ  อาจนำมาจากทั้งภายใน – ภายนอกหน่วยงาน  ที่มีอยู่แล้วหรือจัดทำขึ้นใหม่  เป็นข้อมูลดิบหรืองานวิเคราะห์วิจัย  ที่สำคัญคือต้องมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้เป็นสารสนเทศสำหรับการตัดสินใจ  ที่มีความถูกต้องสอดคล้องกับปัญหาและทันต่อเวลา  มิฉะนั้นจะมีแต่ข้อมูลแต่ขาดสารสนเทศ

          ๔.  ปัญหาเกี่ยวกับผู้บริหาร  :  เคยชินกับการบริหารแบบเดิม  ตัดสินใจโดยไม่ใช้ข้อมูล  มีทัศนคติไม่ดีต่องานวิจัย  (งานบนหอคอย : ห่างไกลจากปัญหา  ไม่สัมพันธ์กับการปฏิบัติ)  แก้ไขด้วยการให้การศึกษา  ฝึกอบรม  ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัย  นำผลการวิจัยไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ขอบข่ายของการวิจัยการบริหารการศึกษา  :  มี  ๒  มิติ  คือ  มิติภาระงาน  มิติกระบวนการ  เกื้อกูลซึ่งกันและกัน  :  ทฤษฎีให้แนวทางสำหรับการบริหาร  การบริหารที่มีประสิทธิภาพย่อมอาศัยหลักและทฤษฎี  :  กว้างเท่ากับขอบเขตของภารกิจการบริหารและลึกเท่ากับพัฒนาการของทฤษฎีในเรื่องบริหารนั้น ๆ    

          มสธ.  (2536)  :  มีชุดวิชาทฤษฎีและแนวปฏิบัติในการบริหารการศึกษา  ๑๐  หน่วย  (ตัวกำหนดขอบข่ายในการวิจัยการบริหารการศึกษา)  คือ  ทฤษฎีระบบสังคม  องค์การ  พฤติกรรมองค์การ  การจูงใจ  การสื่อสาร  การบริหารข้อขัดแย้ง  ประสิทธิภาพและประสิทธิผลองค์การ  ทฤษฎีและกระบวนการพัฒนาผู้นำ  ทฤษฎีและกระบวนการตัดสินใจ  ทฤษฎีและกระบวนการพัฒนาทีมงาน

 

          บรรณานุกรม

ภารดี  อนันต์นาวี.  (2553).  หลักการ  แนวคิด  ทฤษฎีทางการบริหารการศึกษา :

           Principles, Theories of Educational Administration.  พิมพ์ครั้งที่  3. 

           ชลบุรี : มนตรี.

หมายเลขบันทึก: 451022เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2011 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท